วิเคราะห์4ปมบึ้มยะลา...ป่วนหนักหลังเจรจาล่ม หรือ10ปีไฟใต้ยังพายเรือในอ่าง
เหตุระเบิด 4 จุดกลางเมืองยะลาเมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมา และอาฟเตอร์ช็อคอีก 3 จุดในช่วงเช้าวันจันทร์ที่ 7 เม.ย. นับเป็นเหตุรุนแรงสะเทือนขวัญมากที่สุดอีกครั้งหนึ่งในเขตเทศบาลนครยะลาในห้วงกว่า 10 ปีของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยเฉพาะเหตุระเบิดซึ่งเป็น "คาร์บอมบ์" และเพลิงไหม้ร้านรวงซึ่งเป็นอาคารไม้เก่าแก่อายุกว่าครึ่งร้อยปีหลายสิบคูหากลางเมือง อันเป็นย่านทำมาหากินทั้งของชาวไทยพุทธ ชาวไทยเชื้อสายจีน และพี่น้องมุสลิม
นับเฉพาะ "คาร์บอมบ์" หรือระเบิดที่บรรทุกมาในรถยนต์ซึ่งนับว่าเป็นรูปแบบการก่อเหตุที่ร้ายแรงที่สุดของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในพื้นที่ อ.เมืองยะลา นั้น ว่างเว้นมานานถึง 2 ปี โดยเหตุคาร์บอมบ์ครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 31 มี.ค.2555 ในย่านการค้าบนถนนรวมมิตรตัดกับถนนจงรักษ์ ซึ่งเป็น "เซฟตี้โซน" ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 10 ราย บาดเจ็บนับร้อยราย
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นวันเดียวกับเหตุคาร์บอมบ์ที่โรงแรมลีการ์เด้นส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา!
นับจากนั้นก็ไม่ค่อยมีเหตุรุนแรงขนาดใหญ่เกิดขึ้นในเขตเมืองยะลา จะมีก็แต่เหตุคนร้ายลอบวางเพลิงเผาโรงงานและสถานประกอบการร้านค้านต่างๆ ในเขต อ.เมืองยะลา รวม 5 จุด และพื้นที่อื่นๆ อีกรวมทั้งสิ้น 13 จุด เมื่อวันที่ 2 ส.ค.2556 ซึ่งเป็นช่วง 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน โดยหนึ่งในนั้นคือ บริษัทยางปักษ์ใต้ จำกัด สาขายะลา มูลค่าความเสียหายนับร้อยล้านบาท
และเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดตู้เอทีเอ็มในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้พร้อมกันกว่า 20 จุด เมื่อวันที่ 9 ต.ค.2556 โดยมี 6 จุดเกิดขึ้นในเขต อ.เมืองยะลา
การวางมาตรการสกัดกั้นเหตุรุนแรงใน "7 หัวเมืองเศรษฐกิจ" ซึ่งเป็นย่านธุรกิจการค้าที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และหนึ่งในนั้นคือเขตเทศบาลนครยะลานั้น เป็นไปตามแผนรักษาความปลอดภัยของรัฐบาลและกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) อยู่แล้ว ซึ่งมีข่าวว่าหน่วยงานในพื้นที่กำลังเตรียมสรุปรายงานเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงความสำเร็จในการป้องกันเหตุรุนแรงขนาดใหญ่ในเขตเมืองยะลาเป็นเวลากว่า 2 ปี ทว่าก็มาเกิดเหตุระเบิดกลางเมือง 7 จุดใน 2 วันขึ้นเสียก่อน
4 ปัจจัยบึ้มป่วนยะลา
ข้อมูลจากหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่สรุปมูลเหตุทั่วไปที่ทำให้เกิดเหตุรุนแรงรอบนี้ในพื้นที่ อ.เมืองยะลา ว่ามีปัจจัยที่เกี่ยวข้องดังนี้
1.ท้าทาย พล.ท.วลิต โรจนภักดี แม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่ ซึ่งเพิ่งปฏิบัติหน้าที่ครั้งแรกหลังรับตำแหน่งด้วยการลงพื้นที่ชุมชนคูหามุข ซึ่งเป็นชุมชนไทยพุทธในเขต อ.เมืองยะลา ก่อนเกิดเหตุระเบิด 4 จุดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 เม.ย.เพียงไม่กี่ชั่วโมง
