เตือนปชช. พื้นที่รัศมี 1.5 กม. ใกล้บ่อขยะ จ.สมุทรปราการ เลี่ยงสัมผัสสารเคมีในอากาศ
กรมควบคุมมลพิษ เข้าตรวจสอบพื้นที่เพลิงไหม้บ่อกำจัดขยะในพื้นที่สมุทรปราการ พบมีค่าความเข้มข้นของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ อยู่ในเกณฑ์ที่ทำให้เกิดพิษเฉียบพลัน เตือนหลีกเลี่ยงพื้นที่บริเวณ 1.5 กม.
วันที่ 17 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมควบคุมมลพิษ ได้ส่งทีมปฏิบัติการฉุกเฉินสารเคมี พร้อมหน่วยรถตรวจสอบคุณภาพอากาศแบบเคลื่อนที่ ลงพื้นที่ตรวจสอบมลพิษ พื้นที่ไฟไหม้บ่อขยะ จ.สมุทรปราการ เพื่อติดตามตรวจสอบฝุ่นละออง สารวีโอซีและกลิ่น รวมถึงสารมลพิษอื่นๆที่เกิดจากการเผาไหม้
ภายหลังกรมควบคุมมลพิษ เข้าตรวจสอบพื้นที่เพลิงไหม้บ่อกำจัดขยะในพื้นที่ตำบลแพรกษา อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ พบว่า ในระยะที่ตรวจวัด 500 เมตร ห่างจากที่เกิดเหตุ มีค่าความเข้มข้นของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในบรรยากาศที่ระดับ 5-8 ส่วนในล้านส่วน (ppm) และในระยะที่ตรวจวัด 1 กิโลเมตร ห่างจากที่เกิดเหตุ มีค่าความเข้มข้นของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในบรรยากาศที่ระดับ 2-4 ส่วนในล้านส่วน (ppm) ซึ่งมีค่าอยู่ในช่วงขีดจำกัดการรับสัมผัสสารเคมีแบบเฉียบพลันแบบร้ายแรง (AEGL-2) ซึ่งกำหนดไว้ไม่เกิน 0.75 ส่วนในล้านส่วน (ppm) และอาจทำให้ประชาชนมีอาการระคายเคืองอย่างรุนแรงต่อระบบทางเดินหายใจ
กรมควบคุมมลพิษ จึงขอแจ้งเตือนประชาชนในการหลีกเลี่ยงการรับสัมผัสสารเคมีในบรรยากาศ เช่น การอพยพออกนอกพื้นที่ การสวมใส่หน้ากากป้องกันสารเคมี หรือ การใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำแทนหน้ากาก เป็นต้น ในพื้นที่รัศมี 1.5 กิโลเมตร ห่างจากพื้นที่เกิดเหตุ(ม.แกลเลอรี่ ม.เนเจอร่า สุขุมวิท-แพรกษา ชุมชนบ้านสวัสดี ม.ศุภลัยวิลล์ และ ม.ปัญฐิญา แพรกษา ม.ทรัพย์ธานี)
ด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมติดตามสถานการณ์มลพิษจากไฟไหม้บ่อขยะที่อบต.แพรกษา ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ โรงพยาบาลสมุทรปราการ ผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษจากกรมควบคุมโรค กรมอนามัย และกรมควบคุมมลพิษ และให้สัมภาษณ์ว่า จากการตรวจเยี่ยมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่และประชาชนที่อพยพไปอยู่ที่อบต.แพรกษา ซึ่งอยู่ห่างจากบ่อขยะประมาณ 2 กิโลเมตร ในวันนี้ ยังไม่มีผู้ป่วยเพิ่ม แต่สภาพของฝุ่นควันที่อบต.ฯค่อนข้างหนา มีกลิ่นเหม็น เจ้าหน้าที่ต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา
"ได้รับรายงานผลการตรวจวัดมลพิษของกรมควบคุมมลพิษที่บริเวณใกล้จุดไหม้ พบค่าของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์อยู่ที่ 5-8 ppm ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานที่กำหนดไม่เกิน 0.75 ppm ม โดยขณะนี้มีหมู่บ้านได้รับผลกระทบ 4 หมู่ คือหมู่ 1-4 ประชาชนประมาณ 10,000 คน และมีประชาชนอพยพไปอยู่ที่ศูนย์อพยพ อบต.แพรกษาแล้ว 200 คน"
นายแพทย์ณรงค์ กล่าวถึงการวางแผนการทำงานแก้ไขปัญหามลพิษครั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขทำหน้าที่เฝ้าระวังสุขภาพในคน ส่วนสิ่งแวดล้อมเป็นของกรมควบคุมมลพิษ โดยจะประชุมร่วมกัน เพื่อวางแผนการดูแลอย่างเป็นระบบไปพร้อมๆกัน โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งวอรูมขึ้นที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ มีนายแพทย์นำพล แดนพิพัฒน์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดฯเป็นผู้บัญชาการ มีการประชุมวางแผนประเมินสถานการณ์ทุกวัน ในเบื้องต้นวางแผนการดูแลสุขภาพประชาชน ออกเป็น 2 ระยะ คือระยะเฉพาะหน้า ให้โรงพยาบาลสมุทรปราการจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ประจำที่อบต.แพรกษาตลอด 24 ชั่วโมง ดูแลทั้งการเจ็บป่วยทั่วไปและดูแลสุขภาพจิตควบคู่ไปด้วย โดยจะปรับบริการตามสภาพปัญหาแต่ละวัน ผลการประเมินความเครียดประชาชนที่อพยพที่อบต.แพรกษา พบว่ามีความเครียดจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระดับปานกลาง รวมทั้งมีปัญหาอดนอน นอนไม่หลับ
ส่วนแผนในระยะยาวมอบหมายให้กรมควบคุมโรค ร่วมกับกรมอนามัย จัดทำมาตรฐานทางวิชาการในการประเมินและเฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพประชาชน โดยแยกตามกลุ่มเสี่ยง 2 กลุ่มหลัก ได้แก่กลุ่มเจ้าหน้าที่ดับเพลิง ซึ่งจัดเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิด และกลุ่มประชาชนทั่วไปที่สัมผัสละอองควันไฟและมีความเสี่ยง เช่นผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคหัวใจ โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ ในเบื้องต้นได้วางแผนขึ้นทะเบียนผู้สัมผัสทั้งหมด เพื่อติดตามในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง
นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุขได้แจกหน้ากากอนามัยในวันนี้ 10,000 ชิ้น สำรองไว้อีก 30,000 ชิ้นและเตรียมหน้าอนามัยชนิดพิเศษไว้อีก 500 ชิ้น ขอแนะนำให้ประชานที่อาศัยอยู่รอบบ่อขยะ ควรติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองและมลพิษในอากาศอย่างใกล้ชิด ควรปฏิบัติตามคำแนะอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัย ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงควรจำกัดการอยู่นอกอาคารบ้านพัก ผู้ที่เจ็บป่วยหากมีอาการไอ หายใจลำบาก แน่หรือเจ็บหน้าอก หัวใจเต้นไม่เป็นปกติ คลื่นไส้ เหนื่อยง่ายกว่าปกติ หรือปวดมีนศีรษะ ขอให้พบแพทย์ ควรเตรียมหน้ากากอนามัยไว้ให้พร้อมต่อใช้งานหากเกิดภาวะฉุกเฉิน
ที่มาภาพ:http://www.dailynews.co.th/