ชีวิตข้างถนน (1) : ทางเลือกของเขาที่เราไม่รู้
กรุงเทพมหานคร เมืองฟ้าอมรที่แสนวุ่นวาย ผู้คนมากมายล้วนอยากเข้ามาที่นี่ ที่ซึ่งเป็นเหมือนโรงละครแห่งความฝันที่จะได้เติบโต และเมื่อกลับบ้านไปพวกเขาเหล่านั้นฝันว่าจะกลับไปพร้อมกับความร่ำรวย หรืออย่างน้อยสามารถทำงาน หาเงิน เลี้ยงตัวเองได้ ทำความฝันในเมืองกรุงได้สำเร็จ
ไม่เด่นไม่ดังจะไม่หันหลังกลับไป …
ทุกวันคืนนอนร้องไห้ อีกเมื่อไรจะโชคดี…
เพลงนักร้องบ้านนอก ของพุ่มพวง ดวงจันทร์ สะท้อนให้เห็นถึงอะไรบางอย่างเมื่อเราได้พบกับคนเหล่านี้ เพียงแต่ว่า พวกเขาหันหลังกลับไปไม่ได้เพราะยังทำสิ่งที่ต้องการไม่สำเร็จ หากกลับไปตอนนี้ก็จะโดนชาวบ้านนินทา โดนสบประมาท เสียสิ้นศักดิ์ศรี ชายหญิงเหล่านี้จึงยอมอยู่ที่นี่แม้ว่าจะไม่มีอะไรเหลือและต้องใช้ชีวิตเยี่ยง ‘ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ’ ก็ตาม
นี่คือสิ่งที่ประมวลได้จากการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่โครงการสนามหลวง มูลนิธิอิสรชน ซึ่งได้ลงพื้นที่บริเวณสนามหลวงทุกวันอังคารและศุกร์ เพื่อดูแลคุณภาพชีวิตของผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะในบริเวณนี้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพวกติดสุรา (alcoholic) และพนักงานบริการ (sex worker)
เจ้าหน้าที่มูลนิธิ เล่าให้ฟังว่า ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะแบ่งได้ออกเป็น 13 กลุ่มแตกต่างกัน เฉพาะที่ท้องสนามหลวงแห่งนี้จะเจอพวกติดสุรากับพนักงานขายบริการมากเป็นพิเศษ ซึ่งจากการพูดคุยพบว่า มีอยู่หลายกรณีทีเดียวที่พวกเขามีบ้านให้กลับ แต่ไม่ยอมกลับไป เพราะคำว่า ‘ศักดิ์ศรี’
มีบ้างเดินทางเข้ามากรุงเทพฯ เพื่อมาเป็นหนุ่มสาวโรงงาน แต่พอโรงงานถูกปิดกะทันหันก็ไม่มีที่ไป ต้องมาอยู่สนามหลวงก็มี บ้างโดนหลอกมาทำงาน โดนยึดบัตรทุกอย่าง พอสิ้นไร้ไม้ตอกก็มาจมปลักที่นี่
“บางคนก็เริ่มต้นจากสาวโรงงานก็กลายเป็นพนักงานบริการ กลายเป็นคนเร่ร่อนไปด้วย การเป็นพนักงานบริการแต่ละคืนต้องเจอผู้ชายหลายคน บางทีก็ต้องใช้ยาบางตัวที่ทำให้เขาทำงานได้ตลอดคืน และต้องเสี่ยงกับผลข้างเคียงของยาจนสุดท้าย เราอาจเห็นเขากลายสภาพเป็นกลุ่มผู้ป่วยข้างถนน” เจ้าหน้าที่มูลนิธิ อธิบายคนเร่ร่อน แต่ละประเภทให้เราฟัง
ทางมูลนิธิฯ พยายามส่งคนเหล่านี้ไปให้ทางสถานสงเคราะห์ แต่พบว่า ขณะนี้สถานสงเคราะห์คนล้นเกินความสามารถของเจ้าหน้าที่ในนั้นแล้ว หากยังคงส่งเข้าไปเพิ่มจะยิ่งทำให้พวกเขาประสบปัญหาหนักขึ้น
อีกอย่างหนึ่งก็คือคนเหล่านี้ไม่สามารถออกไปทำงานได้อย่างอิสระ ซึ่งทางมูลนิธิก็ได้ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในการพาผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะไปพักพิงในบ้านมิตรไมตรี ซึ่งสามารถพักอาศัยได้และยังมีสวัสดิการให้อีกด้วย
“ปัญหาหลักคือสังคมมอง ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ไม่เป็นคน มองในฐานะที่ด้อยกว่า ช่วยเหลือในฐานะที่ผู้ช่วยอยู่สูงกว่า จนกลายเป็นว่า ตอนนี้สังคมต่อต้านว่า ไปช่วยทำไม เพราะตีตราไปแล้วว่าเป็นพวกขี้เกียจและสกปรก รอแต่จะให้คนอื่นช่วยอย่างเดียว ทั้งที่จริงแล้วเราสามารถช่วยเขาในฐานะเพื่อนได้ เราและเขาก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน” เจ้าหน้าที่มูลนิธิ ถ่ายทอดมุมมองให้ฟัง พร้อมบอกถึงแนวคิดหลักในการทำงานกับผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะของมูลนิธิที่ว่า “เธอกับฉัน เราเท่ากัน”
