ชะตากรรม "ยิ่งลักษณ์" ก่อนอวสานตระกูล "ชินวัตร" บนเส้นทางการเมือง?
"..ไม่ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศ จะประกาศวางมือทางการเมืองหรือไม่อย่างไร "ชะตากรรม" จากคดีความต่างๆ ของ "น.ส.ยิ่งลักษณ์" ที่รออยู่ หากต้องก้าวลงจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ในเร็วๆ นี้ จึงเป็นสิ่งที่น่าจับตามองมากกว่าหลายเท่า .."
พลันที่มีกระแสข่าว "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" และคนในตระกูล "ชินวัตร" จะประกาศวางมือทางการเมืองในเร็วๆ นี้ หลุดรอดออกมา ให้คนในสังคมไทยได้รับทราบ
คำถามสำคัญประการหนึ่ง เกิดขึ้นทันที ว่า ข่าวนี้มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน? คนอย่างพ.ต.ท.ทักษิณ และตระกูลชินวัตร จะยอมหันหลังให้การเมืองจริงๆ หรือ? การเมืองไทยในวันที่ไร้คนในตระกูล "ชินวัตร" เข้ามาเกี่ยวข้อง จะเป็นอย่างไรกันแน่?
แต่ไม่ว่า "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" หรือ คนในตระกูล "ชินวัตร" จะประกาศวางมือทางการเมืองจริงหรือไม่
สิ่งสำคัญที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ในขณะนี้ ก็คือ "ชะตากรรม" ในการต่อสู้คดีความต่างๆ ของคนในตระกูลนี้ จะยังคงมีสืบเนื่องต่อไป ไม่สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือต่อรองในเกมการเมืองได้
โดยเฉพาะในส่วนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่กำลังเผชิญหน้ากับคดีความสำคัญที่เกี่ยวพันกับตนเอง โดยตรงถึง 2 คดี ซึ่งใกล้จะถึงเวลา "ชี้ขาด" บทสรุปคดีภายในช่วงเวลาไม่กี่อึดใจต่อจากนี้ คือ
1. คดีปล่อยปละเลยการทจริตโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
2. คดีการโยกย้ายตำแหน่งนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) อยู่ในความรับผิดชอบของศาลรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ หากพิจารณาผลลัพธ์คดีความทั้ง 2 เรื่อง ที่กำลังจะออกมา ภายใต้สมมุติฐานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกตัดสินว่ามีความผิด ตามข้อกล่าวหาจริง
สิ่งที่ "น.ส.ยิ่งลักษณ์" จะต้องเผชิญหน้าต่อไป นอกเหนือจากการหยุดปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว
คือ ความรับผิดชอบทางกฎหมาย
โดยเฉพาะความรับผิดชอบจากการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ที่ระบุว่า "ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ”
ซึ่งถูกระบุเป็นหนึ่งในกฎหมายสำคัญที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. นำมาใช้ในการพิจารณาการกระทำความผิดของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในคดีการปล่อยปละเลยการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว
คำถามที่น่าสนใจ คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีหนทางที่จะชนะทั้ง 2 คดีใหญ่นี้ หรือไม่
ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปดูรายละเอียดในปรากฎอยู่ในทั้ง 2 คดีดังกล่าว จะพบข้อเท็จจริงที่น่าสนใจ ดังนี้
1. คดีรับจำนำข้าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกชี้มูลว่า ปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว หลังมีหลักฐานเชิงประจักษ์สำคัญหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่าโครงการนี้มีการทุจริตเกิดขึ้นจริงจำนวนมาก
