ผู้สูงอายุไทยประสบปัญหาเรื่องรายได้ 60% ไม่ได้ทำงาน รอเงินจากลูกหลาน
13 เมษายนของทุกปี นอกจากเป็นวันสงกรานต์แล้ว ยังถือว่า เป็นวันผู้สูงอายุ ถัดจากนั้น 1 วันก็เป็นวันครอบครัว สำนักข่าวอิศรา รวบรวมสถิติเกี่ยวกับผู้สูงอายุในประเทศไทยที่น่าสนใจให้ท่านผู้อ่านได้ติดตามกันว่า สังคมไทยกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุแล้วจริงหรือ? แล้วผู้สูงอายุของไทยประสบกับปัญหาใดบ้าง? ขณะนี้มีนโยบายใดบ้างที่ตอบโจทย์ผู้สูงอายุได้ และทำให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุดีขึ้น
จากสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ผู้สูงอายุในปี 2555 มีสัดส่วนราว 12.7% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งหากประเทศใดมีสัดส่วนผู้สูงอายุเกิน 10% ของประชากรทั้งประเทศแสดงว่าประเทศนั้นกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตามนิยามขององค์การสหประชาชาติหรือยูเอ็น ทั้งนี้ผู้สูงอายุหมายถึงผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป
ส่วนใหญ่ผู้สูงอายุราว 60% ไม่ได้ทำงานและรอเงินจากลูกหลานที่ทำงานในเมืองส่งมาให้ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากสถาบันอนาคตไทยศึกษาที่แถลงข่าวไว้เมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมาว่า หากแบ่ง 2.2 ล้านครอบครัวเป็น 10 หมู่บ้าน หมู่บ้านแรกที่จนที่สุด 10% คือหมู่บ้านที่มีผู้สูงอายุเป็นหัวหน้าครอบครัวและมีรายได้หลักจากเงินที่ลูกหลานส่งมาให้ โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในขณะเดียวกันผู้สูงอายุอีก 40% หรือราว 3.4 ล้านคนยังทำงานอยู่ 64% ทำงานในภาคเกษตรกรรม โดยส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาต่ำกว่าระดับประถมศึกษาถึง 80.5% และเมื่อประสบเหตุที่ทำให้ต้องเจ็บป่วย 67% จะไม่ยอมไปหาหมอเพื่อรักษาเพราะเห็นว่า “เจ็บนิดๆ” และไปซื้อยามาทานเอง 25%
ที่สำคัญคือเมื่อดูค่าตอบแทนจากการทำงานแล้วพบว่า ในภาพรวมผู้สูงอายุมีค่าจ้างเฉลี่ยเดือนละ 11,393 บาท แต่เฉพาะผู้สูงอายุที่ทำงานในภาคเกษตรกรรมมีรายได้เฉลี่ยเพียงเดือนละ 3,871 บาทเท่านั้น
แสดงให้เห็นว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่นั้นประสบปัญหาในเรื่องรายได้ที่น้อยจากการทำงานภาคเกษตรกรรมหรือจากการรอลูกหลานส่งเงินมาให้ใช้ ขาดความรู้และเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้น้อย ส่งผลให้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ในสังคมไทยยังมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ค่อยดีเท่าไรนัก
เมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา ณ สโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดีรังสิต ในพิธีเปิดงานวันผู้สูงอายุแห่งชาติ 2557 นางปวีณา หงสกุล รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวกับสำนักข่าวอิศราถึงการจัดตั้งศูนย์ผู้สูงอายุ 787 แห่งทั่วประเทศเพื่อพัฒนาทักษะและนำไปสู่การมีอาชีพของผู้สูงอายุได้ในอนาคต พร้อมกับหวังไว้ว่าจะสามารถดำเนินการจัดตั้งได้สำเร็จ
การจัดตั้งศูนย์ผู้สูงอายุนี้อาจเติมความหวังให้ผู้สูงอายุที่ไม่มีทักษะ ไม่มีงานทำ และรอเงินจากลูกหลานราว 60% ของผู้สูงอายุทั้งหมดสามารถลืมตาอ้าปากได้ด้วยตนเอง พึ่งพาลูกหลานน้อยลง และทำให้ชีวิตพวกเขาดูมีคุณค่ามากขึ้นได้
นอกจากนี้ การพัฒนาการดูแลผู้สูงอายุ การพัฒนาสุขภาพกายและจิตของผู้สูงอายุ ก็จะมีการตั้งศูนย์ส่งเสริมและมีอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ต่างๆ โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะมีจำนวนกว่า 7,800 ศูนย์ภายในระยะเวลา 3 ปี
อย่างไรก็ตาม หวังว่าโครงการทั้งหลายนี้จะไม่เป็นการขายฝันให้ผู้สูงอายุเพียงอย่างเดียว และหวังว่าการดำเนินการจะทำอย่างจริงจัง ไม่รีรอ เนื่องจากสังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว จำเป็นต้องทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งกาย และจิตใจ เพื่อเป็น “ผู้สูงวัยที่ไม่ไร้ค่า”