ดูเต็มๆ คำฟ้อง“สุขุมพันธุ์” ปมลดเงินเดือนลูกจ้าง สั่งคืนเงินรวม 30 ล.
“…ไม่ว่าเรื่องนี้ใครจะเป็นผู้คำนวณผิดพลาดอย่างไรก็ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะมีคำสั่งหรือประกาศใด ๆ อันมีผลกระทบที่เดือดร้อนต่อผู้ร้องและคนงานซึ่งเป็นลูกจ้างประจำกรุงเทพมหานคร การแก้ไขทางตัวเลขทางบัญชีของผู้มีอำนาจรัฐในมือนั้น อาจจะทำได้ง่าย แต่การแก้ไขสภาวะทางการเงินของครอบครัวลูกจ้างประจำกรุงเทพมหานครทั้ง 516 คนนั้น เป็นเรื่องยาก…”
จากกรณีเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2557 นายโชติ เขียวจันทร์ ลูกจ้างประจำ สำนักกองโรงงานช่างกล สำนักการคลัง กรุงเทพมหานคร (กทม.) ยื่นฟ้องม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. กับพวกรวม 4 คน ต่อศาลปกครองกลาง และขอให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้จำเลยทั้ง 4 จ่ายเงินเดือนตามเดิม กรณีปรับลดเงินเดือนลูกจ้างประจำลง และต้องนำเงินส่วนต่างมาคืนกทม.จำนวนกว่า 30 ล้านบาทนั้น
(อ่านประกอบ : “ลูกจ้างกทม.” ฟ้อง “สุขุมพันธุ์” ปมสั่งลดเงินเดือนคืนส่วนต่างกว่า 30 ล.)
ต่อมาเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2557 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งรับฟ้องคดีดังกล่าว ซึ่งนายโชติ ระบุคำขอต่อศาลว่า
1.ขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งกรุงเทพมหานครที่ 5055/2556 และคำสั่งสำนักการคลังกรุงเทพมหานคร ที่ 206/2556, 207/2556, 208/2556, 209/2556, 210/2556, 211/2556, 212/2556, 213/2556, 214/2556, 215/2556 และ 216/2556
2.ขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้จำเลยทั้ง 4 ดำเนินการจ่ายเงินเดือน ตามอัตราในคำสั่งสำนักการคลังที่ 201/2556 แก่ผู้ร้อง และห้ามออกคำสั่งหรือประกาศหรือดำเนินการใด ๆ เพื่อหักหรือลดเงินเดือนของผู้ร้องโดยเด็ดขาด
โดยมีจำเลยทั้ง 4 คนดังนี้
1.ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ในฐานะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นจำเลยที่ 1
2.นางนินนาท ชลิตานนท์ ในฐานะปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นจำเลยที่ 2
3.น.ส.ธัญลักษณ์ ครามะคำ ในฐานะผู้อำนวยการสำนักการคลัง กรุงเทพมหานคร เป็นจำเลยที่ 3
และ 4.กรุงเทพมหานคร เป็นจำเลยที่ 4
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ขอนำเอกสารคำฟ้องในคดีดังกล่าว มาเผยแพร่แบบละเอียด ดังนี้
“คดีหมายเลขดำที่ น.10/2557 57 วันที่ 21 มีนาคม 2557
รายละเอียดของการกระทำ ข้อเท็จจริง หรือพฤติการณ์ เกี่ยวกับการกระทำที่เป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายที่พอเข้าใจได้
