เจาะที่มา "มุสลิมต่างด้าว" ตำรวจอ้าง "อนาโตเลีย" ฝ่ายมั่นคงยัน "อุยกูร์"
ผ่านมาครึ่งเดือนนับตั้งแต่มีการจับกุมมุสลิมต่างด้าวไม่ระบุสัญชาติได้ในป่ายางพารา ต.กำแพงเพชร อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ได้พยายามสร้างความกระจ่างเกี่ยวกับเชื้อชาติและที่มาของมุสลิมกลุ่มนี้ ทว่ายังคงมีบางประเด็นถูกตั้งคำถาม
อ้างเชื้อชาติ "อนาโตเลีย"
เมื่อวันพุธที่ 26 มี.ค.2557 ที่กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 6 พล.ต.ต.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผบก.ตม.6 แถลงว่า ชาวมุสลิมหลบหนีเข้าเมืองที่อ้างตัวเป็นชาวตุรกีกลุ่มแรกที่ถูกควบคุมตัวได้ที่ อ.รัตภูมิ เมื่อวันที่ 12 มี.ค.นั้น มีจำนวน 218 คน ตรวจสอบแล้วส่วนใหญ่มาแบบครอบครัว ลักษณะทิ้งถิ่นฐาน ขายทรัพย์สินกันมา จากนั้นเมื่อวันที่ 20 มี.ค.ได้พบกลุ่มคนต่างด้าวลักษณะเดียวกันถูกนำไปทิ้งไว้ที่ ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา เป็นชาย 26 คน หญิง 16 คน และเด็ก 35 คน รวมทั้งสิ้น 77 คน
"ล่าสุดเราทราบว่ากลุ่มคนเหล่านี้เป็นคนเชื้อชาติอนาโตเลีย ซึ่งเป็นเชื้อชาติเก่าแก่ของตุรกี แต่ยังไม่ยืนยันในเรื่องสัญชาติ ต้องรอสถานทูตตุรกีเข้ามาพิสูจน์สัญชาติอีกครั้ง หากพิสูจน์สัญชาติได้ ทาง ตม.จะดำเนินการส่งกลับภูมิลำเนา แต่ถ้าพวกเขายืนยันไม่ยอมกลับประเทศภูมิลำเนา ทาง ตม.จะร้องขอให้ทางยูเอ็นเอชซีอาร์ (สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ) เข้าไปดูแลและให้ความช่วยเหลือต่อไป"
ส่วนเรื่องที่ชาวต่างด้าวเหล่านี้ลักลอบเข้ามาในประเทศไทยนั้น ทราบว่ามีการจ่ายเงินและทรัพย์สินให้กับ "ขบวนการค้ามนุษย์" ที่นำพาเข้ามา บางรายจ่ายสูงถึงหลักแสนบาท รวมมูลค่าความเสียหายเป็นเงินประมาณ 50 ล้านบาทที่กลุ่มคนเหล่านี้ต้องเสียให้กับขบวนการค้ามนุษย์
เปิดตัว 3 แก๊งค้ามนุษย์
สำหรับมาตรการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์นั้น ผบก.ตม.6 บอกว่า ที่ผ่านมาสามารถจับกุมขบวนการค้ามนุษย์ได้บ้างแล้ว ส่วนใหญ่เกี่ยวกับการลักลอบขนชาวโรฮิงญา และมีเพียงไม่กี่กลุ่มในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับแรงงานเถื่อน และแรงงานต่างด้าว
กลุ่มแรก ใหญ่ที่สุดทราบข้อมูล คือ กลุ่ม ต. เป็นนักการเมืองท้องถิ่นในพื้นที่ จ.สตูล
กลุ่มที่สอง อยู่ในพื้นที่ จ.ระนอง ซึ่งแบ่งย่อยเป็น 3 กลุ่ม มีชื่อย่อว่า กลุ่ม ง. กลุ่ม ม. และ กลุ่ม ข.
