1,291 ไร่ 62 ตารางวา ธรณีนี้พวกเราขอคืน
กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด อ.วังสะพุง จ.เลย เผยเเพร่รายงานพิเศษ ชุด 'ปิดเหมือง ฟื้นฟู ตอนที่ 1' เรียกร้องสิทธิขอคืนพื้นถิ่นจากธุรกิจเหมืองเเร่ ก่อนจะกระทบสิ่งเเวดล้อม-สุขภาพ จนยากจะเเก้ไข
17 มีนาคม 2557 หน้าศาลจังหวัดเลย ชาวบ้านวังสะพุง กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด จาก ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ประมาณ 400 คน เดินทางไปถึงศาลจังหวัดเลยแต่เช้า เพื่อรับฟังการไต่สวนสืบพยานโจทก์ จากคดีที่ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด (“ทุ่งคำ”) ฟ้อง นาย สุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ กับพวกอีก 7 คน คดีอาญา ข้อหาบุกรุก, ทำให้เสียทรัพย์ เลขที่คดีดำ 4217/2556
การไต่สวนในครั้งนี้ เป็นรอบที่ทนายของชาวบ้าวจะซักค้านพยานปากสำคัญขอทุ่งคำ คือ นายบัณฑิตย์ แสงเสรีธรรม กรรมการผู้จัดการของบริษัทฯ และศาลได้เปิดให้มีการถ่ายทอดการไต่สวนในห้องพิจารณาคดีมายังห้องประชุมใหญ่เพื่อให้ชาวบ้านทั้งหมดได้รับฟังด้วย
แต่เมื่อถึงเวลาพิจารณาคดี ศาลแจ้งว่าทนายของทุ่งคำยื่นจดหมายอ้างว่าทนายป่วยกระทันหันทำให้ไม่สามารถมาตามนัดได้ ศาลจึงเลื่อนนัดไต่สวนออกไปเป็นวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 นับเป็นการเลื่อนครั้งที่ 3
“บ่กล้ากินข้าวบ้านเจ้าของ” เพลงที่เด็ก ๆ และผู้ใหญ่ จากกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด และนักศึกษาดาวดิน ร่วมกันขับร้องที่หน้าศาล โดยตั้งชื่อกิจกรรมว่า “พาน้องร้องเพลง” ได้นำภาพผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังจากมีเหมืองทองคำเกิดขึ้นในตำบลเขาหลวง เสียงเพลงสะท้อนสะเทือนไปถึงหัวใจของชาวเลย แต่ไม่มีคนจากเหมืองที่จะมาได้ยิน
จากหน้าศาล ขบวนบทเพลงเดินเท้าผ่านเมืองไปถึงหน้า สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเลย และต่อไปถึง สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรจังหวัดเลย ทั้งสองหน่วยงาน คือผู้อนุญาตให้ทุ่งคำเข้าไปทำเหมืองทองในที่ดินภายใต้ความรับผิดชอบของหน่วยงาน และเหมืองทองได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบมายาวนานนับ 10 ปี
โดยมีข้อเท็จจริงจากผลการตรวจสอบและวิเคราะห์คุณภาพน้ำบริเวณรอบเหมืองหลายครั้ง ช่วงระหว่างปี 2547 – 2549, 2553 ที่พบว่ามีสารหนู แคดเมียม เหล็ก ตะกั่ว และแมงกานีส เกินเกณฑ์มาตรฐาน
มีการตรวจพบไซยาไนด์ในกากแร่ก่อนนำไปกักเก็บในบ่อกากแร่สูงถึง 62 ppm เกินกว่าค่าที่กำหนดไว้ในอีไอเอ ที่ไม่ให้เกิน 2 ppm ครั้งนั้นกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้ส่งหนังสือให้ อุตสาหกรรมจังหวัดเลย ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2550 ให้เปรียบเทียบปรับทุ่งคำ และสั่งให้บริษัทฯ ปรับปรุงแก้ไขภายในวันที่ 20 มีนาคม 2550
ต่อมา มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554 สั่งให้กระทรวงอุตสาหกรรมชะลอการขยายพื้นที่ใหม่หรือการขอประทานบัตรของทุ่งคำ แปลงที่ 104/2538 พื้นที่ประมาณ 291 ไร่ และแปลงอื่นๆ ไว้ก่อน จนกว่าจะได้ข้อสรุปของสาเหตุการเกิดสารปนเปื้อน
ให้จัดทำผลการประเมินความคุ้มค่าของฐานทรัพยากรธรรมชาติและค่าภาคหลวงแร่กับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีหน้าที่ตรวจสอบสารปนเปื้อน ดำเนินการตรวจสอบสารปรอทด้วย เนื่องจากมีการพบว่ามีปริมาณสารปรอทสูงมากเมื่อเทียบกับหมู่บ้านอื่นในสภาพปกติ
ตามมาด้วย มติของ คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดเลย ที่ให้หนังสือยินยอมให้เข้าใช้ที่ดินในเขต ส.ป.ก. ของทุ่งคำ 4 ฉบับ เป็นอันสิ้นสุดลงก่อนกำหนด และให้บริวารของบริษัทฯ ออกจากที่ดินพร้อมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่บริษัทฯ ได้รับหนังสือแจ้ง คือวันที่ 7 พฤษภาคม 2554 รวมทั้ง สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดเลย ได้แจ้งให้ทุ่งคำจ่ายหนี้ค่าตอบแทนการใช้ที่ดินระหว่างเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2550 ที่ค้างอยู่เป็นจำนวน 14,563,336 บาท ซึ่งต่อมากลายเป็นคดีความที่บริษัททุ่งคำยื่นฟ้อง ส.ป.ก. ต่อศาลปกครอง และชนะคดี
ผลของคำพิพากษาดังกล่าวทำให้ทุ่งคำมีสิทธิประกอบกิจการอยู่ในพื้นที่สัมปทาน และไม่ต้องชำระค่าการเข้าใช้ที่ดินให้แก่ ส.ป.ก.
