เด็กปัตตานี อเมริกา และศาลาไทย
สามเรื่องที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันได้ แต่ก็เกี่ยวกันไปแล้ว เมื่อเด็กมุสลิมธรรมดาๆ จากปัตตานีได้มีโอกาสไปเยือนแผ่นดินอเมริกา และได้เยี่ยมชมศาลาไทย...สัญลักษณ์สันติภาพจากเหตุการณ์ร้าย 911 ในช่วงที่มีข่าวหัวหน้าคณะผู้ก่อการอย่าง บิน ลาเดน ถูกปลิดชีพ
“เมื่อก่อนหนูพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย แต่เป็นเพราะความชอบส่วนตัวจึงพยายามตั้งใจฝึก ทั้งฝึกกับอาจารย์ ฟังเพลง และดูหนังซาวด์แทร็ค การฝึกภาษาอังกฤษที่ดีไม่ควรอายที่จะพูดกับชาวต่างชาติ เพราะการที่จะสื่อสารให้เข้าใจต้องพูดด้วยสำเนียงที่ถูกต้องด้วย ไม่อย่างนั้นฝรั่งก็ฟังเราไม่รู้เรื่อง”
เป็นคำบอกเล่าของ ชานิตยา ดานิชสกุล หรือ “น้องจีน่า” นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่พูดถึงวิธีการฝึกฝนทักษะทางภาษาอังกฤษของเธอ ในฐานะที่เป็นนักเรียนไทยหนึ่งใน 30 คนจากทั่วประเทศที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาและวัฒนธรรมไทย-สหรัฐอเมริกา และมีโอกาสได้ไปใช้ชีวิตทั้งเรียนและเล่นที่รัฐวิสคอนซิน ในเขตมิดเวสต์ของสหรัฐ เป็นเวลา 3 สัปดาห์เต็ม
คงไม่น่าแปลกใจใช่ไหมหาก “น้องจีน่า” เป็นเด็กกรุงเทพฯ หรือร่ำเรียนอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ที่เป็นเมืองท่องเที่ยวอย่างเชียงใหม่หรือภูเก็ต แต่ความจริงที่น่าตื่นเต้นก็คือ “น้องจีน่า” เป็นเด็กนักเรียนสายสามัญธรรมดาๆ ของโรงเรียนเดชะปัตตนยานุกูล จ.ปัตตานี หนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประสบปัญหาความไม่สงบยืดเยื้อยาวนานกว่า 7 ปี
ใครที่เคยคิดว่าเด็กมุสลิมจากชายแดนใต้มีผลการเรียนในระดับรั้งท้ายของประเทศและยากที่จะยกระดับให้ดีเทียบเท่าภูมิภาคอื่นคงต้องคิดใหม่ เพราะ “น้องจีน่า” เองก็นับถือศาสนาอิสลาม และเป็นคนปัตตานีแบบ “ตัวจริงเสียงจริง”
ฝ่าด่านอรหันต์
โครงการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาและวัฒนธรรมไทย-สหรัฐอเมริกา เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการไทย กับกระทรวงศึกษาธิการของรัฐวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา โดยจัดต่อเนื่องมาปีนี้เป็นปีที่ 5 แล้ว
วัตถุประสงค์หลักของโครงการก็เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้รับความรู้และประสบการณ์ทางการศึกษาตลอดจนวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ได้พัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ บุคลิกภาพ สร้างความเชื่อมั่นในตนเอง กล้าแสดงออก มีความเป็นผู้นำ และสามารถอยู่ร่วมกับผู้คนต่างเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมได้อย่างกลมกลืนและสันติสุข
เด็กนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการจะมีตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดย สพฐ.จะส่งใบสมัครไปยังโรงเรียนในสังกัดทั่วประเทศ และสอบคัดเลือกนักเรียนที่สนใจ การสอบจะมีทั้งด้านทักษะทางภาษาอังกฤษ ความกล้าแสดงออก และความสามารถในการแสดงด้านศิลปวัฒนธรรมไทย
