คำต่อคำ ! “ยิ่งลักษณ์” ถาม “ป.ป.ช.” ตอบ ปมไต่สวนทุจริตจำนำข้าว
คำต่อคำ ! “ยิ่งลักษณ์” ถาม “ป.ป.ช.” ตอบ 3 ปมปัญหาการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว
กรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2557 โดยตั้งคำถามถึงกระบวนการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีถอดถอนตัวเองเรื่องทุจริตจำนำข้าวเป็นจำนวน 3 ข้อ
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2557 สำนักงาน ป.ป.ช. เผยแพร่เอกสารชี้แจงข้อเท็จจริงการไต่สวนกรณีถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ปมทุจริตจำนำข้าวทั้งหมด 5 ข้อเช่นเดียวกัน
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ขอนำ “วิวาทะ” ระหว่าง “ยิ่งลักษณ์” กับ “ป.ป.ช.” มานำเสนอ ดังนี้
1.กรณี ป.ป.ช. เป็นคู่กรณีกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร :
"กรณีคดีโครงการรับจำนำข้าว ที่ดิฉันถูกกล่าวหาโดยการยื่นคำร้องถอดถอนจากพรรคฝ่ายค้านส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งเป็นการกล่าวหาโดยตรงจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งที่โดยกระบวนการปกติตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ควรจะเป็นคนกลางในการพิจารณาคดีคำร้องถอดถอน
และเมื่อคดีนี้มีความพิเศษกว่าปกติ คือ การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กลับมาเป็นคู่กรณีเสียเองเช่นนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมิใช่คนกลางที่จะอำนวยความยุติธรรม ดังนั้น ในเบื้องต้นดิฉันขอตั้งข้อสังเกต ดังนี้
มาตรฐานของการปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติให้ไต่สวนคดีโดยเร็วและยึดหลักนิติธรรมนั้น ใช้กับบุคคลทุกกลุ่มในบรรดาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่อยู่ในระดับบริหารด้วยกันอย่างเท่าเทียม หรือมีเงื่อนไขที่จะใช้กับบุคคลหรือคณะบุคคลบางกลุ่มอย่างไม่เท่าเทียมกัน เท่านั้น ดังจะเห็นได้จากหลายเรื่อง เมื่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองถูกกล่าวหา จะมีการตั้งอนุกรรมการไต่สวนก่อน ซึ่งปัจจุบันแต่ละคดีไม่มีความคืบหน้า แต่ประการใด เช่น คดีสลายการชุมนุมที่ทำให้ประชาชนบาดเจ็บล้มตาย เมื่อปี พ.ศ.2553 หรือคดีทุจริตอื่น ในปี พ.ศ.2553 ก็ไม่ปรากฏว่า มีความคืบหน้าไปอย่างรวดเร็วเหมือนคดีของดิฉัน"
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) :
"การที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระบุว่าการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เข้ามาเป็นผู้กล่าวหาในคดีนี้ทำให้กลายเป็นคู่กรณีกับผู้ถูกกล่าวหาเสียเอง แทนที่จะเป็นคนกลางที่จะอำนวยความยุติธรรมนั้น ขอเรียนว่าตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 66 บัญญัติว่า ในกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีเหตุอันควรสงสัยหรือมีผู้กล่าวหาว่า ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือข้าราชการการเมืองอื่น ร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงโดยเร็ว
ดังนั้น เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับรายงานจากการไต่สวนข้อเท็จจริงว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่านางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามข้อ 1. จึงต้องดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว ซึ่งกำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.สามารถหยิบยกเรื่องขึ้นไต่สวนข้อเท็จจริงได้เอง เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
