เปิดผลสอบข้อเท็จจริงปม ปธ.บอร์ดแอร์พอร์ตลิงค์"จัดซื้อ-ตั้งญาติ"เข้าทำงาน
เปิดรายงานตรวจสอบข้อเท็จจริง ปมบิ๊ก ร.ฟ.ท.แอร์พอร์ตลิงค์ มีญาติเข้าทำงาน-ลงนามเซ็นสัญญา บริษัทรับเจียร-ตรวจสอบราง โดยที่คู่สัญญายังไม่เซ็นรับรอง
จากกรณี สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานถึงหนังสือร้องเรียนของพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ร้องเรียนต่อผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ( นายประภัสร์ จงสงวน ), ผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน, ผู้ถือหุ้น บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ( ในขณะที่นายพีรกันต์ แก้ววงศ์วัฒนา ยังดำรงตำแหน่ง ) โดยหนังสือฉบับดังกล่าว ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2557 และถูกส่งมาถึงยังแผนกอำนวยการของบริษัท รถไฟฟ้าฯ เพื่อประทับตรารับรอง ลงวันที่ 27 เดือน มีนาคม 2557 ก่อนที่แผนกอำนวยการจะส่งไปยังผู้จัดการฝ่ายตรวจสอบภายใน เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2557 โดยใจความสำคัญในหนังสือร้องเรียนดังกล่าว มีประเด็นสำคัญคือขอให้ตรวจสอบกรณีการดำรงตำแหน่งโดยมิชอบของคณะกรรมการระดับสูงรายหนึ่งของบริษัทฯ รวมถึงกรณีที่คณะกรรมการระดับสูงรายนี้แต่งตั้งบุคคลใกล้ชิดในครอบครัว เข้าดำรงตำแหน่งในบริษัทฯ โดยไม่ผ่านกระบวนการสมัครและคัดเลือก แข่งขันอย่างโปร่งใส และประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือ ขอให้มีการตรวจสอบทุจริต เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง
ล่าสุด วันที่ 23 เมษายน 2557 พบข้อมูลที่ฝ่ายตรวจสอบภายในของบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. เคยได้รับการร้องเรียนและมีรายงานสรุปผลการตรวจสอบในประเด็นดังกล่าวแล้ว ตามข้อมูล “รายงานการตรวจสอบหนังสือร้องเรียน” ลงวันที่ 3 ธันวาคม 2556 หรือช่วงปลายปีที่ผ่านมา
หนังสือสรุปรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงฉบับดังกล่าว อ้างถึง หนังสือร้องเรียน สนง.ปปช. และคณะกรรมการบริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด กญอ. ลงวันที่รับ 25 กันยายน 2556 นอกจากนี้ มีรายงานสรุปผลการตรวจสอบในประเด็นเดียวกันอีกฉบับ อ้างถึง หนังสือร้องเรียนไปยังเลขาธิการนายกรัฐมนตรี รมต.ว่าการกระทรวงการคลัง รมต.ว่าการการกระทรวงมหาดไทย และประธานคณะกรรมการ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด
ทั้งนี้ รายงานผลสรุปผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว ล้วนมีใจความบางส่วนสอดคล้องกันคือตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของนายจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ตามที่มีการร้องเรียน
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำบางส่วนจากรายงานมานำเสนอ ดังข้อมูลต่อไปนี้
ข้อร้องเรียนกรณีนายจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ ในการจัดซื้อจัดจ้าง โดยไม่ทำตามมติคณะกรรมการปฏิบัติหน้าที่ทั้งประธานกรรมการบริษัทฯ และรักษาการ กอญ.
