วิกฤติการเมืองไทยกับนิยายจอมยุทธ์…เหมือนฤาแตกต่าง
“ตอนเขียนบทนี้แล้วพอสืบค้นไปมาแล้วยิ่งรู้สึกเศร้าเลย ทหารอาชีพของเมืองไทยก็มีแบบนี้ด้วยเหมือนกัน คือไม่สนอะไร ทำตามนโยบายการเมือง โดยไม่สนว่า นโยบายนั้นจะเลวหรือโกงสุดขั้วยังไง แต่เราก็จะอยู่เฉยๆ"
ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 42 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีวงสนทนาเล็กๆ เรื่อง “แก้วิกฤติชาติแบบจอมยุทธ์” โดย "ต่อพงษ์ เศวตามร์" ผู้เขียนหนังสือเชิงอรรถยุทธภพ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจคือการเปรียบเทียบบ้านเมืองไทยปัจจุบันกับนวนิยายกำลังภายใน และประวัติศาสตร์จีน ประกอบกับข้อคิดทางการเมืองจากตัวละครในนิยายกำลังภายใน
ซึ่งต่อพงษ์ได้เล่าถึงสาเหตุของการเขียนหนังสือเชิงอรรถยุทธภพ เล่มที่ 4 เพราะเห็นว่า สถานการณ์บ้านเมืองไทยในตอนนี้มีความคล้ายคลึงกับประวัติศาสตร์จีนและในนวนิยายกำลังภายใน ตรงที่คล้ายกับการล่มสลายของราชวงศ์หมิงอย่างมาก
“ผมทำตั้งแต่ราชวงศ์ซ่ง ถึงราชวงศ์หมิงเหตุการณ์ที่ทำให้บ้านเมืองล่มสลาย ไม่ได้เกิดจากกองกำลังต่างชาติเลย แต่เกิดจาก หนึ่งการคอรัปชั่น อันนี้เป็นทุกราชวงศ์เลย สองคือข้าราชการไม่เอาอ่าว สามเกิดภัยพิบัติ และสี่คือตัวฮ่องเต้เองที่แย่ ถ้าสี่อันนี้อยู่ด้วยกันครบถ้วนเมื่อไหร่ ราชวงศ์ล่มสลายแน่นอน"
พอเรานึกถึงราชวงศ์แมนจู (ราชวงศ์ที่ขึ้นมาต่อจากการล่มสลายของราชวงศ์หมิง) การที่แมนจูเข้ามาปกครองจีนได้เหมือนไทยเลย !!
คล้ายกันมากกับกรณีเมืองไทยกับเขมร หรือไทยกับศัตรูระดับโลกอย่างสหรัฐฯ หรือประเทศที่รุกเข้ามาด้วยทุนและยิ่งหนักเข้าไปอีกตรงที่ว่าผู้บริหาร นายกฯ หรือข้าราชการ ทหาร อยู่ในระนาบเดียวกันกับในประวัติศาสตร์จีนหมดเลย เป็นไปได้ยังไง?” ต่อพงษ์ ระบุถึงความน่าพิศวงของประวัติศาสตร์จีนกับการเมืองไทยในปัจจุบัน
คังซีฮ่องเต้…ผู้ปราบอำมาตย์ฉ้อฉล
เมื่อพิธีกรถามถึงตัวละครในนวนิยายกำลังภายในที่ต่อพงษ์ชื่นชอบนั้น คนแรกเลยที่ต่อพงษ์นึกถึงคือ “คังซีฮ่องเต้” ผู้เป็นอัจฉริยะที่ไม่ยอมเป็นหุ่นเชิดของใคร แม้จะรายล้อมไปด้วยอำมาตย์ใหญ่ที่จ้องจะชิงดีชิงเด่นในราชสำนักก็ไม่ยอมถูกชักใยง่ายๆ
ต่อพงษ์ กล่าวถึงเป้าหมายที่คังซีฮ่องเต้วาดหวังไว้ว่า
“คังซีอายุสิบต้นๆรู้แล้วว่า ตนเองมีเป้าหมายเพื่อสร้างชาติให้แมนจูกับฮั่นอยู่ด้วยกันได้ เพราะก่อนหน้านั้นสองกลุ่มนี้ฆ่ากันสะบั้นเลย เรียกได้ว่า เขาวางแผนชีวิตของเขาเอาไว้เลย เสด็จย่าจึงให้เรียนอาวุธ ภาษาต่างประเทศ ทำให้คังซีรู้ถึงห้าภาษา รู้ถึงภูมิประเทศและวัฒนธรรมเป็นอย่างดี แต่สิ่งที่เขาทำคือเก็บตัวเงียบและไม่ปล่อยรัศมีของตัวเองเพื่อให้ถูกเชือดก่อน”
