"กรือเซะ"ผ่าน 10 ปี...วันนี้เริ่มมีรอยยิ้ม
วันนี้เป็นวันครบรอบ 10 ปีเหตุการณ์กรือเซะ ซึ่งหมายถึงเหตุรุนแรงเมื่อวันที่ 28 เม.ย.2547 ที่มีเยาวชนและชายฉกรรจ์มุสลิมนับร้อยคนกระจายกันบุกโจมตีป้อมจุดตรวจ 11 จุดใน จ.ยะลา ปัตตานี และสงขลา ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสองฝ่ายรวม 108 คน เกือบทั้งหมดเป็นฝ่ายผู้เข้าโจมตี และนับเป็นเหตุรุนแรงที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในคราวเดียวตลอด 10 ปีไฟใต้
หากจะนับเหตุรุนแรงที่มีผู้สูญเสียหลักร้อยเช่นนี้ ต้องย้อนหลังกลับไปถึง 66 ปี ในเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า "กบฏดุซงญอ" เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2491 เกิดเหตุปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวบ้านที่บ้านดุซงญอ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส บันทึกบางฉบับระบุว่ามีผู้เสียชีวิตมากถึง 400 คน!
เป็นสองเหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นในวันเดียวกัน แต่ต่างกันถึง 56 ปี ซึ่งหลายคนเชื่อว่าไม่ใช่เรื่องบังเอิญ
การเรียกขานเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2547 ว่า "เหตุการณ์กรือเซะ" ทั้งๆ ที่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆ ด้วยรวม 11 จุด โดยเลือกจดจำเหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะ ต.ตันหยงลูโละ อ.เมือง จ.ปัตตานี เป็นหลักนั้น ก็เพราะมีผู้เสียชีวิตมากที่สุดถึง 32 คน และมีเรื่องราวให้เล่าขานวิพากษ์วิจารณ์กันมากมาย โดยเฉพาะการตัดสินใจใช้อาวุธหนักยิงถล่มเข้าไปในมัสยิดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองปัตตานี จนกลายเป็นเรื่องโจษจันกันไม่รู้จบ
ปัจจุบันมัสยิดกรือเซะและพื้นที่โดยรอบได้รับการผลักดันและพัฒนาให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแบบครบวงจร คล้ายเพื่อให้ลืมว่าเคยเกิดเรื่องร้ายๆ ขึ้นที่นี่
"ศูนย์เรียนรู้การท่องเที่ยวอารยธรรมปัตตานี" หรือ Pattani Civilization Tourism Learning Center เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือน ก.ย.ปีที่แล้ว เป็นผลงานชิ้นสำคัญที่สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดปัตตานี ร่วมกับเครือข่ายชุมชนท่องเที่ยวจังหวัดปัตตานี สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เปรียบเสมือน "แลนด์มาร์ค" แห่งใหม่ของจังหวัด ทั้งยังเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชนของปัตตานี โดยพัฒนาจากอาคารเอนกประสงค์โบราณสถานมัสยิดกรือเซะ และลานอเนกประสงค์ด้านหน้ามัสยิดกรือเซะ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ตันหยงลูโละ
สิ่งเดียวที่หายไปและไม่เป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้ ก็คือ "ปืนใหญ่พญาตานีจำลอง" ซึ่งถูกลอบวางระเบิดเมื่อวันที่ 11 มิ.ย.2556 และถูกลำเลียงกลับไปซ่อมโดยไม่ถูกส่งกลับไปในพื้นที่อีก
10 ปีหลังเหตุการณ์ร้ายๆ บรรยากาศรอบๆ มัสยิดเก่าแก่แห่งนี้เริ่มคึกคัก มีผู้คนและนักท่องเที่ยวเดินทางไปเยี่ยมเยือนมากขึ้น ตัวชี้วัดที่สำคัญ คือ บริเวณริมรั้วมัสยิดมีร้านค้าและพ่อค้าแม่ขายมาตั้งแผงจำหน่ายสินค้ากันอย่างหนาตาเพื่อต้อนรับผู้มาเยือน...