“น้องจีน่า” สามารถฝ่าด่านอรหันต์มาได้ เป็นหนึ่งเดียวของภาคใต้ไม่เฉพาะภาคใต้ตอนล่าง เพราะเธอเก่งทั้งภาษาและแสดงนาฏศิลป์แบบลังกาสุกะได้อย่างงดงาม กระทั่งเป็นตัวแทนของนักเรียนไทยจากทั่วประเทศเพียง 30 คนที่ได้เหินฟ้าสู่สหรัฐอเมริกา
ที่น่าแปลกใจยิ่งไปกว่านั้นคือ “น้องจีน่า” เรียนสาขาวิชาศิลป์คำนวณ ไม่ได้เรียน “อิงลิช โปรแกรม” (English Program) เหมือนกับเพื่อนๆ ส่วนใหญ่ที่ได้เข้าร่วมโครงการ และเธอยังเคยเป็นตัวแทนของจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปแข่งขัน Speech Contest หรือการกล่าวสุนทรพจน์เป็นภาษาอังกฤษ ชนะเลิศได้เหรียญทองของภาคใต้มาแล้วด้วย
จากอเมริกาถึงชายแดนใต้
นักเรียนชายหญิงหลากวัย 30 คนจากประเทศไทยเหยียบแผ่นดินอเมริกาเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่ละคนถูกส่งไปอยู่กับ “ครอบครัวอุปถัมภ์” หรือ Host Family และเข้าเรียนในโรงเรียนต่างๆ กระจายไปทั่วทั้งรัฐวิสคอนซินตามระดับอายุของแต่ละคน บางคนก็ได้เข้าเรียนมิดเดิลสคูล (ช่วงประถมปลายและมัธยมต้นของไทย) และบางคนก็ได้เข้าเรียนในระดับไฮสคูล
ทั้งหมดจึงได้ใช้เวลาอย่างเต็มที่นาน 3 สัปดาห์เต็ม ทั้งเรียน ทั้งเล่น ดำรงชีวิต และเพิ่มพูนทักษะทางภาษา
“น้องจีน่า” เล่าว่า สิ่งดีๆ ที่ได้พานพบ นอกจากความใจดีของครอบครัวอุปถัมภ์แล้ว ก็คือวัฒนธรรมที่แตกต่างระหว่างเด็กไทยกับเด็กอเมริกัน โดยเด็กอเมริกันจะกล้าแสดงออกมากๆ ถ้าคิดว่าความคิดของตัวเองถูกต้องก็จะทำทันที เวลาเรียนในห้องเรียน อาจารย์ถามคำถามก็จะพยายามยกมือและแย่งกันตอบโดยไม่สนใจว่าคำตอบนั้นผิดหรือถูก ไม่มีอายในการแสดงความคิดเห็น
นี่คือ “จุดแข็ง” ของเด็กอเมริกันในความเห็นของเด็กปัตตานี...
การได้มาเห็นและทดลองใช้ชีวิตในสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่าง ทำให้เธอมองย้อนไปถึงปัญหาความไม่สงบในบ้านของตัวเอง
“หนูคิดว่าปัญหาความไม่สงบที่ชายแดนใต้ไม่ได้เกิดจากความต่างทางศาสนา แต่น่าจะเป็นปัญหาที่สร้างจากคนบางกลุ่ม แล้วจี้จุดไปที่ประเด็นทางศาสนาซึ่งคนเหล่านั้นรู้ดีว่าจะทำให้เกิดปัญหาได้ง่ายที่สุด ฉะนั้นหนูจึงเชื่อว่าความต่างทางภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมไม่ได้เป็นปัญหาเลย แต่ปัญหาเกิดจากคนบางกลุ่มที่คอยสร้างสถานการณ์ให้แตกแยก”
แม้จะได้ใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐเพียงชั่วเวลาสั้นๆ เพียง 3 สัปดาห์ แต่การที่พกมาทั้งทักษะด้านภาษาและความสามารถด้านศิลปวัฒนธรรม จึงไม่ได้ทำให้น้องๆ ที่มาร่วมโครงการนี้เป็นเพียง “ผู้รับ” จากทางฝั่งอเมริกาเท่านั้น แต่ยังได้แสดงบทบาท “ผู้ให้” ในลักษณะ “ทูตวัฒนธรรม” โดยเฉพาะวัฒนธรรมไทยซึ่งมีเอกลักษณ์งดงามไม่แพ้ชาติอื่นใดในโลก
“น้องจีน่า” พูดถึงปัตตานีบ้านเกิดของเธอเอาไว้อย่างน่าสนใจ...