เพื่อทำให้สิ่งที่ฮ่องเต้วาดหวังให้เป็นจริงจึงต้องกำจัดอำมาตย์ฉ้อฉลให้หมดสิ้นไปก่อน แต่การจะกำจัดอย่างซึ่งหน้าคงจะไม่เป็นการดีนัก ระหว่างนี้คังซีจะรอโอกาสเหมาะที่ไม่ต้องเปลืองแรงกายมากนักโดยการยอมให้อำมาตย์ขี้ฉ้อทั้งหลายชิงดีชิงเด่นกันเอง คอรัปชั่นกันอย่างเต็มที่เพื่อขยายอำนาจและฆ่ากันเอง จนเหลืออำมาตย์ผู้แข็งแกร่งที่สุดเพียงหนึ่งเดียวคือ อ๋าวไป้ ซึ่งก็เป็นไปตามแผนที่คังซีวางไว้
คังซีเชิญอ๋าวไป้เข้ามาเพื่อแต่งตั้งยศเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด และสุดท้ายจบลงด้วยการที่อ๋าวไป้โดนทหารที่ผ่านการฝึกแบบลับๆ ของคังซีรุมฆ่า
ในที่สุดคังซียึดอำนาจคืนจากอำมาตย์ขี้ฉ้อได้สำเร็จ
“การรู้ว่า ตนเองมีเป้าหมายอย่างไรนั้นเป็นจุดแรก หากว่าผู้นำรู้ว่าจะต้องทำอะไรก็คงเป็นเรื่องที่ดี เพราะว่าแผนต่างๆที่จะเริ่มขึ้นมาจากนั้น ก็จะเป็นไปตามที่วางไว้ พูดตามตรงคือตอนนี้เราไม่แน่ใจว่าผู้นำฝ่ายค้านเอย ฝ่ายรัฐบาลเอย จะมีวิสัยทัศน์อย่างไร นอกจากเข้ามาแล้วก็ทานให้ได้มากที่สุดเพื่อตัวเองและพวกพ้อง”
นี่คือความเห็นของผู้เขียนหนังสือเชิงอรรถยุทธภพที่เปรียบความต่างของคังซีฮ่องเต้กับฝ่ายการเมืองของไทยในด้านเป้าหมายในการจัดการประเทศ
อู๋ซานกุ้ย…ทรราชย์ผู้ไม่เหลืออะไรในท้ายที่สุด
อีกคนหนึ่งที่เป็นตัวอย่างของการเห็นประโยชน์ส่วนตนยิ่งใหญ่กว่าประโยชน์ส่วนรวมคือ “อู๋ซานกุ้ย” ขุนศึกใหญ่แห่งราชวงศ์หมิง
เขาได้รับมอบหมายให้ต้านกองกำลังของแมนจูที่ชายแดนตอนใต้ ประจวบเหมาะที่มีกบฏชาวนาเข้ามายังเมืองหลวงได้ทำให้อู๋ซานกุ้ยมีแนวคิดที่จะแปรพักตร์ อีกทั้งแมนจูเริ่มมาเจรจาต่อรองด้วยโดยให้ข้อเสนอสุดคุ้มที่จะให้อู๋ซานกุ้ยร่วมมือกับอีกสามพรรคเอาดินแดนตอนใต้ของแม่น้ำแยงซีไป
“ที่ผมชอบตัวละครตัวนี้คือมันเป็นงาน" ต่อพงษ์ ย้ำชัด และให้ทัศนะต่อนิสัยที่เห็นแก่ตัวของอู๋ซานกุ้ยและความเจ้าเล่ห์ของพวกแมนจูว่า
...อู๋ซานกุ้ยไม่ยอมใช้ค่านิยมที่ทหารดีๆ ควรจะเป็น จริงๆแล้วคือน้ำพิพัฒสัตยาช่วยอะไรไม่ได้ มันไม่เท่ากับที่นา ภาษี และการเก็บเกี่ยวผลผลิต รวมกับการเจรจาการค้าที่จะได้มา อู๋ซานกุ้ยจะตกลงแล้วก็ทำจริงๆ แต่กบฏชาวนาที่ตั้งตัวขึ้นมาเป็นราชวงศ์ใหม่อยู่ได้ครู่เดียวและเปิดประตูให้แมนจูเข้ามาได้ แมนจูอ้างว่าเคยมีสัมพันธ์กับเจ้าองค์ท้ายๆ อยู่ ก็เลยอาสามาจัดการความสงบภายในให้ เสร็จแล้วจะอยู่เฉยๆรอให้ชาวฮั่นสามัคคีกันเองแล้วจะจากไป จะเป็นไปได้ไหมเนี่ย?