1.เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2556 จำเลยที่ 3 ได้ออกคำสั่งสำนักการคลังที่ 201/2556 เรื่องเลื่อนขั้นค่าจ้างลูกจ้างประจำกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 1 ตุลาคม 2556 โดยจำเลยที่ 3 นั้นปฏิบัติหน้าที่แทนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาจำเลยที่ 3 ซึ่งคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่งอันเกี่ยวเนืองกับอัตราค่าจ้างของลูกจ้างประจำกรุงเทพมหานคร ซึ่งจำเลยที่ 2 ให้ถือว่ามีผลนับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 ซึ่งเป็นคำสั่งเกี่ยวกับอัตราเงินเดือน เช่นปีก่อน ๆ
แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2556 จำเลยที่ 3 ในฐานะปฏิบัติหน้าที่แทนจำเลยที่ 2 ได้ออกคำสั่งสำนักการคลังที่ 212/2556 เรื่องเลื่อนขั้นค่าจ้างประจำกรุงเทพมหานครในวันที่ 1 ตุลาคม 2556 ซึ่งมีเนื้อหาให้ยกเลิกคำสั่งสำนักการคลังที่ 201/2556 ซึ่งทำให้ผู้ร้องและลูกจ้างประจำกรุงเทพมหานครจำนวน 516 คน ได้รับผลกระทบต่ออัตราเงินเดือน เช่น
ตามคำสั่งสำนักการคลังที่ 201/2556 ลำดับที่ 386 นายโชติ เขียวจันทร์ ตำแหน่งช่าง (ช่างโลหะ) ระดับ ช 4 ตำแหน่งเลขที่ กรก.475 อัตราค่าจ้างก่อนเลื่อนขั้น 31,340 บาท ให้ได้รับค่าจ้างขั้นเลื่อนเป็ฯ 32,450 บาท โดยได้เลื่อนขั้นหนึ่งขั้นอัตรา
แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2556 จำเลยที่ 3 ซึ่งปฏิบัติหน้าที่แทนจำเลยที่ 2 ได้ออกคำสั่งสำนักการคลัง ที่ 212/2556 เรื่องเลื่อนขั้นค่าจ้างลูกจ้างประจำกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 1 ตุลาคม 2556 ซึ่งมีผลกระทบต่อผู้ร้องและลูกจ้างประจำกรุงเทพมหานครทั้ง 516 คน
กล่าวคือ เงินเดือนของผู้ร้องและเงินเดือนที่ผู้ร้องจะได้เลื่อนขั้นนั้นถูกปรับลดลงจากคำสั่งสำนักการคลังที่ 201/2556 โดยขัดต่อกฎหมายและไม่เป็นธรรมต่อผู้ร้อง กล่าวคือ มีวิธีการคำนวณเงินเดือนผู้ร้องผิดไปจากเดิมโดย เช่น
ลำดับที่ 389 นายโชติ เขียวจันทร์ ตำแหน่งช่าง (โลหะ) ระดับ ช 4 ตำแหน่งเลขที่ กรก.475 อัตราค่าจ้างก่อนเลื่อนขั้น 29,110 บาท อัตราค่าจ้างก่อนเลื่อนขั้น 31,340 จะเห็นได้ว่ามีการคำนวณเงินเดือนของผู้ร้องหายไปจากอัตราเงินเดือนที่รับอยู่ปัจจุบัน
กล่าวคือ ปัจจุบันผู้ร้องเรียนรับเงินเดือนก่อนมีคำสั่งสำนักการคลังที่ 201/2556 อยู่ที่เดือนละ 31,340 บาท แต่พอมีคำสั่งสำนักการคลังที่ 212/2556 กลับมีการคำนวณอัตราเงินเดือนผู้ร้องเพียง 29.110 บาท ซึ่งเป็นการลดอัตราเงินเดือนของผู้ร้องโดยไม่มีเหตุผลและไม่มีความเป็นธรรม เป็นการใช้อำนาจทางปกครองออกคำสั่งที่มีผลเป็นโทษย้อนหลังแก่ผู้ร้อง โดยผู้ร้องมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดทำประกาศฐานเงินเดือนผู้ร้องแต่อย่างใด
อีกทั้งการประกาศปรับลดเงินเดือนลูกจ้างนั้น เป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักกฎหมายของ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ มาตรา 20 ซึ่งเป็นการตกลงอัตราค่าจ้างที่ไม่เป็นคุณต่อลูกจ้าง เพราะตามหลักกฎหมายแรงงานแล้ว การขึ้นเงินเดือนสามารถกระทำได้ แต่การปรับลดเงินเดือนนั้นไม่สามารถทำได้
