ฟิลิปปินส์ลงนามข้อตกลงสันติภาพกับ "เอ็มไอแอลเอฟ" ผู้นำมาเลย์ร่วมวง
รัฐบาลฟิลิปปินส์ ลงนามข้อตกลงสันติภาพกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดน "เอ็มไอแอลเอฟ" ที่กรุงมะนิลา เมื่อ 27 มี.ค. หลังเจรจากันมานานถึง 43 ครั้ง ตลอดระยะเวลา 17 ปี!
พิธีลงนามข้อตกลงบังซาโมโร หรือ "ซีเอบี" จัดขึ้นที่ทำเนียบประธานาธิบดี ในกรุงมะนิลาของฟิลิปปินส์ เมื่อเวลา 16.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น หรือ 15.00 น.ตามเวลาในประเทศไทย โดย ประธานาธิบดีเบนิกโน อาคิโน ผู้นำฟิลิปปินส์ และ นายมูรัด อิบราฮิม ผู้นำกลุ่มเอ็มไอแอลเอฟ ได้ร่วมลงนามในข้อตกลงฉบับประวัติศาสตร์นี้ โดยมี นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค ผู้นำมาเลเซีย เข้าร่วมเป็นสักขีพยานด้วย ในฐานะที่มาเลเซียเป็นชาติที่ช่วยประสานงานให้ทั้ง 2 ฝ่ายสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้เป็นผลสำเร็จ
ข้อตกลงซีเอบี ระบุถึงการรับรองสถานะทางกฎหมายของเขตปกครองตนเองบังซาโมโรที่จะตั้งขึ้นภายในปี 2559 โดยจะครอบคลุมพื้นที่ของเขตปกครองตนเองมุสลิมมินดาเนาที่ตั้งขึ้นตามข้อตกลงเมื่อปี 2539 และอีกหลายพื้นที่ ซึ่งเขตปกครองตนเองบังซาโมโรนี้ จะมีผู้นำท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง มีอิสระทางการเมืองและการคลังจากรัฐบาลกลาง ขณะที่กองกำลังกว่า 15,000 นายของเอ็มไอแอลเอฟจะต้องวางอาวุธ และยุติการต่อสู่เพื่อแยกตัวเป็นรัฐเอกราชจากฟิลิปปินส์
เอ็มไอแอลเอฟ หรือ แนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร ถือเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ใหญ่ที่สุดของฟิลิปปินส์ เริ่มก่อเหตุรุนแรงตั้งแต่ปี 2513 เพราะรู้สึกว่าชาวโมโรซึ่งนับถือศาสนาอิสลามถูกเลือกปฏิบัติ ทั้งนี้ความรุนแรงตลอด 40 ปีที่ผ่านมาได้คร่าชีวิตประชาชนและกองกำลังทั้ง 2 ฝ่ายไปแล้วหลายหมื่นคน และอีกหลายแสนคนต้องไร้ที่อยู่อาศัย
เอ็มไอแอลเอฟ เริ่มเข้าสู่การเจรจาสันติภาพเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2540 ในสมัยของอดีตประธานาธิบดีฟิเดล รามอส ต่อมาในสมัยของอดีตประธานาธิบดีโจเซฟ เอสตราด้า เกิดการปราบปรามกลุ่มเอ็มไอแอลเอฟครั้งใหญ่ จึงทำให้การเจรจาต้องหยุดชะงักไปชั่วคราว จนกระทั่งในปี 2551 อดีตประธานาธิบดีกลอเรีย อาโรโย่ กลับมาเจรจาอีกครั้ง โดยกลุ่มเอ็มไอแอลเอฟในหลายพื้นที่ทำประชามติรวมเข้ากับเขตปกครองตนเองมุสลิมมินดาเนา แต่ศาลสูงสั่งระงับ และนำไปสู่การปะทะครั้งรุนแรง มีผู้เสียชีวิตกว่า 400 คน
ในที่สุดเมื่อปี 2553 ประธานาธิบดีเบนิกโน อาคิโน เริ่มเจรจาอย่างลับๆ กับผู้นำกลุ่มเอ็มไอแอลเอฟ และทั้งสองฝ่ายก็เจรจากันอีกหลายครั้ง โดยมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก จนนำไปสู่การลงนามในกรอบความตกลงร่วมกันในการก่อตั้งเขตปกครองตนเองบังซาโมโร เมื่อเดือน ต.ค.2555 และมีการลงนามในข้อตกลงสันติภาพบังซาโมโรในวันที่ 27 มี.ค.2557
