เมื่อ ผบ.ทบ.ล่องใต้ให้การบ้านลดเหตุรุนแรงโยงล้างแค้นส่วนตัว
ระยะหลังฝ่ายความมั่นคงให้น้ำหนักมากขึ้นว่าเหตุรุนแรงจำนวนไม่น้อยในพื้นที่ชายแดนใต้ ไม่ใช่เหตุความมั่นคงที่หมายถึงการสร้างสถานการณ์ของกลุ่มก่อความไม่สงบ หรือกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน
ทว่าเป็นการก่อเหตุรุนแรงที่มีมูลเหตุมาจากความขัดแย้งส่วนตัว และเรื่องการเมืองท้องถิ่น แต่เนื่องจากในพื้นที่มีสถานะ "ความไม่มั่นคง" อยู่ก่อนแล้วจากการสถานการณ์ความไม่สงบ ทำให้การก่อเหตุรุนแรงในบริบทของการล้างแค้น หรือตั้งศาลเตี้ยพิพากษากันเอง ทำได้ง่ายขึ้นและมีมากขึ้น เพราะหาอาวุธสะดวก ทั้งยังสามารถสวมรอยไปกับสถานการณ์ความรุนแรงอื่นๆ ที่เกิดขึ้นรายวัน
ฝ่ายความมั่นคงได้ปรับนโยบายในเรื่องนี้มาเป็นลำดับ เริ่มจากศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) ได้แยกแยะคดีอาญาที่มีมูลเหตุจากความขัดแย้งส่วนตัวและการเมืองท้องถิ่นออกจากคดีความมั่นคง ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากปัญหาความมั่นคงลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง
ขณะเดียวกัน พล.ท.สกล ชื่นตระกูล แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (ผอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) ก็ได้ออกประกาศตามกฎหมายพิเศษ 3 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 เรียกคืนอาวุธสงครามจากผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธสงครามในพื้นที่ โดยกำหนดช่วงเวลาส่งคืนได้โดยไม่มีความผิด ภายในสิ้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อหวังลดปริมาณอาวุธสงครามที่กลุ่มอิทธิพลต่างๆ ใช้ประหัตประหารกัน
ขณะที่ พล.ต.ต.โพธ สวยสุวรรณ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี ก็มีโครงการเชิญคู่ขัดแย้ง "จับเข่าคุย" โดยเฉพาะกลุ่มนักการเมืองท้องถิ่น เพื่อเคลียร์ปัญหา โดยทำงานร่วมกับฝ่ายปกครองนำโดยผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างใกล้ชิด
ด้าน พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ก็เพิ่งให้สัมภาษณ์ "ทีมข่าวอิศรา" เมื่อไม่กี่วันมานี้ว่า เหตุรุนแรงจำนวนมากในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเหตุขัดแย้งส่วนตัว เพราะเป็นค่านิยมของคนในพื้นที่ที่มักไม่ค่อยแจ้งความกับตำรวจเวลามีปัญหากับใคร เนื่องจากเกรงว่าหากคู่ขัดแย้งถูกทำร้าย ตนเองจะตกเป็นผู้ต้องสงสัยในสายตาเจ้าหน้าที่ทันที ทั้งๆ ที่หลายๆ กรณีฝ่ายที่ถูกทำร้ายก็มีโจทก์หลายคน จึงเป็นต้นเหตุของการเลือกจัดการกันเองโดยไม่พึ่งเจ้าหน้าที่รัฐ เปิดช่องให้กลุ่มผู้ไม่หวังดีนำไปขยายผลป้ายสีรัฐเพื่อลดความน่าเชื่อถือในสายตาประชาชนด้วย
ปมส่วนตัวแต่ใช้บริการผู้ก่อเหตุรุนแรง
ล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ 17 มี.ค.2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (รองผอ.รมน.) ขณะเดินทางลงพื้นที่ จ.นราธิวาส ก็ได้เน้นย้ำปัญหานี้เช่นกัน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เป็นห่วงเรื่องงานป้องกันในเชิงลับ การป้องกันเป้าหมายอ่อนแอ คือ พระ ครู และประชาชนไทยพุทธ ซึ่งได้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ เขตที่อยู่ในป่าเขา เขตเมือง และเขตชั้นใน โดยในเขตชั้นในนั้น กองกำลังดูแลได้ทั่วถึงเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่พื้นที่โดดเดี่ยวห่างไกลยังดูแลยากอยู่ อย่างไรก็ดี ได้จัดชุดตั้งจุดตรวจและมีการจับกุมผู้ต้องหาได้เป็นระยะ
นอกจากนั้นยังอีกปัญหาหนึ่ง คือ เรื่องความขัดแย้งส่วนตัวระหว่างครอบครัวต่อครอบครัว จนมีการเรียกใช้บริการกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงมาแก้แค้น อีกฝ่ายต้องการให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดูแล จึงทำให้เกิดความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน
สั่งกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านประสานรอยร้าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ได้สั่งการให้แม่ทัพภาคที่ 4 ไปทำความเข้าใจ และเรียกกลุ่มที่มีความขัดแย้งในพื้นที่มาพูดคุยกันเพื่อหาทางออก โดยให้กำนันกับผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ประสานรอยร้าว อันจะทำให้พื้นที่นั้นๆ ลดความรุนแรงลงได้ และป้องกันไม่ให้กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงฉวยโอกาสนำไปเป็นประเด็นในการปลุกระดมชวนเชื่อและโยนความผิดให้เจ้าหน้าที่อีกต่อไป
"เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ นอกจากเป็นการสร้างสถานการณ์เพราะต้องการแบ่งแยกดินแดน หรือตั้งเขตปกครองตนเองแล้ว ยังเกิดมาจากผู้มีอิทธิพล ปัญหาความขัดแย้งส่วนตัว และปัญหาความขัดแย้งที่เกิดจากวงศ์ตระกูลต่างๆ ซึ่งล่าสุดทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ได้เชิญกลุ่มผู้ที่มีความขัดแย้งของวงศ์ตระกูลที่กระจายอยู่ในแต่ละพื้นที่รวมแล้ว 10-20 ครอบครัว ไปเจรจาตกลงกันเพื่อยุติปัญหา ป้องกันการสะสมอาวุธในการป้องกันตัวเอง ตลอดจนการล้างแค้นตามวิธีการของตนเอง โดยทุกคนจะต้องเชื่อมั่นในกลไกของรัฐและกระบวนการยุติธรรม"
วางแผนรับมือป่วนใหญ่ 2 จังหวัด
การเดินทางลงพื้นที่เที่ยวนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้ประชุมร่วมกับแม่ทัพภาคที่ 4 ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส และผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจเลข 2 ตัว ที่สโมสรร่มเกล้า ภายในหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินภาคใต้ ค่ายจุฬาภรณ์ อ.เมือง จ.นราธิวาส
ทั้งนี้ ได้มีการบรรยายสรุปสถานการณ์และความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้านต่างๆ จากหน่วยในพื้นที่ จากนั้น ผบ.ทบ.ได้มอบนโยบาย โดยเน้นย้ำให้ทุกฝ่ายปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากในหลายพื้นที่พบเบาะแสความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง โดยเฉพาะการเตรียมการก่อเหตุใหญ่ใน 2 จังหวัด คือ จ.ปัตตานี ที่ อ.หนองจิก กับ อ.สายบุรี และ จ.นราธิวาส ที่ อ.รือเสาะ ทั้งวางระเบิดและบุกถล่มฐานปฏิบัติการทหาร
ขึ้นเขาบูโดตรวจเยี่ยมทหารพราน
จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้เดินทางไปยังกองร้อยทหารพรานที่ 4109 กรมทหารพรานที่ 41 ซึ่งตั้งอยู่บนเทือกเขาบูโด ท้องที่บ้านลือโบ ต.รือเสาะออก อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เพื่อติดตามแผนการปฏิบัติเชิงรุกกดดันไล่ล่ากลุ่มผู้ก่อความไม่สงบตามแผนพิทักษ์บูโด 4572 ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) โดยมี พ.อ.พิเชษฐ์ ชุติเดโช ผู้บังคับการกรมทหารพรานที่ 41 และ ร.ท.ประวิทย์ ช่วยพิชัย ผู้บังคับกองร้อยทหารพรานที่ 4109 เป็นผู้บรรยายสรุปการปฏิบัติตั้งแต่เริ่มเปิดแผนพิทักษ์บูโด เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2556 เป็นต้นมา
ผู้บังคับหน่วยทั้งสองสรุปสถานการณ์ในภาพรวมว่า สามารถกดดันไล่ล่ากลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่หลังก่อเหตุมักหลบหนีขึ้นไปกบดานบนเทือกเขา ซึ่งเป็นรอยต่อของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จนเหตุการณ์รุนแรงลดน้อยลงเป็นลำดับ
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ผบ.ทบ.ถ่ายภาพร่วมกับทหารพรานที่ปฏิบัติการตามแผน "พิทักษ์บูโด" ระหว่างการตรวจเยี่ยมให้กำลังใจหน่วยทหารพรานบนเทือกเขาบูโด จ.นราธิวาส เมื่อวันจันทร์ที่ 17 มี.ค.2557