10 ปีหลังเหตุการณ์กรือเซะ กับห้องน้ำห้องแรกของ "สีตินอร์"
"ถ้าอาแบ (สามี) อยู่ด้วยกัน ไม่ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำจนถึงทุกวันนี้ อาแบต้องสร้างห้องน้ำให้ลูกเมียได้ใช้แล้ว ตอนนี้ลูกๆ ก็โตกันหมด ที่ผ่านมาอาศัยเข้าห้องน้ำบ้านญาติ เมื่อมีคนใจบุญบริจาคและมาช่วยลงแรงทำอีก ก็รู้สึกดีใจและขอบคุณเป็นอย่างมาก เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่จริงๆ สำหรับครอบครัวของเรา"
เป็นคำพูดด้วยน้ำเสียงและแววตาปีติยินดีอย่างเต็มเปี่ยมของ สีตีนอร์ เจ๊ะเลาะ ที่ได้เห็นห้องน้ำห้องแรกของครอบครัวเธอในวันที่เป็นรูปเป็นร่าง
ห้องน้ำขนาด 3 คูณ 3 เมตร เป็นทั้งห้องสุขา ห้องอาบน้ำ และพื้นที่ซักล้าง อาจเป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับคนทั่วไป แต่สำหรับเธอและลูกๆ แล้วเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และรอคอยมาเป็นสิบปี
บนที่ดินของสามี ที่บ้านส้ม ต.ควนโนรี อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี สีตินอร์มีเพียงบ้านกั้นด้วยสังกะสีห้องเดียวโล่งๆ มีไฟ 1 ดวง เป็นทั้งห้องนอน ห้องครัว และอื่นๆ อีกจิปาถะของเธอและลูกๆ มีบ่อน้ำที่ในบ่อมีเพียงน้ำขุ่นๆ ข้างบ้านกลางต้นหมากสำหรับอาบและอุปโภค เพราะเธอไม่มีน้ำประปา ทุกทีที่ฝนตกหนัก น้ำก็ท่วมขังใต้ถุนบ้าน
สีตินอร์ต้องอยู่อย่างเดียวดายกับลูกๆ นับตั้งแต่สามีของเธอ อับดุลรอนิง เจ๊ะเลาะ ถูกจับกุมในเหตุการณ์รุนแรงเมื่อวันที่ 28 เม.ย.2547 ซึ่งทุกคนรู้จักกันดีในนาม "เหตุการณ์กรือเซะ"
สามีของเธอเล่าว่ามีคนว่าจ้างให้ขับรถพาคนไปถางป่าและไปส่งลูกจ้างกรีดยางที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา นัดหมายกันช่วงเช้ามืดวันที่ 28 เม.ย.วันที่เกิดเรื่อง แต่เมื่อขับรถถึง อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี คนบนรถกลับบอกให้เขาเลี้ยวรถเข้าไปยังป้อมจุดตรวจใกล้โรงพัก จากนั้นก็มีการบุกโจมตี แต่ฝ่ายตำรวจก็ใช้อาวุธปืนยิงตอบโต้ จนฝ่ายผู้บุกรุกเสียชีวิตทั้งหมด
สามีของสีตินอร์ได้รับบาดเจ็บ จึงถูกตำรวจควบคุมตัวและถูกดำเนินคดี เพราะตำรวจไม่เชื่อคำให้การของเขาว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับกลุ่มที่บุกโจมตีสถานีตำรวจภูธรแม่ลาน สุดท้ายศาลฎีกาเพิ่งพิพากษาเมื่อไม่นานมานี้ว่า สามีของเธอผิดจริง และสั่งลงโทษจำคุกตลอดชีวิต
ยังดีที่คำร้องขอย้ายเรือนจำได้รับความเมตตา สามีของสีตินอร์ ถูกส่งจากเรือนจำบางขวาง จ.นนทบุรี มาคุมขังที่เรือนจำกลางสงขลา ทำให้ครอบครัวไปเยี่ยมได้สะดวกขึ้นกว่าเดิม
ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา สีตินอร์ต้องแบกรับภาระเลี้ยงดูลูกชายและลูกสาวจำนวน 5 คน แต่ด้วยรายได้เพียงน้อยนิดจากการกรีดยาง จึงไม่เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายประจำวันและส่งเสียลูกๆ ให้ได้เรียนหนังสือ ทำให้ลูกชายคนโตต้องออกมาทำงานช่วยเหลือตัวเอง ลูกสาวคนรองเรียนโรงเรียนปอเนาะที่ อ.ยะหา จ.ยะลา จบมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในปีนี้
ลูกสาวอีกคนเรียนอยู่โรงเรียนปอเนาะในพื้นที่ เพราะการเรียนปอเนาะมีค่าใช้จ่ายไม่มาก ขณะที่ลูกสาวอีก 2 คน เธอส่งให้ไปเรียนและอยู่ในความดูแลของมูลนิธิอัลเกาษัร จ.สมุทรปราการ ที่ดูแลช่วยเหลือเด็กกำพร้าและเด็กยากจน
"10 ปีที่ผ่านมาฉันไม่เคยลืมเลยแม้จนทุกวันนี้ แต่ที่ยังอยู่มาได้เพราะมีลูกๆ เพื่อนๆ ญาติๆ ให้กำลังใจ ทำให้ลุกขึ้นสู้ แม้จะลำบากอย่างไรแต่ก็มีกำลังใจและทำความเข้าใจกับทุกอย่างที่เข้ามาในชีวิต โชคยังดีที่ได้รับความช่วยเหลือและกำลังใจจากหลายคนหลายหน่วยงาน ได้รับประสบการณ์และโอกาสให้เปิดหูเปิดตาแก่ตัวเอง ที่สำคัญคือได้ช่วยงานเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบคนอื่นๆ ด้วย"