ที่สำคัญ...จุดเกิดเหตุบางจุด ถ้าวัดระยะทางแล้วอยู่ห่างจากค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี อันเป็นฐานบัญชาการของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) เพียงไม่ถึง 1 กิโลเมตร
2.เป็นการก่อเหตุตามวงรอบของกลุ่มก่อความไม่สงบที่อั้นมาจากเดือน มี.ค.ซึ่งมีวันสำคัญอันเป็นสัญลักษณ์หลายวัน เช่น วันที่ 13 มี.ค.เป็นวันสถาปนากลุ่มบีอาร์เอ็น วันที่ 31 มี.ค.เป็นวันครบรอบ 2 ปีเหตุคาร์บอมบ์หาดใหญ่-ยะลา เป็นต้น แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวอาจไม่สามารถก่อเหตุได้ เนื่องจากกำลังเจ้าหน้าที่ตรึงแน่นทุกพื้นที่
3.กำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่เหนื่อยล้า เพราะต้องตรึงกำลังเข้มตลอดเดือน มี.ค.และมีการดึงกำลังบางส่วนขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองที่กรุงเทพฯ ทำให้การปฏิบัติการเชิงรุกบางจุดมีช่องโหว่
ขณะเดียวกัน ระบบการแจ้งเตือนของงานด้านการข่าวอาจมีปัญหา โดยเฉพาะภาคปฏิบัติหลังรับรู้ข่าวสารแจ้งเตือนแล้ว เพราะมีข้อมูลยืนยันว่าหน่วยข่าวความมั่นคงได้แจ้งเตือนการก่อเหตุระเบิดในเขตเมืองยะลาช่วงก่อนสงกรานต์ โดยมีการจัดประชุมเพื่อแจ้งและวิเคราะห์สถานการณ์กันอย่างชัดเจน
4.การจงใจก่อเหตุระเบิดในเขตเมืองซ้อนๆ กันถึง 2 วัน ส่งผลในทางจิตวิทยาสูงมาก ทำให้ประชาชนเข้าใจว่ากลุ่มก่อความไม่สงบมีศักยภาพ สามารถก่อเหตุรุนแรงได้ทุกเมื่อเท่าที่ตนเองต้องการ (ทั้งๆ ที่ความจริงอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น)
ป่วนหนักหลังเจรจาล่ม?
สำหรับมูลเหตุเฉพาะของการสร้างสถานการณ์ในช่วงนี้ แหล่งข่าวจากหน่วยงานความมั่นคง ระบุว่า ต้องมองเชื่อมโยงไปถึงการก่อเหตุรุนแรงด้วยการฆ่า สังหาร "เป้าหมายอ่อนแอ" ทั้งครู พระ ผู้หญิง รวมทั้งประชาชนผู้บริสุทธิ์ทั้งไทยพุทธและมุสลิมในช่วงที่ผ่านมาด้วย
เพราะเมื่อเพิ่มการก่อเหตุรุนแรงในย่านการค้าและชุมชนเมืองเข้าไป ย่อมหมายถึงว่ากลุ่มก่อความไม่สงบที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนได้เปิดปฏิบัติการรุกแบบเต็มสูบกับรัฐบาลไทยแล้ว!
บางเสียงในพื้นที่ประเมินว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับคำแถลงของขบวนการบีอาร์เอ็นเมื่อต้นเดือน ธ.ค.2556 ว่าจะไม่ร่วมโต๊ะเจรจากับรัฐบาลไทยอีก ไม่ว่าจะกรณีใดๆ ทำให้เชื่อกันว่าโต๊ะพูดคุยสันติภาพที่ริเริ่มลงนามกันมาเมื่อ 28 ก.พ.2556 ที่มีรัฐบาลมาเลเซียเป็นเจ้าภาพ ถึงวันนี้ได้ล่มสลายอย่างสมบูรณ์
แม้ว่า ดาโต๊ะ สรี อาหมัด ซัมซามิน ฮาซิม อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุย จะเดินสายตอกย้ำความเชื่อมั่นและแข็งแกร่งของโต๊ะสันติภาพในวาระครบรอบ 1 ปีเมื่อปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ในห้วงที่รัฐบาลไทยยังเคลียร์ปัญหาการเมืองภายในไม่จบก็ตาม
เพราะสิ่งหนึ่งที่เป็นความเปลี่ยนแปลงตลอดปี 2556 ในห้วงที่มีการพูดคุยสันติภาพก็คือ สถิติตัวเลขบ่งชี้ว่าเหตุรุนแรงที่กระทำต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ลดจำนวนลง แต่ไปเพิ่มกับเจ้าหน้าที่รัฐผู้ถืออาวุธ
ฉะนั้นเมื่อฝ่ายบีอาร์เอ็นประกาศเลิกคุย จึงกลับมาปฏิบัติการรุนแรงแบบปูพรมเช่นเดิม!
