เปิดสถานการณ์มลพิษไทย ปี 56 ‘ขยะพุ่ง-น้ำเน่า-อากาศเสื่อม’ โจทย์ใหญ่ที่รอแก้ไข
กรมควบคุมมลพิษเปิดข้อมูลสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ปี 2556 ขยะมูลฝอยพุ่ง 2.6 ล้านตัน เทียบเท่าตึกใบหยก 139 ตึก ‘สงขลา’ คว้าแชมป์เมืองสกปรกขยะสะสมมากสุด พบพื้นที่เสี่ยงอากาศเสื่อมดีขึ้น แต่แม่น้ำท่าจีน-ระยอง เน่าเสียตลอดสาย ทะเลชายฝั่งน่าห่วงคุณภาพน้ำดีเหลือน้อย เหตุชุมชนปล่อยน้ำเสีย ‘หาดชะอำ’ วิกฤตเสื่อมโทรมด้วย
ปี 2556 ประเทศไทยเกิดสถานการณ์ด้านมลพิษที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อพูดถึงความสำคัญอันดับต้น ๆ และประสบปัญหาในด้านการจัดการมากที่สุด คงหนีไม่พ้นมลพิษ 3 ด้าน คือ ขยะ อากาศ และน้ำ ที่กำลังเข้าสู่ภาวะเสื่อมโทรมทุกขณะ
โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นำทีมตั้งโต๊ะแถลงข่าว ‘สถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ปี 2556 และแนวทางการดำเนินงานปี 2557’ ท่ามกลางสื่อมวลชนเข้าร่วมคับคั่ง ด้วยประจวบเหมาะการเปิดเผยข้อมูลครั้งนี้กำลังอยู่ในกระแสเหตุการณ์เกิดเพลิงไหม้บ่อขยะแพรกษา จ.สมุทรปราการพอดิบพอดี
ขยะมูลฝอยล้นเมือง 26 ล้านตัน เทียบเท่าตึกใบหยก 139 ตึก
ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าสถานการณ์ขยะมูลฝอยนับเป็นปัญหาสำคัญอันดับ 1 โดยปัจจุบันไทยมีปริมาณขยะ 26.77 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ถึง 2 ล้านตัน เทียบเท่ากับตึกใบหยก 2 จำนวน 139 ตึก เรียงต่อกัน
มีขยะที่ได้รับการกำจัดอย่างถูกต้องเพียง 7.2 ล้านตัน เท่านั้น
ขณะที่ปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกดึงนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่มีเพียง 5.1 ล้านตัน
ทั้งนี้ ไทยมีสถานที่กำจัดขยะอยู่ทั้งหมด 2,490 แห่ง แบ่งเป็นสถานที่ที่มีการกำจัดแบบถูกต้อง 466 แห่ง ส่วนที่เหลืออีก 2,024 แห่ง จะเป็นสถานที่กำจัดแบบไม่ถูกต้อง เช่น การเทกองกลางแจ้ง เผาในที่โล่ง จึงส่งผลให้เกิดขยะสะสมตกค้างเพิ่มขึ้นสูงถึง 19.9 ล้านตัน เทียบเท่ากับตึกใบหยก 2 จำนวน 103 ตึก เรียงต่อกันนั่นเอง
จังหวัดที่มีวิกฤตปัญหาการจัดการขยะมากที่สุด (จังหวัดสกปรก) ตามความหมายของกรมควบคุมมลพิษ คือ สงขลา สมุทรปราการ กาญจนบุรี นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ราชบุรี เพชรบุรี แพร่ ปราจีนบุรี และพระนครศรีอยุธยา
และหากมองเฉพาะปัญหาขยะสะสม จังหวัดที่มีปัญหาการจัดการมากที่สุด คือ สงขลา สมุทรปราการ กาญจนบุรี นครศรีธรรมราช เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี ราชบุรี ขอนแก่น พระนครศรีอยุธยา และปราจีนบุรี
“จ.สงขลา มีปริมาณขยะสะสม 2,471,840.40 ตัน อัตราเฉลี่ยสะสมต่อคน 1,772.42 กก. ในขณะที่กรุงเทพฯ ภูเก็ต และนนทบุรี ที่ถูกยกย่องให้เป็นจังหวัดที่มีการจัดการขยะดีที่สุดนั้นไม่มีปริมาณขยะสะสมเลย” รายงานชิ่้นนี้ระบุ
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากอัตราการผลิตขยะ/คน/วัน ในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา มีอัตราแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปี 2551 เท่ากับ 1.03 กก./คน/วัน ปัจจุบัน 1.15 กก./คน/วัน จึงถือได้ว่านโยบายการลดปริมาณขยะตามแนวทางขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของกรมควบคุมมลพิษไม่บรรลุผล!!
