“ถูกแขวน ยังไม่ตาย” พ.ร.ก.กู้เงินจัดการน้ำ ขนาดยังไม่เริ่ม เบิกงบฯ ทะลุ 2 หมื่นล้าน
จากสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2556 นอกจากจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค นักลงทุน และนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว การใช้จ่ายภายใต้แผนการลงทุนภาครัฐ ก็มีแนวโน้มล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้เดิม เฉพาะแผนการลงทุนภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ที่ล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยลงมติว่า ขัดรัฐธรรมนูญ
เป็นอันว่า ร่างกฎหมายกู้ 2 ล้านล้าน ถูกตีตกไปในชั้นของศาลรัฐธรรมนูญ...
ขณะที่อีกกฎหมายหนึ่ง พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตของประเทศ พ.ศ. 2555 ผ่านการรับรองจากรัฐสภามีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2555
ถัดจากนั้นมาปีกว่าๆ วันที่ 27 มิถุนายน 2556 ศาลปกครองได้มีคำพิพากษาในคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนฟ้องรัฐบาลให้เพิกถอนแผนการบริหารจัดการน้ำ โดยสั่งให้รัฐบาลปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 วรรคสอง จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อนที่จะดำเนินการจ้างออกแบบ
ย่างเข้าเดือนที่ 4 นับจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 หลายคนอยากรู้ “สถานะ” กฎหมายฉบับนี้ที่ต้องใช้กรอบวงเงินนอกงบประมาณ กอรปกับสถานะรัฐบาล เป็นเพียงรัฐบาลรักษาการ โครงการลงทุนบริหารจัดการน้ำหยุดชะงักอยู่ขั้นไหนแล้ว รวมถึงได้มีการเบิกจ่ายเงินไปแล้วเป็นจำนวนเท่าไหร่
รศ.ดร.บัญชา ขวัญยืน คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเกาะติด และจับตาโครงการนี้มาตั้งแต่ต้น ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศรา ถึงสถานะกฎหมายฉบับนี้ ว่า ยังไม่ตาย และกฎหมายนี้ก็ยังไม่ได้ตกไป ยังค้างอยู่ โดยขณะนี้มีความพยายามกระตุ้นไว้โดยการจัดสัมมนาเป็นช่วงๆ
"เหตุที่กฎหมายนี้ยังไม่ตาย เพราะมีการยื่นซองประกวดราคา ยื่นประมูลมาแล้ว แค่ยังไม่มีการเซ็นสัญญา เนื่องจากติดขัดที่เป็นรัฐบาลรักษาการเซ็นไม่ได้ ต้องรอรัฐบาลใหม่”
ขณะเดียวกันมีรายงานว่า ข้าราชการประจำเตรียมพร้อม เตรียมชง รวมถึงเตรียมหาที่ปรึกษาเอาไว้แล้ว รอวันมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ โครงการบริหารจัดการน้ำ ก็ดำเนินการต่อได้เลย
ส่วนความคืบหน้าการไปดำเนินการรับฟังความเห็นประชาชนทั่วประเทศ ตามที่ศาลปกครองมีคำสั่งนั้น หลายพื้นที่หากยังจำข่าวคราวกันได้ มีประชาชนออกมาคัดค้าน กระทั่งต้องล้มเลิก อย่าง “นครปฐม กาญจนบุรี ราชบุรี” ที่ขณะนี้ก็ยังไม่ได้จัดรับฟังความคิดเห็น
หรือที่ “สมุทรสงคราม” มีความพยายามเล่นแร่แปรธาตุหาทางให้ผ่าน มีการทำตัวเลข บอกว่า ทำประชาพิจารณ์ใหม่แล้ว ด้วยการทำแบบสอบถาม ลงพื้นที่ เป็นต้น
สำหรับคนที่เกาะติดความเคลื่อนไหว จะรู้ดีว่า 4 จังหวัดนี้ ทำประชาพิจารณ์อย่างไรก็ไม่มีวันผ่าน!!!
