'มาร์ค'ขึ้นศาลปัดข้อหาฆ่าแดงปี53
'อภิสิทธิ์' ขึ้นศาลยันให้การปฏิเสธทุกข้อหา สู้คดีอัยการฟ้องฆ่าผู้อื่นฯ เหตุสั่ง ศอฉ.กระชับพื้นที่ชุมนุม นปช.ปี 53
24 มี.ค. 57 เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ห้องพิจารณา 707 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดตรวจหลักฐานคดีหมายเลขดำ อ.4552/2556 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาเล็งเห็นผล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบ มาตรา 80 , 83 , 84 , 90 จากกรณีร่วมกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาฯ ด้วยการออกคำสั่ง ศอฉ.ให้เจ้าหน้าที่เข้าขอคืนพื้นที่การชุมนุมบริเวณ ถนนราชดำเนิน และแยกราชประสงค์ จากกลุ่มนปช. ที่ชุมนุมตั้งแต่เดือน เม.ย. - 19 พ.ค. 2553 กระทั่งนายพัน คำกอง ชาวจ.ยโสธร อายุ 43 ปี คนขับแท็กซี่ และด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ หรือน้องอีซา อายุ 14 ปี เสียชีวิตบริเวณใกล้สถานีรถไฟแอร์พอร์ทลิงค์ สถานีราชปรารภ วันที่ 15 พ.ค. 2553 และนายสมร ไหมทอง คนขับรถตู้ ถูกกระสุนยิง มาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ที่รักษาการณ์ในพื้นที่ ย่านราชปรารภ ที่มีการประกาศ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ จนได้รับบาดเจ็บสาหัส โดยคดีนี้อัยการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2556 ที่ผ่านมา
โดยศาลได้อ่านและอธิบายคำฟ้องให้จำเลยฟังแล้ว จำเลยยืนยันให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาตามคำให้การที่จำเลยยื่นต่อศาลในวันนี้ ขณะที่ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้นายสมร ไหมทอง ผู้ได้รับบาดเจ็บและนางหนูชิด คำกอง ภรรยาของนายพัน ผู้ตายในคดีนี้เข้าเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการภายหลังจากทั้งสองยื่นคำร้อง เมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา ขอเป็นโจทก์ร่วม ซึ่งอัยการโจทก์และจำเลยแถลงไม่คัดค้าน ซึ่งอัยการโจทก์แถลงรับรองว่าทั้งสองเป็นผู้เสียหายในคดีนี้จริง
ขณะที่ศาลสอบถามโจทก์เกี่ยวกับคำฟ้องคดีนี้แล้ว แถลงยืนยันว่าเหตุที่มีบุคคลถึงแก่ความตายและมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ทางทหารในการผลักดันผู้ชุมนุม กระชับพื้นที่หรือขอคืนพื้นที่ โดยเจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธและกระสุนปืนจริง ยิงใส่ผู้ชุมนุมโดยมีเจตนาฆ่าตามคำสั่งของจำเลย ที่ให้ ศอฉ.ดำเนินการควบคุมการมุ่งเข้าสู่พื้นที่สีลมและมีการจัดวางเจ้าหน้าที่ทหารเพื่อสกัดกั้นการเคลื่อนย้ายของกลุ่มผู้ชุมนุม และให้มีการกำหนดแนวห้ามผ่านเด็ดขาด โดยทำเครื่องหมายหรือประกาศให้ผู้ชุมนุมทราบ รวมทั้งกำหนดให้สามารถใช้อาวุธปืนประจำกาย กรณีจำเป็นเมื่อมีการบุกรุกแนวห้ามผ่านเด็ดขาด โดยก่อนหน้านั้นนายสุเทพในฐานะ ผอ.ศอฉ. มีคำสั่งอนุมัติให้เจ้าหน้าที่ของ ศอฉ. สามารถใช้อาวุธและกระสุนปืนจริง และให้ใช้พลแม่นปืน ในการปฏิบัติหน้าที่ได้ซึ่งต่อมาวันที่ 19 พ.ค. 2553 จำเลยมีคำสั่งให้ ศอฉ.ดำเนินการตามมาตรการปิดล้อม สกัดกั้นกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อขอคืนพื้นที่บริเวณสวนลุมพินี และพื้นที่ต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค. 2553 เวลา 03.00 น. โดยการออกคำสั่งของจำเลยดังกล่าวกระทำในฐานะนายกรัฐมนตรีที่ใช้อำนาจสั่งการตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
ด้านจำเลยแถลงยืนยันว่า ขณะนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อยู่ระหว่างไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีที่จำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรี สั่งการให้ผลักดันผู้ชุมนุมในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ โดยจำเลยเคยไปให้ถ้อยคำกับ ป.ป.ช.แล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่มีการชี้มูลความผิด โดยอัยการโจทก์แถลงด้วยว่า ป.ป.ช.เคยขอเอกสารในสำนวนการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในคดีนี้ ไปใช้ประกอบการพิจารณาไต่สวนข้อเท็จจริงด้วย
