TD forum ถกประเด็น 4 ภาค ห่วง “อีสาน”แตกแยกร้าวลึก ย้ำทุกฝ่ายสมานแผลคนในชาติ
เวทีภาคีพัฒนาประเทศไทย ตั้งวงถกพบสังคมไทยต้องหันมามอง ผลกระทบทางด้านความสามัคคี รวมถึงความเข้มแข็งในชุมชนต่างๆ ด้วย พร้อมประเมิน ประเทศไทยจะฟื้นคืนประเทศไทยได้อย่างไรนับจากนี้
เมื่อเร็วๆนี้ ที่รร.เอเชีย ปทุมวัน กทม. นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา กล่าวในงานเวทีภาคีพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Forum : TD Forum) ครั้งที่ 11 ในหัวข้อการเสวนาเรื่อง “ฟื้นฟูคุณธรรม ปฏิรูปสังคม : ภารกิจภาคพลเมืองภายหลังความขัดแย้ง”โดยระบุว่า ที่สังคมไทยต้องหันมามอง คือผลกระทบทางด้านความสามัคคี รวมถึงความเข้มแข็งในชุมชนต่างๆ และการประเมินว่า ประเทศไทยจะมีการฟื้นคืนประเทศไทยได้อย่างไรนับจากนี้ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมองปัญหากันในรายภาค
นายเจริญลักษณ์ เพ็ชรประดับ สื่อมวลชนในพื้นที่ภาคอีสาน สรุปให้เห็นถึงความแตกแยกในชุมชนท้องถิ่นภาคอีสานโดยระบุว่า กลุ่ม กปปส. ในภาคอีสาน มีการรวมตัวทำกิจกรรมอย่างเข้มข้นอยู่ 2 พื้นที่หลัก คือ จ.นครราชสีมา มีหอการค้าเป็นผู้นำ และ จ.ขอนแก่นมีอาจารย์ในมหาวิทยาลัย แพทย์ เป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก ส่วนที่เป็นพื้นที่ของ ส.ส.ปชป ในภาคอีสาน ยังอยู่ในจังหวัดอุบลฯและอำนาจเจริญ ส่วนกลุ่มคนชั้นกลาง ยังเป็นกลุ่มที่นิยมพรรค ปชป. สำหรับกลุ่มพันธมิตรฯ เดิมร่วมด้วย ส่วนมากอยู่ในเขตเมือง
“ถ้าประเมินดุลกำลังในพื้นที่ภาคอีสาน กปปส.เป็นขั้วที่มีพลังน้อยมากเมื่อเทียบกับนปช.และเพื่อไทย ในอีสานมีการจัดตั้งหมู่บ้านเสื้อแดง มีกิจกรรมฐานความคิดผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย มีกลุ่มกองกำลังอาสาสมัครปกป้องประชาธิปไตยมีคนลงทะเบียน 16,000 คน มีฐานกำลังเหล่านี้สนับสนุนอยู่ คีย์แมนที่เคลื่อนไหว สถานการณ์ที่บอกว่าจะก้าวพ้นความขัดแย้งไปสู่การฟื้นฟูจะต้องมาดูข้อมูลเหล่านี้ประกอบด้วย” นายเจริญลักษณ์ กล่าว
นายเจริญลักษณ์ กล่าวถึงแกนนำของทุกฝ่าย ทุกสีจะต้องพิจารณาเรื่องการฟื้นฟูประเทศจากความขัดแย้งร่วมกันว่า แกนนำทุกฝ่ายจะต้องเสียสละ หาจุดร่วม เปิดพื้นที่กลาง สร้างกติกาสังคมที่เป็นที่ยอมรับร่วมกัน
สำหรับในพื้นที่ภาคเหนือ นายสาคร สงมา ทำงานองค์กรพัฒนาเอกชน จ.พิษณุโลก สะท้อนให้เห็นความแตกแยกของสังคมว่า ฐานความขัดแย้งภาคเหนือยังน้อย เป็นการทักท้วงแบบตรงไป ตรงมา แต่ที่น่ากลัวเป็นความขัดแย้งของข้าราชการที่มีอยู่สูงมาก บรรยากาศไม่ได้ทะเลาะกันแต่คบกันไม่สนิท
นายณัฐวัฒน์ ชั้นอินทร์งาม แกนนำภาคประชาสังคมภาคตะวันตก สะท้อนว่า ตรงกันข้ามกับภาคอีสาน เท่าที่ประเมิน เป็นความขัดแย้งในมวลชนมาจากสื่อมวลชน เพราะข้าราชการเกษียณในพื้นที่ดูทีวีทั้งวัน วันนี้ ต้องคิดว่าจะทำอย่างไร ให้ระบบบริการต่างๆเข้าถึงได้ ปัญหาความยากจนได้
สำหรับภาคตะวันออก นายจำรูญ สวยดี แกนนำชุมชนภาคตะวันออก ระบุว่า ภาคนี้เป็นภาคที่มั่งคั่งทางด้านทรัพยากร ที่ผ่านมานักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทย ให้ความสนใจภาคตะวันออกเป็นอย่างมาก จังหวัดนี้ถูกครอบงำด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจแบบใหม่ สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบมีผลอย่างต่อเนื่องชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมตะวันออกสูญเสียสิทธิ ถูกกระทำจากโครงการพัฒนาของรัฐและเอกชน นับวันยิ่งขาดโอกาสในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ จากทรัพยากรอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน อันเป็นบ่อเกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและ นำมาซึ่งความขัดแย้ง
ปิดท้ายนายภิญโญ ทองชัย อดีตเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ระบุว่า ขณะนี้ต้องปรับโครงสร้างสังคมอย่างถาวร โดยอยากเสนอเรื่องที่สำคัญ คือ เรื่องความซื่อสัตย์ สุจริต เป็นค่านิยมที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะเรื่องชาติ ความซื่อสัตย์ สุจริต ที่มันเด่นชัดว่า เจ้าหน้าที่รัฐควรจะมีมาตรฐานทางจริยธรรม ต้องมีการทำลายการเมืองแบบทุนสามานย์ ว่าไม่ควรจะเกิดขึ้นในสังคมไทย และปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน รณรงค์ไม่ให้คนโกงมีที่ยืนในสังคมไทย และเรื่องความเข้มแข็งของภาคประชาสังคม การปฏิรูปสื่อ และปฏิรูประบบการสื่อสารระหว่างรัฐทั้งหมด