สอดรับกับข่าวจากแกนนำบีอาร์เอ็นกลุ่มหนึ่งที่ส่งถึงผู้สื่อข่าวไทยบางสำนักในทำนองว่า ไม่ยอมรับกระบวนการพูดคุยที่มาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก และมี นายฮัสซัน ตอยิบ เป็นหัวหน้าคณะ เพราะนายฮัสซันไม่ใช่ตัวแทนที่แท้จริงของบีอาร์เอ็น แต่เป็นคนที่รัฐบาลมาเลเซียชูขึ้นมา
ข่าวดังกล่าวออกมาในช่วงเดียวกับที่มีการจัดสัมมนา 1 ปีพูดคุยสันติภาพ ที่มหาวิทยาลัยอูตารามาเลเซีย รัฐเคดาห์ เมื่อต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งดาโต๊ะซัมซามินไปร่วมงานด้วย และได้กล่าวยืนยันว่าจะเดินหน้ากระบวนการพูดคุยต่อไปจนกว่ารัฐบาลไทยจะเปลี่ยนนโยบาย
10ปี2แสนล้าน "พายเรือในอ่าง"
แต่ถึงกระนั้นก็มีบทวิเคราะห์จากหน่วยข่าวความมั่นคงบางหน่วยว่า แท้ที่จริงแล้วบีอาร์เอ็นไม่ได้ "ปิดประตู" เจรจากับรัฐบาลไทย เพียงแต่ล้มกระบวนการพูดคุยที่ตนเองอาจไม่ได้ประโยชน์สูงสุดต่างหาก เพราะข้อเรียกร้องที่คณะพูดคุยนำโดยนายฮัสซันส่งถึงรัฐบาลไทย คือ ขอสิทธิในการกำหนดชะตาตนเอง (Self-determination) เพื่อจัดตั้ง "เขตปกครองพิเศษ" ซึ่งสวนทางกับเป้าหมายสุดท้ายของบีอาร์เอ็นที่ยึดมั่นมาตลอดตั้งแต่ตั้งองค์กรเพื่อกว่า 50 ปีที่แล้วว่า ต้องการเอกราชเท่านั้น
หนำซ้ำรัฐบาลมาเลเซียดูจะได้ประโยชน์จากข้อเรียกร้อง 5 ข้อมากกว่าบีอาร์เอ็นเสียอีก!
ด้วยเหตุนี้ บีอาร์เอ็นสายคุมกำลังจึงปฏิเสธร่วมโต๊ะพูดคุยที่มาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก ปลดนายฮัสซัน และกลับมาใช้ยุทธวิธีเดิมในการต่อสู้ คือ 1.สร้างความหวาดระแวงระหว่างชาวมลายูมุสลิมกับเจ้าหน้าที่รัฐ 2.สร้างความหวาดระแวงกันเองระหว่างคนต่างศาสนาในพื้นที่ 3.สร้างความหวาดกลัวและไม่เชื่อมั่นว่าเจ้าหน้าที่รัฐคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินได้ เพื่อกดดันให้คนศาสนาอื่นอพยพออกจากพื้นที่ และ 4.ยกระดับปัญหาขึ้นสู่สากล
ทั้งหมดนี้สะท้อนผ่านการก่อเหตุรุนแรงเชิงสัญลักษณ์ โจมตีเป้าหมายอ่อนแอทั้งครู พระ ผู้หญิง การฆ่าอย่างโหดเหี้ยม เช่น ตัดคอ เพื่อยั่วให้เกิดการใช้ความรุนแรงตอบโต้จากฝ่ายรัฐ และการสังหารประชาชนผู้บริสุทธิ์โดยไม่เลือกศาสนา เพื่อปลุกเร้าให้คนต่างศาสนาขัดแย้งและใช้ความรุนแรงกันเอง
โดยมีปมการละเมิดสิทธิมนุษยชน ธุรกิจผิดกฎหมายที่โยงใยถึงเจ้าหน้าที่รัฐบางกลุ่ม หล่อเลี้ยงทำให้สถานการณ์ลักษณะนี้ดำเนินไปและยากที่จะแก้ไข เสมือนพายเรือวนในอ่าง โดยสถานการณ์ ณ ปัจจุบัน แทบไม่ได้แตกต่างจากช่วงหลังเกิดเหตุปล้นปืนเมื่อปี 2547 สักเท่าไรเลย
นั่นหมายถึงว่าเม็ดเงินที่ทุ่มลงไปถึงกว่า 2 แสนล้านบาทตลอด 11 ปีงบประมาณ กำลังละลายไปกับเสียงระเบิด เปลวเพลิง และความสูญเสียของผู้คน!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เหตุระเบิดที่โกดังศรีสมัยยะลา ย่านตลาดเก่า เมื่อเช้าวันจันทร์ที่ 7 เม.ย.2557 (ภาพโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์)
อ่านประกอบ :
1 วางเพลิงเผาโรงงาน ร้านค้านับสิบจุด บึ้มชุด รปภ.ครู ทหารดับอีก
http://goo.gl/9Kw9uY
2 ใต้ป่วนบึ้มตู้เอทีเอ็ม 4 จังหวัดกว่า 20 จุด ยิงครู-ปาระเบิดเพลิงเผาบ้าน
http://goo.gl/povdaH