ข้อเท็จจริงกรณีการจ้าง L&S เข้ามาทำการเจียร และตรวจสอบราง
จากเอกสารหลักฐานที่มีอยู่
1.1พบว่าไม่มีเอกสารเสนอราคาตามแบบฟอร์มของบริษัทฯ แต่มีแบบฟอร์มเปล่าที่มีข้อความเขียนแนะนำ โดยระบุวันที่และราคาใน Post-it
1.2พบว่ามีเอกสารสนองรับราคาและแจ้งทำสัญญา จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่
- เอกสารเลขที่ SRTET/SCM/PRO/047/2556 ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2556 ลงนามโดยนายจอน พรมถา ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้จัดการแผนกจัดซื้อในขณะนั้น
- หนังสือที่ รฟฟท.031301/2556 ลงวันที่ 13 มีนาคม 2556 ลงนามโดย
นายจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ
1.3 พบว่ามีใบสั่งงานเลขที่ รฟจ 56001 ไม่มีการลงวันที่ระบุเพียงแค่เดือน กุมภาพันธ์ 2556 และ มีการลงนามของผู้มีอำนาจจ้าง (คุณจำรูญฯ รก.กอญ.) พยานฝ่ายผู้จ้าง (คุณกฤษ รอญ.) พยานฝ่ายผู้รับจ้าง (Mr.Alexander Schlegel) แต่ไม่มีการลงนามของผู้ที่ได้รับใบสั่งงานหรือผู้รับจ้างแต่อย่างใด
1.4 พบว่ามีใบสลักหลังตราสาร และภาษี อ.ส.5 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 และปัจจุบันทางบริษัท L&S ได้มีใบวางบิลและทวงเงินกับบริษัทฯ เป็นจำนวนเงิน 2,551,853.70.-บาท (สองล้านห้าแสนห้าหมื่นหนึ่งพันแปดร้อยห้าสิบสามบาทเจ็ดสิบสตางค์)
ความเห็นของผู้ตรวจสอบ
จากรายงานการทำงานของ L&S พบว่าเริ่มงานวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2556 ถึงวันที่ 8 มีนาคม 2556 ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเอกสาร 1.2.2 มีการลงวันที่หลังจากงานเสร็จสิ้นแล้วทำไมถึงมีการออกเอกสารอีกการลงนามในเอการสำคัญผู้ลงนามต้องตรวจสอบรายละเอียดให้ครบถ้วนก่อนที่จะลงนาม ซึ่งเอกสารนี้ไม่ระบุวันที่ของวันทำใบสั่งงาน ผู้รับจ้างยังมิได้ลงนามในใบสั่งงาน แต่ผู้มีอำนาจจ้าง ผู้จ้าง และพยานลงนามก่อนแล้ว
การที่ L&S มีเอกสาร อ.ส.5 นั้นจะต้องแสดงถึงมีการทำสัญญาและลงนามกันแล้ว แต่ที่ผู้ตรวจสอบได้ตรวจเอกสารทั้งหมดแล้วไม่พบสัญญาจ้างแต่อย่างใด ซึ่งไม่ผ่านกระบวนการระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง ผู้ตรวจสอบคิดว่าน่าจะนำเอกสารใบสั่งงานไปทำการขอเอกสารสลักหลังตราสารภาษีแทนสัญญาซึ่งทางผู้ตรวจสอบได้สอบถามแผนกจัดซื้อว่ามีเฉพาะใบสั่งงานจะผิดระเบียบหรือไม่ และทางแผนกจัดซื้อได้แจ้งว่าโดยปกติจะต้องมีสัญญาซึ่งในกรณีนี้ถือว่าผิดปกติปัจจุบันทางบริษัท L&S ได้มีหนังสือวางบิลและทวงเงินกับบริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด เป็นจำนวนเงิน2,551,853.70.-บาท (สองล้านห้าแสนห้าหมื่นหนึ่งพันแปดร้อยห้าสิบสามบาทเจ็ดสิบสตางค์) จึงเป็นเหตุทำให้บริษัทฯ เกิดความเสียหาย
ข้อร้องเรียนกรณีนายจำรูญฯ นำญาติเข้าทำงานในบริษัทฯ โดยไม่ผ่านกระบวนการคัดสรร
