ผ่าโครงสร้างใหม่ทหารพราน (1) แผนถอนทหารหลักพ้นชายแดนใต้
“ครม.อนุมัติ 2.6 พันล้าน ตั้งกรมทหารพรานเพิ่มเพื่อภารกิจดับไฟใต้” คือข่าวสั้นๆ ที่ตัดตอนจากหนังสือพิมพ์ซึ่งบอกเล่าอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งในมุมของการใช้กำลังทหาร งบประมาณ และแนวนโยบายที่จะเดินหน้าต่อไป ซึ่งมติ ครม.ดังกล่าวนี้เป็นมติท้ายๆ ก่อนยุบสภาของรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
รายละเอียดของมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่ 3 พ.ค.2554 สรุปได้ว่า ครม.อนุมัติตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอให้จัดตั้งกองบังคับการกรมทหารพรานเพิ่มเติมอีก 4 กรม 60 กองร้อย โดยใช้วงเงิน 2,692 ล้านบาทเศษ โดยงบประมาณดังกล่าวเป็นการใช้งบประมาณประจำของกระทรวงกลาโหม แยกเป็นงบประมาณของปี 2554 จำนวน 18 ล้านบาทเศษ ส่วนที่เหลืออีกราว 2,673 ล้านบาทเศษ เป็นงบประมาณประจำปี 2555 ถึงปี 2556 นอกจากนั้นยังขออนุมัติงบประมาณประจำปีเพิ่มเติมในปี 2556 เป็นต้นไปสำหรับหน่วยงานทหารพรานที่จัดตั้งขึ้นใหม่ โดยใช้งบเพิ่มอีกปีละ 688 ล้านบาทเศษด้วย
แหล่งข่าวจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (กอ.รมน.ภาค 4) บอกกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า โครงการจัดตั้งกรมทหารพรานเพิ่มในพื้นที่ชายแดนใต้นี้ เป็นไปตามแผนปฏิบัติการเพื่อถอนกำลังพล “ทหารหลัก” จากกองทัพภาคที่ 1, 2 และ 3 ออกจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อส่งมอบให้ “ทหารพราน” ซึ่งเปรียบเสมือน "ทหารบ้าน" มีความชำนาญพื้นที่ และเข้าใจวัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่นเป็นอย่างดี รับผิดชอบสถานการณ์ต่อไป
เมื่ออนาคตของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในมิติความมั่นคงกำลังเคลื่อนไปอยู่ในมือ “ทหารพราน” ดังที่ปรากฏตามข้อมูลนี้ “ทีมข่าวอิศรา” จึงขอเสนอรายงานพิเศษ 3 ตอน เพื่อทำความรู้จักกับทหารพรานในแง่มุมต่างๆ ทั้งโครงสร้างปัจจุบัน โครงสร้างใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ชีวิตและภารกิจของทหารพรานที่เรียกกันว่า “นักรบชุดดำ” และความรู้สึกของชาวบ้านที่มีต่อกำลังพลซึ่งน่าจะได้ชื่อว่าอยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุดหน่วยนี้
กำเนิดทหารพราน
หน่วยทหารพรานจัดตั้งขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อวันที่ 18 ก.ค.2521 ตามแนวคิดที่ว่า “ทหารพราน” คือ “ทหารอาสาของประชาชน” เพื่อต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในยุคนั้น โดยบรรจุกำลังพลจาก “อาสาสมัคร” ซึ่งเป็นชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ ด้วยหวังว่าอาสาสมัครเหล่านี้มีความเข้าใจภูมิประเทศเป็นอย่างดี จึงง่ายในทางยุทธวิธีเพื่อต่อกรกับวิธีการรบแบบกองโจรของคอมมิวนิสต์
ขณะเดียวกันยังเป็นการจัดตั้งมวลชนเพื่อต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่มี “กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย” ซึ่งเป็นทหารที่ระดมมาจากชาวไร่ชาวนาในชนบทเช่นกัน
ทหารพรานถือเป็นกองกำลังของกองทัพบกหน่วยหนึ่ง จัดเป็นกองกำลังกึ่งทหาร บรรจุเข้าประจำการในหน่วยตามอัตราและยุทธภัณฑ์ แม้ขีดความสามารถจะไม่เทียบเท่ากับทหารประจำการ หรือ “ทหารหลัก” แต่ด้วยความที่เป็นคนในพื้นที่จริงๆ ทำให้ได้เปรียบในแง่ความคุ้นเคยภูมิประเทศ รู้จักผู้คนในท้องถิ่น และเข้าใจวัฒนธรรมประเพณี สามารถอุดร่อยรั่วของงานด้านการข่าวได้เป็นอย่างมาก
โครงสร้างหน่วย “นักรบชุดดำ”