กลุ่มที่สาม มีชื่อย่อ ม. และ ป. อยู่ในพื้นที่ จ.สงขลา ซึ่งขบวนการค้ามนุษย์ทั้งหมดนี้ ส่วนใหญ่จะมีพฤติการณ์ทรมาน ทำร้ายร่างกายและเรียกค่าไถ่ด้วย โดยโทรศัพท์ไปหาญาติของเหยื่อให้ได้ยินเสียงของเหยื่อขณะถูกทรมาน เพื่อให้ญาตินำเงินมาไถ่ตัว ส่วนใหญ่จะให้โอนเข้าบัญชีธนาคาร
"โดยเฉพาะกลุ่มของนักการเมืองท้องถิ่นในพื้นที่ จ.สตูล ซึ่งถูกจับกุมเมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา ในคดีนั้นมีนายหน้าชาวพม่า 2 คนพี่น้องร่วมขบวนการด้วย ส่วนอีกรายที่จับกุมได้ที่ จ.ปัตตานี คือ นายซัมรี เงาะ (มือรี) เป็นหนึ่งในขบวนการลักลอบค้าโรฮิงญา"
ผบก.ตม.6 กล่าวด้วยว่า ขบวนการค้ามนุษย์ในพื้นที่ จ.สงขลา ล่าสุดได้มีการออกหมายจับแล้ว 2 คน คือ นายสุไลมาน หมัดอาด้ำ อายุ 58 ปี และ นายยะโก๊ป หีมเห็ม อายุ 46 ปี ซึ่งทั้งสองเป็นคนในพื้นที่ ต.กำแพงเพชร อ.รัตภูมิ
สำหรับมาตรการป้องกันปัญหาค้ามนุษย์นั้น ประชาชนในพื้นที่ต้องไม่ให้ความร่วมมือกับกลุ่มขบวนการพวกนี้ และต้องไม่ให้ที่พักพิง เพราะการค้ามนุษย์สร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติ และจะนำไปสู่การกระทำผิดกฎหมายอื่นๆ อีกมาก
พามุสลิมชายพบครอบครัว
วันเดียวกัน พล.ต.ต.ธัชชัย ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง พากลุ่มมุสลิมผู้ชายที่อ้างตัวเป็นชาวตุรกี ซึ่งถูกกักอยู่ที่ศูนย์กักกัน ตม.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา เดินทางไปเยี่ยมครอบครัวซึ่งเป็นกลุ่มผู้หญิงมุสลิมและเด็ก ที่สำนักส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 12 กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หลังจากถูกเจ้าหน้าที่ ตม.6 แยกควบคุมมาเป็นระยะเวลากว่า 10 วัน หลังถูกจับกุมได้ในคราวเดียวกัน ทั้งนี้ เพื่อลดความตึงเครียดของทั้งสองกลุ่มที่ถูกแยกควบคุมคนละสถานที่กัน
เมื่อคนทั้งสองกลุ่มได้พบกัน แต่ละคนมีสีหน้ายิ้มแย้ม รู้สึกดีใจ แต่เจ้าหน้าที่ให้เวลาพบปะกันเพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้น ก่อนจะแยกย้ายนำตัวไปคุมไว้ยังสถานที่เดิม
เจาะที่มามุสลิมต่างด้าว
การแถลงของ ผบก.ตม.6 ยังไม่ทำให้ปมปริศนาเกี่ยวกับ "ที่มา" ของมุสลิมต่างด้าวกลุ่มนี้กระจ่างขึ้นได้ เพราะจากการสอบถามข้อมูลจากผู้รู้ ทราบว่าคำว่า "อนาโตเลีย" หรือ "อานาโตเลีย" นั้น เป็นชื่อเรียก "ดินแดน" ในส่วนของเอเชียไมเนอร์ หรือเอเชียน้อย ซึ่งปัจจุบันคือพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศตุรกี เป็นดินแดนที่เชื่อมระหว่างยุโรปกับเอเชียตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์
ตลอดหลายพันปีที่ผ่านมามีชนหลายเผ่า หลายกลุ่ม หลายชาติพันธุ์เข้าไปตั้งถิ่นฐานในดินแดนอานาโตเลีย และสร้างอาณาจักรใหญ่โตเจริญรุ่งเรือง โดยยุคหนึ่งมีชนเชื้อสายเติร์กเข้ายึดครอง
ในอดีตพวกเติร์กคือชนเผ่าเร่ร่อนในแถบเอเชียกลาง รวมทั้งดินแดนที่เป็นประเทศมองโกเลียในปัจจุบัน และมณฑลซินเจียง หรือเขตปกครองตนเองซินเจียง-อุยกูร์ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีนซึ่งติดกับมองโกเลียด้วย
ในงานเขียนที่ชื่อ "ว่าด้วยจลาจลชาวอุยกูร์" โดย ท่านขุนน้อย ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์เมื่อเดือน ก.ค.2552 ระบุตอนหนึ่งว่า คำว่า "อุยกูร์" มาจากคำภาษาเตอร์คิช มีความหมายว่า ผู้ช่วยเหลือ หรือ พันธมิตร ที่มาต้องย้อนหลังกลับไปนับเป็นพันๆ ปี ในยุคที่ชนเผ่าเติร์กแต่ละเผ่ายังกระจัดกระจายอยู่แถบเทือกเขาอัลไต ร่อนเร่อยู่ตามเส้นทางสายไหม จนกระทั่งวันหนึ่งได้เกิดความคิดที่จะรวมตัวกันเพื่อสร้างบ้านแปงเมืองให้เป็นหลักเป็นฐานเหมือนๆ กับผู้อื่น เผ่าเติร์กประมาณ 9 เผ่าจึงได้จับมือกันเป็นพันธมิตร เป็นผู้ช่วยเหลือกันและกันก่อตั้งอาณาจักรของตนเองขึ้นมาตั้งแต่บัดนั้น...