รวมถึงการรับเงินเดือนของผู้ร้องจากจำเลยทั้ง 4 นั้น ก็เป็นการรับเงินเดือนตามประกาศที่จำเลยทั้ง 4 ประกาศออกมาเอง โดยถือเป็นการตกลงค่าจ้างกันตามประกาศของจำเลยทั้ง 4 ซึ่งมีผลผูกพันและไม่มีผู้ใดคัดค้านมาโดยตลอดเวลาตั้งแต่ 1 เมษายน 2553 ถึงวันที่ 23 ธันวาคม 2556 เป็นระยะเวลากว่า 3 ปี
ตามคำสั่งสำนักการคลังที่ 212/2556 ของกรุงเทพมหานครนั้นอ้างว่า มีการคำนวณอัตรค่าจ้างลูกจ้างประจำกรุงเทพมหานครคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง เพราะคำสั่งสำนักการคลังที่ 211/2556 ฉบับลงวันที่ 23 ธันวาคม 2556 อ้างว่ามีการคำนวณที่อัตราค่าจ้างลูกจ้างที่คลาดเคลื่อนเพราะ คำสั่งสำนักการคลังที่ 210/2556 ฉบับลงวันที่ 23 ธันวาคม 2556 มีการคำนวณที่อัตราค่าจ้างลูกจ้างที่คลาดเคลื่อน
เพราะคำสั่งสำนักการคลังที่ 209/2556 ฉบับลงวันที่ 23 ธันวาคม 2556 มีการคำนวณอัตราค่าจ้างลูกจ้างคลาดเคลื่อนเพราะ คำสั่งสำนักการคลังที่ 208/2556 ฉบับลงวันที่ 23 ธันวาคม 2556 มีกาคำนวณอัตราค่าจ้างลูกจ้างที่คลาดเคลื่อนเพราะ คำสั่งสำนักการคลังที่ 207/2556 มีการคำนวณที่อัตราค่าจ้างลูกจ้างที่คลาดเคลื่อนเพราะ คำสั่งสำนักการคลังที่ 206/2556 ฉบับลงวันที่ 23 ธันวาคม 2556 มีการแก้ไขอัตราค่าจ้างลูกจ้างประจำกรุงเทพมหานครย้อนหลังไปถึงวันที่ 1 เมษายน 2553
โดยจำเลยที่ 2 อ้างตามคำสั่งกรุงเทพมหานครที่ 5055/2556 เรื่องแก้ไขอัตราค่าจ้างในการปรับเปลี่ยนตำแหน่งลูกจ้างประจำเข้าสู่ตำแหน่งตามระบบใหม่ ฉบับลงวันที่ 13 ธันวาคม 2556 ลงนามโดยจำเลยที่ 2 โดยคำสั่งดังกล่าวให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 13 ธันวาคม 2553 ซึ่งอ้างว่ามีการคำนวณอัตราค่าจ้างลูกจ้างประจำกรุงเทพมหานครที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง เนื่องจากการคำนวณอัตราเงินเดือนของลูกจ้างประจำกรุงเทพมหานครนั้น ไม่ได้เป็นไปตามหนังสือกระทรวงการคลังที่ กค 0428/ว 36 ฉบับลงวันที่ 16 มิถุนายน 2553 จึงมีผลทำให้ทางจำเลยที่ 2 ต้องคำนวณอัตราเงินเดือนลูกจ้างประจำกรุงเทพมหานครให
ต่อมาเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2557 ผู้ร้องได้ทำหนังสืออุทธรณ์คำสั่งกรุงเทพมหานคร เรื่องอุทธรร์คำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ 5055/2556 และคำสั่งสำนักการคลังที่ 212/2556 ไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการปกครอง
นอกจากนี้ผู้ร้องยังได้ทำหนังสือขอความเป็นธรรมต่อจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 แต่จำเลยทั้งสองก็ไม่ได้ดำเนินการใด ๆ ให้ โดยจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้เพิกเฉยไม่ดำเนินการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายของผู้ร้อง ทั้งที่คำสั่งของจำเลยที่ 2 ในเอกสาร คำสั่งกรุงเทพมหานคร 5055/2556 ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2556 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