ยิ่งสถานการณ์บ้านเมืองยังไม่มีการเลือกตั้ง มีเฉพาะรัฐบาลรักษาการ อย่างน้อยที่สุด มิถุนายน กรกฎาคม หรือไม่ก็เลยไปไกลกว่า ทุกอย่างของโครงการบริหารจัดการน้ำ จะถูกแขวนไว้แบบนี้
งบฯ 3.5 แสนล.เบิกไปแล้วกว่า 2 หมื่นล้าน
มาดูเรื่องการเบิกจ่ายเงินกันบ้าง ในฐานะประธานกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยเสนอ (กบอ.) นายปลอดประสพ สุรัสวดี โพสต์เฟชบุคเหน็บแนม “การเมืองเล่นงานโครงการน้ำจนอ่วน ถึงวันนี้ ยังไม่ได้เริ่มสักที”
แต่จากข้อมูลของกรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ ซึ่งประมาณการโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) พบว่า ภายใต้ข้อจำกัดหลายๆ อย่าง งบประมาณปี 2557 ที่ผ่านมาแล้ว 5 เดือน โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท มีการเบิกจ่ายไปเป็นจำนวนทั้งสิ้น 6,292 ล้านบาท
ที่น่าสนใจ ปีงบประมาณ 2556 มีการเบิกจ่ายเงินไปถึง 13,739 ล้านบาท หรือคิดเป็น 679% สรุปรวมทั้งสิ้น งบฯ โครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ที่ว่ายังไม่ได้เริ่มนั้น มีการเบิกจ่ายไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 2 หมื่นล้านบาท
ขณะที่ตัวเลขที่สามารถตรวจสอบได้ชัดๆ คือ มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 24 กันยายน 2556 อนุมัติงบฯ 184 ล้านบาท ตามที่นายปลอดประสพเสนอ นำไปเป็นค่าใช้จ่ายโครงการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน กรณีโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย
เช่นเดียวกับ รศ.ดร.สุวัฒนา จิตตลดากร ประธานอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ วิศวกรรมสถานแห่งชาติ (วสท.) มองว่า แม้โครงการบริหารจัดการน้ำ ยังคงอยู่ ยังไม่ตกไปเหมือน พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพราะมีความพยายาม Keep alive (ทำให้ไม่ตาย) ไว้ เพื่อรักษาตัวโครงการไว้ จะได้หาเงินก้อนอื่นมาใส่ พอได้รัฐบาลใหม่ ก็สามารถกู้เดินหน้าทำโครงการต่อได้ทันที
“จริงๆ ทุกอย่างทุกโมดูล วิธีให้เดินหน้าต่อทำได้ไม่ยากเลย" รศ.ดร.สุวัฒนา เสนอ และเห็นว่า แค่ผลักงบฯ ส่วนนี้กลับไปยังหน่วยงานปกติที่ทำอยู่แล้ว ก็จบ จากนั้นก็ให้หน่วยงานปกติไปวิเคราะห์มาว่า โครงการบริหารจัดการน้ำ หรือโครงการไหนบ้างในแต่ละโมดูล มีประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด แล้วให้เสนอโครงการมา เพราะทุกหน่วยงานเป็นเจ้าของโครงการเดิมอยู่แล้ว จะรู้ว่าโครงการไหนเหมาะสม ไม่เหมาะสม ซึ่งดีกว่าแขวนโครงการนี้ไว้เฉยๆ
อย่างไรก็ตาม แม้นอนาคตโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ทำท่าจะไปไม่รอด เนื่องจากต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการ ไหนจากประชาชนในพื้นที่ไม่ยินยอม ขณะที่การก่อสร้างก็จะเป็นไปอย่างยากลำบาก ดังนั้นโครงการน้ำที่อ้างความจำเป็น “เร่งด่วน” จะก้าวไปถึงขั้นได้เซ็นสัญญาหรือไม่ หรือหวังแค่ได้เซ็นสัญญาได้ แล้วก็ปล่อยทิ้ง ดั่งข่าวลือ ต้องเกาะติดกันต่อไป