รวมความเป็นไปจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา ข่าวคราวเหล่านี้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะไม่รับรู้ได้อย่างไร
แต่นอกจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะไม่ได้ดำเนินการตาม มติครม. 8 กุมภาพันธ์ 2554 และบริษัททุ่งคำยังคงดำเนินกิจการต่อไปได้
ทำให้เกิดเหตุร้ายขึ้นอีกครั้ง ในเดือนตุลาคม 2555 เมื่อสันเขื่อนบ่อเก็บกากแร่ของทุ่งคำพังทลาย โดย กพร. ได้เข้าไปตรวจสอบและมีหนังสือยืนยันว่าเป็นความบกพร่องที่ทุ่งคำไม่ได้อัดบดดินบริเวณสันเขื่อนตามเงื่อนไข และไม่ได้ปูพลาสติกที่พื้นบ่อ เป็นเหตุให้สารไซยาไนด์รั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะและที่นาของชาวบ้าน จากนั้น สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเลย จึงมีคำสั่งด่วนอีกครั้งในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2555 ให้บริษัทฯ หยุดการทำเหมืองทันทีและแก้ไขปัญหาจนกว่าจะยุติ
แต่ข้อมูลที่ย้อนแย้งกับการดำเนินกิจการของทุ่งคำมากขึ้นไปอีก คือ ไม่เพียงการทำเหมืองของบริษัทฯ จะไม่เคยหยุดชะงัก ทุ่งคำยังขอประทานบัตรขยายพื้นที่ทำเหมืองมากขึ้น โดยขั้นตอนผ่านมาถึงขั้นการจัดเวทีพับลิก สโคปปิง เพื่อจัดทำรายงาน EHIA ประกอบการขอประทานบัตร แปลงที่ 104/2538 (ภูเหล็ก) เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2555 และเวทีพับลิก สโคปปิง เพื่อจัดทำรายงาน EHIA ประกอบการขอประทานบัตร แปลงที่ 76/2539 เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2556
ในขณะที่ใบอนุญาตประกอบโลหะกรรม ซึ่งตั้งอยู่บริเวณภูทับฟ้าหมดอายุไปเมื่อ 12 สิงหาคม 2555
ส่วนใบอนุญาตสำหรับการเข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ (แปลงภูทับฟ้า) ประทานบัตรเลขที่ 26968/15574 (ประทานบัตรมีพื้นที่ทั้งหมดอยู่ในเขตป่าสงวน), 26969/15575, และ 26970/15576 อายุ 10 ปี อนุญาตเมื่อ วันที่ 27 ธันวาคม 2545 ได้หมดอายุไปเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2555
และแม้ทุ่งคำจะยื่นคำขออนุญาตใช้ที่ดินป่าสงวนแห่งชาติต่อจากกรมป่าไม้ แต่ก็ยังไม่ได้รับอนุญาต เนื่องจากตามระเบียบกรมป่าไม้ มีเงื่อนไขระบุว่า การเข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ผู้ขออนุญาตจะต้องไม่มีปัญหากับราษฎรในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง และต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาตำบล หรือ องค์การบริหารส่วนตำบลในท้องที่ที่ป่านั้นตั้งอยู่ ซึ่งการทำประชาคมที่ผ่านมาไม่เคยผ่านความเห็นชอบ
ส่วนการขอใช้พื้นที่ภูเหล็กเพื่อขยายเหมืองนั้น ตามคำขอประทานบัตร 104/2538 พื้นที่ 290 ไร่ 1 งาน 92 ตารางวา พื้นที่เปิดขุมเหมืองรวม 30 ไร่ มีที่ดินอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าโคกภูเหล็ก และทับซ้อนอยู่กับพื้นที่ป่าหมายเลข 23 และเป็นพื้นที่ลุ่มนํ้าชั้น 1 เอ ซึ่งควรสงวนไว้เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารโดยเฉพาะ หากจะขอใช้พื้นที่ก็ต้องได้รับอนุญาตโดยผ่านมติ ครม.
