“พลังเงียบ-ทหาร”จุดเปลี่ยนวิกฤตการเมืองไทย?
“รัฐบาล อยู่เฉยไม่ได้ถึงมีเสื้อแดงออกมา แต่ถ้ามีการประทะ ทหารก็ออกมาอีก ถ้าดูแบบนี้มันจบไม่เร็วหรอก ยันกันไปแบบนี้ ถ้าอยากให้จบเร็วก็คงขนคนมาประทะ จบไปนานแล้ว”
วิกฤตการเมืองไทยระหว่างรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) ต่อสู้ยืดเยื้อกันเข้าสู่เดือนที่ 5 แล้ว ตลอดห้วงเวลาที่ผ่านมา ต่างฝ่ายผลัดกันรุก-รับ ผลัดกันเพลี่ยงพล้ำ ไม่มีใครเอาชนะได้อย่างเด็ดขาด นำพาสถานการณ์มาถึงทางตัน ฝ่ายหนึ่งเกาะเกี่ยวอำนาจรัฐไว้อย่างเหนียวแน่น ส่วนอีกฝ่ายก็ชุมนุมยืดเยื้อ ยืนยันไม่เจรจาจนกว่ารัฐบาลจะลาออกเปิดทางให้ตั้งนายกมาตรา 7
โหมดการเมืองขณะนี้ จึงอยู่ในภาวะยันกันไปยันกันมา ฝ่ายรัฐบาลเลิกใช้กลไกศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) และกองทัพตำรวจจัดการเชิงรุกกับม็อบ หันมาเก็บเนื้อเก็บตัวรักษาสถานะ “รักษาการ” ไปเรื่อยๆ พร้อมเปลี่ยนมาใช้บริการของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในการค้ำยันอำนาจ นัดแสดงพลังชุมนุมใหญ่วันที่ 5 เม.ย. 2557
ด้านฝ่าย กปปส. หลังจากยกเลิกปฏิบัติการชัตดาวน์กรุงเทพฯ ก็ยุบเวทีมารวมที่สวนลุมพินีเพียงแห่งเดียว แล้วเพลาการเคลื่อนไหวลง รอผลการพิจารณาขององค์กรอิสระ ทั้งกรณีศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเงินกู้ 2 ล้านล้านขัดรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง 2 ก.พ. 2557 เป็นโมฆะ ศาลปกครองพิพากษาเรื่องการโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เป็นการใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบ ตลอดจนกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะชี้มูล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าทุจริตโครงการจำนำข้าวหรือไม่ และนัดชุมนุมใหญ่อีกครั้ง วันที่ 29 มี.ค. 2557 ก่อนการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเพียงวันเดียว
ขณะเดียวกัน การเลือกตั้งครั้งใหม่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ ถ้าเกิดจะเกิดเมื่อไหร่ การชุมนุมใหญ่ของทั้ง นปช. และ กปปส. จะพัฒนาไปสู่ความรุนแรงหรือไม่ แนวโน้มทิศทางการเมืองไทยจึงยังอึมครึมหาจุดเปลี่ยนไม่เจอไปอีกนาน
เมื่อสถานการณ์สุกงอม พลังเงียบจะออกมา
อลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ วิเคราะห์สถานการณ์ว่า ประเทศไทยกำลังเดินมาถึงทาง 2 แพร่ง ระหว่าง 1.เดินหน้าสู่การเลือกตั้ง และ 2.เดินหน้าสู่วิกฤตการณ์นองเลือดครั้งใหม่ ขึ้นอยู่กับรัฐบาล และกปปส. จะยอมผ่อนปรนท่าทีถอยออกมาคนละก้าวหรือไม่
อลงกรณ์ มองว่าสถานการณ์เฉพาะหน้าในขณะนี้ดูจะตรึงเครียดทั้งในภาคสนาม ที่มีการนัดชุมนุมใหญ่ของทั้งนปช. และกปปส. เพื่อแสดงศักยภาพของทั้ง 2 ฝ่าย เปรียบเสมือนปืนที่รอเหนี่ยวไก ขณะที่การตัดสินคดีต่างๆก็งวดมาเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่ใช่คำตอบสำหรับการเมืองไทยอยู่ดี เพราะเมื่อตัดสินอะไรออกมาก็มีทั้งคนที่พอใจและไม่พอใจ ไม่มีฝ่ายใดชนะได้เด็ดขาด
“ปัจจัยเหล่านี้มันเป็นตัวบ่มเพาะสถานการณ์เพื่อที่รัฐบาลและกปปส.จะนำไปพิจารณาถอยคนละก้าวหรือไม่”อลงกรณ์ กล่าว
อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เชื่อว่าทั้ง 2 ฝ่ายไม่ต้องการให้เกิดการประทะนองเลือดกันเกิดขึ้น เพราะดูจากตลอด 4 เดือนที่ผ่านมา ทั้ง 2 ฝ่ายต่างพยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากันโดยตรง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี แต่เมื่อนปช.เริ่มแสดงบทบาท ตลอดจนมีการตัดสินจากองค์กรอิสระที่มีทั้งคนพอใจและไม่พอใจ และมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการสร้างสถานการณ์จากมือที่ 3 ปัจจัยเหล่านี้จะบ่มเพาะสถานการณ์ให้สุกงอมมาถึงจุดที่ทั้ง 2 ฝ่ายต้องตัดสินใจ ต้องใช้สติไตร่ตรองรับผิดชอบต่ออนาคตประเทศ
อลงกรณ์ เชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วก็ต้องต่อรองเจรจากัน แม้ที่ผ่านมาจะมีทั้งกองทัพ องค์กรเอกชนและองค์กรอิสระพยายามเป็นคนกลาง แต่ก็ไม่สำเร็จเพราะกลุ่มเหล่านี้ล้วนเป็นผู้มีส่วนได้เสีย
“แต่ไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม ยังมีโอกาสที่จะต้องมีคนกลางเข้ามาจัดให้มีการเจรจาเพียงแต่ต้องรอให้สถานการณ์สุกงอมเสียก่อน อาจมีปรากฎการณ์ที่กลุ่มพลังเงียบ (silent majority) จากภาคธุรกิจ นักวิชาการและประชาชน ออกมามีพลวัตรสำคัญในการเบรกความรุนแรงและเรียกร้องให้เจรจากัน”อลงกรณ์ กล่าว
“ผมเชื่อว่ามีคนไม่น้อยที่อัดอั้นตันใจว่าวิกฤตการเมืองไม่จบเสียที เศรษฐกิจก็แย่ลง กลัวว่าจะเกิดเหตุรุนแรงนองเลือดแล้วออกมา พลังเหล่านี้ไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งในที่สุดทั้งรัฐบาลและกปปส.ก็ต้องฟังเสียงประชาชน ระหว่างนี้ก็เป็นช่วงเพาะบ่มพลังเงียบไปก่อน”อลงกรณ์ กล่าว
อลงกรณ์ ยังเชื่อด้วยว่า ที่สุดแล้วการเลือกตั้งจะเป็นทางออกของประเทศไม่ว่าจะปฏิรูปก่อนหรือหลังก็ตาม การเลือกตั้งนี้คงไม่เกิดขึ้นในเร็ววัน เพราะถึงจัดให้มีขึ้นเร็วก็ยังมีความเห็นต่างและไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเรียบร้อย แต่ก็ไม่ควรเกิน 6 เดือน หรือ 9 เดือนนับจากนี้
“ความเห็นส่วนตัวผมคิดว่าน่าจะปฏิรูปในระดับหนึ่งก่อน ทั้ง 2 ฝ่ายมาเจรจากันหาข้อยุติเรื่องการกำหนดวันเลือกตั้ง และเดินหน้าปฏิรูปในสิ่งที่ทำได้ไปก่อน ต้องยอมรับว่าการปฏิรูปต้องใช้เวลา ไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้เสร็จได้ในเร็ววัน”อลงกรณ์ กล่าว
ทหารคือคำตอบสุดท้าย
ด้าน ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์สถานการณ์ ด้วยมุมมองปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจ โดยมองว่าการต่อสู้ของทั้ง 2 ฝ่ายมีทั้งหมด 4 สนาม คือ1.สนามการเมือง 2.สนามมวลชน 3.สนามกฎหมาย และ 4.สนามกองกำลัง
ณรงค์มองว่าในสนามการเมือง รัฐบาลเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ตั้งแต่การยุบสภา หรือจะผลักดันการเลือกตั้งก็ทำไม่สำเร็จ ส่วนสนามมวลชน ก็ถือว่ามวลชนรัฐบาลลดลงเมื่อมองจากจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง และสนามกฎหมายก็พ่ายแพ้ เพราะถูกศาลวินิจฉัยว่าผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า
“รัฐบาลพ่ายแพ้ทั้ง 3 สนามเลย ก็เหลือสนามสุดท้ายคือกองกำลังที่รัฐบาลคิดว่ายังได้เปรียบ คือมีทั้งกำลังตำรวจ มวลชนฮาร์ดคอร์ มีทั้งยุทธโธปกรณ์และเสบียงพร้อม เราจะเห็นว่าเขาขู่จะใช้ความรุนแรงตลอด”ณรงค์ กล่าว
ณรงค์ ย้ำว่า ในมุมปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจ อำนาจอยู่ที่กองกำลัง ประวัติศาสตร์โลกไม่เคยปรากฎว่าประชาชนลุกขึ้นมาต่อสู้แล้วจะชนะได้ แต่ต้องมีกำลังที่เหนือกว่า ดังนั้นทหารจึงเป็นคำตอบสุดท้าย ซึ่งผู้ชุมนุมกปปส. ชนะมา 3 สนาม แต่ไม่ได้รบในสนามสุดท้ายเพราะมองว่าเป็นหน้าที่ของทหารที่มีความชอบธรรมในการดำเนินการมากกว่า
“พอทหารไม่ขยับ สนามรบด้านกองกำลังเลยยังมีอยู่ เขาก็ขู่ไปเรื่อยๆ แล้วก็ขยายไปใช้กับสนามอื่นๆด้วย มีการใช้อาวุธยิงถล่มทั้งผู้ชุมนุม ศาลและ ป.ป.ช.”ณรงค์ กล่าว
ณรงค์ ให้ความเห็นว่า สถานการณ์จะจบทันทีเมื่อทหารออกมาแสดงท่าที ซึ่งไม่ได้หมายถึงการออกมาปฏิวัติ แต่แค่ออกมาประกาศว่าจะธำรงความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย หลักนิติรัฐนิติธรรม รักษาความศักดิ์สิทธิ์ของศาล จะตอบโต้คนที่ไม่เคารพศาล ขอให้ตำรวจบังคับให้เป็นไปตามคำสั่งศาล หากตำรวจไม่ทำ ทหารก็มีความชอบธรรมที่จะทำได้เพราะมีหน้าที่รักษาความมั่นคงของประเทศอยู่แล้ว
ณรงค์ ขยายความว่า ท่าทีที่ว่านี้ไม่ใช่ให้ทหารไปเป็นฝ่ายกระทำ ให้อยู่เฉยๆ แต่หากมีการใช้กองกำลังทหารก็มีความชอบธรรมที่จะตอบโต้ ซึ่งหากประกาศท่าทีออกไปให้ชัดเจน อย่างน้อยก็ทำให้รัฐบาลกลับไปคิดแล้วว่าจะทำอย่างไรต่อ เป็นการกดดันว่าในสนามกองกำลังก็จะแพ้ และเป็นปัจจัยที่บีบให้เกิดการเจรจา
“ประเด็นคือทหารไม่ทำ ไม่แสดงท่าทีให้ชัดเจน อาจจะรอการตัดสินใหญ่ๆในอนาคตเร็วๆนี้ก็ได้”ณรงค์ กล่าว
อีก 1 ปีก็ยังไม่แน่ว่าจะมีรัฐบาล
อีกมุมมองหนึ่ง พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อํานวยการสํานักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ให้ความเห็นว่า วิกฤตการเมืองรอบนี้คงไม่จบในเร็ววัน ทั้งรัฐบาลและกปปส.จะยันกันแบบนี้ไปเรื่อยๆ
พล.อ.เอกชัย เชื่อว่าโอกาสที่เลือกตั้งครั้งใหม่จะสำเร็จไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ แล้วก็วนกลับมาแบบเดิมคือเลือกตั้งโมฆะ เพราะสิ่งที่ กปปส. คือทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง แต่สถานการณ์ขณะนี้ยังเดินไม่ถึงจุดนั้น
“หากเลือกตั้งใหม่ อาจจะมีคนคัดค้านไม่เยอะเท่าเดิม ไม่ต้องถึงขั้นทำให้สมัครไม่ได้ 28 เขต แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้เลือกตั้งโมฆะได้อีก”พล.อ.เอกชัย กล่าว
ผู้อํานวยการสํานักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า กล่าวต่อไปว่า เส้นทางสุญญากาศการเมืองยังอีกยาวไกล เพราะต่อให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ หลุดจากตำแหน่ง ก็ยังมีวุฒิสภา มีคณะรัฐมนตรี(ครม.) ยกเว้นศาลตัดสินว่าการโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี มีความผิด ครม.ก็อาจหลุดจากตำแหน่งเพราะการโยกย้ายดังกล่าวกระทำในนามของครม. และหากศาลตัดสินว่า สส. และ สว.ที่ลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญกรณีที่มาของ สว.มีความผิด สว.ที่ลงชื่อก็หยุดปฏิบัติหน้าที่ เหลือแต่ กลุ่ม 40 สว.ที่ปฏิบัติหน้าที่ต่อได้
“รัฐบาลอยู่เฉยไม่ได้ถึงมีเสื้อแดงออกมา แต่ถ้ามีการประทะ ทหารก็ออกมาอีก ถ้าดูแบบนี้มันจบไม่เร็วหรอก ยันกันไปแบบนี้ ถ้าอยากให้จบเร็วก็คงขนคนมาประทะ จบไปนานแล้ว”พล.อ.เอกชัย กล่าว
“อนาคตอีก 3 เดือนก็คงไม่สามารถมีรัฐบาลได้ อีก 6 เดือนหรือ1ปีก็ยังไม่มั่นใจว่าจะมีรัฐบาลที่สมบูรณ์ได้”พล.อ.เอกชัย กล่าวทิ้งท้าย