ดร.สมพงษ์ชี้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เด็กเยาวชนเน้นเด็กสร้างโจทย์ด้วยตัวเอง
ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. จัดทำโครงการการบูรณาการพลังเด็กและเยาวชนกับพลังชุมชนท้องถิ่นในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านเด็กและเยาวชนเพื่อเชื่อมโยงและบูรณาการงานด้านเด็กและเยาวชนในระดับชุมชนท้องถิ่น
รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่าการทำงานของสภาเด็กและเยาวชนมีโครงสร้างแบบราชการทำขึ้นข้างบน ไม่เกิดความยั่งยืนต่อยอดที่จะทำให้เกิดคุณภาพของพลเมืองได้อย่างแท้จริงซึ่งการมีสภาเด็กและเยาวชน ทั้งระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศลงทุนมากแต่ได้ผลไม่ถึงร้อยละ30 ดังนั้น สภาเด็กและเยาวชนควรจะทำจากแนวราบ ทั้งนี้ โครงการฯ มีพื้นที่ขับเคลื่อนงานด้านเด็กและเยาวชน ในระดับตำบล 12 ตำบล ในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะแบบองค์รวม
อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวด้วยว่า การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านเด็กและเยาวชนของโครงการนี้อยู่ที่การบูรณาการรวมสองพลังเข้าด้วยกันคือ พลังเด็กและเยาวชน และพลังชุมชนท้องถิ่น เพราะพลังของเด็กและเยาวชนคือ พลังในการขับเคลื่อนกิจกรรม มีความคิดสร้างสรรค์ คิดทำโครงการดีๆ เพื่อการพัฒนาชุมชนของตนเองโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน มีพื้นที่รวมตัว รวมกลุ่ม เพื่อทำงานร่วมกันในลักษณะที่ตอบโจทย์ประเด็นสาธารณะได้ เป็นการถ่ายถอด หล่อหลอม สืบสาน และต่อยอด ความรู้ของชุมชน ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม และความเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน ส่วนพลังชุมชนท้องถิ่นมีลักษณะที่เปรียบได้กับต้นทุนในการขับเคลื่อนของเด็กและเยาวชนคือเป็นพลังที่อยู่ในรูปของความรู้ ปราชญ์ชุมชน พื้นที่เป้าหมาย วิถีชีวิต โจทย์การทำงาน แหล่งทุน และการสนับสนุนต่างๆ ซึ่งเป็นต้นทุนในการคิด และต่อยอดการทำงานของเด็กและเยาวชน
“ต้องให้เด็กขึ้นโจทย์เองไม่บังคับ จะเกิดการพัฒนาไม่หยุด อย่าทำโจทย์ยากๆ ที่ผู้ใหญ่ยัดเยียดเพราะเด็กมองว่าไร้สาระ จึงต้องให้เด็กขึ้นโจทย์เอง เพราะเด็กจะทำปัญหาใกล้ตัว ช่วยเพื่อนได้และเป็นกิจกรรมที่สนุกสนาน ซึ่งผู้ใหญ่ต้องเข้าใจ อดทน ฟังเสียงเด็ก เนื่องจากที่ผ่านมา ส่วนใหญ่อดทนไม่พอ และรอคอยไม่ได้ เพราะผู้ใหญ่ผ่านการเรียนรู้และประสบการณ์มาก่อน จะใจร้อนกว่าเด็ก เวลาทำกิจกรรมจึงอยากเห็นผลงาน”
รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวอีกว่า สถาบันครอบครัวพูดกันมากว่าครอบครัวสำคัญเป็นนามธรรมขับเคลื่อนไม่ได้ ขณะนี้ ทุกคนต้องช่วยกันดันเด็กขึ้นและเข้าใจโจทย์ร่วมกัน ทั้งชุมชน ครอบครัว เด็กและเยาวชน เพราะถ้ายังมองมิติเดียวจะสู้กระแสสังคมข้างนอกที่แรงกว่า เร็วกว่า เป้าเข้าถึงกว่า น่าสนใจมากกว่า ไม่ได้ เช่น โทรศัพท์มือถือ มอเตอร์ไซค์ ซึ่งมิติตัวต่อตัวเราสู้ไม่ได้ ปัญหาสังคมจึงมาก ดังนั้น ต้องมี โรงเรียนพ่อ แม่ที่สามารถดูแลเด็กกลุ่มเสี่ยงได้ โดยออกแบบหลักสูตรให้ดี มีการเชื่อมโยงกัน แต่อย่าไปมองโรงเรียน พ่อแม่ในชนชั้นกลางที่มีการป้องกันเตรียมตัวดีอยู่แล้ว แต่เด็กกลุ่มเสี่ยงทำอย่างไรให้ได้รับข้อมูลข่าวสาร ซึ่งต้องพยายามเข้าถึงกลุ่มเด็กที่คิดว่าถ้าเราไม่ช่วยเขาก็จะหลุดออกไปอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ด้านการหาข้อมูลนั้น รศ.ดร.สมพงษ์ แนะนำว่า สามารถที่จะหาข้อมูลของพ่อแม่ เด็กกลุ่มเสี่ยง ได้จาก 1)ข้อมูลของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ที่มีโครงการให้ครูลงไปเยี่ยมบ้านพบพ่อ แม่เด็กตามบ้านทุกคน 2) เด็กเก็บข้อมูลกันเอง เช่น สภาเด็กลงพื้นที่สำรวจว่าในชุมชน พื้นที่ที่ตนเองอาศัยอยู่มีเรื่องเสี่ยงอะไรบ้าง เด็กจะรู้เพราะเป็นเพื่อนกัน หากทำได้จะเกิดการพัฒนาองค์ความรู้ ฐานข้อมูลที่จะรู้ว่าเลี้ยงลูกรูปแบบไหนจะเป็นอันตราย ซึ่งเป็นการดักปัญหาตั้งแต่ต้นทาง เมื่อพบปัญหา การแก้ไข ร.ร. ครู เด็ก นำตัวอย่างเด็กกลุ่มเสี่ยงลงไปหาครอบครัว เริ่มทำตั้งแต่ชั้นอนุบาลเลย เพราะถ้าไม่ทำเด็กกลุ่มเสี่ยงจะมีจำนวนมากขึ้นตามลำดับ
“ดังนั้นต้องออกแบบหลักสูตรให้ดี แม้จะยากแค่ไหนแต่ต้องทำ โดยเชื่อว่าภายใน 10-15 ปี ประเทศสามารถพัฒนาได้จากต้นแบบที่เป็น BestPractice ที่เกิดจากสิ่งที่เด็กตั้งโจทย์ทำจากพื้นที่ให้สามารถจัดการตนเองและผลักดันนโยบายสาธารณะระดับท้องถิ่นประเด็นด้านเด็กและเยาวชน เพื่อขับเคลื่อนและเกิดการเปลี่ยนแปลงของเครือข่ายระดับล่างของชุมชนและองค์กรเด็กและเยาวชนได้”