คำถาม คือ ในช่วงเวลาเหล่านี้ ทุ่งคำสามารถดำเนินกิจการเหมืองแร่และขอขยายพื้นที่ทำเหมืองแปลงใหม่อย่างต่อเนื่องเป็นขั้นเป็นตอนมาได้อย่างไร
ประเภทที่ดินในพื้นที่คำขอประทานบัตร
บริเวณ |
อาชญาบัตรพิเศษ |
ประทานบัตรที่ |
หน่วย (ไร่-งาน-ตารางวา) |
|||||
พื้นที่ ประทานบัตร |
พื้นที่เปิดขุมเหมือง |
ป่าสงวนแห่งชาติ |
ส.ป.ก |
เขตป่าตามมาตรา 4(1) |
น.ส.3 |
|||
ภูทับฟ้า |
119/2535 |
26968/15574 |
130-3-66 |
8 |
130-3-66 |
- |
- |
|
26969/15575 |
241-1-96 |
3 |
135-0-96 |
- |
70-2-71 |
- |
||
26970/15576 |
220-1-70 |
6 |
18-3-0 |
32-2-56 |
148-2-63 |
- |
||
26971/15558 |
281-2-18 |
2 |
148-0-3 |
110-0-43 |
14-1-39 |
- |
||
26972/15559 |
205-3-4 |
35 |
- |
205-3-4 |
- |
35 |
||
ภูซำป่าบอน |
120/2538 |
26973/15560 |
211-0-8 |
32 |
175-3-69 |
21-1-14 |
13-3-25 |
- |
รวม |
1,291-0-62 |
86 |
608-3-34 |
369-3-17 |
312 –2 –13 |
35 |
เหตุอันเนื่องมาจาก ประทานบัตร 6 แปลง ของทุ่งคำ ตั้งอยู่ในที่ดินป่าสงวน และที่ดินที่มีเจตนารมณ์เพื่อให้เกษตรกรได้ทำการเกษตร ได้แก่
ที่ดินในป่าสงวนแห่งชาติ ป่าโคกภูเหล็ก 608 ไร่ 3 งาน 34 ตารางวา กรมป่าไม้โดยการอนุมัติของรัฐมนตรี เป็นผู้ออกใบอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ โดยอธิบดีกรมป่าไม้
แปลงภูซำป่าบอน ประทานบัตรเลขที่ 26973/15560 อายุ 10 ปี อนุญาตเมื่อ วันที่ 31 ธันวาคม 2543 ถึง 30 ธันวาคม 2553
แปลงภูทับฟ้า ประทานบัตรเลขที่ 26968/15574 (ประทานบัตรมีพื้นที่ทั้งหมดอยู่ในเขตป่าสงวน), 26969/15575, และ 26970/15576 อายุ 10 ปี อนุญาตเมื่อ วันที่ 27 ธันวาคม 2545 ถึง 26 ธันวาคม 2555
ส่วนประทานบัตรเลขที่ 26971/15558 กรมป่าไม้ให้รักษาสภาพเป็นป่าไม้ ไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมใดๆ ปัจจุบันใบอนุญาตทั้งหมดหมดอายุ
ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน 369 ไร่ 3 งาน 17 ตารางวา จังหวัดโดยสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัด อนุญาตให้ใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน ประทานบัตรเลขที่ 26970/15576, 26971/15558, 26972/15559, 26973/15560 มีกำหนด 10 ปี ออกให้เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2546 หมดอายุ 29 กรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา
ที่ดินในเขตป่าตามมาตรา 4(1) แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 หมายถึงที่ดิน ที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน 312 ไร่ 2 งาน 13 ตารางวา จังหวัดโดย สำนักงานป่าไม้ เป็นผู้อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดได้ทำหนังสือทวงถามถึงใบอนุญาตไปยังสำนักงานป่าไม้หลายครั้ง แต่เจ้าหน้าที่อ้าง หนังสืออนุญาตตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน ยังหาไม่พบ
และ ที่ดิน น.ส.3 ก. เนื้อที่ 35 ไร่ บนภูทับฟ้าของทุ่งคำ อยู่ในบริเวณประทานบัตรที่ 26972/15559 เป็นที่ดินผืนเดียวของบริษัทที่ใช้เป็นที่ตั้งสำนักงาน โรงงานประกอบโลหกรรม โรงงานบำบัดน้ำเสีย และบ่อเก็บกากแร่จากโรงงาน แต่ก็มีคำถามว่าที่ดินบนยอดเขาภูทับฟ้า ป่าต้นน้ำ มีการออกเอกสารสิทธิ์ซื้อขายกันมาได้อย่างไร
1
ย้อนกลับไปดูอีกครั้งถึงความเชื่อมโยงในประเด็นเรื่องที่ดิน การทำเหมือง อีไอเอเก่า-แก้ไขใหม่ และผลกระทบ
เขตอาชญาบัตรพิเศษแปลงที่ 4 เป็นหนึ่งในพื้นที่สำรวจแหล่งแร่ทองคำโครงการใหญ่ ซึ่งกรมทรัพยากรธรณี ได้นำออกประมูลให้เอกชนเข้าดำเนินการ โดยทุ่งคำได้ดำเนินการสำรวจแหล่งแร่มาตั้งแต่ปี 2535
ตาม สัญญาว่าด้วยการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ แปลงที่สี่ พื้นที่น้ำคิว-ภูขุมทอง วันที่ 5 พฤศจิกายน 2534 ระหว่างกรมทรัพยากรธรณี กับ บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด และกับ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ที่ให้ “เขตสิทธิ” ในการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงแร่อื่นๆ 545 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 340,605 ไร่ โดยไม่ระบุระยะเวลาสิ้นสุดในสัญญา