อีกทั้งเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2557 ผู้ร้องยังได้มีคำสั่งอุทธรณ์คำสั่งสำนักการคลัง ไปยังผู้อำนวยการสำนักการคลัง ซึ่งเป็นจำเลยที่ 3 ในฐานะปฏิบัติหน้าที่แทนจำเลยที่ 2 ในการออกคำสั่งสำนักคลังที่ 206/2556, 207/2556, 208/2556, 209/2556, 210/2556, 211/2556, 212/2556, 213/2556, 214/2556, 215/2556 และ 216/2556 ซึ่งเป็นการขอให้จำเลยที่ 3 ในฐานะปฏิบัติราชการแทนจำเลยที่ 2 ดำเนินการเพิกถอนคำสั่งทั้งหมด โดยไม่มีเงื่อนไข แต่จำเลยที่ 3 ก็หาได้ปฏิบัติตามคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่
นอกจากนี้ก่อนผู้ร้องนำคดีมาขอความเป็นธรรมต่อศาล ผู้ร้องพยายามดำเนินเรื่องขอคัดถ่ายเอกสารอันกระทบต่อสิทธิ์ของผู้ร้องโดยตรง แต่ทางจำเลยทั้ง 4 ก็ไม่อนุญาต เอกสารของผู้ร้องจึงไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ขอศาลที่เคารพโปรดเมตตา โปรดเรียกพยานเอกสารต่าง ๆ มาตรวจสอบ
ผู้ร้องขอกราบเรียนต่อศาลปกครองกลางที่เคารพว่า การกระทำที่เป็นการออกคำสั่งทางปกครองในลักษณะที่เป็นโทษต่อผู้ร้องนั้น ทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายเพราะผู้ร้องถูกลดอัตราเงินเดือนโดยไม่มีความผิด นอกจากนี้คำสั่งของจำเลยที่ 2 ยังมีผลเป็นโทษย้อนหลังไปบังคับผู้ร้องให้ต้องคืนเงิน ซึ่งจำเลยที่ 2 คำนวณไม่คลาดเคลื่อน โดยมิใช่ความผิดใด ๆ ของลูกจ้างธรรมดา ๆ ผู้ร้องใช้อัตราการคำนวณเงินเดือนของจำเลยที่ 2 มาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2553 โดยที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 รวมถึงจำเลยที่ 2 เองก็มิได้ทักทวงมาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
ต่อมาปรากฏว่า จำเลยที่ 2 ได้รับการทักทวงจากกระทรวงการคลังว่า วิธีการคำนวณอัตราจ้างของลูกจ้างประจำกรุงเทพมหานคร ซึ่งรวมถึงตัวผู้ร้องเองด้วยมิได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด จำเลยที่ 2 จึงทำการคำนวณอัตราเงินค่าจ้างผู้ร้องใหม่อย่างไม่เป็นธรรม เพราะ
1)ผู้ร้องมิได้กระทำผิดใด ๆ หรือมีส่วนรับรู้ในการคำนวณเงินผิดพลาดของหน่วยงานรัฐ เหตุใดผู้ร้องจึงต้องมารับบาปเคราะห์ในครั้งนี้ด้วย
2)ตามหลักการของกฎหมายแรงงานในเรื่องขอลดเงินค่าจ้างที่มีการตกลงกันแล้วนั้น จะกระทำมิดได้เพราะขัดต่อ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ มาตรา 20 เพราะข้อตกลงเรื่องอัตราเงินเดือนที่ประกาศออกมาฉบับหลังเป็นการหักลดเงินเดือนลูกจ้าง
จำเลยทั้ง 4 ร่วมกันใช้อำนาจหน้าที่ไม่สุจริตในการออกคำสั่งกรุงเทพมหานครที่ 5055/2556 เรื่องแก้ไขอัตราค่าจ้างในการปรับเปลี่ยนตำแนห่งลูกจ้างประจำเข้าสู่ตำแหน่งตามระบบใหม่ ฉบับลงวันที่ 13 ธันวาคม 2556 ซึ่งมีผลให้คำสั่งอื่น ๆ อันเป็นโทษแก่ผู้ร้องโดยไม่เป็นธรรม และขัดต่อหลักกฎหมายแรงงาน ส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ร้อง และลูกจ้างประจำกรุงเทพมหานครคนอื่น ๆ ด้อยคุณภาพโดยที่ผู้ร้องมิได้กระทำความผิดใด ๆ
ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวโดยให้ยึดถือเอาอัตราเงินเดือนขั้นสุดท้ายที่ได้มี คำสั่งสำนักการคลังที่ 201/2556 ฉบับลงวันที่ 13 ธันวาคม 2556 เนื่องจากเป็นคำสั่งที่เป็นคุณต่อผู้ร้องซึ่งมิได้กระทำการใด ๆ อันเป็นการทุจริตให้ได้มาซึ่งอัตราเงินตามคำสั่งดังกล่าว และขอให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไปยังจำเลยทั้ง 3 ให้จ่ายเงินเดือนตามอัตราเงินเดือนตามคำสั่งสำนักการคลังที่ 201/2556 ที่เป็นการเลื่อนขั้นเงินเดือนตามคำสั่งของจำเลยที่ 3
เนื่องจากปัจจุบันนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2557 จำเลยทั้ง 4 ได้หักเงินเดือนผู้ร้องโดยใช้อัตราเงินเดือนตามคำสั่งสำนักการคลังที่ 212/2556 ซึ่งนอกจากไม่เป็นคุณต่อผู้ร้องแล้ว ยังเป็นการกระทำการที่ขัดต่อ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ว่าด้วยเรื่องการหักเงินค่าจ้างลูกจ้างจะกระทำมิได้โดยพลการ
อีกทั้งเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557 ทางส่วนราชการสำนักงานเลขานุการสำนักการคลัง กรุงเทพมหานคร ได้ออกบันทึกมีคำสั่งเรียกเก็บเงินคืนจากลูกจ้างประจำกรุงเทพมหานครโดยให้ดำเนินการทันที ซึ่งมีคำสั่งเรียกเงินคืนย้อนหลังจากปัจจุบันย้อนหลังไปถึงวันที่ 1 เมษายน 2553 และยังมีคำสั่งให้หักเงินจากกองทุนบำเหน็จบำนาญของผู้ร้องอีก
ผู้ร้องถือว่าเป็นคำสั่งทางปกครองที่เป็นโทษและมีผลย้อนหลัง ซึ่งขัดต่อหลักการของกฎหมายที่จะไม่ยอมให้การประกาศใช้ข้อกฎหมายที่มีผลเป็นโทษย้อนหลังได้ แต่จำเลยทั้ง 4 ก็มิได้ปฏิบัติตามหลักการนี้
อีกทั้งเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557 จำเลยที่ 3 ได้มีหนังสือเริ่มดำเนินเรียกเงินคืนจากลูกจ้างประจำกรุงเทพมหานคร จำนวน 516 คน ทั้งหมดในส่วนที่จำเลยทั้ง 4 ร่วมกันออกประกาศอัตราเงินเดือนลูกจ้างประจำกรุงเทพมหานครไปแล้ว และใช้อัตราตามประกาศมาตลอดสามปีที่ผ่านมา โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2553 จนถึงวันที่ 23 ธันวาคม 2556 ทั้งที่การออกประกาศอัตราเงินเดือนนั้น ผู้ร้องมิได้มีส่วนร่วมในการจัดทำขึ้นแต่อย่างใด อีกทั้งอัตราเงินเดือนเมื่อประกาศและได้จ่ายเงินมาโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วจะมาทำการเรียกคืน
ผู้ร้องเห็นว่านี่เป็นการกระทำที่ไม่ชอบธรรมและไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง หากลูกจ้างเบิกเงินหรือรับเงินเกินอัตราเงินเดือนที่นายจ้างกำหนดไว้แต่แรก หากจะถูกเรียกเก็บเงินคืน ผู้ร้องก็ยินดีคืนให้ แต่กรณีนี้ผู้ร้องก็ทราบว่าเงินเดือนของผู้ร้องมีอัตราเท่าใดตามประกาศอัตราเงินเดือนของกรุงเทพมหานครก่อนได้รับเงินเดือนในแต่ละเดือน ซึ่งเป็นการสัญญาการจ้างงานที่มีค่าตอบแทนชัดเจน เป็นข้อตกลงที่ฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างยินยอมจ่าย และยินยอมรับค่าจ้างนั้น ต่อมาฝ่ายนายจ้างซึ่งคือจำเลยทั้ง 4 นั้นจะมาอ้างว่ามีการประกาศอัตราเงินเดือนผิด และจะมาทำเรื่องขอคืนเงินนั้น ย่อมเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย สร้างภาระและความเดือดร้อนต่อผู้ร้องอย่างไม่เป็นธรรม