ผู้ถูกกล่าวหาทั้งนักการเมือง ข้าราชการ และเอกชน ที่เกี่ยวข้องในคดีการทุจริตระบายข้าวจีทูจี จงใจหลบเลี่ยงไม่เข้ามารับทราบข้อกล่าวหา
ส่วนคดีการโยกย้ายตำแหน่งของนายถวิล มีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ชี้ไว้แล้ว การแต่งตั้งโยกย้ายดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
2. คดีรับจำนำข้าว และคดีการโยกย้ายตำแหน่งนายถวิล อยู่ระหว่างขั้นตอนการเปิดโอกาสให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ใช้สิทธิชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา โดยในส่วนคดีจำนำข้าว ป.ป.ช.อยู่ระหว่างการสรุปผลการชี้แจงข้อกล่าว คาดว่าจะได้ผลออกมาเป็นทางการในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม นี้
เบื้องต้น ทางทีมทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยืนยันมาตลอดว่า โดยส่วนตัวของ นายกฯ ไม่รู้สึกวิตกกังวลใจอะไร โดยเฉพาะในส่วนของคดีรับจำนำข้าว เนื่องจากมั่นใจในความบริสุทธิ์ของตนเอง
แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฎคือ ในขณะที่ใกล้จะถึงกำหนดการสรุปคดีของ ป.ป.ช. ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม นี้ ทีมทนายความ พยายามที่จะขอให้ ป.ป.ช. สอบปากคำพยานเพิ่มเติมอีกหลายปาก ทั้งที่ ป.ป.ช. มีมติไปชัดเจนแล้วว่า "ไม่อนุญาต"
ชี้ให้เห็นว่า ทีมทนายความ มีความกังวลใจอย่างมากว่า ข้อมูลที่ ป.ป.ช. ได้รับฟังไปจากการชี้แจงของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในครั้งที่ผ่านมาว่า น้ำหนักอาจจะไม่พอเพียง ที่จะลบล้างหลักฐานที่มีอยู่ในมือของ ป.ป.ช.ได้
จึงจำเป็นที่จะต้องหา "ตัวช่วย" มาชี้แจงเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มน้ำหนักความน่าเชื่อถือให้มากขึ้น และยังถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นกลยุทธ ที่ถูกงัดขึ้นมาใช้เพื่อเป้าหมายในการซื้อเวลา ให้ นายกฯ ได้หายใจโล่งๆ อีกช่วงระยะเวลาหนึ่ง
ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่ยังไม่มีความชัดเจนว่า พรรคเพื่อไทย จะได้กลับมาเป็นรัฐบาลครองอำนาจการบริหารงานประเทศอีกหรือไม่
แต่สิ่งที่น่าจับตามองมากที่สุด คือ ภาพความเคลื่อนไหวในช่วง 1- 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ของกลุ่มผู้สนับสนุนฝ่ายรัฐบาล นักการเมืองฝ่ายรัฐบาล ที่ออกมาเคลื่อนไหวกดดันการทำงานของ ป.ป.ช.และศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับการตัดสินคดีของ ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญ อย่างหนักหน่วง
ชนิดที่เรียกว่า "ตาต่อตา" "ฟันต่อฟัน"
โดยเฉพาะในส่วนของศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีกระบวนการกดดันการทำหน้าที่อย่างชัดเจนและรุนแรง ถึงขนาด ขู่ว่า จะขอทูลเกล้าฯ ขอพระบรมราชวินิจฉัยว่าคณะรัฐมนตรีต้องพ้นจาก การอยู่ในตำแหน่งตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกินจากรัฐธรรมนูญหรือไม่
ตอกย้ำด้วยคำพูดของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ที่กล่าวในระหว่างการประชุมร่วมกับ ปลัดกระทรวงทุกแห่ง ในช่วงเย็นวันที่ 17 เมษายน ถึงเหตุผลการออกแถลงการณ์เรื่องการ ขอทูลเกล้าฯ ขอพระบรมราชวินิจฉัย ว่า มีแนวโน้มเป็นไปได้สูงที่ คำตัดสินของ ป.ป.ช. และ ศาลรัฐธรรมนูญ ที่ออกมาจะไม่เป็นผลดีต่อนายกฯ ยิ่งลักษณ์ "
ทั้งหมดทั้งมวล ชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์ในการต่อสู้คดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อยู่ในสถานะเป็น "รอง" มากแค่ไหน