ทุ่งคำได้ทำการเจาะสำรวจในบริเวณนี้ไปแล้วทั้งหมดจำนวน 148 หลุม คิดเป็นระยะทั้งหมด 14,537 เมตร และยื่นคำขอประทานบัตรรวม 106 แปลง พื้นที่รวม 29,824 ไร่ 3 งาน 75 ตารางวา ปัจจุบันได้รับประทานบัตรแล้ว 6 แปลง พื้นที่รวม 1,291 ไร่ 62 ตารางวา คือ กลุ่มประทานบัตร 5 แปลง ซึ่งร่วมแผนผังโครงการเดียวกัน ได้แก่ ประทานบัตรที่ 26968/15574, 26969/15575, 26970/15576, 26971/15558, 26972/15559 มีเนื้อที่รวมกัน ทั้งหมด 1,080 ไร่ 56 ตารางวา เรียกว่า “โครงการเหมืองแร่ทองคำภูทับฟ้า” อยู่ในเขตอาชญาบัตรพิเศษที่ 119/2535 ของทุ่งคำ
ส่วนประทานบัตรที่ 26973/15560 บนภูซำป่าบอน เนื้อที่ 211 ไร่ 8 ตารางวา พื้นที่ทั้งหมดตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าโคกภูเหล็ก อยู่ในเขตอาชญาบัตรพิเศษที่ 120/2538 ของทุ่งคำ
จากการสำรวจ บริษัทฯ คาดว่าจะสามารถดำเนินการทำเหมืองโดยคิดเป็นผลผลิตทองคำประมาณ 25,700 ออนช์/ปี เป็นระยะเวลา 5 ปี จากปริมาณสำรองที่คาดไว้ประมาณ 2 ล้านตัน
ข้อมูลจาก รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ฉบับเพิ่มเติม) โครงการเหมืองแร่ทองคำ (คำขอประทานบัตรที่ 62-67/2538) ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด จัดทำโดย บริษัท เอส.พี.เอส.คอนซัลติ้ง เซอร์วิส จำกัด (บทความนี้ขอเรียกว่า “อีไอเอฉบับ เอส.พี.เอส.”) ได้รับความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในปี 2541 ระบุว่า ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปของพื้นที่คำขอประทานบัตรตั้งอยู่บนยอดเขาภูทับฟ้า มีลำห้วยที่เป็นลำนํ้าสาขาที่ 1/1 ของห้วยผุก ซึ่งลำนํ้าสายนี้เมื่อจัดเรียงลำดับของลำธาร (Stream Order) จัดได้ว่าเป็นลำนํ้าสาขาอันดับที่ 1 (first order) มีความยาวจากต้นนํ้าถึงปลายนํ้าประมาณ 1.50 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีลำธารเล็กๆ ที่เป็นทางนํ้าไหลชั่วขณะฝนตกในพื้นที่ตอนบนที่เป็นเนินเขาสูงมากมาย
บริเวณที่ตั้งนี้มีห้วยผุกสาขา 1/1 ไหลผ่านกลางพื้นที่จากทิศตะวันตกไปตะวันออกลงสู่ห้วยผุกและห้วยฮวย โดยลำนํ้านี้จะมีนํ้าไหลในช่วงฤดูฝนเท่านั้น และพื้นที่สองข้างลำนํ้าได้ถูกเปลี่ยนสภาพไปเป็นที่นาปลูกข้าวและฝายเก็บกักนํ้าเพื่อเกษตรกรรมหมดแล้วโดยการทำร่องขนาด 1.0-1.5 เมตร ให้นํ้าไหลผ่านและไม่มีที่ตั้งของชุมชนในบริเวณนี้
บริษัทฯ ได้ซื้อที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ (น.ส.3) ตามแนวทางนํ้านี้ไว้บางส่วน (35 ไร่) เพื่อใช้เป็นบริเวณก่อสร้างของโครงการฯ ส่วนพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ก็ได้จ่ายค่าชดเชยพืชไร่และค่าขนย้ายไปตลอดแนวจนถึงต้นนํ้า และวางแผนเพื่อใช้พื้นที่ในบริเวณต้นนํ้าเป็นสระเก็บกักกากแร่จากโรงงาน ซึ่งถัดลงมาทางปลายนํ้าจะใช้เป็นพื้นที่เก็บกักมูลดินทรายจากการทำเหมือง และพื้นที่โครงการเป็นบริเวณบำบัดนํ้าเสีย และพื้นที่ Engineered Wetland
ต่อมา ทุ่งคำได้ทำการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการบางส่วน จึงต้องทำการศึกษาทบทวนมาตราการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อประกอบการขออนุญาตการทำเหมืองอีกครั้งจาก สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ดังนั้น ทุ่งคำจึงว่าจ้างให้ ศูนย์การจัดการสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ และ ศูนย์วิจัยน้ำบาดาล คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการเหมืองแร่ทองคำ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด แปลงประทานบัตรที่ 26968/15574, 26969/15575, 26970/15576, 26971/15558, 26972/15559 และ 26973/15560 (การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต) เดือนสิงหาคม 2552 (บทความนี้ขอเรียกว่า “อีไอเอฉบับ ม.ขอนแก่น”)
