สถานการณ์และแนวโน้มของการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
1 เมษายน 2557 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสรุปสาระสำคัญรายงานสถานการณ์ประชากรไทยปี 2556 เรื่อง การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ
สาระสำคัญของผลการศึกษาดังกล่าวมี ดังนี้
1. มาตรฐานสิทธิของหญิงวัยรุ่นตั้งครรภ์ กรอบอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนหลายฉบับระบุถึงหน้าที่ของรัฐในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้กับประชาชน โดยมาตรฐานสิทธิของหญิงวัยรุ่นตั้งครรภ์ ประกอบด้วย อิสรภาพในการได้รับความคุ้มครอง รักษาความเป็นส่วนตัว ไม่ถูกดูหมิ่นศักดิ์ศรี ได้รับข้อมูลข่าวสาร มีอิสระในการแสดงความคิดเห็นและในการแสดงความคิดเห็นและตัดสินใจด้วยตนเอง รวมถึงมีสิทธิในการเข้าถึงการศึกษาและบริการทางสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องอนามัยทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์
2. สถานการณ์และแนวโน้มของการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
2.1 การคลอดจากวัยรุ่นหญิงอายุน้อยกว่า 20 ปีของประเทศไทย เพิ่มขึ้น โดยข้อมูลสถิติสาธารณสุข พบว่า ในปี 2555 อัตราการคลอดจากหญิงอายุ 15-19 ปี เท่ากับ 53.8 ราย ต่อประชากรวัยเดียวกัน 1,000 คน เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว จาก 31.1 ราย ในปี 2543 โดยเป็นการคลอดซ้ำถึง 15,440 ราย หรือร้อยละ 11.9 ของการคลอดในวัยรุ่นทั้งหมด ตัวเลขดังกล่าวใกล้เคียงกับอัตราการคลอดของหญิงวัยรุ่นในประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และหลายประเทศในละตินอเมริกา แต่สูงกว่าในประเทศรายได้สูงของทวีปเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี จีน และสิงคโปร์
2.2 การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นในระดับจังหวัด พบว่า จังหวัดชลบุรี สมุทรสาคร ระยอง และประจวบคีรีขันธ์ มีอัตราการคลอดของวัยรุ่นหญิงมากที่สุด คือ ประมาณ 79-85 รายต่อประชากร 1,000 คน ในขณะที่จังหวัดที่มีอัตราการคลอดของวัยรุ่นหญิงเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ในช่วงปี 2543-2555 มีถึงประมาณ 19 จังหวัด ซึ่งความแตกต่างของอัตราการคลอดของวัยรุ่นในพื้นที่ต่าง ๆ เป็นผลมาจากสภาพเศรษฐกิจ สังคม พฤติกรรม รวมถึงโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาและบริการอนามัยเจริญพันธุ์ของวัยรุ่น
2.3 การดำเนินงานของประเทศไทยในการแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ได้แก่
1) การจัดการเรียนการสอนเพศศึกษาในโรงเรียน 2) การบังคับใช้กฎหมายเพื่อหยุดความรุนแรง บังคับ หรือละเมิดทางเพศ 3) การให้บริการอนามัยเจริญพันธุ์เชิงรุกและเป็นมิตร โดยเฉพาะการให้บริการถุงยางอนามัยและอุปกรณ์การคุมกำเนิดแก่วัยรุ่น 4) การบูรณาการงานป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างรอบด้าน ผ่านการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์พัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข ปี 2553-2557 ส่งผลให้ทุกจังหวัดมีคณะกรรมการขับเคลื่อนเรื่องการตั้งครรภ์ไม่พร้อมโดยให้ภาครัฐ เอกชนประชาสังคม และชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานมากขึ้น 5) การสร้างต้นแบบการป้องกันและดูแลวัยรุ่นตั้งครรภ์ เช่น “คลินิกวัยรุ่น โรงพยาบาลรามาธิบดี” “ศูนย์พึ่งได้ โรงพยาบาลปทุมธานี” และ “มหิดลโมเดล” ซึ่งบูรณาการการทำงานระหว่างชุมชน โรงเรียน โรงพยาบาล 6) การช่วยเหลือเยียวยาในรูปแบบอื่น ๆ อาทิ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีกระบวนการเยียวยาให้เด็กกลับคืนสู่สังคมโดยการให้คำปรึกษา ฝึกอาชีพ และจ่ายเงินสงเคราะห์ในบางกรณี และ 7) การจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือสังคม OSCC 1300 (One Stop Crisis Center) ที่เน้นการเชื่อมโยงข้อมูลและระบบการส่งต่อให้บริการของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มุ่งให้ผู้เสียหายหรือผู้ประสบเหตุเข้าถึงบริการหรือสิทธิอันพึงได้อย่างมีประสิทธิภาพ