โดยเฉพาะความมั่นใจใน "ข้อมูล" ที่ได้ชี้แจงไปในการต่อสู้คดีความต่างๆ
เพราะตามหลักความเป็นจริง ถ้าน.ส.ยิ่งลักษณ์ มั่นใจในความบริสุทธิ์จริง สามารถชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาได้ในทุกประเด็น บรรยากาศและท่าทีของคนในรัฐบาล คงไม่ "ร้อนแรง" และ "ร้อนรน" แบบที่เห็นและเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้
และนอกเหนือจากคดีรับจำนำข้าว และคดีการโยกย้ายตำแหน่งของ นายถวิลแล้ว
ดูเหมือนว่า ชะตากรรม ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในการต่อสู้คดีความยังคงไม่ยุติลงไปง่ายๆ เมื่อ ป.ป.ช. ได้หยิบประเด็นเรื่องนาฬิกา เรือนละ 2.5 ล้านบาท ที่ไม่ปรากฏอยู่ในรายการบัญชีทรัพย์สินที่แจ้งต่อ ป.ป.ช. ขึ้นมาตรวจสอบ
หลังจากปรากฏข้อมูลว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้การต่อศาลฎีกาในการพิจารณาคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า ได้ให้เงินจำนวน 2.5 ล้านบาท แก่ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร หลานสาว (ลูกสาวคนรอง พ.ต.ท.ทักษิณ) ไปซื้อนาฬิกามาให้ แต่ในการแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. ช่วงรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุว่า มีนาฬิกา อยู่ในความครอบครอง จำนวน 9 เรือน รวมมูลค่า 1.8 ล้านบาท ไม่ปรากฏนาฬิกา ราคาเรือนละ 2.5 ล้านบาท แต่อย่างใด
ล่าสุด มีการยืนยันข้อมูลอย่างทางเป็นทางการจาก ป.ป.ช. ออกมาว่า ได้มีหนังสือแจ้งให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชี้แจงข้อเท็จจริงเข้ามาเพิ่มเติม หลังจากที่ก่อนหน้านี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ส่งหนังสือชี้แจงอย่างเป็นทางการเข้ามาแล้ว แต่ทางเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. เห็นว่า ข้อมูลที่ชี้แจงข้อมายังไม่ชัดเจนเพียงพอ
ซึ่งในส่วนของคดีนี้ หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่สามารถชี้แจง รวมถึงหาหลักฐานมายืนยันความบริสุทธิ์ได้ และถูกชี้มูลความผิดแล้ว อาจมีความเสี่ยงที่จะต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จากกรณีการแจ้งข้อมูลทรัพย์สินเป็นเท็จ
รวมถึงการถูกเว้นวรรคทางการเมือง 5 ปี อีกด้วย
ด้วยเหตุผลและปัจจัยเหล่านี้ ไม่ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศ จะประกาศวางมือทางการเมืองหรือไม่อย่างไร
"ชะตากรรม" จากคดีความต่างๆ ของ "น.ส.ยิ่งลักษณ์" ที่รออยู่ หากต้องก้าวลงจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ในเร็วๆ นี้ จึงเป็นสิ่งที่น่าจับตามองมากกว่าหลายเท่า
โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า ในท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าเวลาจะผ่านพ้นไปกี่เดือนกี่ปี จะต่อสู้อีกกี่ขั้น กี่ยก
แต่เมื่อถึงเวลาที่คดีความขึ้นสู่การพิจารณาคดีในชั้นศาล และมีแนวโน้มว่าอาจจะต้องรับโทษจากพ้นพ่วงในคดีความเหล่านี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะตัดสินเลือกวิธีการเดินทางออกไปใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศ
เหมือนที่ครั้งหนึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ "พี่ชายสุดที่รัก" ได้ตัดสินใจ "เลือก" ไปแล้วหรือไม่?
อ่านประกอบ :
เปิด"ต้นตอ"อภิมหานาฬิกา“ยิ่งลักษณ์” 2.5 ล้าน- "พิณทองทา"จัดให้!!