ฮามีดะ เปาะมะ อายุ 55 ปี แม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยวหน้ามัสยิด เธอบอกว่าขายก๋วยเตี๋ยวที่นี่มา 15 ปีแล้ว ปีนี้รู้สึกว่าคนเริ่มมา แต่มาจากไหนไม่รู้ ส่วนใหญ่เห็นมากับรถทัวร์ จึงเชื่อว่าไม่ได้มาจากสถานที่ใกล้ๆ นี้อย่างแน่นอน
"เมื่อมีคนมาเยอะ มาโดยรถบัสคันใหญ่ๆ เศรษฐกิจก็เริ่มดีขึ้น อีกกลุ่มหนึ่งที่เห็นบ่อยๆ คือเด็กนักเรียนในพื้นที่มาจัดกิจกรรม ก็รู้สึกว่าดีขึ้นนะ จากที่เงียบๆ ก็มีเสียงคนบ้าง อาจไม่ถึงกับคึกคักเหมือนเมื่อก่อนเกิดเรื่อง (เมื่อปี 2547) แต่ต่อไปน่าจะดีขึ้น"
ขณะที่ ฮามะ หะยีนิบง วัย 56 ปี ชาวบ้านกะมิยอ อ.เมือง จ.ปัตตานี ซึ่งชอบไปนั่งเล่นที่มัสยิดเกือบทุกวัน เล่าว่า อยากให้บรรยากาศกลับไปเหมือนเมื่อก่อน หรือสักครึ่งหนึ่งของเมื่อก่อนก็ยังดี แต่เท่าที่สังเกตเห็น แต่ละปีจะมีความเปลี่ยนแปลงตลอด อย่างปีนี้ก็ดีขึ้นกว่าปีอื่นๆ เพราะเริ่มเห็นรถบัสมาจอดบริเวณมัสยิดมากขึ้น แม้จะเยอะเฉพาะช่วงเทศกาล แต่ความรู้สึกของคนพื้นที่ก็ชื่นใจขึ้นมาบ้าง และมีความหวังมากขึ้น
"เมื่อก่อนเท่าที่คุยกับคนพื้นที่ ไม่มีใครพูดได้เลยว่าพรุ่งนี้จะเอาอย่างไร มีแต่บอกว่าต้องเอาวันนี้ให้รอดก่อน ทุกครั้งที่พูดกับคนแถวนี้ก็จะได้ฟังคำบ่นแบบนี้ แต่ปีนี้ เสียงบ่นของพวกเขาเริ่มน้อยลง และมีรอยยิ้มมาแทน" ฮามะกล่าว และว่าสำหรับเหตุรุนแรงที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน ทุกคนที่นี่อยากลืมมากกว่าจดจำเรื่องที่ไม่ดีเอาไว้ เพราะถ้าลืมได้ก็จะสบายใจ
ส่วน ทวี กองข้าวเรียบ อายุ 50 ปี เจ้าของร้านขายของฝากหน้ามัสยิดกรือเซะ เล่าว่า เปิดร้านขายของฝากมาได้ 8 เดือนแล้ว ขายหลายอย่าง ทั้งเสื้อสกรีนรูปมัสยิด เสื้อสกรีนชื่อจังหวัดปัตตานี งานไม้แกะสลัก และโมบายที่ทำขึ้นจากเปลือกหอย
"เดิมผมเป็นคนกระบี่ มาได้แฟนที่นี่ ก็เลยตั้งใจว่าจะเปิดร้านนี้เพื่อเพิ่มสีสันให้บรรยากาศแถวนี้ดีขึ้น ขายไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เพราะเชื่อว่าสักวันหนึ่งความคึกคักรอบๆ มัสยิดกรือเซะจะเกิดขึ้นเหมือนเมื่อก่อนแน่นอน แค่ต้องใช้เวลาเยียวยาให้เรื่องร้ายๆ หมดไปจากหัวใจ"
เขาบอกว่า เท่าที่อยู่มา 8 เดือน รู้สึกว่าคนเริ่มมาเที่ยวมากขึ้น ทำให้ธุรกิจพออยู่ได้ เชื่อว่าในอนาคตทุกอย่างจะกลับมาเหมือนเดิม
"ที่สำคัญเมื่อเราย้อนดูเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน ผู้สูญเสียเกือบทั้งหมดไม่ใช่คนกรือเซะ แต่มาจากต่างพื้นที่ ฉะนั้นถ้าถามใจคนพื้นที่ ก็อยากให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีมากขึ้นทุกคน"