อีไอเอฉบับ ม.ขอนแก่น ระบุว่า ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปของพื้นที่กลุ่มประทานบัตรจำนวน 5 แปลง เป็นภูเขาสลับกับหุบเขา และทางนํ้าสายสั้นๆ ไหลจากหุบเขาลงสู่ทางนํ้าสายหลัก ส่วนลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปของพื้นที่ประทานบัตร 26973/15560 บนภูซำป่าบอน ประกอบด้วยภูเขาสลับซับซ้อน เป็นที่ราบหุบเขาและที่ราบลุ่มนํ้า มีทางนํ้าสาธารณะไหลผ่าน 1 สาย คือ ห้วยผุก สายน้ำทั้งหมดไหลลงสู่ ห้วยนํ้าฮวย
พื้นที่ประทานบัตรทั้ง 6 แปลงอยู่ในเขตชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 2 และ 3 โดยพื้นที่ในประทานบัตรส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ส่วนพื้นที่ประทานบัตรทั้งหมดที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าโคกภูเหล็ก มีความสมบูรณ์ของต้นไม้มีค่าน้อยมาก เนื่องจากมีชาวบ้านบางส่วนบุกรุกเข้าไปแผ้วถางป่าเพื่อการเกษตรกรรม ต้นไม้ที่เหลืออยู่เป็นพวกไม้ล้มลุกและป่าไผ่เป็นส่วนใหญ่
ส่วนการศึกษาสภาพอุทกธรณีวิทยาของพื้นที่โครงการ นํ้าบาดาลไหลจากทิศตะวันตกบริเวณที่จะก่อสร้างบ่อกักเก็บกากแร่ ไปยังทิศตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณที่จะก่อสร้างโรงแต่งแร่ นํ้าบาดาลจะไหลอยู่ในระดับตื้น และมีลักษณะไม่ต่อเนื่องกัน
ผลการจำลองระบบการไหลของนํ้าบาดาล พบว่า กระบวนการทำเหมืองและการแต่งแร่ มีผลต่อการไหลของนํ้าบาดาลในพื้นที่ศึกษา และมีการเปลี่ยนแปลงจากสภาพธรรมชาติเนื่องการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่ของโครงการ คือ มีการกักเก็บนํ้าทิ้งกากแร่และบ่อเก็บกักนํ้าใช้ในพื้นที่โครงการ
รวมทั้ง ผลการจำลองให้มีการกักเก็บกากแร่ในบ่อกักเก็บกากแร่ในระดับสงสุด (320 ม.รทก.) แสดงให้เห็นว่าทิศทางการไหลของนํ้าบาดาลมีการไหลเร็วขึ้นและมีทิศทางการไหลลงในแนวดิ่งมากขึ้น
ข้อมูลทั้งหมดนี้หากนำมาวิเคราะห์ตามลักษณะภูมิประเทศของพื้นที่ ซึ่งเป็นภูเขา สลับกับหุบเขา และทางนํ้าสาธารณะ รวมทั้งการที่ประทานบัตรทั้ง 6 แปลง อยู่ในที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน และที่ดินในเขตป่าตามมาตรา 4(1) ซึ่งการเข้าใช้ประโยชน์ต้องมีการอนุญาตจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ ก็ไม่แปลกใจที่อีไอเอฉบับ ม.ขอนแก่น จะระบุประเด็นสำคัญไว้อย่างชัดเจนในมาตรการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการติดตามตรวจสอบว่า
เนื่องจากการทำเหมืองแร่จะก่อให้เกิดผลกระทบในระดับที่สูง โดยหากไม่มีมาตรการที่ดีเพียงพอแล้ว ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะมากกว่าผลตอบแทนที่ได้รับ ดังนั้น มาตรการที่เสนอจะเน้นในเรื่องของการป้องกันอย่างจริงจัง ในขณะเดียวกันการเสนอมาตรการ ได้พิจารณาถึงความป็นไปได้ในเชิงวิศวกรรมและการลงทุน โดยจะต้องไม่เป็นการเพิ่มภาระให้แก่ผู้ประกอบการมากจนเกินไป ในขณะเดียวกันจะได้พิจารณาถึงมาตรการที่เสนอว่าสามารถป้องกันความเสียหายที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมในด้านหนึ่ง แต่กลับไปเพิ่มปัญหาสิ่งแวดล้อมในอีกด้านหนึ่งหรือไม่
หัวใจสำคัญของข้อความตัวหนาที่ปรากฎในข้างต้นเหล่านี้ มีข้อโต้แย้ง ข้อสรุป และยังสะท้อนภาพข้อเท็จจริงหลายประเด็นที่ปรากฎในพื้นที่
อย่างไรก็ตาม บทความนี้ขอเสนอประเด็นแรกที่ผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ได้ร่วมกัน อธิบาย ตรวจสอบ และวิเคราะห์กันมาอย่างถี่ถ้วน
(ผลกระทบจากการทำเหมืองบนพื้นที่ต้นน้ำภูซำป่าบอน)
2
อีกครั้งจากถ้อยคำในอีไอเอฉบับ ม.ขอนแก่น ที่สรุปได้ว่า พื้นที่ประทานบัตรทั้ง 6 แปลงอยู่ในเขตชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 2 และ 3 อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าโคกภูเหล็ก มีความสมบูรณ์ของต้นไม้มีค่าน้อยมาก เนื่องจากมีชาวบ้านบางส่วนบุกรุกเข้าไปแผ้วถางป่าเพื่อการเกษตรกรรม ต้นไม้ที่เหลืออยู่เป็นพวกไม้ล้มลุกและป่าไผ่เป็นส่วนใหญ่
