"ผบ.ทบ."ไม่ให้ค่า "จตุพร" ขึ้นแท่นปธ.นปช.
ผบ.ทบ.ไม่ให้ค่า "จตุพร" ขึ้นแทนประธาน นปช.คนใหม่ ชี้แค่โจรไร้เกียรติ เตือน ปชช.อย่าเดินตามคนเลว ยันกองทัพไม่เป็นศัตรูกับใคร พร้อมอยู่ข้าง ปชช.-ประเทศ แต่ถ้าใครแรงมา ก็พร้อมแรงตอบ
เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ที่กองการบิน กรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีการเปลี่ยนตัวประธาน นปช.เป็นนายจตุพร พรหมพันธุ์ ว่า ตนไม่ให้ความสำคัญกับคนพวกนี้ และจะมียุทธศาสตร์หรือไม่ตนไม่สนใจ เพราะเป็นเรื่องของคนที่ทำผิดกฎหมายทุกพวกทุกฝ่าย ที่วันหน้าก็ต้องมาสู้กันด้วยกฎหมายและเดินเข้าสู่การลงโทษดำเนินคดีคนละหลายร้อยคดี ตนถามว่าฝ่าย นปช.ขณะนี้มีคดีอยู่กี่คดีในศาล และอยู่ระหว่างประกันตัวอยู่ใช่หรือไม่ หากมีการยกเลิกประกันตัวก็เดือดร้อน และมาประท้วงอีก สรุปแล้วประเทศนี้จะอยู่ด้วยอะไร อยู่ด้วยคนส่วนใหญ่หรือกฎหมาย อยากขอให้ทุกกลุ่มอย่าทำผิดกฎหมายให้มากนัก
“จะมารบกับทหาร ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่รัฐก็เอา คนแบบนี้จะไปร่วมมือกับเขาได้อีกหรือ ถ้าต่อสู้ด้วยกระบวนการประชาธิปไตย หรือต่อสู้ด้วยความไม่ชอบธรรมก็ว่ากันไปตามสิทธิรัฐธรรมนูญ แต่อย่าใช้ความรุนแรง ถ้าใช้หลักการว่าต้องสู้กับทหาร เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธสงความความรุนแรง หรือแม้แต่ประกาศให้บุกธนาคารเพื่อเอาเงิน ให้ถาม ประธาน นปช.ว่าพูดแบบนี้หมายความว่าอย่างไร มาถามเจ้าหน้าที่แล้วให้มาตอบสู้กับโจรไม่ใช่เรื่อง ถ้าแรงใส่ทหารมา ผมก็แรง เพราะฉะนั้นจะมาสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ ผมถามว่าประกาศชัดเจนจะมาสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ประกาศแบ่งโน้นแบ่งนี้ ก็ลองทำมาแล้วกัน ผมไม่ได้ท้าทาย แต่ไม่ยอมให้ใครมาแบ่งโน้นแบ่งนี้เหมือนกัน”ผบ.ทบ.กล่าว
เมื่อถามว่าจะเป็นการผลัก นปช.ให้ไปอยู่อีกฝั่งหรือไม่ โดยเฉพาะการที่กองทัพแจ้งความดำเนินคดีกับฝ่าย นปช.พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ถามว่านปช.ทำผิดกฎหมาย และด่ากองทัพอยู่หรือไม่ ถ้าไม่เกี่ยวกับกองทัพ ตนจะไปยุ่งอะไร ส่วนตัวก็ไม่ได้มีความขัดแย้งกันกับนายจตุพร เพราะต่างคนต่างไม่รู้จักกัน และตนก็ไม่อยากรู้จัก แล้วจะไปขัดแย้งกันตรงไหน เมื่อถามต่อว่าจุดยืนของกองทัพอยู่ตรงไหน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า กองทัพมีจุดยืนเป็นของประชาชนและประเทศชาติ ตนไม่เป็นศัตรูกับใคร แต่บางครั้งจำเป็น เพราะต้องปกป้องและนำพากองทัพ ต้องดูว่ากองทัพทำหน้าที่อะไร ซึ่งหาก กปปส.พูดแบ่งแยกประเทศหรือล้มสถาบัน ตนก็ยอมไม่ได้เหมือนกัน แต่นี้ถามว่า กปปส.พูดทำนองนี้หรือยัง ซึ่งก็ยังไม่ได้พูด แล้ว นปช.พูดอย่างไร แล้วฝ่ายไหนต้องแก้ไขก่อน
เมื่อถามว่าต้องพูดคุยกับประธาน นปช.คนใหม่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่มีเกียรติพอ และตนก็ไม่ให้เกียรติ ในเมื่อไม่รู้จักให้เกียรติคนอื่น แล้วตนจะให้เกียรติทำไม เพียงแต่สงสารประชาชนที่ให้คนเหล่านี้เดินนำหน้า มันไม่มีเกียรติ ถ้าอะไรไม่ชอบธรรมและไม่เหมาะสมก็ฟ้องร้องตามกระบวนการ ไม่ใช่ไปด่าหรือไปยุ่งเกี่ยวสถาบัน ด่าทหาร ศาล องค์กรอิสระ ขอถามว่าคนพวกนี้หรือที่จะให้เป็นผู้นำของเรา คนที่เป็นผู้นำได้ต้องมีเกียรติ และไม่ใช่มีด้วยตัวเอง แต่คนอื่นมีให้เองแต่ถ้ายังใช้วิธีการเลวๆ พูดหยาบคาย คนแบบนี้หรือที่จะให้เป็นใหญ่เหมือนเราไปยกย่องคนไม่ดีมาเป็นผู้นำ
