นักวิจัยไทย-เทศชี้ ลงทุนปฐมวัย คุ้มได้คืน 7 เท่า
นักวิจัยไทย-เทศชี้ ลงทุนปฐมวัย คุ้มได้คืน 7 เท่า ขณะที่นักวิชาการชี้รัฐลงทุนผิดที่ผิดเวลา ด้านสสค.-สสค.หนุน ‘โรงเรียนประถมดีเด่น’ ต่อยอดสร้างสุขภาวะที่ดี เพื่อการศึกษาสร้างสุข
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ชั้น 13 อาคารไอบีเอ็ม สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดแถลงข่าวเปิดโครงการต่อยอดการพัฒนานวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้เพื่อสุขภาวะเด็ก และเยาวชน โดยคัดเลือกโรงเรียนระดับประถมศึกษาในทุกสังกัด ที่เคยทำผลงานดีเด่นในโครงการส่งเสริมนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้ครั้งที่ 1/2554 ได้ทำงานต่อยอด โดยเพิ่มประเด็นการส่งเสริมสุขภาพทั้งกาย ใจ สังคม และปัญญา หรือสุขภาวะที่ดีให้โรงเรียนเข้มแข็งยิ่งขึ้น
รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงนโยบายในการปฏิรูปการศึกษาในปัจจุบันเป็นการลงทุนที่สวนทางกับความเป็นจริง โดยงานวิจัยของดร.ไกรยส ภัทราวาท สสค.เกี่ยวกับรายจ่ายด้านการศึกษาของประเทศไทย พบว่า จากการศึกษาในระดับประถมศึกษา รวมทั้งโรงเรียนขยายโอกาสในปี 2553 พบว่า งบประมาณการศึกษาต่อหัวที่รัฐบาลลงทุนต่อเด็กระดับมัธยมศึกษา และอาชีวศึกษานั้นสูงกว่าการลงทุนในระดับปฐมวัย โดยลงทุนระดับปฐมวัยเพียง 23,282 บาท ขณะที่ลงทุนในระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาจำนวน 26,332 บาทและ 24,933 บาทตามลำดับ
รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวถึงการลงทุนในระดับปฐมวัยนั้น จะได้กำไรคืนกลับสูงถึง 7 เท่า คือ หากลงทุน 1 บาท จะได้เงินกลับคืนถึง 7 บาท ฉะนั้นการลงทุนที่จะสร้างรากฐาน ตั้งแต่ระดับปฐมวัยจึงเป็นการลงทุนที่คุ้ม ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องในระดับประถมศึกษา ดังนั้นต้องเปลี่ยนวิธีการคิด เพราะสมองเด็กจะเติบโตสมบูรณ์ทั้ง IQ และ EQ ในระดับปฐมวัยสูงถึง 80% หากขาดเงินอุดหนุนการเตรียมพร้อมเด็กในเรื่องการอ่านการเขียน เรื่องคุณธรรมและคุณลักษณะที่ดีนั้นก็จะไม่สมบูรณ์
“สังคมเสื่อม การเมืองรุนแรง เน้นวัตถุนิยม ครอบครัวตาย ศีลธรรมจางหาย กระทรวงศึกษาธิการบ้า o-net” เป็นนิยามที่ตรงกับสภาวการณ์สังคมขณะนี้ ฉะนั้นการจัดการศึกษาต้องเลิกระบบสอบที่มุ่งแข่งขันเพื่อให้ได้ผลสัมฤทธิ์ คะแนน 0NET คะแนน PISA สูงๆ แต่ต้องเป็นการจัดการศึกษาที่ให้เด็กมีความสุข สนุกกับการเรียนรู้ โดยมองโจทย์ใกล้ตัวเด็ก และต้องปลูกฝังเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ตั้งแต่ปฐมวัย โดยไม่ต้องรอรัฐบาลกลาง"
รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมารัฐลงทุนไปที่ระดับอุดมศึกษา ถือเป็นการลงทุนที่ผิดที่ผิดเวลา และไม่ตรงเป้าหมาย ทั้งนี้ประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขโดยเร็วคือการลงทุนทางการศึกษากับเด็กปฐมวัยใน 3 ระบบ
1)การศึกษาในระบบ ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ด้อยโอกาส
