"ปชป." โต้แถลงการณ์ "นปช." 9 ข้อ ชี้ "ศาล รธน." ทำตามหน้าที่
"ปชป." โต้แถลงการณ์ "นปช." 9 ข้อ ชี้ "ศาล รธน." ทำตามหน้าที่ ซัดรัฐทำอัตวินิบาตกรรม-บิดเบือนข้อเท็จจริง
วันที่ 5 เม.ย. นายราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกและคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกแถลงการณ์ตอบโต้แถลงการณ์ 9 ข้อ ของนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช.ว่า การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ การวินิจฉัยเป็นการใช้อำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญทุกประการ เพราะ
1. ศาลรัฐธรรมนูญ ได้ปฏิบัติถูกต้องตามกรอบอำนาจหน้าที่ ดังที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับองค์กรอื่นๆ ไม่มีกรณีใดที่ใช้อำนาจไปแทรกแซงอำนาจหน้าที่ขององค์กรอื่น หรือหวังผลให้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรทั้งสิ้น แต่ได้ใช้อำนาจแทรกแซงการกระทำของผู้ที่กระทำผิดเท่านั้น
2. ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่เคยใช้อำนาจล้มล้างการใช้อำนาจของรัฐสภาในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แต่ใช้อำนาจวินิจฉัยการกระทำผิดของสมาชิกรัฐสภาเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการกดบัตรแทนกัน การปิดการอภิปรายตัดสิทธิผู้สงวนคำแปรญัตติ การทำผิดกระบวนการที่ถูกต้องในการออกกฎหมาย การมุ่งแก้ไขเพื่อผลประโยชน์ของเสียงข้างมาก ที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
3. ศาลรัฐธรรมนูญไม่เคยใช้อำนาจล้มล้างอำนาจของอัยการสูงสุดในการยื่นคำร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 เพราะอัยการสูงสุดยังมีอำนาจในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเช่นเดิม แต่ที่ผ่านมาประชาชนไปยื่นหลายเรื่องก็ไม่เคยมีการใช้อำนาจตามมาตรานี้ของอัยการสูงสุด
4. ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ใช้อำนาจล้มล้างอำนาจของประชาชนที่ใช้สิทธิเลือกตั้ง ในวันที่ 2 ก.พ. แต่การเลือกตั้งที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยชี้แนะแล้วว่าสามารถเลื่อนออกไปได้ แต่รัฐบาลไม่ยอมเลื่อน ทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่ามีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ คนที่ล้มอำนาจของประชาชนที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งก็คือรัฐบาล
5. ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ไว้เพื่อพิจารณาวินิจฉัยสถานภาพความเป็นรัฐมนตรีของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ได้มีเจตนาเพื่อล้มล้างรัฐบาล แต่เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 ประกอบมาตรา 91 ศาลวินิจฉัยเพียงว่าความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงหรือไม่เท่านั้น ไม่มีประเด็นว่ารัฐบาลต้องล้มไปหรือไม่
6. การที่นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ใช้อำนาจในการโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี เป็นการใช้อำนาจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เป็นเหตุผลที่มาสนับสนุนได้ดีที่สุด เป็นการแทรกแซงหรือก้าวก่ายหรือไม่นั้น นายกรัฐมนตรีก็ชี้แจงข้อกล่าวหาไป อย่ามาก้าวล่วงกดดันศาลรัฐธรรมนูญ ควรปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม
7. หากการแต่งตั้งโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี เป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สิ้นสุดลง นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี พ้นจากตำแหน่งทุกคนเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ไม่มีใครมาบังคับให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งไปได้นอกจากกฎหมาย แต่ถ้าไม่พ้นจากตำแหน่งไปก็มีเพียงเหตุผลเดียวคือ การไม่เคารพกฎหมาย
8. ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจด้วยความเป็นกลางทางการเมือง สถิติย้อนหลังกลับไป คดีที่พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลชนะมีหลายคดี แต่พอพวกตนได้ประโยชน์ก็เงียบ แต่ถ้าคดีไหนที่แพ้ ก็จะมีการออกอาการเสมอว่าศาลรัฐธรรมนูญ 2 มาตรฐาน ซึ่งเป็นความจริงที่ศาลรัฐธรรมนูญ 2 มาตรฐาน คือใช้เกณฑ์มาตรฐานคนดีถูกฟ้องกับคนชั่วถูกฟ้องมาตัดสินคดี
และ 9. ศาลรัฐธรรมนูญไม่เคยใช้อำนาจเหนือรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร อัยการสูงสุด และอำนาจประชาชน แต่ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจ เพื่อให้คงไว้ซึ่งความถูกต้องของการใช้อำนาจไม่ว่าจะเป็นของฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหาร ไม่ให้ใช้อำนาจตามอำเภอใจ
นายราเมศ กล่าวอีกว่า ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้ ประธาน นปช. ยุติการกระทำที่เป็นการทำลายล้างสถาบันศาลรัฐธรรมนูญ สถาบันตุลาการ เพื่อหวังผลไม่ให้มีการตรวจสอบใดๆ อำนาจตุลาการไม่เคยมีในประวัติศาตร์ที่จะใช้อำนาจไปทำรัฐประหาร
รัฐบาลชุดนี้ได้อัตวินิบาตกรรม คือมีเจตนาฆ่าตัวตายด้วยการบริหารประเทศไร้ซึ่งหลักนิติรัฐ นิติธรรม มีการทุจริตอย่างกว้างขวาง ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ไม่เคารพยำเกรงอำนาจตุลาการ อำนาจองค์กรอิสระ ไม่เคารพรัฐธรรมนูญ ร่วมกับเสียงข้างมากในการออกกฎหมายล้างผิดให้กับคนโกง คนเผาบ้านเผาเมือง เป็นการกระทำที่ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลนี้ได้ตกลงที่จะฆ่าตัวตาย โดยเงื้อมมือของรัฐบาลและเสียงข้างมากเอง
การพยายามออกมาบิดเบือนข้อเท็จจริงก็หวังเพียงเพื่อทำลายสถาบันตุลาการที่เป็นสถาบันเดียวที่คนโกง คนที่กระทำความผิดวิ่งเต้นไม่ได้ เป็นสถาบันเดียวที่ยังมั่นคงในการตรวจสอบเพื่อประชาชนและประเทศ ทฤษฎีสมคบคิด ที่ถูกต้องคือการกระทำของรัฐบาล พรรคเพื่อไทย กลุ่ม นปช. ที่ร่วมกันสมคบคิดทำลายสถาบันตุลาการเนื่องจากยังมองว่าเป็นก้างขวางคอชิ้นสุดท้ายนั่นเอง