อย่างไรก็ดีแม้คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะเป็นผู้กล่าวหาเอง แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็จะต้องดำเนินการไต่สวนให้เป็นไปตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยไม่ได้มีการยกเว้นในเรื่องหนึ่งเรื่องใดทั้งสิ้น ดังนั้นผู้ถูกกล่าวหาทุกรายรวมถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีจึงได้รับการอำนวยความยุติธรรมที่เท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายดังกล่าว"
2.กรณีรวบรัดพิจารณาการไต่สวนคดีภายใน 21 วัน
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร :
"ตามบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาที่มีต่อดิฉัน ซึ่งใช้เวลาเพียง 21 วัน ในการจัดเตรียมข้อกล่าวซึ่งมีมากมายหลายประเด็นที่อ้างว่า มีการทุจริตและมีความเสียหาย ซึ่งหากคำนึงถึงความเป็นธรรมแล้ว จำเป็นที่ดิฉันจะได้ใช้สิทธิตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองเพื่อตรวจสอบว่า มีพยานหลักฐานใดที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ใช้ในการกล่าวหา หรือมีข้อสงสัยที่ไม่ชัดเจน เพื่อดิฉันจะได้ชี้แจงได้ถูกต้อง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เสียด้วยซ้ำ เรื่องนี้ ทำให้สรุปได้ชัดเจนว่า “การตรวจพยานหลักฐานในคดีนี้ ดิฉันไม่ได้รับการอำนวยความยุติธรรม” ตามสมควร"
ป.ป.ช. :
"การที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระบุว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการไต่สวนคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่มีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นผู้ถูกกล่าวหาด้วยความเร่งรีบใช้เวลาเพียง 21 วันก็มีการแจ้งข้อกล่าวหานั้น ขอเรียนว่าเรื่องนี้ เดิมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน กรณีกล่าวหานายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เกี่ยวกับการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว
ซึ่งจากการไต่สวนข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวปรากฏข้อเท็จจริงว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ได้กำหนดให้มีนโยบายโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่การเงินการคลังของประเทศ จึงมีเหตุอันควรสงสัยว่านางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อันเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ คณะอนุกรรมการไต่สวนจึงได้รายงานเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาและมีมติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคณะ เป็นองค์คณะในการไต่สวนข้อเท็จจริง โดยนำไปรวมดำเนินการกับกรณีร้องขอให้ถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว
ดังนั้น ในการไต่สวนข้อเท็จจริงในเรื่องนี้นับตั้งแต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีคำสั่งให้ไต่สวนข้อเท็จจริงจนกระทั่งให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มารับทราบข้อกล่าวหา รวมระยะเวลาทั้งสิ้นหนึ่งปีสิบเดือน ดังนั้นในการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีกล่าวหานางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงไม่ได้ใช้เวลาไต่สวนเพียง 21 วัน แต่อย่างใด"
3.กรณีไม่ให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ เลื่อนการชี้แจงข้อกล่าวหา และอ่านเอกสารหลักฐานไม่ทัน
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร :
"การขอเลื่อนคดีของดิฉัน มีความสมเหตุสมผลหรือไม่ และการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ให้ดิฉันเลื่อนคดีมีเหตุผลมากน้อยเพียงใด ในเรื่องนี้เมื่อตรวจสอบจากบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาว่า “โครงการรับจำนำข้าว” เกิดความเสียหาย โดยดิฉันรับรู้ รับทราบแล้วทำไมไม่ระงับ ยับยั้ง เพื่อยุติโครงการรับจำนำเสีย