ลักลอบทิ้งของเสียอันตรายมากกว่า 10 ครั้ง
มีอีกข้อมูที่น่าสนใจ รอบปี 2556 ของเสียอันตราย กรมควบคุมมลพิษ พบว่า มีการลักลอบทิ้งกากของเสียมากกว่า 10 ครั้ง สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยข้อมูลระบุว่า ราว 2.04 ล้านตัน เป็นของเสียจากภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเกือบครึ่งอยู่ในภาคตะวันออก รองลงมากรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคกลาง ล้วนแล้วแต่เป็นแหล่งตั้งอุตสาหกรรมอันดับต้น ๆ ของประเทศทั้งสิ้น
สำหรับของเสียจากภาคชุมชนนั้นมีราว 0.61 ล้านตัน โดยเป็นซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ร้อยละ 65 เช่น โทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เครื่องเล่นดีวีดี ซึ่งมักถูกจัดการนอกระบบด้วยการขายให้กับร้านรับซื้อของเก่า ส่วนของเสียประเภทแบตเตอรี่ หลอดไฟ ภาชนะบรรจุสารเคมี อีกร้อยละ 35 นั้น มักขาดการกำจัดที่มีประสิทธิภาพ จะถูกทิ้งปนไปกับขยะทั่วไป
“ในอนาคตการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จะเป็นปัญหาใหญ่ เพราะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ทำให้ผู้บริโภคทิ้งและซื้อใหม่ ประกอบกับผู้ขายสินค้ายังขาดระบบการเก็บหรือเรียกคืนผลิตภัณฑ์ จนอาจกลายเป็นภาระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีสถานที่กำจัดอย่างถูกต้อง ส่วนบริษัทเอกชนที่มีความสามารถนั้นก็มีเพียง 3 แห่งเท่านั้น"
มูลฝอยติดเชื้อ 5 หมื่นตัน กำจัดถูกต้องเพียง 75%
ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษยังได้ร่วมกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สำรวจข้อมูลมูลฝอยติดเชื้อ พบมีมากถึง 50,481 ตัน มีอัตราการเกิดสูงขึ้นทุกปี ซึ่งที่ผ่านมามีการส่งไปเผายังเตาเผาเอกชน อปท. และโรงพยาบาล อย่างถูกต้องเพียงร้อยละ 75
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันโรงพยาบาลเผากำจัดเองโดยเตาเผาอย่างน้อย 142 แห่ง (2,352 ตัน/ปี) ส่วนปริมาณมูลฝอยติดเชื้อที่เหลือจะส่งมอบให้เอกชนเป็นผู้รับเก็บขนและส่งไปกำจัดยังสถานที่ของอปท.ที่เปิดดำเนินการ 10 แห่ง เอกชนไม่น้อยกว่า 8 แห่ง ดังนั้น จึงต้องมีระบบควบคุมการขนส่งไปยังเตาเผาและการควบคุมเตาเผาอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับสถานพยาบาลขนาดเล็ก เช่น คลินิก โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และสถานพยาบาลสัตว์ ยังมีข้อจำกัดเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ขนส่ง และกำจัดมูลฝอยติดเชื้ออยู่
ท้ายที่สุด กรมควบคุมมลพิษ มองว่า ควรมีการผลักดันให้ ‘การจัดการขยะมูลฝอยเป็นวาระแห่งชาติ’ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้พยายามดำเนินนโยบายทำให้ขยะทุกประเภทมีการจัดการที่ถูกต้อง และไม่ให้เกิดการลักลอบทิ้งหรือมีขยะเกลื่อนเมือง ผ่านกลไก ‘โครงการเมืองสวยใสไร้มลพิษ’ โดยให้สำนักงานสิ่งแวดล้อมเป็นภาคสนับสนุนอปท.ที่เข้าร่วมขณะนี้ 1,096 แห่ง ใน 76 จังหวัด ร่วมขับเคลื่อนในพื้นที่ตนเอง
4 พื้นที่วิกฤตคุณภาพอากาศเสื่อม
เมื่อพูดถึงสถานการณ์ของคุณภาพสิ่งแวดล้อมด้านอากาศ สามารถจำแนกพื้นที่วิกฤตได้ 4 แห่ง คือ...
