สพฉ.เตรียมเสนอนโยบาย 5 ข้อปิดช่องว่างระบบการแพทย์ฉุกเฉิน
“นพ.ประดิษฐ์” ระบุต้องเร่งสร้างมาตรฐานระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ทั้งสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินและผู้ปฏิบัติงาน ขณะที่ สพฉ. เตรียมข้อเสนอเชิงนโยบาย 5 ข้อปิดช่องว่างระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ย้ำต้องเพิ่มความครอบคลุมหน่วยบริการ เน้นพัฒนาระบบสื่อสารสั่งการและพัฒนาคุณภาพระบบการแพทย์ฉุกเฉิน
ที่ศูนย์การประชุม ไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน จัดการประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติครั้งที่ 8 ภายใต้หัวข้อ "รวมพลังลดช่องว่างการแพทย์ฉุกเฉินไทย" (Together to fill Thai EMS Gaps)
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ ประธานคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน ในฐานะประธานปิดงานประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติครั้งที่ 8 กล่าวว่า การประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินครั้งนี้ทำให้เห็นภาพความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคีเครือข่ายที่ได้ร่วมกันเสนอข้อคิดเห็นที่มีคุณค่าเพื่อนำไปสู่การปิดช่องว่างระบบการแพทย์ฉุกเฉินไทย รวมทั้งอยากขอบคุณผู้ปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินทุกคนด้วยใจจริง เพราะการทำงานของพวกเราถือเป็นการทำงานด้วยความตั้งใจ และเสียสละ แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียใจที่ปีนี้เราต้องสูญเสียบุคลากรสำคัญไปถึง 9 ราย และบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมทั่วไปอาจไม่ทราบ ดังนั้นต่อจากนี้จะเร่งผลักดันการทำงานให้ได้มาตรฐานที่เพียงพอ ทั้งการรักษาพยาบาลสำหรับประชาชนและความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินด้วย ซึ่งเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องจัดสรรงบประมาณ และทำให้ได้อย่างเคร่งครัด
ด้าน นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า การประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติที่ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2557 ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งมาจากหน่วยงานและเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน มูลนิธิ และสมาคมต่าง ๆ เป็นอย่างดียิ่ง จากรูปแบบการจัดกิจกรรมทั้ง 4 ส่วน คือ EMS Forum , EMS Expo, EMS workshop และการจัดแสดงนิทรรศการ เสนอผลงานเด่นของหน่วยงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน
ซึ่งจากการประชุมดังกล่าวทำให้ได้ประเด็นสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาเพื่อกำหนดทิศทางและจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายสำหรับปิดช่องว่างการแพทย์ฉุกเฉินไทย ดังนี้ 1. เรื่องการปิดช่องว่างความครอบคลุม คือต้องเร่งจัดให้มีบริการการแพทย์ฉุกเฉินครอบคลุมพื้นที่ทั่วไทย ทั้งพื้นที่ห่างไกลในทะเล และที่จราจรแออัด รวมทั้งสร้างความรู้ด้านการปฐมพยาบาลการแพทย์ฉุกเฉินให้ประชาชนที่รอการช่วยเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2.การปิดช่องว่างความคล่องแคล่ว ให้เน้นพัฒนาระบบสื่อสารสั่งการ และการประสานงานที่คล่องตัว จัดตั้งระบบแพทย์อำนวยการให้สอดคล้องกับเขตบริการสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งการดูแลกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคมให้เท่าเทียมกัน
3.การปิดช่องว่างความพร้อมครบ 24 ชั่วโมง โดยเน้นการซ้อม การเตรียมพร้อมและเฝ้าระวังสาธารณภัยเล็กใหญ่ประเภทต่างๆ สร้างความร่วมมือการช่วยเหลือซึ่งกันและกันทั้งคนในชุมชน ภายในประเทศและมิตรประเทศ 4.การปิดช่องว่างเรื่องคุณภาพ คือเร่งวงจรการพัฒนาคุณภาพการแพทย์ฉุกเฉิน โดยการประเมินตนเอง และรับประเมินจากองค์กรภายนอกเพื่อให้เกิดการรับรองคุณภาพอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ และ 5.การปิดช่องว่างเรื่องการคุ้มครอง เร่งสร้างกลไกคุ้มครองบุคคล ทั้งผู้ป่วย ผู้ปฏิบัติการ และประชาชน โดยบูรณาการกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้เป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน อาทิเช่น การทำประกัน การจัดการความปลอดภัยของรถพยาบาล และอุปกรณ์ การจัดการอาชีวอนามัยรวมทั้งพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับการคุ้มครองดังกล่าว ซึ่งเสนอเชิงนโยบายทั้ง 5 ข้อนี้ สพฉ. และคณะกรรมการจัดงานประชุมวิชาการจะได้นำเสนอต่อคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน (กพฉ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมต่อไป