ชาวแพรกษายื่นศาลปค. ฟ้อง 7 หน่วยงาน เร่งคลอดแผนลดมลพิษ-วิธีดับไฟบ่อขยะ
ชาวบ้านแพรกษา จ.สมุทรปราการ ฟ้อง 7 หน่วยงานรัฐต่อศาลปกครองกลาง ฐานละเลยให้มีการลักลอบทิ้งกากของเสียอุตฯ ในพื้นที่ จนเกิดเพลิงไหม้บ่อขยะ จี้นายกอบต.-ผู้ว่าฯ-คพ. เร่งหาวิธีดับไฟตามหลักวิชาการ
วันที่ 9 เมษายน 2557 นายสุชาติ นาคนก กับพวกรวม 162 คน ยื่นฟ้องนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แพรกษา, สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ, อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรปราการ, ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ, กรมควบคุมมลพิษ, กรมโรงงานอุตสาหกรรม และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ รวม 7 ราย ต่อศาลปกครองกลาง
ภายหลังผู้ถูกฟ้องในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐปล่อยปละละเลยให้มีการลักลอบทิ้งขยะที่เป็นสารพิษจากแหล่งอุตสาหกรรม และเกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้บ่อขยะแพรกษา จ.สมุทรปราการ สร้างผลกระทบความเดือดร้อนและสุขภาพแก่ประชาชนที่อาศัยบริเวณโดยรอบ
โดยได้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเป็นไปตามคำขอท้ายฟ้อง ดังนี้
1.ให้นายกอบต.แพรกษาจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษด้านขยะชุมชนและขยะอุตสาหกรรมเสนอต่ออุตสาหกรรม จ.สมุทรปราการ เพื่อรวมไว้ในแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษในระดับจังหวัด ทั้งนี้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการแนะนำและช่วยเหลือการดำเนินงานของนายกอบต.แพรกษาตามกฎหมาย และให้ดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้ประกอบกิจการรับบริการขนขยะโดยไม่ชอบกฎหมาย
2.ให้สาธารณสุข จ.สมุทรปราการ ในฐานะผู้กำกับดูแลให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสาธารณสุข พ.ศ.2535 มิให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปล่อยปละ ละเลย ต่อหน้าที่ โดยเฉพาะขยะมลพิษออกจากบ่อขยะ และในเขตควบคุมมลพิษ จ.สมุทรปราการ ให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
3.ให้อุตสาหกรรม จ.สมุทรปราการ มีคำสั่งห้ามผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนำขยะอุตสาหกรรมมาทิ้งในบ่อขยะอีก โดยประกาศตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ใช้แล้ว พ.ศ.2548 และให้ดำเนินคดีกับผู้ประกอบการรับทิ้งขยะอุตสาหกรรมที่ทิ้งกองขยะตามคดีนี้ ในฐานะผู้ประกอบการโดยไม่ได้รับอนุญาตโรงงานประเภท 105 ตาม พ.ร.บ.โรงงาน
4.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการกำกับดูแลการดำเนินการของเจ้าพนักงานท้องถิ่น จ.สมุทรปราการให้ครอบคลุมพื้นที่เขตควบคุมมลพิษจังหวัด หากฝ่าฝืนไม่ดำเนินการตามสมควร ให้ดำเนินการจัดการทำแผนปฏิบัติขึ้นมาเอง
5.ให้กรมควบคุมมลพิษ สำรวจตรวจสอบ วิเคราะห์ความปนเปื้อนสารพิษต่าง ๆ บริเวณพื้นที่ 153 ไร่ หากไม่เป็นไปตามมาตรฐานของดินให้ดำเนินการฟื้นฟูชะล้างความปนเปื้อนของดินและน้ำใต้ดินจนได้คุณภาพตามมาตรฐานและดำเนินคดีกับผู้ประกอบการเพื่อชดใช้ความเสียหายในส่วนแพ่งต่อไป
6.ให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมควบคุมดูแลผู้ประกอบการโรงงานในเขตควบคุมมลพิษ จ.สมุทรปราการให้ดำเนินการตามประกาศ กระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การกำจัดสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2548 และจัดให้มีแหล่งรองรับการกำจัดขยะอุตสาหกรรม ทั้งที่เป็นอันตรายและไม่เป็นอันตรายให้เพียงพอต่อปริมาณขยะอุตสาหกรรมทั้งหมดในเขตควบคุมมลพิษ
7.ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ดำเนินการให้มีแผนปฏิบัติการเพื่อขจัดและลดมลพิษในส่วนของขยะชุมชนและอุตสาหกรรม ทั้งที่เป็นพิษและไม่เป็นพิษ และเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเห็นชอบแผนปฏิบัติการและงบประมาณแผ่นดิน เพื่อให้ดำเนินการตามแผนดังกล่าว
8.ให้นายกอบต.แพรกษา ผู้ว่าฯ และกรมควบคุมมลพิษ ร่วมกันดำเนินการให้มีวิธีการดับไฟกองขยะในบริเวณพื้นที่ดิน 153 ไร่ ที่เป็นคดีนี้ โดยวิธีที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยวิธีนำน้ำมาเติมในบ่อขยะจนเต็มเพื่อละลายหรือไล่ก๊าซมีเทนให้ออกไปจากกองขยะนี้ที่มีความลึกมากจนหมดสิ้น เพื่อให้ไฟของกองขยะดับไปอย่างถาวร โดยไม่มีโอกาสเกิดลุกไหม้ขึ้นได้อีก เพื่อป้องกันมิให้มีไอสารพิษสอยไปทำร้ายประชาชนชุมชนในพื้นที่โดยรอบบริเวณนี้อีก
ภาพประกอบ:เว็บไซต์เเนวหน้า