นักวิชาการชี้ ‘ความคิดรับได้ทุจริต’ ของสังคมไทยน่ากลัวสุด
‘ดร.สมบัติ’ ชี้ความคิดเป็นปัญหาที่น่ากลัวที่สุดของสังคมไทย เเนะวิจัยรูปธรรม เปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง-รากฐาน-สถาบันประชาธิปไตย ก่อนจะคิดตั้งสถาบันการเมืองใหม่
วันที่ 28 เมษายน 2557 ที่ห้องกมลทิพย์ 1 โรงแรมเดอะ สุโกศล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดเวทีสาธารณะ ความรู้สู่การปฏิรูปประเทศไทย เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้จากฐานวิจัยสู่ทางเลือกในการแก้วิกฤตการณ์ทางการเมืองนำเสนอต่อรัฐบาลชุดต่อไป
โดย ศ.ดร.สมบัติ จันทรวงศ์ นักวิชาการอิสระ กล่าวในช่วงเสวนา ‘การออกแบบสถาบันการเมืองใหม่’ ว่า บ้านทุกแห่งย่อมมีโครงสร้างคล้าย ๆ กัน คือ หลังคา เสา ประตู หน้าต่าง แต่บ้านในเมืองหนาวกับเมืองร้อนย่อมมีวัสดุที่ใช้แตกต่างกัน สิ่งเหล่านี้เรียกว่าสถาบัน ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยก็มีโครงสร้างเหมือนกัน แต่สถาบันไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่มาก่อนโครงสร้าง คือ ความคิด ความเข้าใจ และสมมติฐานเกี่ยวกับมนุษย์ ฉะนั้นถึงแม้จะมีสถาบันการเมืองและโครงสร้างเหมือนกัน แต่ความคิดเบื้องหลังแตกต่างกัน ความสัมพันธ์ก็จะไม่เกิดขึ้น
“ผมอยากให้ผู้วิจัยคิดให้ทะลุปรุโปร่งในหัวข้อของตนเอง ในแง่ของโครงสร้างควรเป็นอย่างไร แต่ละคนต้องทำการบ้านตรงนี้ให้ชัดเจนก่อน เพราะสถาบันการเมืองได้กำหนดพฤติกรรม แต่ไม่ได้กำหนดความคิด” นักวิชาการ กล่าว และว่าเมื่อไรก็ตามที่ความคิดกับการปฏิบัติไปด้วยกัน เมื่อนั้นจะเกิดการเปลี่ยนแปลงโดยแท้จริง ฉะนั้นถ้าต้องการปฏิรูปจริง ๆ ต้องกล้าตั้งคำถามว่าเราเชื่อในเรื่องของรากฐานนี้จริง ๆ อย่างไร
ศ.ดร.สมบัติ ยังกล่าวถึงปัญหาเชิงโครงสร้างสังคมไทยว่า สังคมใดก็ตามที่ร้อยละ 20 ของคนระดับล่างมีส่วนแบ่งรายได้เพียงร้อยละ 4 ของคนทั้งประเทศ และร้อยละ 20 ของคนที่มีสินทรัพย์สูงสุดมีส่วนแบ่งรายได้สูงถึงร้อยละ 54 ของคนทั้งประเทศ สังคมนั้นย่อมเจอวิกฤตแน่นอน ฉะนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้
นอกจากนี้จากผลสำรวจ คนไทยยอมรับการทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมือง สูงร้อยละ 70 โดยมีเงื่อนไขการแบ่งผลประโยชน์ร่วมกัน อีกทั้งนักศึกษาไทยไม่คิดว่าการทุจริตการสอบเป็นเรื่องร้ายแรง สูงร้อยละ 55 สิ่งเหล่านี้ เรียกว่า ความคิด ซึ่งเป็นปัญหาโครงสร้างของสังคมไทยที่น่ากลัวที่สุด โดยได้เกิดขึ้นตามสภาวะปกติ จึงตั้งคำถามว่า เราจะออกแบบสถาบันทางการเมือง โดยไม่คิดถึงเรื่องความคิดพื้นฐานเหล่านี้เลยหรือ ?
“ผมอยากเห็นงานวิจัยที่เสนอการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง รากฐาน สถาบันแบบประชาธิปไตย และคำนึงถึงสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ด้วย มิใช่เป็นเพียงนามธรรม อย่างไรก็ตาม ก่อนจะคิดเรื่องสถาบันควรคิดเรื่องโครงสร้างกันก่อนได้หรือไม่หรือเสนอโครงการใหญ่เลยได้หรือไม่ เช่น การเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง ซึ่งอย่างน้อยเป็นข้อเสนอที่อยากให้นักวิจัยนำไปคิดต่อยอด” ศ.ดร.สมบัติ ทิ้งท้าย .