เรื่องราวชีวิตของสีตินอร์ ส่งให้เธอได้รับการคัดเลือกจากองค์การอ็อกแฟม ประเทศไทย มอบรางวัล "สตรีต้นแบบ" (Women Across Barriers) ในฐานะสตรีผู้สร้างแรงบันดาลใจและร่วมสร้างสรรค์สันติภาพอันยิ่งใหญ่ในชุมชน ในโอกาสวันสตรีสากล และได้เดินทางไปรับรางวัลจาก นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่มิวเซียมสยาม กรุงเทพฯ
สำหรับที่มาของห้องน้ำ ซึ่งช่วยเติมเต็มปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญให้กับครอบครัวของสีตินอร์ มาจาก ซีตีมาเรียม บินเยาะ เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ที่เป็นตัวตั้งตัวตีรับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา
"เมื่อ 2-3 ปีก่อนได้รู้จักกับสีตีนอร์ และช่วยประสานงานให้ลูกสาว 2 คนไปอยู่ที่มูลนิธิอัลเกาษัร จากนั้นก็ได้ไปเยี่ยมบ้าน จึงเห็นว่ายังไม่มีห้องน้ำ ทั้งที่เป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานของชีวิตคนเรา จนเมื่อสีตินอร์ได้รับรางวัลจากอ็อกแฟม ฉันก็ไปด้วยและได้พูดคุยกับเพื่อนๆ ที่ได้รับรางวัลด้วยกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกเครือข่ายฯว่า ช่วยเหลือคนอื่นมามาก ยังมีเพื่อนในกลุ่มที่ลำบากคือสีตินอร์ จึงคิดมาช่วยสร้างห้องน้ำให้ โดยรับบริจาคจากเพื่อนๆ ส่วนหนึ่ง และคนทั่วไปอีกส่วนหนึ่ง ใช้เงินประมาณ 2 หมื่นบาท"
"หลังจากนั้นก็ได้ปรึกษากับผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพปัตตานีถึงเรื่องนี้ ท่านก็ได้อนุญาตให้อาจารย์นำนักศึกษาที่มีจิตอาสามาช่วยสร้างฐานและขึ้นโครงสร้างห้องน้ำให้ จากนั้นลูกชายและน้าของสีตินอร์ก็ช่วยทำกันต่อ"
ซีตีมาเรียม บอกด้วยว่า การสร้างห้องน้ำเป็นรูปธรรมของการช่วยเหลือที่สัมผัสได้ สิ่งที่นอกเหนือจากนั้นคือการแสดงน้ำใจและการให้กำลังใจที่บ่งบอกว่า ในแผ่นดินนี้ยังมีสิ่งเหล่านี้อยู่จริงจากพี่น้องทุกศาสนิก
สัญญา วิบูลย์อรรถ อาจารย์จากสาขาช่างก่อสร้าง วิทยาลัยการอาชีพปัตตานี ที่มาช่วยสร้างห้องน้ำพร้อมกับนักศึกษาที่มีจิตอาสา บอกว่า ในพื้นที่ต้องการจิตอาสาช่วยเหลือชาวบ้านและคนที่เดือดร้อนอื่นๆ อีกมาก อยากให้ออกมาช่วยเหลือสังคมกันมากกว่านี้
"ผมมาอยู่ในพื้นที่กว่า 16 ปี คุ้นเคยกับพี่น้องเป็นอย่างดี เวลาลงพื้นที่และเข้าไปในชุมชนรู้สึกอบอุ่นกับการต้อนรับและความเป็นกันเองที่ชาวบ้านมอบให้ เรื่องการบริการชุมชนเป็นนโยบายของวิทยาลัยอยู่แล้ว การออกพื้นที่เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ประสบการณ์นอกห้องเรียน และการทำงานจริงทำให้เด็กสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นหน้างานได้"
"สำหรับเรื่องห้องน้ำของสีตินอร์ เมื่อผมทราบเรื่องนี้จากท่านผู้อำนวยการวิทยาลัย ก็ตกลงมาช่วยทันที และประสานงานกับเด็กนักศึกษา เพราะอยู่ในช่วงปิดเทอม แต่ยังมีนักศึกษาที่มีน้ำใจมาช่วยเหลือ เห็นงานแล้วก็ชื่นใจและดีใจกับก๊ะ (สรรพนามเรียกแทนผู้หญิง ในที่นี้หมายถึงสีตินอร์) ด้วย" อาจารย์สัญญา กล่าว
แม้เรื่องราวความรุนแรงในวันที่ 28 เมษาฯ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว จะยังคงเป็นฝันร้ายของใครหลายๆ คน แต่ในฝันร้ายนั้นก็มีเรื่องราวดีๆ แทรกอยู่ด้วย โดยเฉพาะน้ำจิตน้ำใจของผู้คนทุกศาสนิกที่มอบให้กันในยามทุกข์...
และนั่นคือสายใยของสังคมที่เข้มแข็งอันเป็นรากฐานแห่งสันติสุข
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 สีตินอร์ เจ๊ะเลาะ
2 ห้องน้ำห้องแรกที่กำลังเป็นรูปเป็นร่าง
3 บ้านสังกะสีห้องเดียวของครอบครัว