เปิดหนังสือ"สตง.-ฝ่ายตรวจสอบ"ปมคุณสมบัติ"บิ๊ก"แอร์พอร์ตลิงค์
เปิดละเอียด สตง.จี้ แอร์พอร์ตลิงค์ สอบปม "จำรูญ" นั่งบอร์ด ร.ฟ.ท.-ฝ่ายตรวจสอบ เผย ไม่พบเอกสาร หลักฐานยืนยันในฐานะผู้แทน คค.
ยังคงเป็นประเด็นร้อนที่ต้องค้นหาความจริงกันต่อไป
สำหรับปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (แอร์พอร์ต เรล ลิงค์) อันสืบเนื่องมาจากกรณีคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติสั่งปลดนายพีรกันต์ แก้ววงศ์วัฒนา พ้นจากตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่
โดยเบื้องต้น นายจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ ประธานคณะกรรมการ บริษัทฯ ให้เหตุผลว่าคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติ สั่งปลดนายพีรกันต์ เนื่องจากมีคุณสมบัติไม่ตรงกับการเป็นผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจโดยใช้เอกสารเท็จในการสมัครงาน
ขณะที่นายพีรกันต์ ก็สวนกลับว่า สาเหตุที่ถูกปลด อาจเพราะตรวจสอบพบการทุจริตของผู้บริหารรายหนึ่ง
อีกทั้ง เคยได้รับหนังสือ จาก สตง. ชี้ถึงกรณีนายจำรูญ ว่าเมื่อเกษียณอายุราชการและควรต้องหมดวาระการดำรงตำแหน่ง บริษัทฯ ในฐานะผู้แทนกระทรวงคมนาคมแล้ว แต่ทำไมยังดำรงตำแหน่งในบริษัทฯ ต่อไปได้
ด้านนายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ออกมายืนยันว่า นายจำรูญไม่ผิด เพราะแม้เกษียณอายุราชการจากการเป็นรองปลัดกระทรวงคมนาคมแล้ว แต่เพราะมติของคณะกรรมการบริษัทฯ เห็นว่าควรให้นายจำรูญ ดำรงตำแหน่งต่อไปในฐานะผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิ
นายจำรูญจึงมิได้ดำรงตำแหน่งในฐานะผู้แทนกระทรวงคมนาคมแต่อย่างใด แต่ดำรงตำแหน่งในฐานะผู้เชี่ยวชาญ
“ถ้าคุณไปอ่านจดหมาย สตง. จะเห็นว่า คนละอย่าง มันคนละเรื่องกันเลยกับที่คุณพีรกันต์อ้าง เพราะ สตง. ชี้ในเรื่องหลักการ หลักปฏิบัติตามมติ ครม. ผู้ถือหุ้นก็ยืนยันว่าให้คุณจำรูญเป็นบอร์ดต่อไป ไม่ใช่ ในฐานะ ตัวแทนกระทรวงการคลังแล้ว แต่ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิ” นายประภัสร์ระบุ
พร้อมย้ำว่า “สตง. พูดถึงเพียงหลักการ หลักปฏิบัติ ไม่ได้จำเพาะเจาะจงว่าเป็นคุณจำรูญ”
เปิดละเอียด “สตง.” ชี้ปม “จำรูญ” นั่งบอร์ด หลังเกษียณ
ทั้งนี้ เพื่อให้สาธารณชน ได้เห็นภาพข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org จึงได้นำข้อมูลในหนังสือจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ( สตง.) ที่มีความเห็นต่อการดำรงตำแหน่งของนายจำรูญ มานำเสนอดังนี้
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
เลขที่ ตผ 0024/1144
วันที่ 31 มีนาคม 2557
เรื่อง ตอบข้อหารือถึงแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับสถานภาพของกรรมการ/รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่
เรียน กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (แอร์พอร์ต เรล ลิงค์)
อ้างถึง หนังสือ บริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด เลขที่ CEO-ES / 007/ 2557 ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2557
หนังสือ บริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด เลขที่ CEO / 0312 / 2557 ลงวันที่ 28 มีนาคม 2557
ตามหนังสือที่อ้างถึง บริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด ได้หารือกรณีที่นายจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ ซึ่งเป็นกรรมการในฐานะตัวแทนของกระทรวงคมนาคม พ้นจากตำแหน่งกรรมการตามมติคณะรัฐมนตรีแล้ว ยังคงปฏิบัติหน้าที่กรรมการ และยังเคยรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ในเวลาเดียวกัน หลังจากเกษียณอายุราชการแล้ว และทางบริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด จะต้องเรียกคืนเงินค่าเบี้ยประชุมกรรมการ และเงินเดือนในตำแหน่งรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่หรือไม่ อย่างไร เพื่อให้ทางบริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ เป็นแนวทางในการดำเนินการต่อไป ความละเอียดแจ้งแล้วนั้น
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้พิจารณาข้อหารือแล้ว ขอยืนยันตามหนังสือ ที่ ตผ 0024/0401 ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2557 เรื่องขอหารือเรื่องตำแหน่ง กรรมการผู้แทนกระทรวงคมนาคม ซึ่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การเป็นคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ ที่กรรมการเป็นผู้แทนจากกระทรวงและส่วนราชการนั้น ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2537 เห็นชอบหลักเกณฑ์การแต่งตั้ง และการพ้นจากตำแหน่ง กรรมการรัฐวิสาหกิจ และบทกำกับข้าราชการที่ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจและให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง ถือปฏิบัติต่อไป และเพิ่มเติมแนวทาง ให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ในกรณีข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ โดยไม่ได้เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
