กกต.นัด ผบ.เหล่าทัพหารือ เรื่องการเลือกตั้ง
เลขากกต.เผยผู้นำเหล่าทัพพร้อมเข้าร่วมหารือ 8 เม.ย สัปดาห์หน้า นัดประชุมดำเนินคดีผู้ขัดขวางการเลือกตั้ง
นายภุชงค์ นุตราวงศ์เลขาธิการกกต. เปิดเผยว่า ขณะนี้กกต.ได้ส่งหนังสือเชิญอย่างเป็นทางการไปยังผู้นำเหล่าทัพและหน่วยงานความมั่นคงเพื่อเข้าหารือประเมินสถานการณ์ก่อนจัดการเลือกตั้งส.ส.ในวันที่ 8 เม.ย. แล้ว โดยเบื้องต้นได้รับรายงานว่า ผู้บังคับบัญชาของแต่ละหน่วยงานได้รับทราบเรื่องดังกล่าวและยินดีที่จะเข้าร่วมหารือกับทางกกต. ด้วยตัวเอง หากไม่ติดภารกิจใด ซึ่งกรอบในการหารือร่วมกันครั้งนี้กกต.จะรายงานถึงสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการดำเนินการจัดการเลือกตั้งส.ส.เมื่อวันที่ 26 ม.ค.และวันที่ 2 ก.พ. ที่ผ่านมา ว่าเกิดเหตุขัดข้องอย่างไรจนนำไปสู่การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งการจัดเลือกตั้งครั้งต่อไปกกต.จำเป็นต้องสอบถามและขอให้ทางเหล่าทัพและหน่วยงานความมั่นคงช่วยประเมินสถานการณ์และกำหนดแนวทางในการจัดการเลือกตั้งส.ส. ครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้นต่อไป โดยเฉพาะเรื่องของการรักษาความปลอดภัยระหว่างที่มีการจัดการเลือกตั้ง
นายภุชงค์ กล่าวถึงการเชิญพรรคการเมือง 73 พรรคมาหารือในวันที่22เม.ย.ว่า ขณะนี้กกต.ยังไม่ได้ส่งหนังสือเชิญอย่างเป็นทางการไปยังพรรคการเมือง เพราะต้องรอฟังผลการประเมินสถานการณ์จากผู้นำเหล่าทัพและหน่วยงานความมั่นคงในวันที่8 เม.ย.ก่อน แต่เบื้องต้นทราบว่ามีหลายพรรคการเมืองมีความต้องการเข้าร่วมหารือกับกกต.เป็นจำนวนมาก
สำหรับความคืบหน้าการพิจารณาคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งส.ว.นั้น นายภุชงค์ กล่าวว่า ขณะนี้มีคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งส.ว.จำนวน 25 คำร้อง แต่ตัวเลขยังไม่นิ่งเพราะยังมีคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งทยอยเข้าสู่การพิจารณาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะต้องรอดูอีกครั้งในวันที่ 8 เม.ย.ว่ากกต.จะสามารถประกาศรับรองผลการเลือกตั้งส.ว.แก่ผู้ที่ไม่มีเรื่องร้องคัดค้านได้จำนวนกี่คส่วนที่กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ยื่นคำร้องต่อกกต.เพื่อขอระงับการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งส.ว.กทม. คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา นั้น ได้ส่งเรื่องให้ฝ่ายสืบสวนสอบสวนไปดำเนินการตามกระบวนการ รวมทั้งส่งให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร นำไปพิจารณาโดยกกต.กลางจะไม่เข้าไปก้าวก่าย
ส่วนกรณีที่มีการระบุถึงคุณสมบัติของ คุณหญิงจารุวรรณ ว่ามีการชี้มูลความผิด โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบกรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อาจทำให้เข้าข่ายขาดคุณสมบัติในการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ว. หรือไม่นั้น ขอชี้แจงว่าการวินิจฉัยคุณสมบัติของผู้สมัครส.ว.เป็นอำนาจของ ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด โดยกกต.กลางไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการตัดสิทธิการสมัครลงรับเลือกตั้ง
นายภุชงค์ กล่าวว่าอีกว่า ในวันที่ 11 เม.ย. นี้ สำนักงานกกต.จะมีการประชุมคณะกรรมการดำเนินการรวบรวมข้อเท็จจริง กรณีการขัดขว้างการเลือกตั้งส.ส.เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ โดยจะได้ข้อสรุปว่า มีการแจ้งความดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญากับเจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงานจัดการเลือกตั้งของกกต.กี่ราย รวมทั้งกกต.มีการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ขัดขวางการเลือกตั้ง ทั้งหมดกี่ราย ส่วนกรณีที่ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ออกมาแถลงว่ามีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่กกต.ตั้งแต่กรรมการประจำหน่วยที่ปิดหน่วยเลือกตั้งเร็วจนถึง กกต. ทั้ง 5 คน กว่า 1,000 คดีนั้น ขอชี้แจงว่าคดีความต่าง ๆ เป็นคดีที่ประชาชนและตัวแทนพรรคการเมืองเป็นผู้แจ้งความ ไม่ใช่ตัวศอ.รส.เองที่แจ้งความเอาผิดและกกต.ได้สั่งให้รวบรวมคดีที่กกต.ถูกแจ้งความดำเนินคดีมาเพื่อเตรียมแก้ต่างข้อกล่าวหา
ขอบคุณข่าวจาก