“อยากบอกว่าปัตตานีไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด คนส่วนใหญ่ยังสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ จึงอยากให้ทุกคนมองปัตตานีและสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเปิดใจ สามจังหวัดไม่ใช่ดินแดนที่มีแต่เหตุร้าย แต่ยังมีสิ่งดีๆ มากมายรอให้ทุกคนไปสัมผัส โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมอันงดงาม”
การศึกษาเยียวยาสังคม
โครงการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาและวัฒนธรรมไทย-สหรัฐอเมริกา ระหว่าง สพฐ.กับรัฐวิสคอนซิน ไม่ได้แลกเปลี่ยนเฉพาะนักเรียนเท่านั้น แต่ยังแลกเปลี่ยน “ครู” ด้วย
เหตุนี้คณะจากประเทศไทยรุ่นที่ 5 ที่เดินทางไปวิสคอนซินเมื่อปลายเดือนเมษาฯ ต่อเนื่องถึงกลางเดือนพฤษภาฯ จึงมี “ครู” ร่วมขบวนไปอีก 6 คน
กระบวนการคัดเลือกครูจากโรงเรียนในสังกัด สพฐ.ทั่วประเทศก็เข้มข้นทั้งในแง่วิชาการและความสามารถทางศิลปวัฒนธรรมเช่นเดียวกับนักเรียน
จะเรียกว่า “บังเอิญ” หรือไม่ก็ไม่ทราบได้ที่ “ครู” หนึ่งใน 6 คนที่เป็นตัวแทนประเทศไทยในปีนี้คือ คุณครูหรรษา วงศ์กิดาการ จากโรงเรียนเดชะปัตตนยานุกูล จ.ปัตตานี โรงเรียนเดียวกับ “น้องจีน่า” เป็นครูหนึ่งเดียวจากภาคใต้ทั้งภาคที่ได้รับเลือก และโรงเรียนเดชะปัตตนยานุกูลก็เป็นโรงเรียนเดียวจากทั่วประเทศที่มีทั้งนักเรียนและครูได้เข้าร่วมโครงการ
ครูหรรษา บอกว่า สิ่งที่ประทับใจที่สุดเมื่อมองผ่านสายตาของ “คนเป็นครู” ก็คือการที่รัฐบาลสหรัฐลงทุนด้านการศึกษาเยอะมาก และทุกภาคส่วนในอเมริกาก็ให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาแก่เด็กทุกคน ทุกกลุ่ม ไม่เว้นแม้กระทั่ง “เด็กพิเศษ”
“การจัดการศึกษาของอเมริกาเน้นให้โอกาสทางการศึกษากับทุกคนอย่างเท่าเทียมและมีความละเอียดอ่อนสูงมาก เราได้เห็นเด็กพิเศษได้เข้าเรียนโรงเรียนเดียวกับเด็กปกติทั่วไป เพียงแต่จัดห้องพิเศษให้ เพราะเขาให้ความสำคัญกับการมีสังคมและมีเพื่อนในวัยเดียวกัน ส่วนห้องพิเศษที่จัดให้นั้นแม้จะมีเด็กแค่ 12 คน แต่ก็มีครูถึง 3 คน แสดงให้เห็นว่าเขายอมลงทุนเรื่องการศึกษามากจริงๆ”
การเป็น “แม่พิมพ์” ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มานานปี ทำให้ครูหรรษาเชื่อมั่นว่าการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ปลายสุดด้ามขวานอย่างจริงจังจะช่วย “ดับไฟใต้” ได้อย่างยั่งยืน
