เร่งบรรจุหลักสูตร HIA ในกิจกรรมการเรียนการสอน เด็ก-เยาวชน
รศ.ดร.สรันยา เฮงพระพรหม หัวหน้าโครงการพัฒนาโปรแกรมการเรียนการสอนเรื่องภัยจากมลพิษทางสิ่งแวดล้อมและการนำไปประยุกต์ใช้เพื่อการดูแลตนเองและมีส่วนร่วมในกระบวนการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. กล่าวว่า การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ ((Health Impact Assessment (HIA)) คือ เครื่องมือในการติดตาม ป้องกัน และเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม เนื่องจากปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการขยายตัวของชุมชนเมืองและภาคอุตสาหกรรมบางแห่งที่ไม่มีการกำหนดแนวปฏิบัติที่เหมาะสมปลอดภัยสำหรับประชาชน ส่งผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะในชุมชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับนิคมอุตสาหกรรม
ปัญหาเหล่านี้ยังคงเกิดอยู่อย่างต่อเนื่อง วิธีการป้องกันที่ดีที่สุด คือ การปลูกฝังความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนตั้งแต่วัยเด็ก โครงการจึงได้พัฒนาโปรแกรมการเรียนการสอน HIA ขึ้น ซึ่งดำเนินการมาแล้วกว่า 2 ปี และครั้งนี้เป็นการจัดประชุมเพื่อจัดการความรู้ ครั้งที่ 3 เพื่อสรุปผลการศึกษาวิจัยและระดมสมองผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง อันได้แก่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 18 สถานศึกษานำร่องในเขตนิคมอุตสาหกรรม จ.ระยอง และ จ.ชลบุรี จำนวน 28 แห่ง ภาคอุตสาหกรรมและสถานประกอบการ ร่วมกันกำหนดข้อเสนอเชิงนโยบายและทิศทางการขับเคลื่อนให้ HIA ได้บรรจุอยู่ในหลักสูตร / กิจกรรมการเรียนการสอน ทั้งหลักสูตรแกนกลางและหลักสูตรท้องถิ่นสำหรับเด็กและเยาวชน
“2 ปี ในการนำหลักสูตร HIA ไปทดลองใช้กับนักเรียน ป.1 – 6 , ม.1-6, ปวช.1 และ ปวส.1 ในกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ กลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม และกลุ่มสุขศึกษาและพลศึกษา พบว่า โปรแกรมการเรียนการสอนมีจุดแข็งที่เนื้อหาซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดที่ต้องสอนในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้อยู่แล้ว ส่วนแผนการสอนก็มีความสมบูรณ์สามารถนำไปใช้พัฒนาต่อยอดเป็นแผนการสอนของครูผู้สอนได้และกระบวนการจัดการเรียนรู้เน้นรูปแบบของการคิดวิเคราะห์ทำให้เด็ก และครูผู้สอนเกิดความตระหนักเกี่ยวกับภัยสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรม และสุขภาพมากขึ้น ทั้งนี้ทุกโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการเห็นตรงกันว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่นักเรียนและครูผู้สอนต้องเรียนรู้ เพราะเป็นสิ่งใกล้ตัวที่เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมปัจจุบัน ทั้งนี้จากการระดมสมองผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาต่างเห็นตรงกันว่า ต้องการให้เกิดการแลกเปลี่ยนขยายความรู้ไปสู่ครอบครัว สังคม ชุมชน เกิดการนำองค์ความรู้ไปใช้เพราะที่ผ่านมายังไม่มีการบรรจุลงไปในหลักสูตรอย่างจริงจัง จึงมีข้อเสนอให้มีการบรรจุอยู่ในหลักสูตรท้องถิ่น เพราะโรงเรียนจะสามารถจัดการเรียนการสอนและการประเมินผลเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้อย่างเต็มที่” รศ.ดร.สรันยา กล่าว
