10ปีไฟใต้งบเยียวยา5พันล้าน ชดเชยทรัพย์สิน-ธุรกิจ900ล้าน
หลังเกิดเหตุรุนแรงครั้งใหญ่กลางเมืองยะลา จากการก่อเหตุระเบิดอย่างน้อย 7 จุดระหว่างวันที่ 6-7 เม.ย.ที่ผ่านมานั้น ประเด็นสำคัญที่ทุกฝ่ายให้ความสนใจและเร่งรัด คือ การให้ความช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งด้านชีวิตและร่างกาย หรือด้านทรัพย์สินที่เสียหายจากความรุนแรง
เบื้องต้นมีการประเมินค่าเสียหาย โดยเฉพาะอาคารบ้านเรือนและร้านรวงต่างๆ ทั้งสิ้น 154 ล้านบาท และจ่ายเยียวยาไปแล้วบางส่วนราว 8.6 ล้านบาท
ขณะเดียวกันก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับปัญหาการช่วยเหลือเยียวยา ทั้งในแง่ความล่าช้า และที่แรงไปกว่านั้นคือรัฐบาลอาจไม่มีเงินจ่าย
ล่าสุดรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องได้เดินทางลงพื้นที่ไปสำรวจความเสียหายและให้กำลังใจผู้ได้รับผลกระทบ โดยได้ยืนยันร่วมกับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ว่ารัฐบาลจะเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามความเหมาะสมโดยเร็วที่สุด
อย่างไรก็ดี มีประเด็นที่น่าสนใจและไม่ค่อยมีใครรับรู้ คือ การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น มีหลักเกณฑ์อย่างไร และใช้เงินไปเท่าไรแล้วจากสถานการณ์ความรุนแรงรายวันที่เกิดต่อเนื่องมานานกว่า 10 ปี เพราะงบประมาณในส่วนนี้ไม่ได้รวมอยู่กับงบประมาณหมวดแผนงานแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอด 11 ปีงบประมาณที่ผ่านมา
จากการรวมตัวเลขกลมๆ พบว่ารัฐบาลทุกชุดตั้งแต่ปี 2547-2556 (ไม่รวมปีงบประมาณ 2557) ต้องจ่ายเงินเยียวยาให้กับเหยื่อไฟใต้ อันเป็นผลพวงจากความรุนแรง ทั้งในแง่ชีวิตร่างกายและทรัพย์สินเสียหายถึงเกือบ 5 พันล้านบาท!
เปิดเกณฑ์เยียวยา"เก่า-ใหม่"
ในเอกสารรายงานผลการดำเนินงานการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายและผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจัดทำโดย ศอ.บต.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ว่า หลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือเยียวยาตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบันนั้น มีทั้งหลักเกณฑ์เดิม และหลักเกณฑ์ที่ปรับปรุงใหม่ หรือขยายขอบเขตการเยียวยาให้ครอบคลุมกว่าเดิม ดังนี้
หลักเกณฑ์เดิม ได้แก่ มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 31 พ.ค.2548 ที่ได้กำหนดหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งด้านร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สินกับประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น กรณีประชาชนเสียชีวิต ได้รับการช่วยเหลือเยียวยารายละ 100,000 บาท ทุพพลภาพ 80,000 บาท กรณีเจ้าหน้าที่รัฐเสียชีวิต ได้รับการช่วยเหลือเยียวยารายละ 500,000 บาท พิการหรือทุพพลภาพ รายละ 500,000 บาท เป็นต้น
หลักเกณฑ์ใหม่ (ออกในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย) ได้แก่
- มติ ครม.เมื่อวันที่ 14 ส.ค.2555 ให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจ่ายเงินให้ความช่วยเหลือเยียวยา กรณีประชาชนเสียชีวิต จากเดิม 100,000 บาท ทุพพลภาพ 80,000 บาท เพิ่มเป็นรายละ 500,000 บาท ทั้งนี้ให้มีผลตั้งแต่วันที่ ครม.ให้ความเห็นชอบ และให้ย้อนหลังครอบคลุมผู้เสียชีวิตและทุพพลภาพตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2547 ด้วย