-ต.หน้าพระลาน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี ถูกประกาศให้เป็นเขตควบคุมมลพิษตั้งแต่ปี 2547 ด้วยมีปัญหาฝุ่นละอองติดอันดับสูงสุดของประเทศ เนื่องจากมีกิจกรรมโรงโม่ เหมืองหิน โรงงานปูนซีเมนต์ โรงแต่งแร่ ซึ่งรอบปีที่ผ่านมามีสถานการณ์แนวโน้มที่ดีขึ้น
“จำนวนวันที่ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM10) สูงเกินมาตรฐานลดลง จาก 137 วัน เหลือ 95 วัน ค่าเฉลี่ยรายปีลดลง จาก 107 มคก./ลบ.ม. เหลือ 98 มคก./ลบ.ม. แต่ยังเหลือเพียงเรื่องการขนส่งหิน ผลิตภัณฑ์จากหิน และอื่น ๆ ที่ต้องควบคุมให้มีการปิดคลุมให้มากขึ้น”
-ต.มาบตาพุด จ.ระยอง ถูกประกาศให้เป็นเขตควบคุมมลพิษตั้งแต่ปี 2552 ปัญหามลพิษหลัก คือ สารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ในชั้นบรรยากาศทั่วไป ได้แก่ สารเบนซิน 1,3 บิวทาไดอีน และ1,2ไดคลอโรอีเทน เกินค่ามาตรฐาน และมีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2555 ทำให้สถานการณ์ทรงตัว-แย่ลงเล็กน้อย
“ปัญหาหลักเกิดจากการระบายของภาคอุตสาหกรรมในกิจกรรมที่ไม่ใช่การผลิตปกติ ได้แก่ การปิดปรับปรุง การซ่อมบำรุงอุปกรณ์เครื่องจักร และการเริ่มเดินระบบ รวมทั้งกิจกรรมท่าเรื่อที่มีการเก็บรักษา ขนถ่าย ซึ่งจะมีการกำหนดมาตรฐานและมาตรการที่เข้มงวดต่อไป”
-คุณภาพอากาศกทม./ปริมณฑล พบปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM10) ก๊าซโอโซน และสารอินทรีย์ระเหยง่าย เกินค่ามาตรฐานต่อเนื่องมาตลอด 10 ปี และในปี 2556 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากกว่าภาคอื่นของประเทศตามจำนวนรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ พื้นที่ปริมณฑลยังได้รับผลกระทบก๊าซโอโซนจากโรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรมร่วมด้วย จึงถือว่าสถานการณ์แย่ลง
“กรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะพื้นที่ริมถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร (เกินค่ามาตรฐาน 24 ชั่วโมง จำนวน 38 วัน ค่าเฉลี่ยรายปี 82 มคก./ลบ.ม.) ถนนพระราม 4 เขตปทุมวัน (25 วัน ค่าเฉลี่ยรายปี 67 มคก./ลบ.ม.) และจังหวัดในเขตปริมามณฑล คือ สมุทรสาคร (ค่าเฉลี่ยรายปี 89 มคก./ลบ.ม.) และ สมุทรปราการ (ค่าเฉลี่ยรายปี 64 มคก./ลบ.ม.)”
-หมอกควันภาคเหนือ จะเห็นว่าสถานการณ์ดีขึ้นกว่าปี 2555 โดยพบฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM10) เกินเกณฑ์มาตรฐาน 46 วัน จากเดิม 63 วัน ส่วนค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงสูงสุดอยู่ที่ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน 428 มคก./ลบ.ม. ค่าเฉลี่ยรายปีสูงสุด อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง 60 มคก./ลบ.ม. ซึ่งเป็นผลมาจากแต่ละจังหวัดมีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับการวางแผนมาตรการจัดการคุณภาพอากาศในอนาคตนั้นจะต้องมีการติดตามตรวจสอบผลกระทบภายหลังไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ปี 2558 ด้วยการตรวจวัดมลพิษจากยานพาหนะด่านชายแดนหลัก 5 แห่ง ใน 5 ภาคของประเทศ พร้อมทั้งตรวจวัดมลพิษในบรรยากาศบริเวณพื้นที่เสี่ยงมลพิษข้ามแดนจากอุตสาหกรรมประเทศเพื่อนบ้าน