กระบวนการทำเหมืองและการแต่งแร่ มีผลต่อการไหลของนํ้าบาดาลในพื้นที่ศึกษา และมีการเปลี่ยนแปลงจากสภาพธรรมชาติเนื่องการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่ของโครงการ คือ มีการกักเก็บนํ้าทิ้งกากแร่และบ่อเก็บกักนํ้าใช้ในพื้นที่โครงการ
การทำเหมืองแร่จะก่อให้เกิดผลกระทบในระดับที่สูง การพิจารณาถึงความป็นไปได้ในเชิงวิศวกรรมและการลงทุน โดยจะต้องไม่เป็นการเพิ่มภาระให้แก่ผู้ประกอบการมากจนเกินไป
และในอีไอเอฉบับ เอส.พี.เอส. ที่สรุปได้ว่า บนยอดเขาภูทับฟ้า มีลำห้วยที่เป็นลำนํ้าสาขาที่ 1/1 ของห้วยผุก ซึ่งเป็นลำนํ้าสาขาอันดับที่ 1 นอกจากนี้ยังมีลำธารเล็กๆ ที่เป็นทางนํ้าไหลชั่วขณะฝนตกในพื้นที่ตอนบนที่เป็นเนินเขาสูงมากมาย
บริเวณที่ตั้งนี้มีห้วยผุกสาขา 1/1 ไหลผ่านกลางพื้นที่จากทิศตะวันตกไปตะวันออกลงสู่ห้วยผุกและห้วยฮวย โดยลำนํ้านี้จะมีนํ้าไหลในช่วงฤดูฝนเท่านั้นและพื้นที่สองข้างลำนํ้าได้ถูกเปลี่ยนสภาพไปเป็นที่นาปลูกข้าวและฝายเก็บกักนํ้าเพื่อเกษตรกรรมหมดแล้ว
และ บริษัทฯ ได้ซื้อที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ (น.ส.3) ตามแนวทางนํ้านี้ไว้บางส่วน (35 ไร่) เพื่อใช้เป็นบริเวณก่อสร้างของโครงการฯ ส่วนพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ก็ได้จ่ายค่าชดเชยพืชไร่และค่าขนย้ายไปตลอดแนวจนถึงต้นนํ้า และวางแผนเพื่อใช้พื้นที่ในบริเวณต้นนํ้าเป็นสระเก็บกักกากแร่จากโรงงาน ซึ่งถัดลงมาทางปลายนํ้าจะใช้เป็นพื้นที่เก็บกักมูลดินทรายจากการทำเหมือง
สรุปแล้ว ภาษาวิชาการจากข้างต้นเหล่านี้ มีคำอธิบายลักษณะภูมิประเทศและอุทกธรณีวิทยาด้วยภูมิปัญญาที่สะสมมาหลายชั่วอายุคนของชาวบ้าน 7 คน มีเพียงประเด็นใหญ่ๆ 3 ประเด็นที่พวกเขานั่งกางแผนที่ และเขียนแผนที่ขึ้นมาเพื่ออธิบาย
ประเด็นที่ 1 คือ ภูเขา ป่าไม้ และหุบเขา ทั้งหมดในพื้นที่ประทานบัตร คือ “ซำน้ำ” ซึ่งจะมีการเรียกตามลักษณะอาการของน้ำตามธรรมชาติ เช่น น้ำซำ โป่งห้วย น้ำผุด น้ำซ่าง น้ำออกบ่อ ร่อง ที่ล้วนแสดงถึงความหมายในการเป็นแหล่งต้นน้ำ แหล่งน้ำ น้ำใต้ดิน ลุ่มน้ำ และทางน้ำไหลตามธรรมชาติ โดยภูเขาและป่าไม้ในพื้นที่จะทำหน้าที่ซึมซับน้ำฝนเอาไว้
ภูเขา ร่องเขาทุกร่อง น้ำใต้ดินและน้ำบนบกจะเชื่อมต่อถึงกันและมีการแผ่กระจายไหลไปตามระดับจากภูเขา ผ่านหุบเขา ร่องเขา ไปจนถึงที่ลุ่ม
ร่องน้ำตามธรรมชาติในหุบเขาจะมีน้ำไหลตลอดทั้งปี และมีปริมาณเพียงพอต่อการใช้ในครัวเรือนและการใช้น้ำในพื้นที่เกษตรกรรม
ผลผลิตจากป่าหากคำนวณหยาบๆ ใน 1 ฤดูกาล หนึ่งครัวเรือนจะเก็บหน่อไม้ 50 กิโลกรัม ผักหนาม 50 กิโลกรัม ใบตองจากกล้วยป่า น้ำผึ้ง ไข่มดแดง หรือปลา ปู สาหร่าย หอยในล้ำห้วยลำธาร ฯลฯ เพียงครัวเรือนทั้งหมดใน 6 หมู่บ้าน ก็ไม่สามารถประเมินมูลค่าเศรษฐกิจซึ่งเป็นความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืนนี้ได้ ซึ่งสภาพเช่นนี้ขัดแย้งกับ “สภาพป่ามีความเสื่อมโทรม” ที่อีไอเอพยายามกล่าวอ้างอย่างบิดเบือนไว้
และแม้ว่า พื้นที่ประทานบัตรทั้ง 6 แปลง จะถูกกำหนดให้อยู่ในเขตชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 2 และ 3 สามารถใช้พื้นที่ในการทำเหมืองแร่ได้ แต่ในมาตรา 6 ทวิ และมาตรา 6 จัตวา พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 พื้นที่ที่เป็นแหล่งต้นน้ำ หรือ “ป่าน้ำซับซึม” จะต้องคำนึงถึงการเป็นพื้นที่สงวนหวงห้ามก่อนเป็นอับดับแรก แม้จะปรากฏว่ามีแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงก็ตาม
“การที่อีไอเอเขียนว่า ป่ามีความเสื่อมโทรม หรือลำนํ้าได้ถูกเปลี่ยนสภาพไปเป็นที่นาปลูกข้าวและฝายเก็บกักนํ้าเพื่อเกษตรกรรมหมดแล้ว ไม่ใช่ความจริง
“ตั้งแต่เกิดมาผมไม่เคยเห็นน้ำในร่องห้วยแห้ง เพราะเป็นพื้นที่หุบเขา ฝนตก 30% ที่นี่ก็ทำนากันได้แล้ว เพราะภูเขาทั้งหมดจะอุ้มน้ำไว้” สมัย ภักมี ผู้เชี่ยวชาญจากบ้านนาหนองบงอธิบาย
