เมื่อเด็กๆ ชายแดนใต้ปลื้มใจได้เป็นประชาชนไทยเต็มขั้น
“ดีใจและตื่นเต้นมากที่ได้ทำบัตรประจำตัวประชาชนเป็นครั้งแรก ได้มีบัตรเป็นของตัวเอง จำได้ว่าตอนเห็นบัตรของคุณพ่อคุณแม่ก็อยากมีบ้าง วันนี้เป็นจริงแล้ว หนูจะได้อวดให้คุณพ่อและคุณแม่ดูว่าบัตรของหนูสวยและน่ารักขนาดไหน”
เป็นเสียงแจ้วๆ ของ ด.ญ.ยัสมาณี สะมะแอ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนชุมชนบ้านยูโย อ.เมือง จ.ปัตตานี ที่บอกเล่าความรู้สึกหลังจากได้สัมผัสบัตรประจำตัวประชาชนเป็นครั้งแรกในชีวิต
การทำบัตรประจำตัวประชาชนของเด็กๆ ในทุกจังหวัดทั่วประเทศไทยเป็นผลจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2554 ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา สาระสำคัญคือให้ผู้มีสัญชาติไทยที่มีอายุตั้งแต่ 7 ปีบริบูรณ์แต่ไม่เกิน 70 ปี และมีชื่อในทะเบียนบ้าน ต้องมีบัตรประจำตัวประชาชน ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กๆ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้หอบลูกจูงหลานไปทำบัตรกันอย่างคึกคัก
การมีบัตรประจำตัวประชาชนนั้น นอกจากจะมีความสำคัญในแง่กฎหมายสำหรับใช้แสดงตนเพื่อรับบริการของรัฐหรือแสดงสิทธิในเรื่องต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว เจ้าบัตรสีฟ้าใบเล็กๆ ใบนี้ยังมีคุณค่าทางความรู้สึกด้วย ดังคำพูดที่ได้ยินได้ฟังกันมานานปีว่า การมีบัตรประจำตัวประชาชนเท่ากับเป็น “คนไทยเต็มขั้น”
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ของผู้ที่ต้องมีบัตรประชาชนจากบุคคลที่มีสัญชาติไทยอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปแต่ไม่เกิน 70 ปี เป็นอายุต่ำสุดแค่ 7 ปีก็ต้องมีบัตรกันแล้วนั้น ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงข้อดีข้อเสียไม่น้อยเหมือนกัน
จากการสำรวจความเห็นของฝ่ายต่างๆ พบว่า ข้อดีของการมีบัตรประชาชนเด็กก็คือ เด็กๆ สามารถนำบัตรไปใช้เพื่อขอรับบริการของรัฐได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น โดยที่ผู้ปกครองไม่ต้องนำหลักฐานเอกสารอื่นไปแสดงให้ยุ่งยาก เพราะบัตรประชาชนใบเดียวใช้ได้ทุกที่ ทุกกรณี
ประกอบกับในปัจจุบัน ประเทศไทยมีเด็กที่เกิดจากแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก การที่เด็กไทยมีบัตรปรจำตัวประชาชนไว้แสดงตนจึงนับเป็นข้อดีอีกอย่างหนึ่ง เพื่อแยกแยะเด็กที่มีสัญชาติไทยจริงๆ กับเด็กที่ไม่ได้มีสัญชาติไทย และที่สำคัญหากเด็กหายไปจากบ้านหรือ ประสบอุบัติเหตุ ก็สามารถตรวจสอบประวัติและที่อยู่จากบัตรประจำตัวประชาชนได้
สำหรับเอกสารที่ต้องเตรียมเพื่อไปทำบัตรประจำตัวประชาชนของเด็ก คือ สำเนาสูติบัตร หรือเอกสารใบระเบียนจากโรงเรียนที่เด็กศึกษาอยู่ โดยผู้ปกครองสามารถพาบุตรหลานไปทำบัตรประจำตัวประชาชนได้ทุกวัน ณ ที่ว่าการอำเภอ แม้กฎหมายจะกำหนดให้เด็กๆ ต้องทำบัตรภายใน 60 วัน แต่เพื่อความสะดวกและเป็นเรื่องใหม่ ทางกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จึงยืดเวลาให้โดยไม่เสียค่าปรับ และทำฟรีเป็นเวลา 1 ปี ทั้งยังให้ที่ว่าการอำเภอทุกแห่งเปิดบริการทำบัตรประชาชนเด็กในวันหยุดด้วย โดยบัตรประชาชนใบแรกของเด็กๆ จะมีอายุนาน 8 ปี
