“จาตุรนต์” ชี้เลือกตั้งโมฆะ นำไปสู่ความขัดแย้ง – รัฐประหาร
“จาตุรนต์” โพสต์เฟซบุ๊กตีความคำวินิจฉัย “ศาลรธน.” ให้เลือกตั้งโมฆะ ระบุไม่มีวันจบหาก “ปชป.” ไม่ได้เป็นรัฐบาล ลั่นหากไม่ใช้กลไกเลือกตั้ง จะนำไปสู่ความขัดแย้ง และเกิดรัฐประหาร
จากกรณีเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะ เนื่องจากยังไม่มีการจัดเลือกตั้งใน 28 เขตเลือกตั้ง จึงถือว่าไม่ได้เป็นการเลือกตั้งวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ส่งผลให้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 108 วรรค 2 นั้น
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2557 เวลา 13.00 น. นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ความหมายทางการเมืองการที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะนั้น ถือว่าเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครรั้งหนึ่งที่มีผลเป็นการเพิ่มอำนาจให้แก่ผู้ตรวจการแผ่นดิน และศาลรัฐธรรมนูญในการล้มเลือกตั้ง และการเลือกตั้งจะไม่มีวันจบตราบใดที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ไม่ได้เป็นรัฐบาล
“หากสังคมไทยไม่สามารถใช้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้ การฉีกรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้น นำไปสู่ความขัดแย้ง ความรุนแรง ซึ่งในที่สุดก็จะเกิดการรัฐประหาร” นายจาตุรนต์ ระบุ
ข้อความฉบับเต็ม :
ความหมายทางการเมืองของการที่ศาลรธน.ตัดสินให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ. เป็นโมฆะ
1.เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่งมีผลเป็นการเพิ่มอำนาจให้แก่ผู้ตรวจฯและศาลรัฐธรรมนูญเองในการล้มการเลือกตั้ง
2.ฝ่ายที่ไม่เชื่อถือการเลือกตั้งมีกลไกมากขึ้นที่จะกำหนดว่าการเลือกตั้งจะไม่มีวันจบตราบเท่าที่ไม่มีหลักประกันว่า ปชป.จะต้องชนะและได้เป็นรัฐบาลเท่านั้น
3.เมื่อกปปส.ขัดขวางการเลือกตั้งอย่างที่ผ่านมา การเลือกตั้งจะไม่เกิดขึ้นตามกำหนดแต่จะต้องเลื่อนไปเรื่อยๆด้วยข้ออ้างว่าต้องเลือกตั้งในวันเดียวกันเท่านั้น มิฉะนั้นเลือกไปก็ต้องเป็นโมฆะอีก
4.เพิ่มทางเลือกให้แก่ปชป.ว่าจะลงสมัครหรือไม่ ซึ่งปชป.จะลงสมัครต่อเมื่อแน่ใจว่าจะชนะการเลือกตั้งเช่นนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลถูกจัดการจนราบคาบหมดแล้ว แต่แนวโนัมปชป.จะไม่ลงสมัครอยู่ดีเพราะเห็นว่าจะไม่ชนะและยังกลัวจะขัดแย้งกับสุเทพและพวก
5.เมื่อปชป.ไม่ลงสมัคร การเลือกตั้งนี้ก็จะไม่มีวันจบ องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญก็จะจัดการกับรัฐบาลและนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลต่อไปเพื่อให้เกิดสภาพสูญญากาศทางการเมืองจะได้นำไปสู่การใช้มาตรา 3 และมาตรา 7 ตั้งรัฐบาลคนนอกและปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง
6.เป็นโอกาสที่พรรคการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้งทั้งหลายจะตัดสินใจว่าจะกำหนดท่าทีและนโยบายอย่างไรในการเลือกตั้งครั้งใหม่นี้ เพื่อให้มีผู้สนับสนุนการเลือกตั้งมากขึ้นและนำไปสู่การปฏิรูปตามครรลองประชาธิปไตย
7.หากสังคมไทยไม่สามารถใช้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้ การฉีกรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้น นำไปสู่ความขัดแย้ง ความรุนแรงซึ่งในที่สุดก็จะเกิดการรัฐประหาร
8.การรัฐประหารที่เกิดขึ้นไม่ใช่ทางออกหรือจุดจบของความขัดแย้ง แต่จะเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง ความรุนแรงและความสูญเสียครั้งใหญ่ของสังคมไทย
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก แฟนเพจ Chaturon Chaisang