ประเด็นที่ 2 รูปแบบของเกษตรกรรมในร่องห้วย หรือ หุบเขา คือ ภูมิปัญญาด้านการเกษตรในพื้นที่ภูเขาซึ่งมีที่ราบลุ่มน้อย ชาวบ้านจะทำนาปลูกข้าวในทุกหุบเขาที่มีทางน้ำไหลผ่าน โดยจะถมพื้นที่ตรงกลางระหว่างหุบเขาเพื่อทำนา โดยเบี่ยงทางน้ำธรรมชาติออกเป็นสองฝั่งให้ไหลขนาบไปตามแปลงนา และขุดฮองเหมือง เป็นร่องน้ำเล็กๆ แตกแขนงเป็นโครงข่ายไปยังแปลงนาทุกแปลงในหน้าฝน ส่วนฝายเก็บกักนํ้าจะทำไว้ในพื้นที่ที่มีความลาดเอียงสูง เพื่อหน่วงเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ดังนั้นไม่ได้เป็นการทำลายทางน้ำไหลให้เสื่อมสภาพ แต่เป็นระบบเหมืองฝายที่ดำรงอยู่คู่กับการเกษตรในพื้นที่มาจนปัจจุบัน
ประเด็นที่ 3 บนยอดเขาภูทับฟ้า ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการทำเหมืองอยู่ คือพื้นที่ “ซำน้ำ” ซึ่งเป็นต้นกำเนิดน้ำ ชาวบ้านเรียกบริเวณนั้นว่า “โป่งห้วยดินดำ”
แต่เขื่อนเก็บกากแร่ที่ปนเปื้อนไซยาไนด์และโลหะหนักชนิดต่างๆ สร้างขึ้นทับโป่งห้วยดินดำเต็มพื้นที่ ทำให้น้ำใต้ดินและน้ำบนบกจากบริเวณเขื่อนเก็บกากแร่ไหลตรงลงมาทางร่องห้วยเหล็กและร่องเขาอื่นๆ บนภูทับฟ้า ช่วงเวลาที่ผ่านมาแม้จะมีการตรวจสอบว่ามีการปนเปื้อนในห้วยเหล็กและการเกษตรในร่องห้วยเหล็กมากกว่าบริเวณอื่น แต่ระบบน้ำที่ไหลลงมาจากภูเขาทั้งหมดจะเชื่อมต่อถึงกันจากต้นน้ำบนภูเขา ลำห้วย ฮองน้ำในนา (เหมืองฝาย) และน้ำในพื้นที่ทั้งหมดจะไหลไปรวมกันในลำน้ำฮวย
ส่วนพื้นที่ทิ้งขยะจากการทำเหมือง ซึ่งประกอบไปด้วย หิน และมูลดินทราย (เรียกในอีไอเอว่า “มูลดินทราย”) 5 พื้นที่ และลานกองสินแร่ รวมถึงระบบบำบัดน้ำทิ้งและโรงประกอบโลหกรรม ก็สร้างขึ้นมาทับลำน้ำสาขาของห้วยผุกซึ่งเป็นทางน้ำสายหลักที่เชื่อมต่อกับ ซำน้ำโป่งห้วยดินดำ และปิดกั้นทางน้ำธรรมชาติที่ไหลลงจากภูทับฟ้า เรียกว่า “ร่องห้วยดินดำ” “ร่องห้วยลิ้นควาย” และ “ร่องนำซำ” โดยตรง
โอ คำไล้ ผู้เชี่ยวชาญจากบ้านห้วยผุก เล่าถึงความกังวลของผู้คนในพื้นที่ “หลังจากเหมืองเปิดกิจการ ร่องภูทับฟ้าทั้งหมดเคยเป็นป่าสมบูรณ์ ร่องนาซำเมื่อก่อนน้ำไหลตลอดทั้งปี แต่ 2 ปีหลังมานี้น้ำแห้ง ปลูกข้าวปีที่แล้วได้แค่ 3 กระสอบ ถั่วเหลืองที่ปลูกน้ำก็ไม่พอ เพราะร่องทั้งร่องเหมืองเอาหินมากองจนกลายเป็นภูเขาหินลูกใหม่ ปิดทางน้ำไปทั้งร่อง และยังเกิดปัญหาหินไสลด์ลงมาที่แปลงนาหลายครั้งในหน้าฝน น้ำที่ชะล้างมาจากภูเขาหินเราไม่เคยรู้เลยว่ามันปนเปื้อนไปด้วยสารเคมีอะไรบ้าง
“บ่อน้ำซ่าง 2 บ่อที่อยู่ใต้ลงมาจากภูเขาหินทิ้ง เมื่อก่อนชาวบ้านหลายหมู่บ้านในละแวกนี้จะมาตักกินแต่ปัจจุบันกินไม่ได้แล้ว เพราะไม่รู้ว่าปลอดภัยหรือไม่”
สำหรับยอดเขาภูซำป่าบอน ซึ่งเป็นพื้นที่ซำน้ำเช่นกัน ปัจจุบันกลายเป็นขุมเหมืองเก่าที่ผ่านการทำเหมือง ความเป็นแหล่งต้นน้ำตามธรรมชาติเสื่อมสภาพ ลานกองแร่ไม่สามารถฟื้นฟู มีการชะล้างหน้าดินพังทลาย ที่ดินเสื่อมสภาพจนพืชไม่สามารถเจริญเติบโต
ข้อสังเกตที่ผู้เชี่ยวชาญชาวบ้าน ได้อ่านจากอีไอเอฉบับ ม.ขอนแก่น ที่มีเปลี่ยนแปลงรายละเอียดและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตการทำเหมือง ด้วยการย้ายที่ตั้งของโรงแต่งแร่ และการย้ายที่กองหินทิ้งบนภูทับฟ้า ไปทางทิศเหนือประมาณ 200 เมตร นั่นคือ การยอมรับว่า กิจกรรมการทำเหมืองที่สร้างทับอยู่บนพื้นที่ต้นน้ำ ซึ่งภูเขา หุบเขา ร่องน้ำ น้ำใต้ดิน น้ำท่า และการเกษตรของชุมชนโดยรอบมีความสัมพันธ์กันทั้งระบบนั้นส่งผลกระทบรุนแรงมากกว่าที่คาดคิด
แต่หากพิจารณาถึงความป็นไปได้ในเชิงวิศวกรรมและการลงทุนที่อีไอเอเน้นว่า “จะต้องไม่เป็นการเพิ่มภาระให้แก่ผู้ประกอบการมากจนเกินไป”
ในสายตาของชาวบ้านรอบๆ เหมือง ทางแก้เหล่านี้คือการดิ้นรนเพื่อให้เหมืองสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้เท่านั้น