รวมถึงกำหนดมาตรการการควบคุมจำนวนยานพาหนะและอุตสาหกรรมในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และเข้มงวด สำหรับสาร VOCs ในเขตอุตสาหกรรม ในกิจกรรมหลักที่ต้องมีการควบคุม ได้แก่ การขนถ่าย การเก็บรักษาสารเคมี และการซ่อมบำรุงอุปกรณ์เครื่องจักร
ตะลึง! แม่น้ำท่าจีน-ระยอง เน่าทั้งสาย
ไทยถือเป็นประเทศที่อุดมไปด้วยทรัพยากรทางน้ำ แต่เนื่องด้วยการพัฒนาของประเทศที่รุกหน้า จนส่งผลให้คุณภาพน้ำของแหล่งน้ำหลายสายอยู่ในเกณฑ์ดีเพียง ร้อยละ 26 พอใช้ ร้อยละ 51 และเสื่อมโทรม ร้อยละ 23 เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาและข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี ถือว่ามีแนวโน้มเสื่อมโทรมลง เพราะมีบริเวณน้ำดีลดลง แต่บริเวณเสื่อมโทรมเพิ่มขึ้น
“แหล่งน้ำผิวดินที่มีความเสื่อมโทรมมาก ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง แม่น้ำท่าจีนทั้งสาย ลำตะคองตอนล่าง แม่น้ำระยองทั้งสาย พังราดตอนบน แม่น้ำชุมพร แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำลพบุรี แม่น้ำสะแกกรัง แม่น้ำเพชรบุรีตอนล่าง และบึงบอระเพ็ด” รายงานระบุ และว่าสำหรับแหล่งน้ำผิวดินที่มีคุณภาพน้ำดีนั้น ได้แก่ แม่น้ำวัง อิง กก ลี้ แม่จาง แควใหญ่ แควน้อย อูน สงคราม หนองหาร ลำชี เวฬุ ประแสร์ ตาปีตอนบน ตรัง ปัตตานีตอนบน และพุมดวง
นอกจากนี้หากจะจัดอันดับแม่น้ำที่เสื่อมโทรมมากที่สุดในประเทศไทย ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง บริเวณจ.นนทบุรี กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ ในขณะที่แม่น้ำที่มีคุณภาพน้ำดีที่สุด ได้แก่ ลำชี บริเวณจ.สุรินทร์และบุรีรัมย์
พบ ‘หาดชะอำ’ คุณภาพน้ำเสื่อมโทรมมาก
ด้านมลพิษน้ำทะเลชายฝั่ง จากระยะทางของชายฝั่งกว่า 3,000 กม. มีคุณภาพน้ำที่อยู่ในเกณฑ์ดี ร้อยละ 16 พอใช้ ร้อยละ 35 เสื่อมโทรม ร้อยละ 36 และเสื่อมโทรมมาก ร้อยละ 13 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี พบว่าน้ำทะเลอยู่ในเกณฑ์น่าเป็นห่วง เพราะบริเวณที่เคยมีคุณภาพน้ำดีมาก ขณะนี้ไม่มีเลย และบริเวณที่อยู่ในเกณฑ์ดีก็เหลือน้อยเต็มที
สำหรับบริเวณที่มีความเสื่อมโทรมมากนั้น ได้แก่ ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ปากคลอง 12 ธันวา หน้าโรงฟอกย้อม กม.35 บางขุนเทียน ปากแม่น้ำท่าจีน ปากแม่น้ำแม่กลอง ท่าเรือสัตหีบ ท่าเรือแหลมงอบ หาดชะอำ ปากคลองท่าเคย หาดชาญดำริ ปากน้ำระนอง ทั้งหมดล้วนเกิดจากการระบายน้ำเสียจากชุมชนและภาคเกษตรกรรม การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง และอุตสาหกรรม
“ระบบบำบัดน้ำเสียรวมชุมชนสามารถรองรับน้ำเสียที่เกิดจากประชาชนได้เพียงร้อยละ 10 นอกจากนี้ยังพบมลพิษบำบัดน้ำเสียเป็นไปตามมาตรฐานเพียงร้อยละ 40” รายงานระบุ
สำหรับมาตรการป้องกันในอนาคต ต้องมีการคำนึงถึงศักยภาพของพื้นที่ในการอนุญาตประกอบกิจการ หรือให้สถานประกอบการมีระบบบำบัดน้ำเสียตั้งแต่เริ่มต้น การกำหนดเขตโซนนิ่ง การพิจารณาอนุญาตระบายมลพิษ หรือการเก็บภาษีมลพิษทางน้ำ และต้องประกาศเขตควบคุมมลพิษด้วย แม้ที่ผ่านมาจะมีการประกาศแล้ว แต่ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงสถานการณ์มลพิษบางส่วนของประเทศไทยที่กำลังเสื่อมโทรมเท่านั้น ซึ่งท้ายที่สุด การเเก้ปัญหาที่ตรงจุดเเละดีที่่สุด คงต้องเริ่มจากการสร้างจิตสำนึกใหม่ในการอนุรักษ์เเละป้องกันมลพิษที่คาดว่าอาจเกิดขึ้นมากในอนาคตต่อไป .