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อกล่าวหาที่อัยการโจทก์ฟ้องมานั้น ล้วนเกิดจากการออกคำสั่งของจำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรีในวาระต่างๆ กัน ภายหลังจากที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกทม.และปริมณฑลตามอำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งหากการออกคำสั่งต่างๆ ของจำเลย ที่โจทก์ฟ้องนั้นไม่เป็นไปตามหลักปฏิบัติ การควบคุมฝูงชนหรือไม่สมควรแก่เหตุ การใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีนั้นก็อาจเข้าข่ายเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญาและเป็นการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และถ้าภายหลังการออกคำสั่งนั้น ส่งผลให้มีผู้ถึงแก่ความตายก็ถือเป็นคดีเกี่ยวเนื่องจากการใช้อำนาจโดยมิชอบ ดังนั้นเพื่อให้การตรวจพยานหลักฐานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพในการจัดกลุ่มพยานที่จะนำสืบได้อย่างเหมาะสม ไม่ให้ต้องมีการสืบพยานฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจออกคำสั่งต่างๆ ให้มีการผลักดันการชุมนุมของจำเลย ในฐานะนายกรัฐมนตรีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ว่าเป็นการกระทำโดยชอบด้วยหน้าที่หรือไม่ซึ่งมีการระบุว่า ป.ป.ช.ได้รับเรื่องไว้ไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วนั้น ศาลจึงเห็นสมควรที่จะให้มีหนังสือสอบถามป.ป.ช.ในเรื่องนี้เพื่อให้ได้ความชัดเจนก่อนที่จะตรวจหลักฐานในคดีนี้ จึงให้นัดพร้อมเพื่อฟังผลการสอบถามจาก ป.ป.ช.ในวันที่ 23 มิ.ย.นี้ เวลา 09.00 น.
ภายหลังเสร็จสิ้นกระบวนพิจารณาแล้ว นายอภิสิทธิ์ จำเลย ซึ่งวันนี้เดินทางมาพร้อมกับทีมทนายความได้ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ใดๆ ขณะที่นายบัณฑิต ศิริพันธ์ ทนายความของนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่าคดีนี้ เราได้ต่อสู้โต้แย้งประเด็นอำนาจการสอบสวนอยู่แล้วว่า เป็นอำนาจของ ป.ป.ช.อย่างไรก็ดีสุดท้าย ป.ป.ช.จะได้ชี้มูลและถ้าผลออกมาว่าการกระทำของนายอภิสิทธิ์ ไม่เป็นความผิด ก็จะนำผลนั้นมาใช้ประกอบการต่อสู้คดีอย่างแน่นอน
ด้านนายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความของกลุ่มผู้ชุมนุมที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ โจทก์ร่วมในคดีนี้ กล่าวด้วยว่า นอกจากที่นายสมรและนางหนูชิด ได้ยื่นขอเป็นโจทก์ร่วมแล้ว ในส่วนของญาติผู้เสียชีวิต 6 ศพวัดปทุมวนาราม ในช่วงสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 นั้นยังได้ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ในฐานะอดีต ผอ.ศอฉ.ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ในความผิดเดียวกันนี้ด้วย ซึ่งศาลอาญากรุงเทพใต้ นัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 2 มิ.ย.นี้ โดยวันนี้อัยการโจทก์ก็ได้แถลงให้ศาลอาญาทราบ พร้อมกับระบุว่าจะขอโอนคดีดังกล่าวมารวมกับคดีนี้ด้วย ซึ่งต้องรอติดตามผลการพิจารณาต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีนี้นอกจากนายอภิสิทธิ์ แล้ว นายอรรถพล ใหญ่สว่าง อัยการสูงสุด ได้มีความเห็นให้สั่งฟ้องนายสุเทพ ผอ.ศอฉ.ปี 2553 ด้วย แต่ที่ผ่านมายังไม่สามารถนำตัวนายสุเทพ มายื่นฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลได้ เนื่องจากติดการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยที่ผ่านมาดีเอสไอ ได้ขอศาลอาญาอนุมัติหมายจับนายสุเทพ เพื่อติดตามตัวมาส่งให้อัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาลแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตามตัวโดยสามารถจะติดตามตัวมาฟ้องได้ภายในอายุความ 20 ปี
ขอบคุณข่าวจาก