“วันนี้คนไทยต้องตาสว่าง สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ไม่มีใครได้อะไร ไม่มีใครแพ้ชนะ หรือสำเร็จ มีแต่แย่ด้วยกันทั้งหมด พอทหารเข้ามาช่วยก็ด่าเล่นงานทหาร มากล่าวหาว่าทหารไปแบ่งพวกแบ่งฝ่าย ถามว่าถ้าอยู่เฉยๆได้หรือไม่ ทหารที่ออกมาดูแล 60-70 เปอร์เซ็นต์ก็เป็นลูกเป็นหลานทั้งสองฝ่าย แต่มีคนตรงกลางมายุแหย่ มวลชนที่อาจจะเป็นเครือญาติกับทหารที่ออกมาปฏิบัติหน้าที่ต้องมาต่อสู้มารบกันเอง ขอถามว่าคนแบบนี้เป็นผู้นำประเภทไหน ผมมองว่าเราต้องว่าจะดำเนินคดีกับคนพวกนี้อย่างไรทั้งในส่วนที่พูดให้เกิดความเกลียดชัง พูดให้เกิดความรุนแรง ตอบโต้การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ บุกรุกสถานที่ บุกเข้าธนาคารเอาเงินมาใช้ พูดอย่างนี้ได้อย่างไร” ผบ.ทบ. กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า บางครั้งตนก็ไม่สบายใจ เข้าใจว่าสื่อก็ทำหน้าที่ ตนก็ทำหน้าที่ แต่บางครั้งก็ละเมิดกันมากเกินไป ทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย วิจารณ์ทุกเรื่องทุกกระบวนการ มีแต่คนพูด มีแต่คนรู้ แต่ไม่มีคนทำ ตนคงทำงานบนความเกลียดชังและความไม่เป็นธรรมไม่ได้ กองทัพต้องทำงานภายใต้กฎหมาย มีคนบอกว่ากองทัพมีอำนาจมากมาย ตนอยากถามว่ามีอำนาจพอที่จะไปจับกุมใครได้หรือไม่ ถ้าเป็นแบบนั้นก็ไม่ต้องมีตำรวจ ไม่ต้องมีกระบวนการยุติธรรม หากทหารสามารถทำอะไรได้เลยโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรม จะเห็นได้ว่าทหารก็ต้องฟ้องร้องใช้อำนาจศาลในการปิดเว็ปไซต์ และสถานีวิทยุต่างๆ ที่ผิดกฎหมาย ต้องหมายศาลทั้งสิ้นไม่มีหมายทหาร
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า วันนี้ทุกคนบอกว่าถึงเวลาที่ทหารต้องออกมาสักที สมมติว่าเกิดจลาจลก็เป็นเรื่องของกฎหมาย ซึ่งต้องใช้กฎหมายทุกฉบับ แต่อยู่ที่ว่าจะใช้อย่างไรให้ถูกต้อง การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็เริ่มมาจากพ.ร.บ.ความมั่นคง เพราะกฎหมายปกติมีข้อจำกัดและข้อห้ามในการทำงานของเจ้าหน้าที่ จึงเพิ่มกฎหมายพิเศษโดยรัฐบาลไม่ใช่ทหาร และขึ้นอยู่ที่รัฐบาลว่าจะใช้ใครเป็นผู้รับผิดชอบ อย่านำทุกอย่างมาพันกันโดยที่ไม่เข้าใจ ในเมื่อมองว่าสถานการณ์ยังไม่มีความรุนแรงมากนักก็มอบให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้ดูแล ทหารก็เป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงาน ถึงแม้จะมีการยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาใช้พ.ร.บ.ความมั่นคง ทหารก็เป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานและออกทำงานได้เหมือนเดิม ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์ อย่างไรก็ตามยอมรับความว่าการตั้งจุดตรวจความมั่นคง176 จุด ยังไม่สามารถหยุดการกระทำที่รุนแรงได้ ต้องดำเนินการกับคนที่นำอาวุธสงครามมาใช้.
ขอบคุณข่าวจาก