หลังจากนั้นแมนจูก็พยายามยึดอำนาจโดยการไล่กบฏชาวนาลงไปตอนใต้ จัดการให้ชาวฮั่นโกนผมและถักเปียตามสไตล์แมนจู (ต่อพงษ์กล่าวว่ามีชาวจีนฮั่นตายเป็นล้านเนื่องจากไม่ยอมตัดผมสไตล์แมนจู)
“ตอนเขียนบทนี้แล้วพอสืบค้นไปมาแล้วยิ่งรู้สึกเศร้าเลย ทหารอาชีพของเมืองไทยก็มีแบบนี้ด้วยเหมือนกัน คือไม่สนอะไร ทำตามนโยบายการเมือง โดยไม่สนว่านโยบายนั้นจะเลวหรือโกงสุดขั้วยังไงแต่เราก็จะอยู่เฉยๆเพราะเราเป็นทหาร เราต้องเป็นกลาง การเมืองจะเป็นยังไงก็ช่าง แล้วก็คอยออกมาฮึ่มฮั่มๆบ้าง เหมือนอู๋ซานกุ้ยเป๊ะเลย” ต่อพงษ์เสริมย้ำถึงความเหมือนของทหารไทยกับอู๋ซานกุ้ย
แม้ในภายหลังอู๋ซานกุ้ยมีแนวคิดจะรวบรวมชาวฮั่นที่เหลือไปบุกตีแมนจูเพื่อกอบกู้ศักดิ์ศรีชาวฮั่นกลับมา แต่ก็ไม่มีใครเอาด้วยกับทรราชย์อย่างเขาอีกแล้ว ทำให้หมดยุคของราชวงศ์หมิงและชาวฮั่นไปอย่างสมบูรณ์แบบ
องค์ชายสี่…นักปฏิวัติเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
คนสุดท้ายที่ต่อพงษ์พูดถึงคือ “องค์ชายสี่” ของคังซีฮ่องเต้ หรือ “จักรพรรดิยงเจิ้น” ผู้ถูกร่ำลือว่าเป็นผู้ปลงพระชนม์พระบิดาของตนเองและขึ้นครองราชย์ตามพินัยกรรมอย่างน่ากังขา เนื่องจากโอรสคนโปรดของคังซีฮ่องเต้คือองค์ชายสิบสี่ ซึ่งหากองค์ชายสิบสี่ได้ครองราชย์จริงทุกคนในราชสำนักจะเบิกบานเนื่องจากยอมให้ขุนนางทุกฝ่ายรับประทานได้ตามสะดวก
แต่สำหรับองค์ชายสี่ไม่เป็นเช่นนั้น หลังจากที่ครองราชย์แล้ว เขาได้ทำการเปลี่ยนแปลงสิ่งใหม่ๆ ให้คอรัปชั่นไม่ได้ ถ้าทำได้ก็ยากมาก เช่น การเสียภาษีที่หน่วยงานโดยตรงเพื่อแก้ปัญหาการแอบกินระหว่างทาง อีกทั้งยังตั้ง "ดีเอสไอ" มาตรวจซ้ำถึงความโปร่งใสด้วย ทำให้ไม่น่าแปลกใจที่ในยุคนี้จะมีเงินในท้องพระคลังเพิ่มมากกว่ายุคของคังซีฮ่องเต้หลายเท่า
“ที่สำคัญคือใครที่จะปฏิวัติประเทศใดนั้น ต้องไม่ไว้หน้า เบ็ดเสร็จ ห้ามมีพรรคพวก ห้ามมีผลประโยชน์ซ่อนเร้น และต้องฉลาดรู้ทันต่างชาติ” คือประโยคที่ต่อพงษ์พูดถึงการที่องค์ชายสี่ปฏิวัติได้สำเร็จโดยต้องมีคุณสมบัติเช่นนี้จึงเป็นการปฏิวัติที่มีประสิทธิภาพและสร้างประโยชน์ให้กับประเทศได้
สิ้นการสนทนาบนเวที ผู้สื่อข่าวตาม "ต่อพงษ์" มาถึงบูธเพื่อถามต่อว่า ทำอย่างไรจึงจะทำให้นักการเมืองไทยมีคุณสมบัติได้อย่างคังซีฮ่องเต้ หรือองค์ชายสี่บ้าง
ต่อพงษ์ตอบกลับมาทันทีว่า "ถ้าจะให้เป็นอย่างคังซีฮ่องเต้นั้นไม่มีทางเป็นไปได้เด็ดขาด โดยต้องถามก่อนว่านักการเมืองไทยเล่นการเมืองเพื่ออะไร วิกฤติการเมืองครั้งนี้หรือครั้งที่ผ่านมาจะแก้อย่างไรต้องถามตัวนักการเมืองเองก่อนว่าแก้เพื่ออะไรกันแน่ !"