บนผืนแผ่นดินที่ชาวอุยกูร์อาศัยอยู่ในขณะนี้ (มณฑลซินเจียงของจีน) จึงถือได้ว่าเป็นอาณาจักรเก่าแก่ที่มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ยาวนานพอสมควรทีเดียว อีกทั้งอาณาจักรอุยกูร์ในอดีตว่ากันว่ากว้างขวางใหญ่โตไม่น้อย อาณาเขตครอบคลุมไปถึงทะเลสาบแคสเปียน ไปจนถึงแมนจูเรีย จากเดิมทีที่ผู้คนในดินแดนแห่งนี้เคยนับถือศาสนาเก่าแก่ของชาวเปอร์เซียอย่างศาสนาโซโรอัสเตอร์ พอถึงช่วงศตวรรษที่ 11 ก็รับเอาอิทธิพลของศาสนาอิสลามเข้ามา อันทำให้ชาวอุยกูร์กลายเป็น "มุสลิม" สืบมานับแต่นั้น...
งานเขียนยังระบุด้วยว่า ดินแดนของชาวอุยกูร์ถูกจีนเข้าครอบครองหลายยุค หลายช่วงเวลา ซึ่งชาวอุยกูร์ก็ได้รวมตัวกันต่อสู้เพื่อแยกตัวเป็นอิสระเรื่อยมา แม้กระทั่งในยุคจีนสมัยใหม่ มีการจัดตั้ง รัฐอิสลามแห่งเตอร์กิสถานตะวันออก (Islam Eastern Turkestan Republic) เป็นรัฐอิสระในปี ค.ศ.1933 แต่สุดท้ายก็ถูกพรรคคอมมิวนิสต์ของ "เหมาเจ๋อตง" บุกเข้าสลายและยึดครองในปี ค.ศ.1949 แต่ชาวอุยกูร์ก็ยังไม่ยอมศิโรราบ และรวมตัวกันจนเกิด องค์กรปลดปล่อยเตอร์กิสถานตะวันออก (ETLO) และ ขบวนการอิสลามเตอร์กิสถานตะวันออก (ETIM) ในเวลาต่อมา
พิจารณาจากประวัติศาสตร์ รวมถึงชื่อองค์กรปลดปล่อยของชาวอุยกูร์แล้ว จะพบว่าแยกไม่ออกจากชนเผ่าเติร์ก และดินแดนอานาโตเลีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประเทศตุรกีในปัจจุบัน ฉะนั้นจึงไม่อาจปฏิเสธได้อย่างสิ้นเชิงว่ากลุ่มคนมุสลิมต่างด้าวที่พบใน จ.สงขลา ซึ่งตำรวจระบุว่ามีเชื้อชาติอานาโตเลีย ไม่ใช่ชาวอุยกูร์
ฝ่ายมั่นคงไทยยัน "อุยกูร์"
ด้านแหล่งข่าวจากหน่วยงานความมั่นคงไทยหลายหน่วย ยืนยันตรงกันว่า มุสลิมต่างด้าวที่ถูกจับกุมที่ จ.สงขลา มีโอกาสเป็นชาวอุยกูร์จากมณฑลซินเจียงของจีนมากที่สุด และเรื่องนี้มีความอ่อนไหวสูงที่จะถูกโยงเป็นปัญหาระหว่างประเทศ สังเกตได้จากท่าทีของสหรัฐอเมริกาที่ส่งรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศออกมากดดันให้ไทยดูแลมุสลิมกลุ่มนี้ทันทีหลังมีข่าวการจับกุม ซ้ำยังระบุทำนองว่ามุสลิมกลุ่มดังกล่าวเป็นชาวอุยกูร์
ขณะที่องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนหลายองค์กร โดยเฉพาะฮิวแมนไรท์วอทช์ เรียกร้องไม่ให้ทางการไทยส่งคนมุสลิมกลุ่มนี้ซึ่งเชื่อว่าเป็นชาวอุยกูร์แน่นอน กลับไปยังประเทศจีน เพราะเกรงจะได้รับอันตราย
แหล่งข่าวซึ่งเป็นนายทหารระดับสูงจากกองทัพบก (ทบ.) ที่มีสายสัมพันธ์กับรัฐบาลจีน ให้ข้อมูลว่า ก่อนที่จะเกิดกรณีมุสลิมต่างด้าวลักลอบเข้าประเทศไทย และถูกจับกุมได้ที่ จ.สงขลา มีเจ้าหน้าที่จีนประสานสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของชาวมุสลิมอุยกูร์จากมณฑลซินเจียง และยังให้ข้อมูลว่าจะมีชาวมุสลิมอุยกูร์ใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านไปยังประเทศที่สาม ซึ่งต่อมาไม่นานก็มีข่าวการจับกุมชาวมุสลิมต่างด้าวได้จริงๆ
จึงเชื่อว่ามุสลิมกลุ่มนี้เป็นชาวอุยกูร์!
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 มุสลิมต่างด้าวไม่ระบุสัญชาติที่ถูกจับฐานหลบหนีเข้าเมืองที่ จ.สงขลา
2 พล.ต.ต.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผบก.ตม.6 ระหว่างนั่งแถลงข่าว