ด้าน ดร.พิธาน พื้นทอง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า มักมีคำถามว่า สิ่งแวดล้อมและโรงเรียนหรือหลักสูตรการเรียนการสอนมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร คำตอบคือ คนทุกคนจำเป็นต้องอยู่กับสิ่งแวดล้อม นั่นคือ สังคม ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างชุมชน โรงเรียน อุตสาหกรรม และสังคมจึงต้องอยู่ร่วมกัน และต้องเรียนรู้ที่อยู่ร่วมกันอย่างดี เช่น การที่ไฟไหม้บ่อขยะที่แพรกษา จ.สมุทรปราการ เกิดควันที่มีมลพิษทางอากาศและเกิดสารพิษที่ละลายไหลไปกับน้ำ เห็นชัดเจนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบในวงกว้างไม่เฉพาะคนใน จ.สมุทรปราการ หรือกรณีไฟไหม้ที่ประเทศอินโดนีเซียก็กระทบมาประเทศมาเลเซีย และทางตอนใต้ของประเทศไทย เป็นผลกระทบที่ข้ามพรมแดน ทุกอย่างสัมพันธ์กันในเชิงของความเป็นมนุษย์ เริ่มตั้งแต่สัมพันธ์กับพ่อแม่ครอบครัว ชุมชน สังคม ที่ขยายกว้างขึ้นไปเรื่อย ๆ เมื่อมีสิ่งที่มาตั้งอยู่ในชุมชน เช่น คิวรถ คาราโอเกะ โรงงานต่างคนก็ต่างทำหน้าที่กันไป นักเรียนก็เรียนหนังสือ ร.ร.ก็ทำหน้าที่สอนแปดโมงเช้าก็เปิดไมโครโฟนอบรมเด็ก โรงงานก็ผลิตมีเสียงเครื่องจักรปล่อยควัน นี่คือความเปลี่ยนแปลง
“การพัฒนาที่ยั่งยืนต้องมีความสมดุลทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและทรัพยากรธรรมชาติ ต้องสมดุลและให้ความสำคัญกับทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ให้ถูกทำลาย เศรษฐกิจ เทคโนโลยีก็ควรให้มีการเจริญเติบโตพอประมาณ ดังนั้น การพัฒนาที่ยั่งยืนต้องเริ่มที่คน โดยให้คนเป็นศูนย์กลางฉะนั้น ระบบ ร.ร.ก็ต้องไปสอนคน ให้ทำในสิ่งที่ถูกต้องให้อยู่ด้วยตนเองอย่างมีความสุข ขณะเดียวกันก็ทำความกลมกลืนของตนเองให้อยู่กับสิ่งแวดล้อม หากสิ่งแวดล้อมโหดร้ายไปก็ต้องปรับให้อยู่ด้วยกันให้ได้เมื่อระยอง ชลบุรี เลือกแล้วที่จะเป็นเขตเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม มีรายได้เสียภาษีให้รัฐมากมาย แต่จะอยู่ด้วยกันอย่างไร ดังนั้น หน้าที่สำคัญที่สุดของ ร.ร. คือ สอนเด็กให้รู้เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นแหล่งความรู้ให้กับเด็ก ผู้ปกครอง คนในชุมชน ส่วนเรื่องสิ่งแวดล้อมจะไปบรรจุในสาระใดนั้น ครูต้องจัดการเรียนการสอนและบูรณาการให้ได้ และขอย้ำว่าในอนาคตแนวโน้มเรื่องสิ่งแวดล้อมสำคัญมาก เพราะกระทบต่อเราโดยตรง ทั้งอาหาร ระบบหายใจ การดำเนินชีวิต ฉะนั้น ทุกคนจะต้องมีความรู้ในเรื่องสิ่งแวดล้อม” ดร.พิธาน กล่าว
นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. กล่าวว่า การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ ความเข้าใจ และไม่รู้ว่าการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพหรือ HIA คืออะไร มีความสำคัญและจำเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก ดังนั้น การที่นำ HIA ไปสอดแทรกในหลักสูตรการเรียนการสอน เพราะเห็นว่าจำเป็นต้องปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็กให้เกิดการเรียนรู้เท่าทัน จะได้สามารถป้องกันและแก้ไขได้ทันท่วงที ทั้งนี้ ถ้า ศธ.เห็นความสำคัญก็หวังให้มีการบรรจุการเรียนการสอนเรื่องดังกล่าวเข้าไปในหลักสูตรของสถานศึกษาเพื่อจะได้เกิดความต่อเนื่องยั่งยืน และขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ
นายชวลิต อุดม รองผู้อำนวยการโรงเรียนวัดตะพงนอก (รังษีปิยะราษฎร์รังสรรค์) อ.เมือง จ.ระยอง กล่าวว่าร.ร. มีหลักยึดในการดำเนินการที่ว่า “การช่วยเหลือไม่ใช่การยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไข” เพระ ร.ร. อยู่ใกล้โรงงานอุตสาหกรรม จึงมีโรงงานมาให้การช่วยเหลือสนับสนุน ร.ร.ค่อนข้างเยอะ แต่การช่วยเหลือที่ได้จะต้องไม่ทำให้ ร.ร. นักเรียนครู ชุมชน ได้รับผลกระทบที่เกิดความเสียหาย เป็นอันตราย หากโรงงานปล่อยสารพิษ ปล่อยของเสีย ก็เป็นสิทธิของ ร.ร.ที่ต้องเรียกร้องความชอบธรรม ดังนั้น ขอย้ำว่า หลักสูตร HIA สำคัญอย่างมาก เพราะสิ่งแวดล้อมสำคัญต่อทั้งชีวิตเด็กและชุมชน ร.ร.ได้สอนเด็กโดยเน้นเรื่องของความตระหนัก ด้วยการให้ลงไปสัมผัสเรียนรู้จากประสบการณ์จริง เช่น ถ้าสอนเรื่องของความแห้งแล้ง ก็จะนำเด็กลงพื้นที่จริงได้สัมผัสกับสภาพแวดล้อม อากาศ จะทำให้เด็กเกิดความตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดจริง