“สุขภาวะดีไม่มีขาย” อยากได้ต้องช่วยกัน “สร้างนโยบายสาธารณะ”
โรงพยาบาลในฝัน, หมอเปื่ยมอุดมการณ์, 30 บาทรักษาโรค, สิทธิรักษาเท่าเทียมของประกันสังคม บรรดาที่เราต่างเรียกร้อง-ผลักดัน-รอคอย จนลืมว่าสุขภาพกาย-ใจ-สังคม-ปัญญาหรือ “สุขภาวะ” สร้างเองได้ ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา พาไปพบคำตอบจากคนสงขลา ชาวนาพัทลุง และยุติธรรมชุมชน…
…………………………
“สมัชชาสุขภาพ” : มากกว่านโยบายสาธารณะคือ "ประชาสังคมเข้มแข็ง"
พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ให้ความหมาย “สมัชชาสุขภาพ” ว่าเป็น “กระบวนการที่ให้ประชาชนและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องได้ร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้อย่างสมานฉันท์ เพื่อนำไปสู่การเสนอแนะนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ หรือความมีสุขภาพของประชาชน…”
นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ บอกว่าสุขภาพเกี่ยวข้องกับทุกมิติของสังคม การพัฒนาที่คำนึงถึงสุขภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่ผ่านมาประชาชนมักเป็นผู้รอรับและผิดหวังเสมอ ดังนั้นทุกภาคส่วนในสังคมควรรวมพลังกำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อนำไปสู่ระบบสุขภาพที่ดี
คุณหมออำพล กล่าวว่า 10 ปีที่ผ่านมา สมัชชาสุขภาพเป็นการสร้าง “ปัญญาร่วมของสังคม” โดยกระบวนการทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ระหว่างภาควิชาการ/วิชาชีพ ภาคประชาสังคม ภาคการเมือง/ราชการ บนยุทธศาสตร์ “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” เป็นเวทีประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมที่ไม่มีสูตรสำเร็จ แต่เรียนรู้ร่วมกัน นำไปสู่เป้าหมาย “นโยบายสาธารณะด้านสุขภาพ” และ “ความเข้มแข็งภาคประชาสังคม”
“สามเหลี่ยมเขยื้อนเมืองลุง” นโยบายสาธารณะว่าด้วยข้าวพื้นบ้านพัทลุง
ข้าวพื้นเมืองพัทลุงเริ่มวิกฤติตั้งแต่ปี 2518 จากนโยบายรัฐส่งเสริมปลูกข้าว กข.7 กข.13 และอีกหลายสายพันธุ์เพื่อการตลาด อีกทั้งการรุกคืบของพื้นที่สวนยาง สวนปาล์ม นิคมอุตสาหกรรมแทนนาข้าว
การปลูกข้าวที่มุ่งผลผลิตสูง ต้องใช้เครื่องจักร ใช้สารเคมีมาก ดินเสื่อม วัฒนธรรมการทำนาเดิมหายไป รวมทั้งวัวควาย-พืชผักตามคันนา เกษตรเชิงเดี่ยวปลูกอย่างเดียว-ลงทุนสูง-ต้องซื้อทุกอย่างกิน รายได้ไม่พอรายจ่าย วิถีสุขภาพดีกำลังสูญ วิถีชุมชนถูกทำลาย ชาวบ้านถูกผลักสู่ภาคอุตสาหกรรมและบริการ
ภาคประชาสังคมพัทลุงเริ่มก่อตัวปี 2542 จากประชาคมสาธารณสุข ขยายสู่เครือข่ายชีวิตสาธารณะ เครือข่ายสุขภาพ เกษตรทางเลือก เครือข่ายจัดการลุ่มน้ำ ร่วมกันผลักดันนโยบายอนุรักษ์และฟื้นฟูข้าวพื้นเมืองและวิถีการทำนาที่เคารพธรรมชาติ มีการจัดเวทีสาธารณะว่าด้วยความสุขคนเมืองลุง ร่วมกับภาควิชาการคือศูนย์วิจัยข้าวจังหวัดพัทลุง และวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ
เกิดเป็นฉันทามติที่จะขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสร้างความสุขคนเมืองลุง 5 ประเด็น คือทรัพยากรธรรมชาติ การเมืองภาคพลเมือง แผนพัฒนาภาคใต้ ยาเสพติด และความมั่นคงด้านอาหาร โดยเริ่มจากการอนุรักษ์และฟื้นฟูพันธุ์ข้าวพื้นเมือง
กระบวนการพัฒนานโยบายใช้ “หลักสามเหลี่ยมเขยื้อนข้าวเมืองลุง” บนฐานการทำงานด้วยปัญญา ส่งผลให้เกิดข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อชาวนาและพันธุ์ข้าวอยู่รอด เหลี่ยมแรกที่เริ่มขยับคือภาคประชาชน ด้วยความเชื่อว่า “ถ้าฟื้นการทำนาได้ก็สามารถคืนวิถีวัฒนธรรมกลับมา” โดยฟื้นฟูภูมิปัญญาการทำนาตามวิถีธรรมชาติมาประยุกต์กับปัจจุบัน สร้างพื้นที่รูปธรรม ชุมชนท่าช้าง ชุมชนตำนาน ชุมชนควนกุฎ
ที่เขยื้อนต่อมาคือภาคความรู้ ด้วยกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ท่ามกลางการปฏิบัติจริง โดยศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ สถาบันจัดการระบบสุขภาพ จากการขับเคลื่อน 2 แกนนี้ทำให้ข้าวพื้นเมืองพัทลุงเริ่มเป็นที่รู้จัก โดยเฉพาะข้าวสังข์หยดมียอดสั่งซื้อจนผลิตไม่ทัน
จังหวะนี้ขาที่ 3 คือภาครัฐเริ่มขยับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุงเข้ามาส่งเสริมแหล่งเพาะปลูกข้าวพื้นเมือง เกิดโรงสีชุมชนเพื่อให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวพื้นเมืองร่วมกันบริหารจัดการแบบวิสาหกิจชุมชน
ผลการกำหนดประเด็นข้าวพื้นเมืองให้เป็นนโยบายสาธารณะของชาวนาเมืองลุง ทำให้เกิดการฟื้นวิถีชาวนาหลายแห่ง เช่น ชุมชนบางแก้ว นาปะขอ อ.บางแก้ว ชุมชนตำนาน และชุมชนควนกุฎิ อ.เมือง
เล่าเรื่อง“สงขลาพอเพียง” กับธรรมนูญสุขภาพตำบลแห่งแรกของประเทศ
“ผมเชื่อว่าคนในท้องถิ่นจัดการปัญหาเขาเองดีที่สุด” ชาคริต โภชะเรือง ผู้ประสานงานเครือข่ายสมัชชาสุขภาพสงขลา ยังบอกว่า “หากทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าเขากำหนดแนวทางแก้ปัญหาและได้ประโยชน์เองทั้งหมด เขาก็จะยอมรับ ซึ่งกระบวนการสมัชชาตอบโจทย์นี้ได้ดี เพราะทุกขั้นตอนชาวบ้านมีส่วนร่วม”
ปัญหาในสงขลาจำแนกได้เป็น 4 มิติ 1.มิติเชิงระบบ ได้แก่ ระบบหลักประกันสุขภาพ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน 2.มิติสุขภาพเฉพาะกลุ่ม อาทิ เยาวชนและครอบครัว ผู้สูงอายุ วัยแรงงาน คนพิการ ผู้บริโภค 3.มิติเฉพาะประเด็น เช่น อุบัติเหตุ เกษตร อาหาร สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม 4.มิติการสนับสนุน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจัดการความรู้และการสื่อสารสาธารณะ
“ที่ผ่านมาแก้ปัญหาแยกส่วน ไม่มีเจ้าภาพ เราเริ่มใช้กระบวนการสมัชชาผนึกแนวร่วมที่เห็นปัญหาเดียวกันช่วยกันแก้ปัญหา กระทั่งเกิดเป็นเครือข่ายต่างๆที่เข้มแข็งในทุกมิติปัญหา”
ชาคริต บอกว่า 30 ปีแล้วที่คนสงขลาเรียนรู้ที่จะนำกระบวนการสมัชชามาเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนา โดยเกิดรูปธรรม “ธรรมนูญสุขภาพตำบลแห่งแรก“ ที่ ต.ชะแล้ เป็นข้อตกลงชุมชนเรื่องสุขภาพ ต่อมาก็เกิดธรรมนูญลุ่มน้ำ ธรรมนูญกองทุนกลาง ฯลฯ
“ยุติธรรมชุมชน” แตกยอดจากเวทีประชาคมหรือกระบวนการสมัชชา
“ผมนำกระบวนการสมัชชามาใช้ปฏิรูประบบงานยุติธรรม แต่เรียกอีกอย่าง เพราะเชื่อว่าการขับเคลื่อนสังคมต้องมีกลไกภาคประชาชน เป็นหัวใจการปฏิรูปทุกเรื่อง” ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ อธิบดีกรมคุมประพฤติ บอกว่า “ยุติธรรมชุมชน” เป็นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน
ข้าราชการไฟแรงท่านนี้ เป็นภาคีสำคัญที่นำกระบวนการสมัชชาไปปรับใช้ในแวดวงราชการ ในประเด็นการจัดการความขัดแย้งในชุมชน ทำให้เกิดกระบวนที่เรียกว่า “ประชาคม” ที่ประชาชนมาถกเถียงแสดงความเห็น ค้นปัญหาที่เกิดขึ้น โดยหน่วยงานรัฐคอยอำนวยความสะดวกและให้คำแนะนำ
“มีศูนย์ยุติธรรมชุมชน 500 กว่าศูนย์ คนที่อยู่ในกระบวนการ 80,000 กว่าคน จากเรื่องไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ค่อยๆแทรกสู่การขับเคลื่อนโดยชุมชนที่ช่วยกันสอดส่องป้องกันการทำผิดกฎหมาย”
ชาญเชาว์ มองว่าปัจจุบันการจัดการสุขภาพในสังคมไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น เพิ่งเริ่มปรับเปลี่ยนจากมือหมอ จากกระทรวงสาธารณสุขไปสู่ประชาชน ซึ่งหมอเองก็ยังไม่สามารถเปลี่ยนผ่าน เพราะถูกแรงต้านในแวดวง แต่ท้ายที่สุดเมื่อแรงต้านคลายลง แรงกระเพื่อมจากภาคประชาชนจะเข้ามาแทนที่
“สมัชชาสุขภาพมาถูกทางแล้ว อย่ารีบเกินไป แต่อย่าหยุด และต้องเสริมกระบวนการมากกว่ารูปแบบ” อธิบดีกรมคุมประพฤติทิ้งท้าย ………………………………………
มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาท้องถิ่นสมุทรสงคราม, ธรรมนูญสุขภาพอำเภอฉบับแรกที่สูงเม่น จ.แพร่, มาตรการสังคมสงบสุขของตำบลนามะเฟือง จ.หนองบัวลำภู, ฯลฯ
และอีกมากมายรูปธรรมที่ตอกย้ำว่า “นโยบายสาธารณะด้านสุขภาพ” ไม่ต้องกำหนดจากบนลงล่าง ไม่ใช่สิทธิขาดของรัฐฐะ แต่ก่อเกิดด้วย “พลังประชาสังคม” ที่หมายถึงทุกภาคส่วนตั้งแต่ฐานรากชุมชนไปจนถึงองคาพยพอื่นๆ บนความเชื่อพื้นฐานร่วมกันว่า “สุขภาวะที่ดีไม่มีขาย อยากได้ต้องช่วยกัน(สร้าง)”.
ที่มาภาพ : http://www.thaihealth.or.th/partner/partner_stor/17629, http://www.thaingo.org/writer/view.php?id=889,