“การศึกษาจะเป็นทางสว่างทำให้สถานการณ์ที่ชายแดนใต้ของเราดีขึ้นและจะช่วยเยียวยาทุกอย่างได้ หากเด็กๆ และวัยรุ่นในพื้นที่ได้มีกระบวนการคิดจากระบบการเรียนการสอนที่ถูกวิธี ความรุนแรงที่ดำรงอยู่จะลดลงอย่างแน่นอน”
ครูสาคร ภัทราธิปกรณ์ จากโรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย ผู้ทำหน้าที่หัวหน้าคณะครูและนักเรียนจากประเทศไทย กล่าวเสริมว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีที่สามารถเสริมศักยภาพทั้งนักเรียนและครู โดยผู้ที่ได้รับเลือกให้เข้าร่วมโครงการจะเสียค่าใช้จ่ายเพียงตั๋วเครื่องบินและค่าดำเนินการอื่นๆ รวม 86,000 บาทเท่านั้น ส่วนช่วงที่พำนักอยู่ในสหรัฐอเมริกาตลอดระยะเวลา 3 สัปดาห์ ทางรัฐวิสคอนซินและครอบครัวอุปถัมภ์รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด
“เด็กๆ ทุกคนจะได้อยู่กับ Host Family โดยใช้ระบบอาสาสมัคร ครอบครัวอุปถัมภ์จะรับหน้าที่ดูแลเด็กทั้งเรื่องการกิน การอยู่ และพาเที่ยว ส่วนโรงเรียนที่เด็กๆ ของเราเข้าไปร่วมเรียน ทางโรงเรียนก็จะหาบัดดี้ให้ ทำให้เด็กของเราไม่ค่อยมีปัญหาคิดถึงบ้าน และได้รับประสบการณ์ทั้งภาษารวมถึงการดำรงชีวิตแบบอเมริกันเต็มร้อย” ครูสาคร กล่าว
ศาลาไทย...สัญลักษณ์สันติภาพ
ช่วงกลางเดือนพฤษภาฯ ก่อนเดินทางกลับประเทศไทย 2 วัน ทางรัฐวิสคอนซินจัดงานเลี้ยงอำลาคณะครูและนักเรียนไทยที่โรงแรม The Edgewater ในเมืองแมดิสัน เมืองหลวงของรัฐ โดยเชิญสมาชิกในครอบครัวอุปถัมภ์มาร่วมกิจกรรมอันแสนอบอุ่นด้วย
เด็กๆ จากเมืองไทยพร้อมใจกันแสดงการละเล่นและศิลปวัฒนธรรมจากบ้านเกิด...ทั้งเหนือ กลาง อีสาน ใต้ ก่อนปิดท้ายด้วยการรำวงร่วมกัน หลายคนถึงกับกลั้นน้ำตาเอาไว้ไม่อยู่
รุ่งขึ้นอีกวันมีการจัดทัวร์สั้นๆ พาคณะนักเรียนและครูไทยขึ้นรถบัสไปชม Olbrich Botanical Gardens หรือ “สวนพฤกษชาติ” ซึ่งเต็มไปด้วยไม้ดอกนานาพันธุ์ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ อันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของเมืองแมดิสัน
ไฮไลท์ของสวนพฤกษชาติแห่งนี้อยู่ที่ “ศาลาไทย” ขนาดใหญ่ หรือ Thai Pavilion ซึ่งสร้างเอาไว้อย่างครบองค์ประกอบทางศิลปะ และมีเพียงแห่งเดียวในสหรัฐอเมริกา โดยสมาคมศิษย์เก่าวิสคอนซินประเทศไทย (Wisconsin Alumni Association Thailand; WAAT) มอบให้กับมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน เมื่อสิบปีที่แล้ว