จำเลยทั้ง 4 จะอ้างแบบไม่รับผิดชอบต่อผู้ร้องไม่ได้ว่า คำนวณเงินในประกาศอัตราเงินเดือนผู้ร้องผิดมาสามปี ขอคำนวณอัตราเงินเดือนในประกาศใหม่ และให้มีการหักเงินส่วนที่จำเลยทั้ง 4 คำนวณในประกาศของจำเลยทั้ง 4 ผิดพลาด โดยจำเลยทั้ง 4 ก็ได้ออกประกาศอัตราเงินเดือนตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2553 ถึง 1 ตุลาคม 2556 เป็นการประกาศโดยชอบด้วยกฎหมาย
ผู้ร้องขอต่อสู้ในสิทธิของผู้ร้องตามประกาศอัตราเงินเดือน ซึ่งผู้ร้องก็ได้รับตามประกาศของจำเลยทั้ง 4 มาตลอด แม้ภายหลังจำเลยทั้ง 4 จะอ้างว่า มีการคำนวณอัตราเงินเดือนลูกจ้างประจำกรุงเทพมหานครผิดไปจำนวน 516 คน นับแต่ลูกจ้างเหล่านั้นก็รับเงินเดือนตามประกาศของจำเลยท้ง 4 ซึ่งได้ประกาศตามกฎหมายถึงจะมีการคำนวณผิดพลาดของจำเลยทั้ง 4 เอง ก็ไม่สมควรจะโยนความเดือดร้อนจากความผิดพลาดของจำเลยทั้ง 4 มาใส่แก่ผู้ร้อง ซึ่งไม่ทราบข้อมูลหรือมีส่วนร่วมในการคำนวณเงินเดือน ตามประกาศอัตราเงินเดือน อีกทั้งเป็นการจ่ายเงินเดือนที่ล่วงเลยมาถึง 3 ปี 8 เดือน กว่าจะมีการทักท้วงซึ่งสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ร้องเกินความชอบธรรมของหน่วยงานรัฐที่ปัดความรับผิดชอบ
ปัจจุบันผู้ร้องและลูกจ้างประจำกรุงเทพมหานคร รวมทั้งสิ้น 516 คน ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เนื่องจากการมีคำสั่งปรับอัตราเงินเดือนของจำเลยที่ 2 นั้น กระทำการโดยไม่ได้มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อสถานภาพทางเศรษฐกิจของครอบครัวลูกจ้างประจำกรุงเทพมหานครเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะไม่ได้รับเงินเพิ่มตามอัตราที่มีการประกาศไปแล้ว ยังถูกจำเลยทั้ง 4 ปรับลดเงินค่าจ้างอีก
ไม่ว่าเรื่องนี้ใครจะเป็นผู้คำนวณผิดพลาดอย่างไรก็ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะมีคำสั่งหรือประกาศใด ๆ อันมีผลกระทบที่เดือดร้อนต่อผู้ร้องและคนงานซึ่งเป็นลูกจ้างประจำกรุงเทพมหานคร การแก้ไขทางตัวเลขทางบัญชีของผู้มีอำนาจรัฐในมือนั้น อาจจะทำได้ง่าย แต่การแก้ไขสภาวะทางการเงินของครอบครัวลูกจ้างประจำกรุงเทพมหานครทั้ง 516 คนนั้น เป็นเรื่องยาก เพราะแต่ละคนก็มีภาระค่าใช้จ่าย ทั้งค่านมบุตร ค่าเลี้ยงดูอุปการะต่าง ๆ ภายในครัวเรือน
นอกจากนี้ผู้ร้องยังได้ทราบมาว่าทางจำเลยทั้ง 3 มีแนวคิดที่จะสั่งยึดเงินเดือนบางส่วนของผู้ร้องและลูกจ้างประจำกรุงเทพมหานครทั้ง 516 คนไว้ เนื่องจากจะนำไปหักเงินในส่วนที่ทางจำเลยที่ 2 คำนวณผิด และได้จ่ายเกินมาเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งเรื่องทางผูร้องหมดสิ้นหนทางในการต่อสู้ จึงต้องนำเรื่องมาร้องขอความเป็นธรรมต่อศาลให้ช่วยเหลือเยียวยาผู้ร้องต่อไป”