สพฉ.จับมือทัพอากาศหนุนชุดอุปกรณ์ฉุกเฉินตอบโต้ภัยพิบัติ
สพฉ. จับมือกองทัพอากาศ ลงนามความร่วมมือพัฒนาการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินทางอากาศยาน พร้อมสนับสนุนด้านวิชาการและชุดอุปกรณ์สาหรับชุดปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินเคลื่อนที่เร็วตอบโต้ภัยพิบัติ เชื่อเพิ่มศักยภาพในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินในพื้นที่ที่รถพยาบาลเข้าถึงยาก
วันที่ 17 เมษายน 2557 ที่กรมแพทย์ทหารอากาศ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และกองทัพอากาศ จัดพิธีลงนามบันทึกว่าด้วยความร่วมมือในการสนับสนุนวิชาการและชุดอุปกรณ์สาหรับชุดปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินเคลื่อนที่เร็วตอบโต้ภัยพิบัติ (Disaster Medical Emergency Response Team : DMERT) และพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการฝึกอบรมการลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศสำหรับบุคลากรสาธารณสุข เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า ปัจจุบันความรุนแรงของสาธารณภัยทั้งภัยธรรมชาติและภัยที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น มีระดับความรุนแรงมากขึ้น รวมถึงมีความถี่ในการเกิดเหตุที่สูงขึ้นด้วย ส่งผลให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน อาทิ เหตุการณ์ก่อการร้าย เหตุการณ์สึนามิ เหตุการณ์แผ่นดินไหว วาตภัย อุทกภัย ดังนั้นในฐานะหน่วยงานที่ต้องให้ความช่วยเหลือจึงต้องเตรียมความพร้อมอยู่เสมอ เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนมีประสิทธิภาพมากที่สุด
ในการนี้ สพฉ.และกองทัพอากาศ จึงได้ประสานความร่วมมือกันในการพัฒนาและเตรียมพร้อม โดยจะมีการส่งเสริม สนับสนุน และประสานความร่วมมือด้านปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินเคลื่อนที่เร็วตอบโต้ภัยพิบัติ และจัดให้มีการฝึกอบรมการลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศสำหรับบุคลากรสาธารณสุขด้วย
เลขาธิการ สพฉ. กล่าวต่อว่า สำหรับการพัฒนาความร่วมมือดังกล่าว สพฉ. จะสนับสนุนกองทัพอากาศในการจัดหาอุปกรณ์และครุภัณฑ์ ชุดปฏิบัติการเพื่อใช้ในการช่วยเหลือประชำชนกรณีที่เกิดภัยพิบัติ หรือช่วยเหลือ ผู้เจ็บป่วยซึ่งอยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร และเขตพื้นที่ซึ่งมีข้อจำกัดในการเดินทางที่ไม่สามารถใช้รถพยาบาลปกติได้ นอกจากนี้จะสนับสนุนงบประมาณการฝึกอบรมชุดปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินของกองทัพอากาศในอัตรา 10,000 บาทต่อคน รวมเป็นเงิน 110,000 บาท อีกทั้งจะให้การสนับสนุนทางด้านวิชาการและพัฒนาระบบการปฏิบัติงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน รวมตลอดถึงการพัฒนาการใช้ชุดอุปกรณ์ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดด้วย
"ชุดปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินเคลื่อนที่เร็วตอบโต้ภัยพิบัติได้ถูกออกแบบขึ้นเพื่อรองรับการจัดการภัยพิบัติให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และทันต่อเหตุการณ์ โดยในทีม DMERT 1 ชุด จะประกอบด้วยแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน แพทย์ที่รับผิดชอบงานด้านสาธารณภัย หรือแพทย์ทั่วไป พยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินหรือสาธารณภัย เจ้าพนักงานฉุกเฉินระดับพื้นฐาน พนักงานขับรถฉุกเฉิน รวมชุดละ 11 คน"
ซึ่งทั้งหมดจะต้องผ่านการอบรมทั้งในส่วนของภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติเพื่อให้รู้จักการประสานงาน การจัดการกับระบบการสื่อสาร การวางแผนในการช่วยเหลือเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ รวมทั้งการเคลื่อนย้ายในแนวดิ่งจากอาคารสูง โดยเฉพาะในเหตุการณ์ที่มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก หรือมีสถานการณ์ภัยพิบัติแทรกซ้อนอยู่ตลอดเวลา และเมื่อเกิดภัยพิบัติ ทีม DMERT จะต้องสามารถจัดทีมและออกช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที สามารถดำรงชีวิตและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ภัยพิบัติ ซึ่งจะมีอุปกรณ์ที่จำเป็นในการปฏิบัติงาน เช่น เต้นท์สนาม เครื่องปั่นไฟ ถังน้ำ เครื่องมือทางการแพทย์ เตียงพยาบาล เครื่องมือสื่อสาร ฯลฯ ไปพร้อมกับทีม เสมือนตั้งเป็นโรงพยาบาลสนามย่อยๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย
ด้านพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ กล่าวว่า กองทัพอากาศตระหนักดีว่า ภารกิจในการช่วยเหลือประชาชนยามประสบปัญหาภัยพิบัตินั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นการลงนามความร่วมมือครั้งนี้จึงถือเป็นการพัฒนาการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินที่ประสบภัยพิบัติให้ก้าวหน้าไปอีกระดับ ทั้งในด้านวิชาการที่จะพัฒนาทักษะการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินให้มีความรู้ความสามารถในการดูแลรักษาผู้ป่วยขณะลำเลียงผู้ป่วยด้วยอากาศยาน ได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มีข้อจำกัดและมีความยากลำบากในการช่วยเหลือ รวมถึงด้านกำลังคน อุปกรณ์ ที่จะมีการสนับสนุนเพิ่มมากขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตามในส่วนของกองทัพอากาศก็จะต้องมีความพร้อมและสนับสนุนงบประมาณด้านเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ ที่จำเป็นให้มีพร้อมใช้เมื่อต้องออกปฏิบัติการ และจัดสรร สำรอง อุปกรณ์ ยาเวชภัณฑ์ ให้พร้อมใช้งำนอยู่เสมอ รวมถึงการเตรียมเชื้อเพลิงในการออกปฏิบัติการด้วย หรือมีรถยนต์บรรทุกขนาดเล็กสำหรับลำเลียงอุปกรณ์เวชภัณฑ์ ที่พร้อมใช้งานได้ทันทีเมื่อต้องออกปฏิบัติการ เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินมีประสิทธิภาพและทันต่อสถานการณ์มากที่สุด