ทันทีที่ทั้งสองฝ่ายลงนามในข้อตกลงสันติภาพ ถือว่ากระบวนการเจรจาได้สิ้นสุดลงแล้ว หลังจากนี้ต้องจับตาการออกกฎหมายและการบังคับใช้ข้อตกลงซีเอบีให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่ท้าทายและชี้ชะตาบังซาโมโร โดยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาของฟิลิปปินส์จะต้องผ่านกฎหมายพื้นฐาน ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะระบุถึงสถานะทางกฎหมายของเขตปกครองตนเองบังซาโมโร ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น รวมไปถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของชาวบังซาโมโร
เมื่อทั้ง 2 สภาผ่านกฎหมายพื้นฐานและประธานาธิบดีอาคิโนลงนามเรียบร้อยแล้ว จะต้องจัดให้มีการลงประชามติเพื่อให้สิทธิแก่ประชาชนในพื้นที่ได้ตัดสินว่า จะอยู่ในเขตปกครองตนเองบังซาโมโรนี้หรือไม่ เนื่องจากชาวคาธอลิคบางส่วนไม่ต้องการอยู่ภายใต้การปกครองชาวโมโร
อย่างไรก็ตาม การลงนามในข้อตกลงสันติภาพบังซาโมโรฉบับครอบคลุมเมื่อวันที่ 27 มี.ค.ไม่ได้หมายความว่าสันติภาพจะเกิดขึ้นแล้วในมินดาเนา เพราะยังมีอุปสรรคสำคัญอีกหลายอย่างที่จะทำให้ข้อตกลงนี้ต้องพับไป และความขัดแย้งอาจหวนกลับมาในพื้นที่ภาคใต้ของฟิลิปปินส์อีกครั้ง
การลงนามข้อตกลงนี้้้เป็นการลงนามกันระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์กับเอ็มไอแอลเอฟ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วยังมีกลุ่มเคลื่่่อนไหวที่่ต้องการแบ่งแยกดินแดนบนเกาะมินดาเนาอีกหลายกลุ่มที่ไม่ได้เข้าร่วมการเจรจา และไม่ได้เห็นด้วยกับข้อตกลงสันติภาพนี้้ ซึ่งกลุ่มเหล่านี้มีตั้งแต่ กลุ่มนักรบเพื่อเสรีภาพอิสลามบังซาโมโร หรือ บีไอเอฟเอฟ เป็นกลุ่มหัวรุนแรงที่แยกตัวมาจากเอ็มไอแอลเอฟเมื่อปี 2552, กลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติโมโร หรือ เอ็มเอ็นแอลเอฟ และ กลุ่มอาบูไซยาฟ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับเครือข่ายก่อการร้าย อัล กออิดะห์
นอกจากนั้นยังมี กลุ่มคาลิฟา อิสลามิยาห์ มินดาเนา กลุ่มนี้มีมุสลิมเคร่งศาสนาที่เป็นเยาวชนและมีความเชื่อว่าเอ็มไอแอลเอฟเป็นผู้ทรยศต่ออุดมการณ์การประกาศเอกราชของมุสลิมในภาคใต้ ซึ่งสองกลุ่มหลังนี้ทางการฟิลิปปินส์ระบุว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : พิธีลงนามในข้อตกลงสันติภาพระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์กับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนเอ็มไอแอลเอฟ โดยมีนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค ของมาเลเซียร่วมเป็นสักขีพยาน
ขอบคุณ :
1 เนื้อหาข่าวโดยทีมข่าวต่างประเทศ กรุงเทพธุรกิจ
2 ภาพจากวีดีโอในเว็บไซต์รัฐบาลฟิลิปปินส์