รูปแบบของบัตรประจำตัวประชาชนสำหรับเด็กนั้น เหมือนกับบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ใหญ่ทั่วๆ ไป คือเป็นบัตรสีฟ้า มีรูปของเจ้าของบัตรกำกับ ส่วนอายุของบัตรที่กำหนดไว้ 8 ปี ก็เพื่อให้เด็กอายุ 7 ปีซึ่งทำบัตรประชาชนใบแรก ต่ออายุบัตรอีกครั้งเมื่ออายุ 15 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุเดิมที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีบัตรประจำตัวประชาชน
ที่ห้องฝ่ายทะเบียนและบัตร ชั้น 1 อาคารที่ว่าการอำเภอเมืองปัตตานี บรรยากาศการเปิดทำบัตรประจำตัวประชาชนเด็กดำเนินไปอย่างชื่นมื่น เด็กๆ ตื่นเต้นที่จะมีบัตรเหมือนกับพ่อแม่ผู้ปกครอง โดย นายขวัญชาติ วงศ์ศุภรานันท์ นายอำเภอเมืองปัตตานี ได้ออกมาทักทายและให้กำลังใจเด็กๆ ด้วย ทำให้เด็กหญิงชายที่มารอต่อคิวทำบัตรและถ่ายรูปยิ้มแย้มกันเป็นแถว
น้องยัสมาณี บอกว่า แม้จะยังไม่รู้ว่าสามารถนำบัตรไปใช้ทำอะไรได้บ้าง แต่เธอก็รู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นคนไทยเต็มขั้น ได้มีบัตรประชาชนเป็นของตัวเอง
“ได้บัตรมาแล้วคงให้พ่อกับแม่ช่วยเก็บไว้ ไม่อยากพกติดตัวเพราะกลัวหาย หากทางโรงเรียนต้องการใช้ค่อยขอพ่อกับแม่ หรือพกไปด้วยตอนที่โรงเรียนพาไปทัศนศึกษาไกลๆ” ยัสมาณี บอก
ขั้นตอนการทำบัตรประชาชนเด็กนั้นไม่ยากอย่างที่คิด น้องยัสมาณี เล่าว่า ขั้นแรกเธอต้องเอานิ้วหัวแม่โป้งมือซ้ายไปวางบนเครื่องสแกน จากนั้นก็ถ่ายรูป เซ็นชื่อ และเดินไปรอรับบัตร โดยช่วงรับบัตรก็ต้องสแกนนิ้วชี้อีกครั้ง และเซ็นรับ แค่นี้ก็เสร็จเรียบร้อย
“หนูคิดว่าการที่หนูมีบัตรประชาชนเหมือนผู้ใหญ่จะมีประโยชน์มาก อย่างน้อยหนูก็สามารถบอกทุกคนได้ว่าหนูเป็นคนไทยคนหนึ่ง เป็นคนไทยเต็มขั้น บ้านเกิดอยู่ปัตตานี วันนี้ได้มีบัตรประชาชนเป็นครั้งแรกรู้สึกดีใจและตื่นเต้นมาก” น้องยัสมาณี กล่าว
เช่นเดียวกับ ด.ญ.ฮุสนา นิเลาะ เพื่อนร่วมชั้นเรียนของยัสมาณี ที่บอกว่า ทราบข่าวจากทางโทรทัศน์ว่าเด็กอายุ 7 ปีต้องทำบัตรประจำตัวประชาชนด้วย ก็รู้สึกตื่นเต้นที่จะได้มีบัตรเป็นของตัวเองเหมือนกับผู้ใหญ่
“ขั้นตอนการทำก็ไม่ยากค่ะ อาจารย์ให้เขียนคำร้องและเซ็นชื่อกำกับไว้ก่อนแล้ว เมื่อมาถึงอำเภอก็ยื่นได้เลย หนูคิดว่าจะเก็บบัตรนี้ไว้ตลอด แม้จะหมดอายุต้องทำบัตรใหม่ก็จะยังเก็บบัตรใบนี้ไว้ จะได้ดูและเปรียบเทียบกันว่าหน้าตาของตัวเองเปลี่ยนไปขนาดไหน” น้องฮุสนา เล่าถึงความตั้งใจเล็กๆ ของเธอ
ขณะที่ ด.ช.อิสมาแอ สารนัย นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 บอกว่า ดีใจมากที่ได้ทำบัตรประชาชนเป็นครั้งแรก โดยวันนี้คุณครูเป็นคนพามาพร้อมกับเพื่อนๆ ในห้องอีก 11 คน
“ผมคิดว่าการมีบัตรประจำตัวประชาชนเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เพราะถ้าผมมีโอกาสตามพ่อกับแม่ไปมาเลเซีย เมื่อผมมีบัตรประชาชนเด็ก เขาก็จะรู้ว่าผมเป็นคนไทย” หนูน้อยอิสมาแอ กล่าว