“แต่ถ้าอย่างองค์ชายสี่ก็พอเป็นไปได้ จุดที่สูงสุดถึงต่ำสุดแล้วอะไรก็เกิดขึ้นได้ (สถานการณ์บ้านเมืองถึงขีดสุด) เพียงแต่ว่าคนที่อยู่ในปัญหาเองต้องมองให้ออกว่า ปัญหานั้นเกิดจากอะไรกันแน่ และต้องกล้าที่จะทำด้วย แต่คุณกล้าเสียสละไหม กล้าทิ้งทั้งชีวิตที่คุณมี ครอบครัวผลประโยชน์ พวกพ้อง กลุ่มที่อุ้มคุณขึ้นมาต้องทิ้งให้หมด ซึ่งเป็นไปไม่ได้” ผู้เขียนเชิงอรรถยุทธภพ กล่าวเสริม
เมื่อถามถึงม็อบตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันเหมือนหรือต่างจากในนิยายกำลังภายในอย่างไรบ้าง
ต่อพงษ์ก็ตอบกลับทันทีอีกเช่นเดียวกันว่า “เหมือน ในแง่ของการปฏิรูปแล้วล้มเหลว ทุกยุคนี่แทบจะเหมือนของไทยหมดเลยคือล้มเหลว” พร้อมทั้งอ้างถึงสมัยสามก๊กที่ตอนล้มตั๋งโต๊ะก็มีการเรียกระดมชาวนามาช่วยกัน ตอนแรกก็เข้มแข็งดี แต่แผ่วปลายเมื่ออ้วนเสี้ยวแตกกับโจโฉเพราะผลประโยชน์
“ทุกคนมาร่วมมือกันโดยมีวาระซอนเร้นทั้งนั้น การรวมตัวของกลุ่มการเมืองในเมืองไทยเพื่อจะทำม็อบหรืออะไรก็แล้วแต่มันอยู่ในกรณีเดียวกันคือมีวาระซ่อนเร้น คนที่ตายคนแรกคือคนที่ไม่มีวาระซ่อนเร้น” ต่อพงษ์ให้ทัศนะไว้
แล้วเมื่อถามว่าจะมีทางรักษาที่คนที่ไม่มีวาระซ่อนเร้นให้รอดหรือไม่ก็ได้คำตอบว่า “เป็นไปได้ยากแต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีทางเป็นไปได้ การปฏิวัติทุกครั้งต้องมีกองทัพมาเกี่ยวข้อง อยู่ที่ว่ากองทัพเลือกที่จะอยู่ข้างใครแล้วจะสำเร็จ กองทัพพร้อมที่จะอยู่ข้างคนที่ไม่มีผลประโยชน์แล้วเรียกผลตอบแทนน้อยๆไหม? อันนั้นก็จะสำเร็จ”
เมื่อลองย้อนกลับไปดูนิยายกำลังภายในแล้วลองเทียบกับการเมืองไทยอันร้อนระอุแล้วจะว่าไปก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ การฉ้อราษฎร์บังหลวง การยึดอำนาจ การชิงดีชิงเด่น การละเลยในหน้าที่ การสมยอมต่ออำนาจไม่เป็นธรรม แม้จะมีคนดีขึ้นมาให้เห็นอยู่บ้างก็มาได้ไม่นานก็เป็นอันต้องหายไป เพราะคนที่ไม่มีวาระซ่อนเร้นมักจะอยู่ไม่ได้ เหลือเพียงแต่สิ่งเดียวที่ประเทศไทยยังไม่เป็นไปตามนิยายจีนเหล่านั้นคือการล่มสลายของรัฐ ก็ได้แต่หวังในใจว่าอย่าให้เกิดขึ้นเลย