โดยส่วนที่มีผลย้อนหลังจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นไม่ช้ากว่าปีงบประมาณ 2548 และเพื่อไม่ให้เป็นภาระด้านงบประมาณในปีหนึ่งปีใดเกินสมควร ให้ทยอยจ่ายปีละ 100,000 บาทต่อราย และให้นำจำนวนเงินที่ได้รับความช่วยเหลือไปแล้วมาหักออกจากจำนวนเต็มที่จะพึงได้รับด้วย
- มติ ครม.เมื่อวันที่ 24 เม.ย.2555 ให้เยียวยาฟื้นฟูด้านการเงินและ "คุณภาพชีวิต" ของครอบครัวผู้ได้รับความเสียหายและผู้ได้รับผลกระทบ ให้สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุขและมีคุณภาพอย่างยั่งยืน
- ระเบียบคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายและผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555
ระเบียบนี้เป็นไปตามนโยบายใหม่ที่ให้ความสำคัญในการช่วยเหลือดูแลผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐ และกลุ่มผู้ต้องหา จำเลย หรือผู้ต้องขังในคดีความมั่นคงซึ่งสุดท้ายพนักงานสอบสวนหรืออัยการสั่งไม่ฟ้อง หรือศาลยกฟ้อง รวมถึงกลุ่มผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษฉบับต่างๆ เช่น กฎอัยการศึก หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และภายหลังเจ้าพนักงานปล่อยตัวโดยไม่มีความผิด
ปี 47-55 ยอดเยียวยา 2 พันล้าน
สำหรับผลการดำเนินการให้ความช่วยเหลือเยียวยา แยกเป็น
1.การให้ความช่วยเหลือเยียวยาตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 31 พ.ค.2548 และ 14 ส.ค.2555 กรณีประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐเสียชีวิต รวม 4,224 ราย บาดเจ็บ 7,618 ราย ทุพพลภาพ 443 ราย (รวม 12,285 ราย) เป็นเงินทั้งสิ้น 1,432,878,723 บาท
นอกจากนั้นยังมีการเยียวยาด้านทรัพย์สินที่เสียหาย รวม 4,144 ราย เป็นเงิน 599,725,614.37 บาท รวมการช่วยเหลือเยียวยาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2547-2555 (9 ปี) เป็นเงิน 2,032,604,337.37 บาท
ปี 56 จ่ายเพิ่ม-ย้อนหลัง 850 ล้าน
2.ปีงบประมาณ 2556 (1 ต.ค.2555 ถึง 30 ก.ย.2556) ศอ.บต.ได้ให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ กรณีความสูญเสียด้านร่างกาย คือ เสียชีวิต 256 ราย บาดเจ็บ 1,047 ราย เป็นเงิน 167,597,500 บาท และทรัพย์สินได้รับความเสียหาย 1,174 ราย เป็นเงิน 289,581,780 บาท รวมการช่วยเหลือเยียวยาในปีงบประมาณ 2556 เป็นเงิน 552,147,683 บาท
ทั้งนี้ หากนับเฉพาะกรณีทรัพย์สินเสียหาย ทั้งเรือกสวนไร่นา บ้านเรือน และภาคธุรกิจ รัฐจ่ายเยียวยาตั้งแต่ปี 2547-2556 ไปแล้วทั้งสิ้น 889,307,394 บาท
3.การจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมตามมติ ครม. 14 ส.ค.2555 (ที่มีการปรับเพิ่มเงินเยียวยา) กรณีประชาชนเสียชีวิตหรือทุพพลภาพ รายละ 500,000 บาท กำหนดให้จ่ายเพิ่มเติมปีละ 100,000 บาทต่อราย สำหรับปีงบประมาณ 2556 ได้ดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาไปทั้งสิ้น จำนวน 2,983 ราย เป็นเงิน 298,300,000 บาท
"กรือเซะ-ตากใบ-ขังฟรี" 1.9 พันล้าน