ข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบเอกสารเรื่องดังกล่าวพบว่ามีมูลชี้ให้เห็นถึงการกระทำที่ผิดขั้นตอนผิดกระบวนการสรรหา โดยนายจำรูญฯ ได้ใช้อำนาจหน้าที่ในขณะที่ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริษัทฯ และรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กระทำการโดยมิชอบเอื้อประโยชน์ให้กับญาติของตนเอง กรณีที่มีการร้องเรียนในรายของนางสาวนริศรา ตั้งไพศาลกิจ จากการตรวจสอบโดยละเอียดพบว่าไม่ได้มีการลงประกาศรับสมัครงานในตำแหน่งดังกล่าว และมีการร้องขอให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลพิจารณารับนางสาวนริศราฯ เป็นกรณีเร่งด่วน นางสาวนริศราฯ ได้เข้ามาบริษัทฯ เพื่อสัมภาษณ์ในวันที่ 8 ตุลาคม 2555 เริ่มงานพร้อมกรอก ใบสมัครงานในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 ทั้งนี้จากการตรวจสอบไม่พบผลของการสอบข้อเขียนและการสอบสัมภาษณ์แต่อย่างใด รวมถึงการรับรองของกรรมการซึ่งไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ทำให้การรับนางสาวนริศราฯ เป็นการดำเนินการที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์และไม่ถูกต้องตามกระบวนการสรรหา
ความเห็นของผู้ตรวจสอบ
1. วันที่เข้ารับการสัมภาษณ์ 8 ตุลาคม 2555 แต่ใบสมัครของนางสาวนริศราลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 นั่นหมายถึงก่อนการสัมภาษณ์นางสาวนริศราฯ มิได้กรอกใบสมัครไว้ถือเป็นความผิดปกติคือกรอกใบสมัคร ณ วันเริ่มงาน ซึ่งหากเป็นผู้สมัครโดยทั่วไปแล้วจะต้องกรอกใบสมัครก่อนวันที่จะมีการสอบข้อเขียน และการสอบสัมภาษณ์ ถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนและกระบวนการสรรหาผิดระเบียบการรับสมัครงาน
2. กรรมการทั้งหมด 7 ท่าน ได้ลงนามรับรองให้เข้าทำงาน 3 ท่าน ซึ่งถือว่าไม่ถึงกึ่งหนึ่งของกรรมการสรรหา แต่เอกสารที่ HR ได้มีการลงนามรับรอง 4 ท่าน และเป็นการลงนามย้อนหลัง ถือเป็นการกระทำที่ผิดระเบียบการรับสมัครพนักงาน หากเป็นไปตามข้อเท็จจริง กรรมการที่มีไม่ถึงกึ่งหนึ่งจะไม่สามารถทำการสัมภาษณ์พนักงานได้
3. ไม่พบคะแนนสอบข้อเขียนของนางสาวนริศราฯ ซึ่งตามระเบียบบริษัทฯ จะต้องมีการสอบข้อเขียนและคะแนนต้องเกินกึ่งหนึ่งถึงจะเข้ารับการสัมภาษณ์ได้
ข้อร้องเรียนกรณีนายจำรูญ เป็นข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจโดยมิได้เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และเกษียณอายุราชการแล้ว
ตามข้อบังคับของบริษัทฯ หมวด 4 กรรมการ อำนาจและหน้าที่ของกรรมการ ในข้อ 13 ได้กำหนดสาระสำคัญว่า คณะกรรมการของบริษัทฯ ให้ประกอบด้วยกรรมการซึ่งที่ประชุมผู้ถือหุ้นแต่งตั้งขึ้นจากบุคคลที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดในข้อบังคับของบริษัทฯและคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้มีมติครั้งที่ 5/2555 วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555 กำหนดสัดส่วนของคณะกรรมการ บริษัท รถไฟฟ้า รฟท. จำกัด โดยมีองค์ประกอบไว้ซึ่งปัจจุบันนี้ บริษัทฯ มีคณะกรรมการบริษัทฯ รวม 7 คน ดังที่ปรากฏตามชื่อกรรมการตามหนังสือรับรอง บริษัท ฉบับออกให้ ณ วันที่ 25 กันยายน 2556 ความละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย
ข้อเท็จจริง หนังสือที่.นร 0205/ว(ล) 7680 ออกโดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่องการแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจ ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2543 ว่าด้วยระเบียบและข้อแนวทางปฎิบัติสำหรับกรรมการรัฐวิสาหกิจ หมวดที่ 2 หลักเกณฑ์การกรรมการรัฐวิสาหกิจ ข้อที่ 2.3.3 การเปลี่ยนแปลงสถานะหรือสังกัด ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2537 เห็นชอบหลักเกณฑ์การแต่งตั้งและการพันจากตำแหน่งกรรมการรัฐวิสาหกิจและบทกำกับข้าราชการที่รับตำแหน่งให้เป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจและให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจทุกแห่งถือปฎิบัติต่อไป นั้น
ในกรณีข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจ หากข้าราชการผู้นั้นเกษียณอายุราชการหรือพันจากการเป็นข้าราชการ หรือเปลี่ยนย้ายหน่วยงาน จะต้องลาออกจากตำแหน่งกรรมการในรัฐวิสาหกิจนั้นมิฉะนั้นก็ให้หน่วยงานเจ้าสังกัดของรัฐวิสาหกิจดังกล่าวพิจารณายืนยันหรือขอเปลี่ยนแปลงกรรมการผู้นั้น ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงบทบัญญัติของกฎหมายด้วย
และจากการตรวจสอบพบว่ากรรมการบริษัทฯ ที่เป็นผู้แทนมาจากกระทรวงคมนาคม ได้แก่ นายจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ ได้เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทฯ ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2555 ต่อมาได้เกษียณอายุราชการลงเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2555 จากข้อเท็จจริงพบว่าปัจจุบันนายจำรูญฯ ยังคงสถานะเป็นคณะกรรมการบริษัทฯ อยู่ในสัดส่วนผู้แทนของกระทรวงคมนาคม ซึ่งขัดกับระเบียบข้อบังคับ และขัดต่อมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวทั้งนี้ ได้สอดคล้องกับการที่มีหนังสือทวงถามจากกระทรวงคมนาคม และข้อสงสัยจากสำนักงานตรวจสอบภายในของการรถไฟแห่งประเทศไทยในฐานะผู้ถือหุ้น เนื่องจากนายจำรูญฯ มิได้ลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทฯ และไม่มีหนังสือยืนยันสถานะการเป็นกรรมการจากกระทรวงคมนาคมหลังจากที่นายจำรูญฯ ได้เกษียณอายุราชการลง
ความคิดเห็นของผู้ตรวจสอบ
"ความเป็นกรรมการบริษัทฯ ของนายจำรูญฯ มิชอบด้วยระเบียบและข้อบังคับ และขัดต่อมติคณะรัฐมนตรีฯ และมติคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ต่อบริษัทฯ และเพื่อเป็นการไม่ขัดต่อกฎหมายรวมถึงทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย จึงใคร่ขอความอนุเคราะห์ท่านผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย โปรดพิจาณาให้ความเห็นเพื่อบริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด จักได้ดำเนินการให้ถูกระเบียบปฏิบัติ"
นี่คือ 2 เรื่องร้อน ในแอร์พอร์ตลิงค์ นอกเหนือจากการปลดกรรมการผู้จัดการซึ่งตกเป็นข่าวไปก่อนหน้านี้ ต้องดูว่านายจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (แอร์พอร์ต เรล ลิงค์) จะชี้แจงประเด็นดังกล่าวอย่างไร