แถลงการณ์ ข้อเสนอของชาวปกาเกอะญอต่อการปฏิรูปการศึกษาไทย
แถลงการณ์
ข้อเสนอของชาวปกาเกอะญอต่อการปฏิรูปการศึกษาไทย
ชาวปกาเกอะญอเป็นชนเผ่าพื้นเมืองชนเผ่าหนึ่งที่อยู่ในประเทศไทย มีประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ วัฒนธรรม และความเชื่อที่เป็นลักษณะเฉพาะของตนเอง โดยสืบทอดมาจากบรรพบุรุษจากรุ่นสู่รุ่น นอกจากนั้นชาวปกาเกอะญอยังมีองค์ความรู้มากมายที่ทำให้ชุมชนสามารถอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน เช่น การทำไร่หมุนเวียน การใช้ยาสมุนไพร การสร้างบ้าน งานหัตถกรรม เป็นต้น
แต่องค์ความรู้เหล่านี้นับวันจะสูญหายไป เพราะความรู้เหล่านี้ไม่ได้ถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรการศึกษาไทย ที่โรงเรียนในชุมชนส่วนใหญ่เน้นการสอนหลักสูตรแกนกลางมากกว่า ประกอบกับกระทรวงศึกษาธิการก็ไม่ได้ส่งเสริมให้โรงเรียนจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นอย่างจริงจัง เนื้อหาสาระที่เรียนส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องราวที่ไกลตัว ทำให้เด็กไม่รู้จักบ้านเกิดของตนเอง เน้นเรียนจากหนังสือและท่องจำ ทำให้เด็กขาดทักษะการดำเนินชีวิต นอกจากนั้นยังมีบางโรงเรียนสั่งห้ามเด็กพูดภาษาถิ่นของตัวเองในโรงเรียน ทำให้เด็กอายความเป็นชนเผ่า ลืมตัวตนและรากเหง้าของตนเอง ส่งผลให้เยาวชนคนรุ่นใหม่อพยพตัวเองไปทำงานอยู่ในเมืองมากกว่าที่จะอยู่บ้านบนดอยทำไร่ทำนาเหมือนดั่งที่พ่อแม่ตนเองเคยทำมา
การปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมายังไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวปกาเกอะญอ ดังนั้นพวกเราชาวปกาเกอะญอและองค์กรที่ทำงานด้านการศึกษากับชนเผ่าปกาเกอะญอ จึงขอเสนอเพื่อให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาได้อย่างแท้จริง ดังนี้
1.ปฏิรูปเป้าหมายทางการศึกษา
· ไม่มุ่งเน้นความเป็นเลิศทางวิชาการด้านเดียว แต่ต้องเชื่อมโยงจิตวิญญาณความเป็นปกาเกอะญอด้วย
· ผู้เรียนได้เรียนรู้รากเหง้าของตนเอง และมีความภาคภูมิในความเป็นชนเผ่าของตนเอง
· ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนตามความสนใจและความสามารถ
· สร้างการเรียนรู้ให้เด็กที่ไม่ตามกระแส เท่าทันสังคม เท่าทันโลก มีความสุขในการเรียนรู้ มีอิสระในความคิด
· เป็นการศึกษาที่สร้างกระบวนการเรียนรู้สังคม/โลก ทักษะ/อาชีพ และมีจิตวิญญาณของความเป็นปกาเกอะญอ และเห็นความสำคัญของชุมชนท้องถิ่น
2.ปฏิรูปการมีส่วนร่วม
· ให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง ชุมชน ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน
· ท้องถิ่นเข้ามาสนับสนุนการจัดการเรียนรู้โดยมีการจัดทำเป็นเทศบัญญัติรองรับอย่างชัดเจน
· มีเวทีประชุมปรึกษาหารือและสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ของชุมชนปกาเกอะญอ
· สร้างเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อให้เกิดวงพูดคุยสถานการณ์ปัญหาในการจัดการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (ทั้งในประเทศและต่างประเทศ)
3.ปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้
· การศึกษาเรียนรู้ให้มุ่งเน้นการสร้างการเรียนรู้ให้เด็กมีความภาคภูมิใจในความเป็นชนเผ่า พัฒนาเด็กให้มีความรู้ในการคิดเป็น ทำเป็น สามารถนำไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตได้ (เรียนรู้แบบพหุวัฒนธรรม)
· มุ่งเน้นการเรียนรู้เพื่อสร้างจิตสำนึกในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติวิถีชีวิต และวัฒนธรรม
· เน้นการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริง พื้นที่จริง เห็นของจริง เรียนไปด้วย ทำไปด้วย
· ยกระดับการเรียนรู้จากระดับครอบครัว(ผู้ปกครอง) ไปสู่ระดับชนเผ่า
4.ปฏิรูปหลักสูตร ตัวชี้วัดและการประเมินผล
· ยกเลิกการศึกษาภาคบังคับ ทุกคนมีสิทธิเลือกการศึกษาเรียนรู้ที่ตนเองต้องการ
· หลักสูตรทั้งแกนกลางและหลักสูตรท้องถิ่น ปรับให้เป็นหลักสูตรที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต
· พัฒนาหลักสูตรที่เน้นเรื่องการใช้ชีวิต ทักษะอาชีพที่สามารถนำไปใช้จริง ยั่งยืน โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ท้องถิ่น และหน่วยงานการศึกษา
· บูรณาการหลักสูตรการเรียนการสอนของชนเผ่า ภูมิปัญญาผสมผสานกับหลักสูตรแกนกลาง
· ประยุกต์วิธีการเรียนรู้ในระดับมหาวิทยาลัย ให้มีหลักสูตรที่ลงมาปฏิบัติการเรียนรู้ในพื้นที่ชุมชน (มหาวิทยาลัยชีวิต)
· ให้รัฐสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ด้วยหลักสูตรแบบปกาเกอะญอ เพื่อนำไปสู่การมีโรงเรียนชนเผ่า (ที่มีหลักสูตรบูรณาการแบบปกาเกอะญอ ตัวชี้วัด และการประเมินผลแบบปกาเกอะญอ)
5.ปฏิรูปการบริหารจัดการบุคลากรทางการศึกษา (ผู้บริหาร/ ครู)
· ให้ชุมชนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วนในการคัดเลือก ประเมิน ผู้บริหารและครู เพื่อให้ได้ผู้บริหารและครูที่ตรงกับความต้องการของชุมชน
· ผู้สอนไม่จำเป็นต้องมีใบประกอบวิชาชีพครู แต่เป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ
6.ปฏิรูประบบการผลิตบุคลาการทางการศึกษา
· ให้สถาบันการศึกษาที่ผลิตบุคลากรมีหลักสูตรที่ให้นิสิต นักศึกษาได้ลงมาเรียนรู้ ทำความเข้าใจชุมชนหรือพื้นที่จริง
· หลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อผลิตบุคลากรทางการศึกษา ไม่เน้นเทคนิคและทักษะ แต่มุ่งเน้นการทำความเข้าใจเรียนรู้จากสภาพพื้นที่จริง
พวกเราหวังว่าข้อเสนอเหล่านี้จะมีหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง สื่อมวลชน หรือภาคประชาสังคมต่างๆจะได้ช่วยกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายและลงสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริง
ด้วยจิตคาราวะ
เครือข่ายพัฒนาการศึกษาชนเผ่าปกาเกอะญอ
22 มีนาคม พ.ศ.2557