“การทำเหมืองบนภูซำป่าบอน อีไอเอให้ขุดร่องน้ำรอบขุมเหมือง แต่ทุ่งคำไม่ได้ทำตาม เหมืองบนภูทับฟ้ามีการขุดร่องน้ำไว้บ้าง แต่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีการปูผ้ายาง น้ำจึงซึมลงไปถึงน้ำใต้ดิน ฝนตกลงมาน้ำในร่องล้นก็ไหลชะล้างดินในบริเวณที่มีการทำเหมืองมาลงที่นา บ่อเก็บกากแร่ซึ่งปนเปื้อนสารพิษก็ไม่มีการขุดร่องน้ำโดยรอบ การทำเหมืองที่นี่ผู้ประกอบการทำไป แก้ไป ปัญหาเกิดแล้วเกิดอีก มันไม่ถูกต้อง เพราะถ้าคุณจะทำเหมืองที่มีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมร้ายแรงคุณจะต้องทำมาตรการในการปกป้องดูแลกิจการให้ดีตั้งแต่วันแรกก่อนที่จะดำเนินกิจการ” สมัย ภักมี กล่าว
3
10 ปีผ่านไป ที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ ที่ดิน ส.ป.ก และที่ดินเขตป่าตามมาตรา 4(1) รวม 1,291 ไร่ 62 ตารางวา ที่เสื่อมสภาพ เพราะได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง และเป็นต้นเหตุของผลกระทบทั้งมวลที่สร้างความเดือดร้อนให้ชุมชนในพื้นที่โดยยังไม่มีการแก้ไข พร้อมทั้งความพยายามของทุ่งคำที่ต้องการจะขออนุญาตใช้พื้นที่ดังที่กล่าวต่อไป
ล่าสุด ทุ่งคำได้ส่งแผนการฟื้นฟูพื้นที่ทำเหมืองแร่ ตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ฉบับปรับปรุงประจำปี 2556 ที่รายงานการใช้จ่ายเงินในการฟื้นฟูรวม 57,886,322 บาท ตามเงื่อนไขที่ผู้รับอนุญาตจะต้องจัดให้มีแผนบรรเทาผลกระทบที่มีต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อขอต่อใบอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว
แต่ข้อเท็จจริง คือ การฟื้นฟูที่ผ่านมาเหล่านั้นไม่ได้เกิดผลเป็นรูปธรรม
สุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ ให้เหตุผลที่ผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองในพื้นที่โดยรอบได้ทำหนังสือคัดค้านส่งไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบมาอย่างต่อเนื่อง
“ผมถามว่าที่ทุ่งคำได้ฟื้นฟู คือ ฟื้นฟูอะไร พื้นที่ป่าไม้ ส.ป.ก. ที่ป่ามาตรา 4 (1) มีขุมเหมืองแบ่งออกเป็น 3 บริเวณ รวม 6 แปลง 104 ไร่ เขื่อนเก็บกาก 94 ไร่ การฟื้นฟูที่ทุ่งคำทำเป็นแค่การสร้างภาพเพื่อเป็นข้ออ้างในการขออนุญาตใช้พื้นที่ต่อเท่านั้น นี่คือข้อเท็จจริงที่ปรากฎอยู่อย่างชัดเจนทั้งขุมเหมืองบนภูซำป่าบอน และผลกระทบต่างๆ ที่เกิดจากการทำเหมืองบนภูทับฟ้า
“เวลานี้เมื่อใบอนุญาตดังกล่าวทั้งหมดได้หมดอายุลงแล้ว เราจึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหยุดขั้นตอนและไม่ต่อใบอนุญาตให้ทุ่งคำใช้พื้นที่ ขอให้มีการปิดเหมือง ฟื้นฟู และขอคืนพื้นที่ป่าไม้ และ พื้นที่ ส.ป.ก. มาให้เกษตรกรและชาวเมืองเลยได้ใช้ประโยชน์ตามเจตนารมณ์ของการรักษาป่าและการให้ที่ดินเพื่อเกษตรกรได้ทำเกษตรต่อไป” สุรพันธ์ กล่าว
สำหรับกิจกรรม “พาน้องร้องเพลง” ที่เป็นการส่งเสียงสะท้อนต่อปัญหาผลกระทบหลังจากมีเหมืองทองคำเกิดขึ้นในพื้นที่ ทั้งที่หน้าสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเลย และ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรจังหวัดเลย
อย่างน้อยที่สุด เสียงที่ตอบรับว่าได้ยินแล้ว หนึ่งในนั้นคือ วัชรินทร์ วากะมะนนท์ ปฏิรูปที่ดินจังหวัด ที่ประกาศกับชาวบ้านในทันทีว่า “ส.ป.ก. ไม่เคยรู้เห็นเป็นใจกับบริษัทเหมืองทองคำ และจะไม่ต่ออายุใบอนุญาตให้บริษัทฯ ใช้ที่ดิน ส.ป.ก. ต่อ ประเด็นปัญหาเรื่องที่ดินเหมืองทองจะรอเวลาให้คดีทั้งหมดถึงที่สุดแล้วจะดำเนินการจัดสรรที่ดิน ส.ป.ก. ให้กับประชาชนได้มีที่ดินทำกินตามนโยบายของ ส.ป.ก. ขอให้ทุกคนวางใจได้”
ที่นี่ เหมืองแร่ เมืองเลย ยังมีประเด็นปัญหาใหญ่ๆ อีกมากมายหลายเรื่องที่ชาววังสะพุงรอบเหมืองทองยังต้องต่อสู้และสะสางกันต่อไป ...โปรดติดตาม
เนื้อหาในบทความ สรุปจากการประชุม “นักสะดำป่าและน้ำวิเคราห์อีไอเอ” วันที่ 17 มีนาคม 2557 ณ หมู่บ้านาหนองบง ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย
ผู้ร่วมประชุม 1.นายสมัย ภักมี 2.นายโอ คำไล้ 3.นายประหยัด ศรสุภาพ 4.นายฉ่ำ คุณนา 5.นางใหม่ รามศิริ 6.นายศรีไพร คำไล้ 7.นางสาวภัทราภรณ์ แก่งจำปา (นักสะดำ หมายถึง ผู้เชี่ยวชาญ)