เส้นทางของศาลาไทยหลังนี้ค่อนข้างอัศจรรย์และเป็นความทรงจำอันงดงามของอเมริกันชนทุกผู้ทุกนามที่ได้รับรู้เรื่องราว เพราะคณะศิลปินและช่างไทยที่เดินทางไปประกอบศาลาไทยเดินทางถึงสหรัฐเมื่อวันที่ 11 เดือนกันยายน พ.ศ.2544 ซึ่งประวัติศาสตร์บันทึกเอาไว้ว่าเป็นวันที่เกิดเหตุการณ์ 911 คือวันที่สหรัฐถูกโจมตีครั้งร้ายแรงที่สุดโดยกลุ่มผู้ก่อการร้ายนาม “อัล ไกด้า” นำโดย นายโอซามา บิน ลาเดน ที่เพิ่งมีข่าวถูกปลิดชีพเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมในอีกเกือบ 10 ปีถัดมา
เที่ยวบินที่คณะศิลปินและช่างไทยเดินทางมาเป็นเที่ยวบินสุดท้ายที่ได้รับอนุญาตให้ร่อนลงที่ท่าอากาศยานชิคาโก โอแฮร์ ก่อนที่สนามบินทุกแห่งในสหรัฐจะถูกสั่งปิดอย่างไม่มีกำหนด
นาทีนั้นไม่มีใครรู้อนาคตว่าจะเกิดเหตุร้ายอะไรขึ้นอีก นอกเหนือจากการขับเครื่องบินชนตึกแฝดสัญลักษณ์ทุนนิยมอย่างเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ และอาคารเพนตากอนซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ
คนอเมริกันทั่วทั้งประเทศอยู่ในภาวะตกตะลึงและเศร้าสลดกับโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น แต่คณะศิลปินและช่างไทยยังคงทำหน้าที่ของพวกเขาด้วยหัวใจ เริ่มต้นประกอบศาลาไทยทีละชิ้นๆ กระทั่งสำเร็จเสร็จสมบูรณ์
ตลอดระยะเวลานานนับเดือนนั้น ผู้คนจากแมดิสันและอีกหลายๆ เมืองไกลออกไปที่ได้ทราบข่าวต่างพากันมาให้กำลังใจ และเขียนข้อความเพรียกหาสันติภาพเอาไว้ด้านหลังกระเบื้องทุกแผ่นที่นำขึ้นมุงหลังคา...
ศาลาไทยหลังนี้จึงกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพบนสัญลักษณ์ของประเทศไทยที่คนอเมริกันมากมายยังคงซาบซึ้งในน้ำใจและตราตรึงอยู่ในความทรงจำ แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ของ Olbrich Botanical Gardens ที่นำทัศนศึกษาให้กับคณะนักเรียนไทยก็ยังน้ำตาไหลเมื่อเล่าถึงที่มาของศาลาไทยกลางสวนสวย
เป็นเรื่องราวดีๆ ที่เยาวชนไทยได้รับรู้รับทราบก่อนเหินฟ้ากลับสู่แผ่นดินเกิด...
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 "น้องจีน่า" ชานิตยา ดานิชสกุล
2 ป้ายขนาดใหญ่เขียนข้อความยินดีต้อนรับสู่รัฐวิสคอนซิน บริเวณรอยต่อระหว่างรัฐวิสคอนซินกับรัฐมิชิแกน
3 ครูหรรษา วงศ์กิดาการ
4-7 ศาลาไทยในสวน Olbrich Botanical Gardens เมืองแมดิสัน