สภาองค์กรชุมชนเสนอ 4 ประเด็น สู่การปฏิรูปในเชิงโครงสร้างอำนาจ
วันที่ 28 มีนาคม 2557 สภาองค์กรชุมชนตำบล เปิดการประชุมในระดับชาติ ณ ห้องประชุมศรีวราแกรนด์บอลรูม โรงแรมทาวน์อินทาวน์ แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงาน และพิจารณาข้อเสนอแนวทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทยจากฐานรากโดยสภาองค์กรชุมชน สู่การปฏิรูปในเชิงโครงสร้างอำนาจ โดยมีตัวแทนสภาองค์กรชุมชนตำบลจากทั่วประเทศจังหวัดละ 2 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ปรึกษา และเจ้าหน้าที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เข้าร่วมประชุม จำนวน 250 คน
นายจินดา บุญจันทร์ ประธานที่ประชุมในระดับชาติ กล่าวว่า นับจากมี พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนตำบล พ.ศ. 2551 จนถึงปัจจุบันมีการส่งเสริมการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วประเทศรวม 4,205 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 53 ของพื้นที่ตำบล/เทศบาลทั่วประเทศ มีจำนวนองค์กรที่เป็นสมาชิก 104,766 องค์กร มีสมาชิกรวม 139,730 คน ซึ่งการจัดประชุมในครั้งนี้ก็เพื่อร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์แนวคิดทิศทางเพื่อใช้เป็นแนวทางการปฏิรูปประเทศไทย
ประธานที่ประชุมในระดับชาติกล่าวอีกว่า จากการประมวลประสบการณ์การทำงานตลอด 6 ปีที่ผ่านมา และจากการระดมความเห็นในเวทีสัมมนา ที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนฯ จึงมีข้อเสนอต่อการปฏิรูปประเทศไทย 4 ประเด็นหลัก คือ 1. การปฏิรูปโครงสร้างการเมือง เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในบางมาตราเพื่อ ให้ผู้แทน (สส./สว.) มาจากการเลือกตั้งจากสัดส่วนอาชีพ ให้เลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง โดยให้มีสภาพลเมืองที่มีผู้แทนจากประชาชนทุกภาคส่วนมีอำนาจ ยับยั้ง ถ่วงดุลตรวจสอบ การบริหารประเทศ เป็นต้น
2. การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจและระบบราชการ โดยเสนอให้ลดอำนาจรัฐส่วนกลางเหลือ 4 เรื่อง คือ 1) ระบบยุติธรรม 2) การต่างประเทศ 3) การป้องกันประเทศ และ 4) นโยบายการเงินให้มีการปฏิรูประบบราชการส่วนภูมิภาค โดยการออก พ.ร.บ.การบริหารจังหวัดปกครองตนเอง เพื่อกระจายอำนาจให้ประชาชนปกครองตนเองในระดับจังหวัด/ท้องถิ่น โดยให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ให้แบ่งรายได้จากการจัดเก็บภาษีไว้ที่จังหวัดร้อยละ 70 และให้จังหวัดมีอำนาจในการจัดการและออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การศึกษา เป็นต้น
3. ประเด็นการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สภาองค์กรชุมชนถือเป็นเรื่องสำคัญจึงมีข้อเสนอเป็นกรณีพิเศษโดยการออกกฎหมายพ.ร.บ.เกี่ยวกับที่ดิน 4 ฉบับ คือ 1) พ.ร.บ.การเก็บภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า 2) พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน 3) พรบ.สิทธิชุมชุมชนในการจัดการที่ดิน (ป่าชุมชน) 4) กองทุนยุติธรรมชุมชน และจัดสรรที่ดินทำกินให้ครอบครัวละไม่น้อยกว่า 2 ไร่
และ 4. ปัญหาด้านสังคมที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำและความเป็นธรรมทางสังคม โดยเร่งรัดให้เกิดการคุ้มครองสิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ เพื่อสร้างความเป็นธรรมด้านเศรษฐกิจ และสังคม แก่เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส ชนชาติพันธุ์ คนไร้รัฐ คนไร้สัญชาติ และให้ผลักดัน พ.ร.บ.สวัสดิการชุมชน เพื่อให้คนในชุมชนท้องถิ่น ดูแล พึ่งพา และช่วยเหลือกันเอง
ทั้งนี้สภาองค์กรชุมชนจะเป็นกลไกที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างจากฐานราก โดยสนับสนุนการสร้างพื้นที่รูปธรรมจัดทำธรรมนูญชุมชน ทั้งในระดับตำบลและจังหวัด และดำเนินการให้เกิดพื้นที่รูปธรรมการจัดการตนเองใน 5 ปี โดยการดำเนินงานดังกล่าวให้ใช้แนวทาง 1) ทุกตำบลต้องมีแผนการพัฒนาสภาองค์กรชุมชนตำบลให้เข้มแข็ง อาทิ เป้าหมายการพัฒนาสภา การพัฒนาระบบข้อมูล การพัฒนาแกนนำ การประสานความร่วมมือกับภาคี การประชาสัมพันธ์ การบริหารจัดการชุมชน เป็นต้น 2) มีแผนพัฒนาตำบล เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นทุกด้าน 3) สร้างกระบวนการโดยใช้สภาองค์กรชุมชนเป็นพื้นที่กลาง ผนึกกำลังกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนสู่การปฏิรูปจากฐานราก