ส่วนมุมของผู้สูญเสียซึ่งได้รับเงินเยียวยาในอัตราใหม่รายละ 4 ล้านบาทเมื่อปลายปี 2555 นั้น คอรีเยาะ หะหลี ซึ่งต้องสูญเสียบิดาจากกรณีเจ้าหน้าที่ใช้อาวุธสงครามยิงถล่มเข้าไปในมัสยิดกรือเซะ กล่าวว่า ทุกวันนี้เลือกใช้ประสบการณ์เป็นบทเรียน และพยายามพลิกบทบาทของตัวเองเป็นผู้นำให้ชาวบ้านออกมาต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรม
"ยอมรับว่ารู้สึกเจ็บปวดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างที่สุด แต่ก็ไม่อยากจมอยู่กับอดีต จึงคิดว่าตัวเองต้องลุกขึ้นสู้ และในการลุกขึ้นสู้ก็ไม่เคยคิดไปล้างแค้นกับเรื่องที่เกิดขึ้น แต่เป็นการลุกขึ้นสู้อย่างสันติ พยายามเรียนรู้ทุกอย่างจากคนอื่น และหัดอ่านหนังสือเพื่อที่จะพาตัวเองไปอยู่ในสังคมให้ได้ ทุกวันนี้เวลาเจอปัญหาความเดือดร้อนของเพื่อนๆ ในสามจังหวัด ก็จะพาเพื่อนบ้านไปเยี่ยม ทหารถูกระเบิดก็พาชาวบ้านไปเยี่ยมที่โรงพยาบาล ไปให้กำลังใจทหาร ไปให้กำลังใจชาวบ้าน เราให้กำลังใจทุกคนที่เป็นผู้สูญเสีย เพราะทุกคนอยากอยู่อย่างสงบ"
ขณะที่ สีตินอร์ เจ๊ะเลาะ ภรรยาของ อับดุลรอนิง เจ๊ะเลาะ ชายฉกรรจ์หนึ่งเดียวที่ถูกจับเพราะได้รับบาดเจ็บจากเหตุยิงปะทะที่หน้า สภ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2547 และถูกฟ้องดำเนินคดีจนศาลฎีกาพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต แม้เขาจะแก้ต่างว่าไม่ได้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ แต่มีผู้ว่าจ้างให้ขับรถไปส่งคนงานกรีดยางก็ตาม เธอบอกว่า แม้วันนี้ทุกคนจะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาลเป็นเม็ดเงินจำนวนมากพอสมควรแล้ว แต่เธอก็ไม่ได้เสียใจที่ไม่ได้รับ การที่สามีไม่ได้เสียชีวิตเป็นเรื่องดี แม้จะต้องถูกจับกุม เพราะที่ผ่านมาก็ได้รับกำลังใจจากทุกคน
"สิ่งที่ครอบครัวเราดีใจที่สุดในตอนนี้ คือ สามีได้กลับมาอยู่ที่เรือนจำกลางจังหวัดสงขลา (เดิมถูกคุมขังที่เรือนจำบางขวาง จ.นนทบุรี) เพราะสะดวกเวลาไปเยี่ยมมากกว่าอยู่ที่บางขวาง และเสียค่าใช้จ่ายไม่มาก เราได้แค่นี้ก็พอใจแล้ว และพร้อมจะสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้สามีต่อไป"
ส่วนในวาระ 10 ปีของเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2547 นั้น สีตินอร์ บอกว่า เธอแทบจำไม่ได้ถ้าไม่ถาม เพราะอยากลืมสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ก็ลืมไม่ลง ตราบใดที่สามียังไม่ได้รับความเป็นธรรม ยังต้องรับโทษในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้ทำ
10 ปีของเหตุการณ์กรือเซะสำหรับคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้คงไม่หนีจากบทสรุปของสีตินอร์ คือ อยากจะลืม...แต่ก็ลืมไม่ลง!
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 รถขายของกับพ่อค้าสวมเสื้อสีสันสดใสริมรั้วมัสยิดกรือเซะ
2-3 มัสยิดเก่าแก่ในวันฟ้าสวย กับฐานตั้งปืนใหญ่พญาตานีจำลองที่ยังไร้ตัวปืน
4-5 กรือเซะในบรรยากาศของการพัฒนา