ครูณัฏฐาพร รัตนคำ ครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 2/1 โรงเรียนชุมชนบ้านยูโย ซึ่งพาเด็กๆ ไปทำบัตรประชาชน ให้ข้อมูลว่า โรงเรียนชุมชนบ้านยูโยมีเด็กนักเรียน 300 กว่าคนที่ต้องทำบัตร ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องดีมากกว่าเสียที่เด็กอายุ 7 ขวบจะได้มีบัตรประชาชน โดยเฉพาะเวลาเด็กๆ ได้ไปทัศนศึกษา หากมีเหตุพลัดหลงกับคณะที่พาไป บัตรประชาชนที่เด็กพกติดตัวอยู่จะสามารถช่วยให้เด็กกลับบ้านอย่างปลอดภัย
“แม้เด็กจะเรียนอยู่ชั้นประถมแล้ว แต่เขาไม่รู้หรอกว่าตัวเองเป็นคนที่ไหน เกิดวันที่เท่าไหร่ อยู่บ้านเลขที่อะไร เด็กจะไม่ค่อยทราบข้อมูลเหล่านี้ การมีบัตรประชาชนจะช่วยเด็กได้เยอะ”
ส่วนที่มีหลายกระแสกังวลเรื่องใบหน้าของเด็กที่อาจเปลี่ยนแปลงจนไม่เหมือนกับรูปถ่ายบนบัตรนั้น ครูณัฏฐาพร มองว่า ไม่ใช่ปัญหา เพราะเปลี่ยนแค่หน้าตา แต่ฐานข้อมูลของเด็กคนนั้นยังไม่เปลี่ยน
ในพื้นที่ อ.เมืองปัตตานี มีเด็กอายุระหว่าง 7-15 ปี ที่ต้องทำบัตรประจำตัวประชาชนจำนวน 12,395 คน โดย นายขวัญชาติ วงศ์ศุภรานันท์ นายอำเภอเมืองปัตตานี กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค.นี้ ทางอำเภอจะจัดบริการรถโมบายลงไปทำบัตรประชาชนเด็กให้ถึงโรงเรียน โดยจะประเดิมที่โรงเรียนบาราเฮาะ และโรงเรียนชุมชนบ้านปูยุดก่อน จากนั้นจะประชาสัมพันธ์ไปเรื่อยๆ เพราะยังมีชาวบ้านที่ไม่ทราบข่าวคราวอีกเป็นจำนวนมาก
ที่ จ.ยะลา สองพี่น้องตระกลู “ลาเตะ” คือ ด.ญ.โซเฟีย และ ด.ญ.นูรี ได้พากันไปทำบัตรประจำตัวประชาชนเป็นคนแรกของพื้นที่ อ.เมืองยะลา โดยมี นายอภินันท์ ซื่อธานุวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา และ นายเสรี พาณิชย์กุล นายอำเภอเมืองยะลา คอยกำกับดูแลความเรียบร้อยด้วยตนเอง
นายเสรี กล่าวว่า ได้สั่งการให้ปลัดอำเภอ ฝ่ายทะเบียนและบัตร ออกประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านทราบข้อมูล พร้อมทั้งได้เรียกกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่มาประชุม เพื่อให้นำข้อมูลข่าวสารกลับไปแจ้งให้ลูกบ้านได้ทราบว่า เด็กอายุ 7–15 ปี ต้องทำบัตรประจำตัวประชาชนตามกฎหมาย
“สำหรับในพื้นที่ อ.เมืองยะลา มีเด็กๆ ที่อยู่ในเกณฑ์ต้องทำบัตรประจำตัวประชาชน จำนวน 16,205 คน” นายอำเภอเมืองยะลา กล่าว
ด.ช.อิศรัณห์ ยะมาแล นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนสตรียะลา ซึ่งจัดเป็นเด็กโตแต่อยู่ในข่ายต้องทำบัตรประชาชนเด็กในครั้งนี้เช่นกัน บอกว่า เป็นเรื่องดีที่เด็กจะได้มีบัตรประจำตัวประชาชนเป็นของตัวเอง เพราะจะได้แสดงว่าเป็นคนไทยอย่างสมบูรณ์ อีกทั้งบัตรประชาชนก็มีประโยชน์เมื่อเข้ารับบริการจากหน่วยงานของรัฐด้วย
ความรู้สึกดีๆ ของเด็กๆ จากปลายด้ามขวานที่ได้มีบัตรประชาชนของตัวเองเป็นครั้งแรกในชีวิต คือภาพสะท้อนหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า แม้ประเทศไทยจะประกอบด้วยผู้คนจากหลากหลายเชื้อชาติ ศาสนา แต่ทุกคนก็ภูมิใจที่ได้เกิดและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันบนแผ่นดินนี้อย่างภาคภูมิ...
---------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 เด็กๆ ยิ้มแย้มโชว์บัตรประจำตัวประชาชนใบแรกในชีวิต
2-4 ขั้นตอนการทำบัตรไม่ยุ่งยากอย่างที่คิด แค่ยื่นเอกสาร-สแกนนิ้ว-ถ่ายรูป (ภาพทั้งหมดโดย แวลีเมาะ ปูซู)