ได้เวลาดูแลตัวเอง? บช.ก.ออกคู่มือ "อยู่อย่างไรให้ปลอดภัยที่ชายแดนใต้"
สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วงนี้กลับมารุนแรงขึ้นอีกครั้ง หลังจากเกิดเหตุระเบิดครั้งใหญ่กลางเมืองยะลา และเหตุฆ่าสังหารแบบสะเทือนขวัญติดๆ กันหลายกรณี เช่น กราดยิงชาวบ้านขณะกำลังตักบาตรที่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี หรือฆ่าตัดคอผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหญิงเสียชีวิตพร้อมกับผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยอีกคนหนึ่ง ขณะเดินทางกลับจากประชุมที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา เป็นต้น
ที่ผ่านมาแม้ว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงหลายหน่วยงานจะพยายามเปิดปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อปราบปรามกลุ่มก่อความไม่สงบ แต่ปฏิบัติการเชิงรับ โดยเฉพาะการระมัดระวังตนเอง การสร้างเครือข่ายแจ้งข่าวสารและเตือนภัยกันเองของภาคประชาชน ดูจะยังมีปัญหา
แม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐผู้ถืออาวุะเองก็ยังตกเป็นเหยื่อเพราะความประมาทอยู่บ่อยๆ
ด้วยเหตุนี้ โครงการโรงเรียนตำรวจนอกเวลา กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) โดย พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผบช.ก. จึงได้ศึกษาข้อมูลจากงานวิจัยเกี่ยวกับมาตรการป้องกันตัวเองในสถานการณ์ก่อการร้ายที่เกิดขึ้นจริงในหลายๆ พื้นที่ขัดแย้งทั่วโลก จากนั้้นได้มอบหมายให้ทีมงานตำรวจที่เข้ารับการอบรม นำโดย พ.ต.อ.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผู้กำกับการ 6 กองบังคับการปราบปราม (ผกก.6 บก.ป.) พ.ต.ท.ทรงรักษ์ ขุนศรี รองผกก.6 บก.ป.พร้อมทีมงาน นำข้อมูลดังกล่าวมาถอดบทเรียนเป็นองค์ความรู้เกี่ยวกับ "มาตรการป้องกันตัว" (Self Protective Measures) เพื่อนำไปเผยแพร่ให้กับตำรวจในสังกัด กก.6 บก.ป.ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ภาคใต้ นำไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่
พร้อมกันนั้นก็ให้นำไปเผยแพร่แก่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย หรือพื้นที่อันตรายที่มีการก่อเหตุร้าย ได้นำไปใช้ในการป้องกันตัวเองด้วย
สำหรับ "มาตรการป้องกันตัว" ในพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งโครงการโรงเรียนตำรวจนอกเวลาได้ถอดบทเรียนเพื่อถ่ายทอดให้เจ้าหน้าที่และประชาชน ณ ปลายด้ามขวาน ได้นำไปเป็นหลักและเตือนใจ ระมัดระวังพฤติกรรมของตนเองนั้น มีหลักการสำคัญ คือ “อย่าทำตัวเป็นเป้าที่ง่าย" (Don’t make it easy targets) ซึ่งสามารถแยกเป็นรายละเอียดในทางปฏิบัติเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ได้ดังนี้
1.อย่าทำอะไรเป็นกิจวัตรประจำวัน อย่าให้ผู้ก่อการร้ายจับทางเราได้ (Overcome routines)
2.เปลี่ยนแปลงเวลาและเส้นทางการเดินทางอยู่เสมอ (Vary routes and times to and from work)
3.หลีกเลี่ยงออกกำลังกาย (เดิน-วิ่ง) โดยลำพัง (Exercise (jog) on different routes/times and don’t exercise alone)
4.เปลี่ยนแปลงเวลา สถานที่ และจุดนัดพบอยู่เสมอ (Vary times/places for shopping, lunch, and other appointments)
5.ใช้ทางเข้า/ออกอาคารหลายๆ ทาง (Enter/exit buildings through different doors)
6.อย่าเปิดเผยตัวเอง/ครอบครัวกับบุคคลแปลกหน้า (Don’t divulge family/personal info to strangers)
7.เตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดอยู่ตลอดเวลา (Be prepared for unexpected event)
8.ปฏิบัติตัวให้เป็นเหมือนคนทั่วๆ ไป (Maintain a low profile)
9.แต่งกายและประพฤติตนในที่สาธารณะเหมือนคนทั่วไป หลีกเลี่ยงการใส่เครื่องแบบหรือสัญลักษณ์ที่บ่งบอกความเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ (Dress/behave in public consistent with local customs. Avoid wearing uniform, clothing with flags, logos, etc.)
10.อย่าให้มีเครื่องหมายหรือสติ๊กเกอร์ของหน่วยงานติดไว้ที่กระเป๋า (No department related sticker, decals, logos on luggage, briefcases, shopping bags, etc.)
11.หากไม่จำเป็น อย่าสวมเครื่องแบบในที่สาธารณะ (Unless necessary, don’t wear uniform or military items in public)
12.พยายามหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่สาธารณะ (Shun publicity)
13.ตื่นตัวต่อการถูกสะกดรอย พยายามสังเกตคนรอบข้างและบุคคลที่น่าสงสัยอยู่ตลอด (Be alert for surveillance attempts, suspicious persons or artivities, and report them to proper authorities)
14.เตรียมพร้อมรับมือการถูกโจมตี ถูกทำร้ายอยู่ตลอด แม้ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยก็ตาม (Be alert to, and aware of changes in, the security atmosphere)
พ.ต.ท.ทรงรักษ์ กล่าวว่า จากการศึกษาข้อมูลการวิจัยที่เกี่ยวกับการก่อการร้ายหลายๆ แห่งทั่วโลก พบว่าในการต่อสู้กับการก่อการร้ายนั้นไม่ควรมุ่งเน้นการเอาชนะ แต่ควรให้ความสำคัญกับการทำอย่างไรให้คนที่อยู่ในพื้นที่ได้รับความปลอดภัยมากที่สุด ซึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เช่นเดียวกัน เพราะต้องยอมรับความจริงว่าสถานการณ์ในพื้นที่ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ ดังนั้นจะใช้วิธีการเหมือนที่ทำตามปกติไม่ได้
"หลักการที่รวบรวมไว้ครั้งนี้เป็นข้อมูลที่ได้จากการศึกษา ค้นคว้า วิจัยที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย ซึ่งโครงการโรงเรียนตำรวจนอกเวลามีความคิดจะนำข้อมูลนี้ไปถ่ายทอดอธิบายให้เจ้าหน้าที่และประชาชนในพื้นที่ได้นำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับการดำเนินชีวิตของแต่ละคน" พ.ต.ท.ทรงรักษ์ กล่าว
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ชายคนหนึ่งกำลังยืนดูซากรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่เสียหายจากเหตุระเบิดและเพลิงไหม้กลางเมืองยะลาเมื่อวันที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมา (ภาพโดย สุเมธ ปานเพชร)
หมายเหตุ : วิศิษฎ์ ชวนพิพัฒน์พงศ์ เป็นหัวหน้าข่าวการเมือง หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