2)โรงเรียนพ่อ แม่ โดยต้องสอนพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยวัตถุ หรือพ่อแม่ที่ปล่อยลูกไว้เป็นภาระปู่ย่า ตายาย
และ3) โรงเรียนชุมชน ที่มีพื้นที่เสี่ยง มีอบายมุข
"การลงทุนในช่วงปฐมวัยสามารถประกันอนาคตทางปัญญา และสุขภาวะแจ่มใสให้เด็กได้ ”
ด้านดร.อุบล เล่นวารี อดีตที่ปรึกษาสพฐ. และที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวว่า โครงการส่งเสริมนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้ครั้งที่ 1/2554 ซึ่งสสค.ร่วมกับมูลนิธิร่มฉัตร ดำเนินการใน 3 เรื่องสำคัญคือ 1) การส่งเสริมสมรรถนะการอ่าน 2) การสนุกกับการเรียนรู้ และ 3) การสร้างเสริมคุณลักษณะที่ดี ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการจัดการเรียนการสอนในระดับประถมศึกษา เพราะหากเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ก็จะไม่สามารถเรียนรู้ต่อยอดไปเรื่องอื่นๆได้
"สิ่งสำคัญที่จะต้องปลูกฝังในระดับประถมศึกษา คือ ความสามารถในการอ่านออกเขียนได้ คุณลักษณะที่ดีที่ควรจะเกิดตั้งแต่ระดับเด็ก เพื่อจะโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดี เมื่อสสค.มีการต่อยอดร่วมกับสสส. จึงเห็นว่าเป็นเป้าหมายที่เหมาะสมและถูกต้องที่จะสร้างคนให้ที่จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่สมบูรณ์ โดยเฉพาะเมื่อมีการต่อยอดเพิ่มประเด็นสุขภาวะเข้าไป เพราะเห็นว่า หากเราสามารถสร้างเด็กประถมทั่วประเทศให้มีสุขภาวะที่ดีสมบูรณ์ ก็จะเป็นคนที่เติบโตขึ้นมามีสุขภาพแข็งแรง จิตใจดีงาม จึงเป็นการมองการไกลในการสร้างอนาคตที่ดีของประเทศไทย"
นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. กล่าวว่า การศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสุขภาวะ โดยเฉพาะของเด็กและเยาวชน ซึ่งมีงานวิจัยของมูลนิธิโรเบิร์ต วู้ด จอห์นสันที่ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงระหว่างการศึกษาและสุขภาพที่ดีว่า ร้อยละ 77.2 ของผู้ใหญ่ที่มีการศึกษาต่ำกว่า ม.6 จะมีสุขภาพที่ไม่ค่อยดีนัก และมีเพียงร้อยละ 29.8 ที่ระบุว่า เด็กที่จบวิทยาลัยมีสุขภาพดี โดยงานวิจัยได้ระบุถึงความสัมพันธ์ดังกล่าวกับปัจจัยเกี่ยวข้อง 3 ประการว่า การศึกษาที่ดีจะนำไปสู่การตัดสินใจที่เหมาะสมในการรักษาสุขภาพ การมีอาชีพที่มั่นคง ซึ่งจะเชื่อมโยงไปสู่โอกาสในการทำงานในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เช่น มีประกันสุขภาพ มีรายได้สูง ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อการใช้ชีวิต
"การศึกษาจะมีผลต่อภาวะการรับรู้ต่างๆ โดยจะมีการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น จากพ่อแม่สู่ลูกอีกด้วย ดังนั้น แม้ว่ารัฐบาล หรือนโยบายจะเปลี่ยนไป สิ่งสำคัญที่ควรคงอยู่คือการทำงานกับพื้นที่จากล่างขึ้นมา โดยครูคือคนสำคัญที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อน หากทำได้ 30-40% ในแต่ละจังหวัดก็จะเกิดแรงกระเพื่อม ซึ่งจะเป็นผลกระทบที่สะท้อนภาพได้ชัดขึ้น”