ทหารพรานใช้เครื่องแต่งกายเป็นชุดฝึกสีดำ จึงมีฉายาที่เรียกกันติดปากว่า “นักรบชุดดำ” จัดเป็นหน่วยกำลัง “ตัวจริงเสียงจริง” ที่รับผิดชอบพื้นที่ชายแดนทุกด้านของประเทศ รวมทั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
แหล่งข่าวจากกองทัพบก ให้ข้อมูลว่า ทหารพรานเป็นกำลังพลหน่วยแรกที่ต้องปะทะกับข้าศึก เพราะอยู่ตามแนวชายแดนจริงๆ ภารกิจของทหารพรานมักมีความเสี่ยงสูง การพัฒนาขีดความสามารถของทหารพรานจึงเป็นเรื่องจำเป็นมาก
โครงสร้างของหน่วยทหารพรานเป็นหน่วยระดับ “กรม” มี “ผู้บังคับการกรม” เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด สายการบังคับบัญชาของหน่วยดูเผินๆ จะเหมือนกรมทหารหลักทั่วไป คือมี รองผู้การกรม มีฝ่ายเสนาธิการ และมีฝ่ายอำนวยการทุกสายเหมือนหน่วยปกติ แต่ไม่มีโครงสร้างระดับ “กองพัน”
กรมทหารพรานแต่ละกรมจะแบ่งกำลังออกเป็น 15 กองร้อย แต่ละกรมมีการจัดกองร้อยไม่เหมือนกัน แต่มีกำลังพลกรมหนึ่งราว 1,500 นาย แต่ละกองร้อยจะจัดเป็นชุดปฏิบัติการ (ชป.) รับผิดชอบภารกิจต่างๆ เหมือนหน่วยปกติ เช่น ลาดตระเวน รักษาความปลอดภัยสถานที่ และงานมวลชนสัมพันธ์
กำลังพลในกรมทหารพราน มีทั้ง “ทหารหลัก” และ “ทหารพราน” โดยทหารหลักจะรับผิดชอบตำแหน่งหลักๆ เพื่อคอยเป็นเสมือนพี่เลี้ยงให้กับทหารพรานที่ส่วนใหญ่เป็นอาสาสมัคร เรียกว่า “อส.ทพ.” อาสาสมัครทหารพราน โดยตำแหน่งหลักๆ ที่ใช้กำลังพลทหารหลักก็เช่น ผู้บังคับการกรม รองผู้บังคับการกรม ผู้บังคับกองร้อย หัวหน้าชุด หัวหน้าหมู่ เป็นต้น ส่วนลูกชุดทั้งหมดจะเป็นพลอาสา หรือ อส.ทพ.
เบี้ยเลี้ยง 68 บาทกับภารกิจสุดเสี่ยง
อาสาสมัครทหารพรานใช้ระบบจ้างปีต่อปี ไม่มีชั้นยศ แต่ละคนนอกจากเงินเดือนไม่กี่พันบาทแล้ว จะได้เบี้ยเลี้ยงสนามวันละ 55 บาท บวกกับค่าเลี้ยงดูอีกคนละ 13 บาท รวมเป็น 68 บาท นี่คือรายได้สำหรับประทังชีวิต 1 วัน อาหาร 3 มื้อ เพราะเงินเดือนส่วนใหญ่ส่งไปจุนเจือทางบ้าน ปัจจุบันหน่วยเหนือทำเรื่องขอปรับอัตราเบี้ยเลี้ยงให้เป็น 120 บาทต่อคนต่อวัน ได้ข่าวว่า ครม.อนุมัติแล้ว แต่ยังไม่ได้รับจริงหรืออาจอยู่ในช่วงตกเบิก
ด้วยเหตุนี้เวลาเข้าไปในหน่วยทหารพรานหรือตามฐานปฏิบัติการต่างๆ เมื่อถึงเวลาพักจะพบทหารพรานล้อมวงกินข้าวด้วยกัน อาหารหลักส่วนใหญ่ก็เป็นน้ำพริกกับผักจิ้ม...นี่คือชีวิตจริงของทหารพรานที่รับผิดชอบภารกิจ “ด่านหน้า” ของชายแดนทุกด้านของประเทศไทย
แหล่งข่าวจากกองทัพบก บอกด้วยว่า แนวคิดการจัดตั้งกรมทหารพรานเป็นเรื่องที่ดี เพราะทหารพรานจะต้องอยู่ประจำจุด ประจำพื้นที่ ไม่โยกย้ายสลับไปมาเหมือนกับทหารหลัก จึงเหมาะกับการตรึงกำลังดูแลแนวชายแดนที่ยังไม่มีสถานการณ์รบเต็มรูปแบบ
7 กรมทหารพรานดูแลชายแดนใต้
ปัจจุบันพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวมทั้ง 4 อำเภอของ จ.สงขลา มีกรมทหารพรานประจำการอยู่ 7 กรม ประกอบด้วย
- หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 41 ตั้งอยู่ที่ ต.วังพญา อ.รามัน จ.ยะลา รับผิดชอบพื้นที่ จ.ยะลา มีกำลังพลเต็มอัตรา 1,489 นาย
- หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 42 รับผิดชอบพื้นที่ จ.สงขลา มีกำลังพลเต็มอัตรา 1,489 นาย
- หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 รับผิดชอบพื้นที่ 6 อำเภอของ จ.ปัตตานี คือ อ.เมือง อ.หนองจิก อ.แม่ลาน อ.ยะรัง และ อ.ยะหริ่ง มีกำลังพลเต็มอัตรา 1,489 นาย
- หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 44 รับผิดชอบพื้นที่ จ.ปัตตานี ในอำเภอที่เป็นเขตติดต่อกับ จ.นราธิวาส มีกำลังพลเต็มอัตรา 1,489 นาย
- หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 45 รับผิดชอบพื้นที่ จ.นราธิวาส ตั้งอยู่ที่บ้านปิเหล็ง ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส มีกำลังพลเต็มอัตรา 1,489 นาย
- หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 46 รับผิดชอบพื้นที่ จ.นราธิวาส เช่นกัน ตั้งอยู่ที่ อ.เมือง จ.นราธิวาส มีกำลังพลเต็มอัตรา 1,489 นาย
- หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 47 รับผิดชอบพื้นที่ จ.ยะลา มีกำลังพลเต็มอัตรา 1,489 นาย
นอกจากนั้นยังมีหมวดทหารพรานหญิง กำลังพล 467 นาย ทั้งหมดเป็นหน่วยในสังกัดกองทัพภาคที่ 4 รวมกำลังพลทหารพรานตามโครงสร้างปัจจุบันที่ปฏิบัติงานอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา 10,921 นาย
ตั้งเพิ่ม 4 กรม-ถอนทหารหลักกลับบ้าน
จากมติ ครม.เมื่อวันอังคารที่ 3 พ.ค.2554 กระทรวงกลาโหมมีดำริจัดตั้งกรมทหารพรานเพิ่มเติมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อีก 4 กรม โดยมอบหมายให้กองทัพภาคทั้ง 4 ภาครับผิดชอบจัดตั้งกองทัพละ 1 กรม ประกอบด้วย
กองทัพภาคที่ 1 จัดตั้งกรมทหารพรานที่ 11
กองทัพภาคที่ 2 จัดตั้งกรมทหารพรานที่ 22
กองทัพภาคที่ 3 จัดตั้งกรมทหารพรานที่ 33
กองทัพภาคที่ 4 จัดตั้งกรมทหารพรานที่ 48
แหล่งข่าวจาก กอ.รมน.ภาค 4 กล่าวว่า การจัดตั้งกรมทหารพรานเพิ่มเติมในพื้นที่ชายแดนใต้ ก็เพื่อทดแทนกองกำลังทหารหลักจากกองทัพภาคที่ 1, 2 และ 3 ที่ปฏิบัติงานอยู่ใน จ.นราธิวาส ปัตตานี และยะลาตามลำดับ โดยเมื่อจัดตั้งกรมทหารพรานครบตามแผน ก็จะค่อยๆ ทะยอยลดกำลังพลทหารหลักลง และถอนทหารจากกองทัพภาคอื่นๆ ทั้งหมดออกจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในที่สุด
“แผนการลดกำลังพลเป็นแผนที่จัดทำมาตั้งแต่ยุคอดีตผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เรียกว่าแผน 10 ปี คือเรามีแผนยุทธการที่จะจัดการปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้สำเร็จภายใน 10 ปี โดยตั้งเป้าลดสถิติการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ให้อยู่ในระดับที่มีความปลอดภัยพอสมควร จากนั้นจะค่อยๆ ถอนกำลังทหารหลักจากกองทัพภาคอื่นๆ ยกเว้นกองทัพภาคที่ 4 ออกไป เพื่อส่งมอบพื้นที่ให้ทหารพรานซึ่งเป็นกองกำลังประจำถิ่นรับผิดชอบแทน”
แหล่งข่าวรายนี้ซึ่งเป็นนายทหารระดับสูงใน กอ.รมน.ภาค 4 กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมามีกระแสเรียกร้องจากบางฝ่ายให้ถอนทหารออกจากพื้นที่ และมีความพยายามสร้างกระแสโจมตีทหารว่าเข้ามาสร้างความวุ่นวาย ซึ่งไม่เป็นความจริง
“เราลงมาปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบและสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้น เราทำทุกอย่างไปตามแผนที่วางไว้ ไม่ได้เลี้ยงไข้หรือหวังจะอยู่ตลอดไปเพื่อผลประโยชน์ตามที่มีการพูดกัน แผน 10 ปีของท่านอดีต ผบ.ทบ.จะเริ่มถอนกำลังพลทหารหลักออกจากพื้นที่ในปีที่ 8 ของสถานการณ์ไฟใต้ และจะค่อยๆ ลดกำลังพลลงเรื่อยๆ จนเหลือแต่กำลังพลของกองทัพภาคที่ 4 และกรมทหารพรานในปีที่ 10”
แหล่งข่าวรายนี้ยืนยันด้วยว่า สถิติเหตุรุนแรงในพื้นที่ขณะนี้ ซึ่งเป็นปีที่ 7 นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 เป็นต้นมา ถือว่าลดลงอย่างมาก และการปฏิบัติของทหารอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ฉะนั้นแผนการถอนทหารหลักและส่งมอบพื้นที่ให้กับทหารพราน จะเดินหน้าต่อไปตามแผน 10 ปีอย่างแน่นอน
----------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : ภาพทหารพรานโดย อับดุลเลาะ หวังหนิ