4.การช่วยเหลือเยียวยากรณีพิเศษจากเหตุการณ์รุนแรงที่ก่อความสูญเสียขนาดใหญ่ หรือเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลหลังจากมีการให้ความช่วยเหลือเยียวยากรณีผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 (คนเสื้อแดง) ทั้งนี้ เป็นไปตามมติ ครม. 24 เม.ย.2555 งบประมาณรวม 2,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ได้พิจารณาให้การช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ทั้งประชาชนทั่วไป เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ถูกกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ หรือผู้ก่อเหตุรุนแรงที่เป็นเหตุการณ์เฉพาะกรณี เช่น กรณีมัสยิดกรือเซะ เหตุการณ์ตากใบ กรณีการบังคับให้สูญหาย และกรณีถูกควบคุมตัว ถูกคุมขัง หรือถูกดำเนินคดี แต่ต่อมาทางการถอนฟ้อง ยกฟ้อง รวมทั้งสิ้น 12,663 คน เป็นเงิน 1,947,941,303 บาท มีรายละเอียด (เฉพาะที่สำคัญ) ดังนี้
- กรณีกรือเซะ (เหตุการณ์รุนแรงวันที่ 28 เม.ย.2547) จำนวน 90 ราย เป็นเงิน 160,102,500 บาท
- กรณีตากใบ (เหตุการณ์รุนแรงเมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547) จำนวน 959 ราย เป็นเงิน 641,451,200 บาท
- กรณีสะบ้าย้อย (ทีมฟุตบอลบ้านสุโสะ วันที่ 28 เม.ย.2547), กรณีมัสยิดอัลฟุรกอน (ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง เมื่อ 8 มิ.ย.2552), กรณีวัดพรหมประสิทธิ์ (สังหารพระ เด็กวัด เมื่อปี 2548) จำนวน 32 ราย เป็นเงิน 183,489,000 บาท
- เหตุการณ์อื่นๆ (เฉพาะกรณี) จำนวน 216 ราย เป็นเงิน 118,500,000 บาท
- กรณีสูญหาย เฉพาะที่มีหลักฐานรับฟังได้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้กระทำ จำนวน 4 ราย เป็นเงิน 30,000,000 บาท
- กรณีถูกละเมิดสิทธิ เฉพาะที่มีหลักฐานรับฟังได้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้กระทำ จำนวน 25 ราย เป็นเงิน 90,480,000 บาท
- ถูกจับกุมคุมขังก่อนวันที่ 1 ต.ค.2554 (ออกประกาศใช้หลักเกณฑ์นี้ เป็นการจ่ายย้อนหลัง) และไม่มีความผิด จำนวน 1,797 ราย เป็นเงิน 130,245,200 บาท
- ช่วยเหลือกายอุปกรณ์ เช่น ขาเทียม และกรณีอื่นๆ นอกหลักเกณฑ์ จำนวน 2,042 ราย เป็นเงิน 222,700,057 บาท ฯลฯ
ดูแลเด็กกำพร้า-เยียวยาจิตใจ
5.การให้ความช่วยเหลือเยียวยาตามระเบียบ กพต. กรณีผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันสืบเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบฯ พ.ศ.2555 ในปีงบประมาณ 2555 และ 2556 (เช่น เหตุการณ์ทหารพรานยิงประชาชนที่บ้านน้ำดำ ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อ 25 ม.ค.2555) ให้ความช่วยเหลือแล้ว จำนวน 223 ราย เป็นเงิน 41,530,400 บาท
6.โครงการเยียวยาจิตวิญญาณผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ โดย ศอ.บต.ได้จัดกิจกรรมเดินทางไปประกอบศาสนกิจพิธีอุมเราะฮ์ ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย จำนวน 105 คน ใช้งบประมาณ 7,484,760 บาท
นอกจากนั้น ยังมีโครงการที่ริเริ่มใหม่ๆ เช่น โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อช่วยเหลือเยียวยาเด็กกำพร้า ผู้พิการ และผู้สูญเสียชีวิตคู่ ทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น มอบทุนการศึกษาบุตร เงินอุดหนุนการประกอบอาชีพ เป็นต้น ช่วยเหลือไปแล้ว 824 ราย เป็นเงิน 10,000,000 บาท
รวมตัวเลขงบประมาณที่ใช้จ่ายไปกับการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งหลักเกณฑ์เก่าและใหม่ รวมถึงการจ่ายย้อนหลัง และการจ่ายกรณีพิเศษ ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งสิ้น 4,890,008,483 บาท!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : กราฟฟิกแสดงตัวเลขเงินเยียวยาที่ทางการจ่ายช่วยเหลือเฉพาะกรณี "ทรัพย์สินเสียหาย" ตั้งแต่ปี 2547 ถึงปี 2556 รวมเกือบ 900 ล้านบาท
ขอบคุณ : กราฟฟิกจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