สพฉ.จับมือ ไจก้า ประชุมแพทย์ฉุกเฉิน รับสถานการณ์ภัยพิบัติอาเซียน
สพฉ.ร่วมกับ JICA จัดประชุมด้านการแพทย์ฉุกเฉินในสถานการณ์ภัยพิบัติระดับภูมิภาคอาเซียน เตรียมถอดบทเรียนจากหลายประเทศเพื่อสร้างชุดความรู้ในการเตรียมการรับมือ พร้อมเร่งผลักดันให้เกิดความร่วมมือรับภัยพิบัติทั่วภูมิภาคอย่างเป็นรูปธรรม
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกับ The Japan International Cooperation Agency (JICA) ซึ่งเป็นองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่นที่มุ่งเน้นภารกิจในการพัฒนามนุษยชาติให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี จัดประชุม ASEAN Disaster Medicine Workshop ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 23-25 เม.ย. 2557 ที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต Ms.Noriko Suzuki เลขาธิการสถาบันบรรเทาสาธารณภัย ประเทศญี่ปุ่น ตัวแทนจาก JICA ได้เข้าร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมด้วย
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.)กล่าวว่า เป็นครั้งแรกของภูมิภาคอาเซียนที่จะมีการจัดประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์ในสถานการณ์ภัยพิบัติ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ภูมิภาคอาเซียนของเราได้มีภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด คลื่นยักษ์สึนามิ พายุ น้ำท่วม และภัยพิบัติในรูปแบบอื่นอีกมากมาย การเตรียมความพร้อมทางด้านการแพทย์เพื่อรับมือกับภัยพิบัติเหล่านี้จึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญ ดังนั้นการจัดงานในครั้งนี้จึงเป็นเวทีสำคัญสำหรับการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานทางการแพทย์ด้านภัยพิบัติในประเทศอาเซียนในหลากหลายประเด็นที่กล่าวมา รวมทั้งผู้เข้าร่วมประชุมจะได้ร่วมอภิปรายเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ทางด้านการแพทย์ฉุกเฉินในสถานการณ์ภัยพิบัติของแต่ละประเทศ เพื่อเป็นการถอดบทเรียนในการจัดการทางด้านการแพทย์ในสถานการณ์ภัยพิบัติให้กับประเทศอื่นๆ ที่เข้าร่วมประชุมได้เตรียมการรับมือ และนำกลับไปพัฒนาระบบการแพทย์ในประเทศของตนเองให้พร้อมสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ เหล่านี้ด้วย
เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) กล่าวว่า สำหรับหน่วยงานที่จะเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ประกอบด้วย ทีมแพทย์ด้านการบรรเทาภัยพิบัติและเจ้าหน้าที่จากไจก้า ทีมช่วยเหลือทางการแพทย์ในภาวะภัยพิบัติ (DMAT) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ผู้แทนองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ด้านภัยพิบัติและแพทย์ที่ทำงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินและภัยพิบัติในแต่ละประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียน นอกจากนี้ ยังมีผู้แทนจากองค์การอนามัยโลก (WHO) สหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (IFRC) สำนักงานเลขาธิการอาเซียน และศูนย์เตรียมความพร้อมภัยพิบัติแห่งเอเชีย (ADPC) รวมทั้งจากหน่ายงานภาครัฐของประเทศไทย
นพ.อนุชากล่าวว่า ในส่วนของกิจกรรมที่น่าสนใจในการจัดงานมีหลายส่วน อาทิ การสาธิตการแข่งขันแรลลี่ด้านการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศไทย การอภิปรายถอดบทเรียนการจัดการทางด้านการแพทย์ฉุกเฉินในสถานการณ์ภัยพิบัติของแต่ละประเทศ เช่น การจัดการทางด้านการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศฟิลิปปินส์ในสถานการณ์ภัยพิบัติจากพายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนที่เพิ่งผ่านพ้นมา เราหวังว่าการจัดงาน ASEAN Disaster Medicine Workshop ในครั้งนี้ จะเป็นการเสริมสร้างความสามารถด้านการแพทย์ฉุกเฉินและการแพทย์ด้านภัยพิบัติในแต่ละประเทศอาเซียน อีกทั้งจะทำให้เกิดความร่วมมือ การประสานงานระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียน ในการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ โดยประเทศไทยพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางเพื่อดำเนินการให้เกิดศูนย์ประสานงานอย่างเป็นรูปธรรมด้วย
ด้าน Ms.Noriko Suzuki เลขาธิการสถาบันบรรเทาสาธารณภัย ประเทศญี่ปุ่น ตัวแทนจาก The Japan International Cooperation Agency (JICA)กล่าวว่า โลกเรามีภัยพิบัติที่หนักขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากสภาวะโลกร้อน อย่างที่เคยเกิดขึ้นในเหตุการณ์สึนามิเมื่อ 8ปีก่อน ดังนั้นเป็นเรื่องสำคัญมากที่ประเทศต่างๆในอาเซียนจะเพิ่มความพร้อมของตน โดยที่สำคัญคือจะต้องมีการร่วมมือกันโดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของพรมแดน จะต้องมีการร่วมมือกันระหว่างประเทศ โดยประเทศที่อยู่ใกล้กันส่วนมากจะมีภัยพิบัติที่คล้ายกัน จึงจำเป็นต้องมีการเรียนรู้ร่วมกันในการแก้ปัญหา ส่วนในประเทศญี่ปุ่นจะมีประสบการณ์ด้านภัยพิบัติมากมาย เช่น แผ่นดินไหว สึนามิ ซึ่งเราก็ยินดีที่จะถอดบทเรียนและถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับอาเซียนเพื่อเตรียมพร้อมในการรับมือภัยพิบัติ และในส่วนของ Jica ก็ยินดีที่ช่วยสนับสนุนในเรื่องของทรัพยากรของประเทศในอาเซียน และยินดีให้ความร่วมมือกับประเทศในอาเซียนด้วย