ชมความงาม ‘พุทธมณฑลทราย’ พิธีวัชรยานบูชา ถวายสมเด็จพระสังฆราช
ชมความงาม ‘พุทธมณฑลทราย-ศิลปกรรมเนยแข็ง’ จากพระสงฆ์นิกายวัชรยาน จัดพิธีกรรมถวายเครื่องบูชาพระศพสมเด็จพระสังฆราช พร้อมสวดอ้อนวอนให้พระองค์เกิดใหม่ หวังขจัดทุกข์บำรุงสุขชาวพุทธทั่วโลก
‘วัชรยานบูชา’ ถือเป็นพิธีกรรมการบำเพ็ญกุศลพระศพทางพระพุทธศาสนานิกายวัชรยาน ที่อินเดียจัดถวายสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆ ปรินายก เพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์ที่มีต่อกันมานาน เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2557 ณ วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร โดยมี Geshe Jambey Doejee เป็นหัวหน้าคณะ พร้อมภิกษุสงฆ์ 18 รูป แห่ง GRL Monastery Bomdila ประเทศอินเดีย เป็นผู้จัดถวาย
ซึ่งการทำพิธีเพื่อแสดงถึงความอาลัยครั้งนี้ จุดเด่น คือ การสร้างพุทธมณฑลทราย หรือ มันดาล่า (Sand mandala) ทำมาจากเม็ดทรายหรือหินบดย้อมสีเรียงกันตามรูปแบบที่วางไว้ สำหรับคำว่า ‘มันดาล่า’ แปลว่า ล้อมรอบจุดศูนย์กลาง ใช้ในความหมายควบคู่กับคำว่า ‘โพธิ’ แปลว่า การตื่นรู้ บรรลุธรรม อันบ่งบอกถึงสถานที่นั่งภายใต้ต้นโพธิ์ที่มีการตรัสรู้
ฉะนั้น ‘มันดาล่า’ จึงหมายถึง จักรวาลอันบริสุทธิ์ ที่สิ่งประเสริฐทั้งมวลถูกรวมไว้ภายในวงกลมศักดิ์สิทธิ์ ถือเป็นสัญลักษณ์ที่มงคล อันแสดงออกถึงสภาวะการรู้แจ้งอย่างถ่องแท้ ด้วยต้องใช้ความประณีตและอดทนในการสร้างสร้างอย่างสูง โดยพุทธมณฑลทรายครั้งนี้ ชื่อว่า ‘อวโลกิเตศวร’
นอกจากนี้อีกหนึ่งเครื่องบูชา คือ ศิลปกรรมจากเนยแข็ง ซึ่งทำจากจามรี นำมาย้อมสี ก่อนจะแกะสลัก ปั้น ตกแต่ง ในรูปแบบสัญลักษณ์ในพิธีทางพระพุทธศาสนาหรือวันปีใหม่
พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร อธิบายที่มาความสัมพันธ์ก่อนเกิดพิธีครั้งนี้ว่า พุทธศาสนาในโลกนี้คนไทยมักคุ้นเคยกับนิกายเถรวาท แต่ความจริงแล้วยังมีอีก 2 นิกาย ที่มีความยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน คือ นิกายมหายานและนิกายวัชรยาน
ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชได้รับการยอมรับจากคณะสงฆ์ทุกนิกาย โดยในความเป็น ‘สกลมหาสังฆ ปรินายก’ นั้น พระองค์ทรงดูแลพุทธศาสนาทุกนิกาย แต่สำหรับในไทยอาจจะไม่เห็นการทำพิธีกรรมตามนิกายวัชรยานที่ชัดเจนนัก
“สมเด็จพระสังฆราชทรงเปรยกับผู้นำนิกายวัชรยานหลายท่านว่า ‘องค์ดาไลลามะ’ ถือเป็นสหายธรรม หรือญาติธรรมของพระองค์ เช่นเดียวกับองค์ดาไลลามะก็มักจะพูดถึงสมเด็จพระสังฆราชว่าเป็นพี่ชายคนโตทางพุทธศาสนา”
ทำให้เมื่อสมเด็จพระสังฆราชสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2556 จึงมีชาวพุทธมากมายทั้งในและต่างประเทศ อาทิ นิกายเถรวาทในศรีลังกา นิกายมหายานในญี่ปุ่น จีน ต่างแสดงความกตัญญูกตเวทิตาด้วยการจัดพิธีบำเพ็ญกุศลพระศพตามวัฒนธรรมประเพณีของตนเอง เช่น พิธีบำเพ็ญพระราชกุศลปัญญาสมวาร (ครบ 50 วัน) คณะสงฆ์จีนนิกาย ได้จัดพิธีบำเพ็ญกุศลนิกายมหายาน (พิธีกงเต็ก) ขึ้น
ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร กล่าวต่อว่า เช่นเดียวกันเมื่อคณะสงฆ์นิกายวัชรยานทราบถึงการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสังฆราช จึงประสงค์จะแสดงความสัมพันธ์ที่เคยมีมาช้านาน โดยกระทรวงวัฒนธรรม ประเทศอินเดีย จึงนิมนต์ภิกษุสงฆ์จากอินเดียที่มีความเชี่ยวชาญมาจัดสร้างพุทธมณฑลทรายและศิลปกรรมจากเนยแข็ง เพื่อเป็นเครื่องบูชาจัดถวาย เทิดพระเกียรติสมเด็จพระสังฆราช ในฐานะที่พระองค์มีประทานความเมตตาแก่ชาวโลก
แม้ก่อนหน้านี้อาจจะมีการนำมาจัดแสดงโชว์ในไทยบ้าง แต่มักเป็นไปในเชิงวัฒนธรรมและประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเท่านั้น หากครั้งนี้ถือเป็นการจัดถวายเครื่องบูชาที่สมบูรณ์แบบ เพราะคณะสงฆ์นิกายมหายานถือว่าสมเด็จพระสังฆราชมีศักดิ์ศรีเทียบเท่าพระโพธิสัตว์ที่แปลงกายลงมา ดังเช่น พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร
“ผู้นับถือนิกายวัชรยานถือว่าองค์ดาไลลามะ คือ ตัวแทนพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่มีชีวิตคอยให้ความช่วยเหลือพุทธศาสนิกชนให้มีความสุข” พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ กล่าว และว่าดังนั้นสมเด็จพระสังฆราชจึงนับไม่ต่างไปจากพระโพธิสัตว์ฯ หรือองค์ดาไลลามะเลย ด้วยตลอด 100 พรรษา พระองค์ทรงอุปถัมภ์ในด้านสังคมสงเคราะห์ การศึกษา และอื่น ๆ มาโดยตลอด
ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร กล่าวถึงสาเหตุต้องทำเครื่องบูชาถวายนั้น เนื่องจากภูมิประเทศของผู้ที่นับถือนิกายวัชรยานหนาวเย็น หาดอกไม้มาบูชายาก ซึ่งแตกต่างจากประเทศไทย ดังนั้นจึงมีการนำเครื่องที่สามารถทานได้มาสร้างถวาย เปรียบกับการถวายบิณฑบาตพระพุทธเจ้านั่นเอง
วิธีการ คือ นำข้าวสาลี แป้ง หรือเนย มาปั้นตกแต่งเป็นรูปดอกไม้และพระพุทธรูปด้วยสีสันที่สวยงาม นอกจากนี้คณะสงฆ์นิกายวัชรยานยังพยายามถ่ายทอดตัวตนที่แท้จริงของสมเด็จพระสังฆราชผ่านงานสร้างพุทธมนฑลทรายอย่างอลังการ
“เครื่องบูชาเหล่านี้มีสีสันสวยงาม คนไทยเลยตื่นเต้นพากันมาชม หากแท้จริงแล้วเป็นเพียงเครื่องบูชาตามหลักพิธีกรรมของผู้นับถือนิกายวัชรยานเท่านั้น”
พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ กล่าวอีกว่า ในพิธีกรรมยังมีการสวดมนต์ ดนตรี และร่ายรำ เพื่ออันเชิญเทวดาลงมา โดยเฉพาะมีการแต่งตัวเป็นยมบาลแสดงถึงการปกป้องศาสนา ถือเป็นการร่ายรำที่มีความหมายลึกซึ้งในแง่ของสังคมและศาสนา อย่างไรก็ตาม การสวดมนต์ครั้งนี้จะมีบทหนึ่งพิเศษ เพราะเป็นการสวดอ้อนวอนให้สมเด็จพระสังฆราชองค์นี้เกิดขึ้นมาใหม่ ด้วยชาวพุทธทุกคนล้วนต้องการให้พระองค์กลับมาชี้แนะต่อไป .
พุทธมณฑลทราย ชื่อชุด พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร
ภิกษุสงฆ์กำลังใช้อุปกรณ์สีกับกรวยให้ทรายไหลออกมา
กรวยเเต่ละอันจะมีเบอร์กำกับ เพื่อเเสดงถึงขนาดของรูปล่อยทราย
อุปกรณ์ในการสร้างพุทธมณฑลทราย
ศิลปกรรมจากเนยเเข็ง
ท้ายที่สุด จะมีการปล่อยให้ศิลปกรรมชิ้นนี้ละลายไปตามธรรมชาติเปรียบดังสัจธรรมชีวิตนี้ไม่ยั่งยืน