มีหลายกรณีทีเดียวที่ชีวิตไม่เป็นดังฝันแล้วไม่มีทางให้กลับบ้าน ทางมูลนิธิเองก็จะไม่บีบบังคับให้กลับบ้าน เพราะไม่อยากให้พวกเขากลับไปแล้วปัญหาภายในบ้านยังไม่ถูกแก้ไขต้องออกมาใช้ชีวิตแบบนี้อีก
ทางมูลนิธิก็ต้องช่วยเหลือจนกว่าจะกลับบ้านได้โดยไม่มีปัญหาตามมา
“ที่กลับบ้านได้ก็ราว 30 คนต่อปี มีทั้งที่กลับบ้านเอง บางคนญาติตามหาแล้วให้ปรับความเข้าใจกันก่อนส่งกลับ บางครั้งก็ส่งกลับเป็นกระดูก คือเสียชีวิตข้างถนน เราก็ต้องพยายามติดต่อญาติให้มารับไปหรือให้รีบแจ้งตาย มิฉะนั้นจะโดนสวมสิทธิบัตรประชาชนจากคนอื่นได้”
เจ้าหน้าที่เล่าให้เราฟังอีกถึงกรณีของ "เฉลิม" ที่เริ่มต้นการผจญภัยในเมืองหลวงเหมือนหลายคนๆ ที่ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ เพราะมีปัญหากับทางบ้าน เฉลิมออกมาเพราะความน้อยเนื้อต่ำใจ ตอนแรกที่มูลนิธิชวนให้กลับก็ไม่ยอมกลับ จนกระทั่งได้คุยกับน้องชาย หลังจากมีการปรับความเข้าใจกัน สุดท้ายเฉลิมก็ได้กลับบ้านในที่สุด
จากนั้นมูลนิธิได้ติดต่อกลับไปพบว่า เฉลิมยังอยู่ดี และมีความสุขมาก
ในทางกลับกันเจ้าหน้าที่ภาคสนามได้พาเราไปสัมภาษณ์ลุงคนหนึ่งในขณะที่กำลังตั้งวงดื่มสุรากับเพื่อนคนอื่นๆ พบว่า ลุงคนนี้ได้ออกมาจากบ้านที่จังหวัดพิจิตรเพราะมีปัญหากับครอบครัวหลายอย่าง รวมถึงเรื่องการติดสุราอย่างหนักทำให้เครียดและไม่อยากกลับไป อยากมีชีวิตที่สนุกสนาน สำมะเลเทเมาได้อย่างอิสระ จนมีสภาพความเป็นอยู่อย่างที่เห็น
"แม้ว่าลุงจะมีเงินใช้จากการที่เพื่อนส่งเงินมาให้ แต่ถ้าเป็นไปได้เขาควรที่จะกลับบ้านดีกว่ามาเสี่ยงภัยที่นี่ แต่ก็คงจะยาก หากทั้งลุงและครอบครัวของลุงไม่เปิดใจคุยกัน" เจ้าหน้าที่มูลนิธิ อธิบายให้ฟัง ก่อนพาเราเดินต่อไป
เยื้องๆกันที่บริเวณป้ายรถเมล์หน้าศาลฎีกามีหญิงค่อนข้างมีอายุหลายคนนั่งอยู่ บางคนอายุราว 60-70 ปีก็มี ซึ่งเจ้าหน้าที่ภาคสนามได้บอกว่า พวกเขาจะทำตัวกลมกลืนกับคนที่มารอรถเมล์ที่นี่ โดยงานหลักก็คือการขายบริการในช่วงกลางวันเพื่อประทังชีวิต งานของมูลนิธิต่อพนักงานขายบริการเหล่านี้ทำได้เพียงแค่แจกถุงยางอนามัย และให้ความรู้เกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เท่านั้น
เจ้าหน้าที่ภาคสนามได้พาไปพบกับคุณยายวัยประมาณ 70 ปี ซึ่งมาอาศัยอยู่ในละแวกนี้เช่นกัน โดยยายได้ให้ข้อมูลวกไปวนมา จึงทำให้พอสังเกตได้ว่า ยายอยู่ในขั้นผู้ป่วยข้างถนนแล้ว
“ยายไม่เหลืออะไรแล้ว…ยายก็เลยไม่รู้ว่าจะกลับบ้านไปทำไม”
ซึ่งเรามาทราบในภายหลังว่า ยายอยู่ในสลัมคลองหลอดนี้มาตั้งแต่สมัยยังสาวและถูกสามีทิ้งไป และจากนั้นได้มีการไล่ที่ทำให้ยายต้องระหกระเหินอยู่ริมถนนเยี่ยงนี้ ส่วนลูกของยายนั้นทางมูลนิธิได้ช่วยเหลือจนตอนนี้ได้รับการศึกษาและทำงานแล้ว เหลือเพียงยายที่ต้องลำบากอยู่ข้างถนนเพียงลำพัง เพราะยายคุ้นชินที่นี่ไม่ต่างอะไรกับบ้านหลังหนึ่ง
ระหว่างการลงพื้นที่ เราพบเหตุการณ์ที่มีการทะเลาะกันระหว่างป้าที่ขายบริการกับชายสูงวัยคนหนึ่ง จับใจความว่า ตกลงราคากันไม่ได้ชายคนนั้นจึงพยายามเข้าทำร้ายป้า
จะเห็นได้ว่า ‘ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ’ มีชีวิตที่นี่มีความเสี่ยง แต่พวกเขาก็สมัครใจที่จะอยู่ที่นี่ต่อไป
หลายเรื่องราว หลากเหตุผล ความหวัง สารพัดปัญหาที่รุมเร้า ที่เรายังไม่รู้
ติดตามสกู๊ป “ชีวิตข้างถนน (2) : เมื่อเขาออกมาโดยไม่ได้ตั้งใจ” วันอาทิตย์ที่ 27 เมษายนนี้