กกต.นัดถกแนวทางเลือกต้ังใหม่ 24 มี.ค.
“กกต.” น้อมรับคำวินิจฉัยศาลรธน. เตรียมถกนัดพิเศษหารือแนวทาง 24 มี.ค.นี้ คาดจัดเลือกตั้งครั้งหน้าไม่ควรตำกว่า 3 เดือน ไม่หวั่นถูกฟ้อง ยันทำตามกฎหมายทุกประการ
เมื่อวันที่ 21 มี.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ว่า กกต.น้อมรับ เพราะคำวินิจฉัยดังกล่าว ซึ่งนายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการกกต. ก็ได้เรียกประชุมผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานกกต. เพื่อเตรียมความในการดำเนินการหลังจากนี้ แต่ถึงอย่างไรก็ต้องรอคำวินิจฉัยกลางอย่างเป็นทางการก่อน ว่าจะให้กกต. ดำเนินการอย่างไร และจะเป็นแนวทางเดียวกับคำวินิจฉัย ปี 2549 หรือไม่ ยืนยันว่า กกต.มีความพร้อมในการจัดการเลือกตั้ง ส่วนกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าการเลือกตั้งไม่เป็นวันเดียวทั่วราชอาณาจักรนั้น เพราะมีการขัดขวางการเลือกตั้ง ผอ.เขต ไม่สามารถเปิดรับสมัครได้ แม้เปลี่ยนสถานที่แล้วก็ยังโดนปิดล้อม และเรื่องนี้ กกต. ก็ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อแจ้งปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไปเมื่อวันที่ 8 ม.ค. แล้ว ว่า หากจัดการเลือกตั้งจะเกิดปัญหาอุปสรรคอย่างไรบ้าง อีกทั้งเรื่องนี้ไม่ใช่ความผิดของ กกต. แต่มาจากปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ และยืนยันว่า ที่ผ่านมา กกต.ดำเนินการอย่างรอบครอบ ตามกฎหมายทุกประการ ย่อมได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง มาตรา 20 วรรคสอง และการรับสมัครส.ส.เขต นั้น เป็นอำนาจหน้าที่ของผอ.เขต กกต. ไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายได้
“ ในวันจันทร์ที่ 24 มี.ค.นี้ จะมีการเรียกประชุมกกต.นัดพิเศษ เพื่อหารือถึงแนวทางในการดำเนินการต่อไป เนื่องจากมีประเด็นปัญหาอีกมากมาย เช่น เรื่องของค่าใช้จ่าย ค่าสมัคร และคดีต่างๆที่ร้องเรียนเข้ามา อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเห็นว่าหลังจากนี้ต้องมีการหารือกับรัฐบาลและพรรคการเมือง เพื่อกำหนดวันเลือกตั้งที่เหมาะสม คล้ายกับการออก พ.ร.ฎ.แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งส.ส.ทั่วไป เมื่อปี 49 และก็คิดอยู่เหมือนกันว่าอาจจะมีเหตุการณ์ซ้ำรอยเกิดขึ้น แต่ไม่กังวล เพราะเป็นเรื่องอนาคต เวลาผ่านไปสถานการณ์อาจเปลี่ยนไป และเชื่อว่า หากทุกฝ่ายคิดถึงประเทศชาติเป็นหลัก การเลือกตั้งที่ทำให้มีรัฐบาลใหม่เกิดขึ้นนั้นก็จะทำให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้ และจากประสบการณ์การเลือกตั้งที่ผ่านมา ทางเลขาฯกกต. และกกต. ได้หารือเพื่อวางแนวทางป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ถ้าหากมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก
เมื่อถามว่า คำวินิจฉัยดังกล่าวจะเป็นบรรทัดฐานหรือไม่ หากมีคนไปปิดหน่วยเลือกตั้งเพียงบางหน่วยก็ทำให้การเลือกตั้งทั้งหมดเป็นโมฆะ นายศุภชัย กล่าวว่า ก็มีหลายฝ่ายที่ให้ความเห็นเช่นนั้น แต่เราคงไม่สามารถก้าวล่วง หรือวิจารณ์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ ส่วนจะจัดการเลือกตั้งลำบากหรือไม่นั้นคงต้องดูในอนาคต ส่วนตัวมองว่าถ้าสถานการณ์รุนแรง ก็ยังไม่ควรจัดการเลือกตั้ง จัดไปก็เสียงบประมาณเปล่า แต่การจะให้เราไปพูดคุยกับฝ่ายการเมือง คงไม่ใช่หน้าที่กกต. แต่คิดว่าระยะเวลาในการจัดการเลือกตั้ง คงไม่นานมาก แต่อย่างน้อยก็คงไม่น้อยกว่า 3 เดือน นับแต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย
ด้านนายภุชงค์ กล่าวว่า การเลือกตั้งหลังจากนี้ต้องดูที่สถานการณ์ ยืนยันว่าเราไม่ได้งอมืองอเท้า แต่ขณะนี้ กปปส.เขาก็ไม่ยอม และคิดว่าถ้ารัฐบาลบังคับใช้กฎหมายได้ปกติ ปัญหาต่าง ๆ ก็จะคลี่คลาย ส่วนกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า หากพรรคประชาธิปัตย์ไม่ลงเลือกตั้งอีกครั้ง จะทำให้สามารถถูกฟ้องยุบพรรคหรือไม่นั้น ประเด็นนี้ยังเป็นที่ถกเถียงในเรื่องของข้อกฎหมาย ตนได้สั่งการให้ฝ่ายกิจการพรรคการเมืองนำเสนอเรื่องดังกล่าวต่อ กกต. ซึ่งกฎหมายได้ระบุว่าหากพรรคการเมืองไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งติดต่อกัน 2 ครั้งภายในระยะเวลา 8 ปี จะทำให้ถูกฟ้องยุบพรรคการเมืองหรือไม่ แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ ศาลได้วินิจฉัยแล้วว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ กกต.ต้องพิจารณาว่า การไม่ลงเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ในครั้งนี้เป็นโมฆะไปด้วยหรือไม่