หากข้าราชการผู้นั้นเกษียณอายุราชการ หรือพ้นจากการเป็นข้าราชการ หรือเปลี่ยน ย้ายหน่วยงาน จะต้องลาออกจากตำแหน่งกรรมการในรัฐวิสาหกิจนั้น มิฉะนั้น ก็ให้หน่วยงานเจ้าสังกัดของรัฐวิสาหกิจดังกล่าว พิจารณายืนยัน หรือขอเปลี่ยนแปลงกรรมการผู้นั้น ทั้งนี้ ขอให้คำนึงถึงบทบัญญัติของกฎหมายด้วย
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเห็นว่า หากนายจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ ดำรงตำแหน่งกรรมการ ในฐานะผู้แทนกระทรวงคมนาคม บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด จำต้องถือปฏิบัติ ตามกฎหมายระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
แผนกตรวจสอบฯ เผย ไม่พบเอกสารยืนยันให้ "จำรูญ" ดำรงตำแหน่งหลังเกษียณ
ทั้งนี้ นอกจากเอกสารหนังสือ สตง. ดังกล่าวแล้ว ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบด้วยว่าแผนกตรวจสอบภายในของบริษัทรถไฟฟ้า แอร์พอร์ต ลิงค์ เคยหารือและตอบข้อทักท้วงของ สตง. ก่อนหน้านี้ ในประเด็นเรื่องการดำรงตำแหน่งของนายจำรูญ
จากนั้น แผนกตรวจสอบ สรุปรายงานต่อกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ในขณะนั้น ซึ่งก็คือ นายพีรกันต์ แก้ววงศ์วัฒนา ว่าไม่พบหลักฐาน เอกสาร ที่เกี่ยวข้อง รวมถึง หนังสือ ยืนยันของการเป็นกรรมการของกระทรวงคมนาคม กรณีที่นายจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ เกษียณอายุราชการแล้ว ในวันที่ 30 กันยายน 2555 แต่ยังดำรงตำแหน่งในบริษัทฯ ต่อ
รายละเอียดหนังสือดังกล่าว ลงวันที่ 6 มีนาคม 2557
เรื่อง กรรมการบริษัทฯ ทำผิดบทบัญญัติของกฎหมาย
เรียน กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ รฟฟท.
สิ่งที่ส่งมาด้วย หนังสือจาก สตง. เลขที่ 0024/0401 ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2557 เรื่องขอหารือเรื่องตำแหน่งกรรมการผู้แทนกระทรวงคมนาคม
จากหนังสือขอหารือ เรื่องตำแหน่งกรรมการผู้แทนกระทรวงคมนาคม จาก สตง. ตามสิ่งที่ส่งมาด้วยนั้น แผนกตรวจสอบได้ทำการตรวจสอบเอกสาร หลักฐานที่เกี่ยวข้อง รวมถึง หนังสือยืนยันการเป็นกรรมการของกระทรวงคมนาคม กรณีนายจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ เกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน 2555 แต่ไม่พบเอกสารการยืนยัน ให้ทำหน้าที่กรรมการผู้แทนกระทรวงคมนาคม ดังกล่าว จึงสรุปได้ว่า
1.นายจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ ได้พ้นสภาพการเป็นกรรมการบริษัท ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2543 ได้มีมติ ในหัวข้อ 6.3.3 เรื่อง การเปลี่ยนแปลงสถานะหรือสังกัด ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2537 ตามที่ สตง ให้ความเห็นว่า บริษัท ต้องถือปฏิบัติ ตามมติคณะรัฐมนตรี และคำนึงถึงบทบัญญัติของกฎหมายด้วย
2. ในช่วงเวลาเดียวกัน นายจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ ได้รับการแต่งตั้งให้รักษาการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อีกตำแหน่งหนึ่ง ดังนั้น นายจำรูญ จึงพ้นสถานภาพการเป็นรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ด้วย
“ทางแผนกตรวจสอบให้ความเห็นว่า รฟฟท. ควรรีบดำเนินการอย่างเคร่งครัดและเร่งด่วน ซึ่งหากมีการร้องเรียน หรือมีการตรวจสอบจากหน่วยงานภายนอก พบว่าบริษัท ละเลย บทบัญญัติของกฎหมาย จะทำให้บริษัท ได้รับความเสียหาย จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและรีบดำเนินการ”
ทั้งนี้ เมื่อผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา โทรศัพท์ติดต่อสัมภาษณ์นายจำรูญในประเด็นการดำรงตำแหน่งในแอร์พอร์ตลิงค์ต่อ ทั้งที่เกษียณอายุราชการในกระทรวงคมนาคมแล้ว นายจำรูญกล่าวว่า
“เรื่อง สตง. นี้ ถูกส่งไปที กระทรวงฯ ผมก็จะทำหนังสือชี้แจงไปที่กระทรวง ก็เป็นไปตามระเบียบราชการ ผมไม่อยากพูดอะไร มันขัดแย้งกันเปล่าๆ องค์กรเสียหายเปล่าๆ และจริงๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องของบอร์ด บอร์ดว่าอย่างไรก็ว่าอย่างนั้น และประเด็นที่ 2 คือ แล้วแต่ผู้ถือหุ้น ซึ่งในที่นี้ ผู้ถือหุ้นคือ การรถไฟ เพราะฉะนั้น การรถไฟว่ายังไง เราก็ว่าอย่างงั้น”
ทั้งหมดนี้ คือ ข้อเท็จจริงจากเอกสาร และความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสามารถชี้ให้เห็นข้อมูลในระดับหนึ่งว่า ใครพูดความจริง หรือไม่พูดความจริง?