เรื่องที่ดิฉันถูกกล่าวหานี้ มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับพยานเอกสาร และพยานบุคคลจำนวนมากที่ดิฉันต้องรวบรวม บางรายการต้องสืบค้นจากหลายหน่วยงาน เพื่อหักล้างข้อกล่าวหา แต่หน่วยงานต่างๆมีระยะเวลาไม่เพียงพอ จึงแจ้งเหตุขัดข้องมาหลายหน่วยงาน ซึ่งดิฉัน ได้ให้ทนายความนำไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตรวจสอบถึงเหตุขัดข้อง เพื่อขอเลื่อนคดีสักระยะหนึ่ง ซึ่งจากที่ให้แล้ว 15 วัน และดิฉันขอขยายอีก 45 วันตามที่ได้ร้องขอไป
แต่คำขออำนวยความยุติธรรมดังกล่าว แม้สักวันเดียวยังไม่ได้รับ ทั้งๆที่ฝ่ายกรรมการ ป.ป.ช. ที่ถือเป็นคู่กรณีอ้างว่า ได้ใช้เวลาตรวจสอบเรื่องของดิฉันมาปีเศษแล้ว ทั้งๆ ที่คณะกรรมการ ปปช. ชุดใหญ่ มีมติภายใน 21 วันเพื่อแจ้งข้อกล่าวหา แต่เมื่อดิฉันจะใช้เวลาตามสมควรบ้าง กลับถูกปฏิเสธความยุติธรรมจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ไต่สวน
ดิฉันเห็นว่า คดีนี้เมื่อตัวดิฉันมีสถานะเป็นนายกรัฐมนตรี การถูกดำเนินคดีเป็นเรื่องที่สาธารณะชนทั่วไปควรต้องการรับรู้และถือเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะที่จะรับรู้ทั้งฝ่ายดิฉัน และเหตุผลของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเสมือนมิใช่คนกลางไต่สวนพิจารณาคดี หากแต่ถือเป็นคู่กรณีที่กล่าวหาดิฉันด้วยว่า ระหว่างการไต่สวนพิจารณาคดีของกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ไต่สวนกับดิฉันในฐานะผู้ถูกกล่าวหา มีการปฏิบัติต่อกันในการดำเนินคดีโดยถูกต้อง เที่ยงธรรมหรือไม่ มิใช่มีเจตนามากล่าวหาต่อกันว่าใครผิดใครถูก ซึ่งไม่ถูกต้อง และกรณีของดิฉันคงเป็นบทเรียนของการใช้อำนาจของแต่ละฝ่ายว่า เป็นไปตามหลักนิติธรรมหรือไม่
แต่กรรมการ ป.ป.ช. กลับชี้แจงโดยกล่าวหาดิฉันว่า เป็นเพราะดิฉันไม่มารับทราบข้อกล่าวหาด้วยตนเองซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก เพราะการรับทราบข้อกล่าวหา ดิฉันตรวจสอบจากบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาที่เป็นลายลักษณ์อักษรได้อยู่แล้ว
เอกสารหลายรายการที่นำไปใช้กล่าวอ้าง และพาดพิงดิฉันรวมถึงบทสัมภาษณ์ ในหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจของ นายวิชา มหาคุณ ที่อ้างว่าดิฉันต้องรับผิดนั้น ทำไมไม่ให้ดิฉันตรวจพยานหลักฐานก่อน เพื่อให้ดิฉันได้มีโอกาสชี้แจงให้ถูกต้องและตรงประเด็น แต่กลับอ้างว่า ไม่สามารถให้ดูเอกสารหลักฐานได้เนื่องจากเป็นเอกสารสำคัญกลัวจะเสียรูปคดีซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิของดิฉันตามกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิคุ้มครอง ซึ่งดิฉันได้รับเอกสารแจ้งข้อกล่าวหาในครั้งแรก 49 แผ่น และในภายหลังเมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมาได้รับเอกสารเพิ่มเติมอีก 280 แผ่น ซึ่งนั่นหมายความว่า ดิฉันจะต้องแก้ข้อกล่าวหาหลังได้รับเอกสารทั้ง 280 แผ่นนั้นภายในเวลาเพียงแค่ 3 วันเท่านั้น"
ป.ป.ช. :
"การที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระบุว่าประสงค์จะใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญเพื่อขอตรวจสอบพยานหลักฐานในสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง ว่ามีพยานหลักฐานใดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ใช้ในการกล่าวหา หรือกรณีมีข้อสงสัยที่ยังไม่ชัดเจนเพื่อที่จะได้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาได้ถูกต้องนั้น ขอเรียนว่าการขอตรวจพยานหลักฐานในสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงนั้น ผู้ถูกกล่าวหาจะต้องเข้าตรวจพยานหลักฐานด้วยตนเอง และตรวจได้เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการกระทำของผู้ถูกกล่าวหา โดยต้องไม่กระทบต่อรูปคดีหรือการคุ้มครองบุคคลที่เกี่ยวข้อง สิทธิดังกล่าวได้มีการแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบแล้วตามบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา
ซึ่งในกรณีนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เคยอนุญาตให้ทนายความของผู้ถูกกล่าวหาเข้าตรวจพยานหลักฐานแทนผู้ถูกกล่าวหาเนื่องจากมีพฤติการณ์พิเศษ และได้คัดถ่ายเอกสารหลักฐานในสำนวนการไต่สวนให้ไปจำนวน 49 แผ่น ซึ่งได้ครอบคลุมการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาตามที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาแล้ว ส่วนที่ผู้ถูกกล่าวหาได้มีหนังสือขอตรวจพยานลักฐานเพิ่มเติมจำนวน 19 รายการ นั้น
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เนื้อหาของเอกสารทั้ง 19 รายการดังกล่าวเป็นเอกสารประกอบเรื่องตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เคยให้ทนายความของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตรวจดูและคัดถ่ายให้แล้ว จำนวน 49 แผ่น ยกเว้นเอกสารบางรายการซึ่งเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปและมีอยู่ที่ตัวผู้ถูกกล่าวหาแล้วหรือหน่วยงานที่ผู้ถูกกล่าวหาบังคับบัญชาอยู่ เช่น รายงานการวิจัยคณะกรรมการ ป.ป.ช. โครงการศึกษามาตรการแทรกแซงตลาดข้าวเพื่อป้องกันการทุจริต เอกสารของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่มีไปถึงผู้ถูกกล่าวหา คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี เป็นต้น ซึ่งเอกสารดังกล่าวไม่ใช่เอกสารสำคัญที่จะต้องใช้ในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา
อย่างไรก็ดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจึงอนุญาตให้ทนายความของผู้ถูกกล่าวหาเข้าตรวจพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ และคัดถ่ายไปจำนวน 280 แผ่น ก่อนที่จะถึงกำหนดยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา 3 วัน ซึ่งทั้งหมดเกิดจากความประสงค์ของผู้ถูกกล่าวหาเอง และไม่ทำให้รูปของคดีเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด ที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระบุว่าเพิ่มได้รับเอกสารเพียง 3 วัน ทำให้ไม่อาจชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาได้ทันนั้น จึงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน"
"และ การที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระบุว่าการขอเลื่อนคดีของผู้ถูกกล่าวจะมีความสมเหตุสมผลหรือไม่ และการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีจะมีเหตุผลมากน้อยเพียงใด นั้น ขอเรียนว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เคยขอขยายระยะเวลายื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหามาแล้วครั้งหนึ่ง โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาออกไปอีก 15 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 31 มีนาคม 2557 หากนับจากวันรับทราบข้อกล่าวหาถึงวันที่อนุญาตให้ขยายรวมแล้วเป็นเวลา 32 วัน
ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าระยะเวลาดังกล่าว รวมทั้งเอกสารหลักฐานที่อนุญาตให้คัดถ่ายไปครั้งแรกจำนวน 49 แผ่นครอบคลุมข้อเท็จจริงที่จะใช้ในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาแล้ว จึงมีมติไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา โดยให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาไม่ว่าจะทำเป็นหนังสือหรือชี้แจงด้วยวาจาภายในกำหนดเดิม คือ วันที่ 31 มีนาคม 2557 ทั้งนี้หากผู้ถูกกล่าวหาประสงค์จะเพิ่มเติมพยานหลักฐานในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาก็สามารถกระทำได้โดยให้ระบุมาในคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา"
ทั้งหมดนี้คือ "วิวาทะ" แบบ "คำต่อคำ" ระหว่าง "ยิ่งลักษณ์" กับ "ป.ป.ช." ในปมทุจริตจำนำข้าวที่กำลังตกเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ "รัฐบาล" อยู่ในขณะนี้