ดร.สุรินทร์จี้ปรับคุณภาพคน-การศึกษา หวั่นติดกับดักตัวเองเหมือนกาลาปากอส
อดีตเลขาธิการอาเซียน แนะไทยระวัง เป็นเหมือนญี่ปุ่นที่ทุกวันนี้ตกเป็นรองเกาหลีในด้านเทคโนโลยีโทรคมนาคม เหตุคิดว่าตัวเองเป็นเลิศตลอดไป ยันไม่ต่างกับไทยมัวแต่ภูมิใจในอดีต อยู่กันอย่างสุขสบาย และไม่คิดจะปรับตัว
วันที่ 14 มีนาคม ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นประธานเปิดการประชุมเวทีสาธารณะ สกว. นโยบายอาเซียน ครั้งที่ 1 “How ASEAN Work and How to Work with ASEAN”ณ โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ ซึ่งจัดโดยโครงการจับตาอาเซียน ภายใต้การสนับสนุนของฝ่ายนโยบายชาติและความสัมพันธ์ข้ามชาติ สกว. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้เกี่ยวข้องจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และนักวิชาการ ในประเด็นแนวทางการทำงานและช่องทางการทำงานเชิงนโยบายของอาเซียน โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิที่เคยทำงานขับเคลื่อนอาเซียนทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ อีกทั้งเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับยุทธศาสตร์อาเซียนของประเทศไทย ตลอดจนเผยแพร่ความเคลื่อนไหวของอาเซียนในรอบปี 2556 ที่ผ่านมา ผ่านผลงานของโครงการจับตาอาเซียนที่ได้ติดตามความเคลื่อนไหวของอาเซียนและประเทศสมาชิกมาโดยตลอด ตลอดจนระดมสมองหาโจทย์วิจัยเชิงยุทธศาสตร์เรื่องอาเซียนที่มีความเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์อาเซียนของประเทศไทย
โอกาศนี้ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ปาฐกถาหัวข้อ “How ASEAN Works and How Thailand Should Work on ASEAN” โดยกล่าวว่า ประเทศไทยมีความตื่นตัวต่อการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปของอาเซียน ความลื่นไหลของสภาวการณ์ในเวทีโลกที่ไทยจำเป็นต้องหาจุดยืนของตนให้เจอ พร้อมกับเตรียมตัวรับมือกับสภาวการณ์และสิ่งท้าทายที่จะเข้ามาอย่างเชี่ยวกรากและรุนแรงเหมือนเช่นสึนามิ เพราะถ้าตั้งตัวไม่ทันก็จะรับประโยชน์ต่าง ๆ ของภูมิภาคและของโลกได้ไม่เต็มที่ อีกทั้งจะตกเป็นเหยื่อของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่ไทยจะต้องเตรียมตัว
"ที่ผ่านมาทุกกระทรวงมีงบประมาณเรื่องอาเซียน แต่เกรงว่าจะเป็นการตื่นตัวเช่นเดียวกับที่กลัวโรคเอดส์ที่สุดท้ายก็เงียบหายไป ดังนั้นจึงต้องปรับองคาพยพ วิสัยทัศน์ ทัศนคิติ วิธีคิด และวิธีการทำงานอย่างมาก เราคุ้นเคยกับการเป็นเอกราช คิดว่าดีกว่าคนอื่น ทุกอย่างไหลลื่นโดยไม่ต้องคิดอะไรมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องระวังให้มาก"
พร้อมกันนี้ ดร.สุรินทร์ ได้ยกตัวอย่างญี่ปุ่นที่ทุกวันนี้ตกเป็นรองเกาหลีในด้านเทคโนโลยีโทรคมนาคม เพราะคิดว่าตัวเองเป็นเลิศตลอดไป แต่ทุกวันนี้ตระหนักแล้วว่า ตัวเองตกอยู่ในสถานะเดียวกับหมู่เกาะกาลาปากอสที่คอยตามหลังคนอื่น และไม่สามารถแข่งขันได้ เพราะคิดว่าไม่จำเป็นต้องปรับตัวให้เข้าเพื่อให้อยู่รอด จึงต้องระวังว่า ประเทศไทยจะมีปัญหาเช่นนี้ เพราะภูมิใจในอดีตที่อยู่กันอย่างสุขสบายและไม่คิดจะปรับตัว แต่ต้องมองว่าอาเซียนเป็นสนามแข่งขัน หลักการก็คือการแข่งขันเพื่อเพิ่มพูนความสามารถในโลกกว้างที่เปิดมากขึ้นทุกวัน
สำหรับตัวชี้วัดเรื่องการแข่งขันและความพร้อมของไทยที่เราต้องไปให้ถึง คือ การศึกษา ภาษาอังกฤษ คอร์รัปชั่น ทุกวันนี้ความสามารถของระบบราชการไทยลดลง เพราะถือว่าเป็นเสาหลักของการอยู่รอดของประเทศที่ต้องต่อสู้กับระบบอาณานิคม เป็นหน่วยงานที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติ และได้รับมอบหมายให้ออกไปทำงานในทุกภูมิภาค ดังนั้นระบบราชการจึงมีค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กรของตัวเองมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจตจตุบัน
แต่ขณะนี้ “คุณภาพของคน”เป็นสิ่งที่น่าห่วง เพราะศักยภาพความสามารถของบุคลากรกลายเป็นเรื่องรองจากเรื่องเส้นสาย กิจกรรมทุกอย่างที่เป็นผลประโยชน์ของชาติต้องไปต่อรองกับเวทีข้างนอกด้วยค่านิยมแบบไทย ๆ ดังนั้นสิ่งแรกที่ต้องตระหนักคือ ถ้าต้องการเป็นผู้พิทักษ์ดูแลผลประโยชน์ของชาติ ระบบราชการต้องวางอยู่บนความถูกต้อง เรื่องนี้ตนเป็นห่วงและอยากเตือนด้วยความหวังดีให้ตระหนักและก้าวไปในทิศทางที่ถูกต้อง
เรื่องที่สองคือ “ระบบการศึกษา” ประเทศไทยใช้งบประมาณเพื่อการศึกษามากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก คือเกือบ 5 แสนล้านบาทในการศึกษาทุกระดับ กระทรวงศึกษาเป็นกระทรวงเกรดเอเพราะมีงบประมาณมาก แต่คุณภาพยังไม่พร้อมที่จะแข่งขัน หรือต่อรองเพื่อผลประโยชน์ของชาติ
"ถ้าจะเข้าไปในอาเซียนระบบการศึกษาของไทยต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยสอนให้เด็กรู้จักคิด วิเคราะห์ และแก้ปัญหา ที่สำคัญต้องเริ่มเปลี่ยนจากครูและผู้อยู่ในแวดวงวิชาการการศึกษา ให้รู้วิธีคิดและการหาข้อมูล"
อาเซียนเป็นวิสัยทัศน์ แรงบันดาลใจ และเป้าหมายของภูมิภาคที่ทุกคนอยากไปให้ถึง ประชากรไทยจึงต้องตระหนักถึงผลประโยชน์ที่จะได้เมื่อประชาคมอาเซียนเกิดขึ้น ด้วยจุดแข็งด้านเกษตรกรรม อาหาร การท่องเที่ยว การรักษาพยาบาล ยานยนต์ จึงควรรักษาความเป็นเลิศไว้ในภูมิภาค คนไทยทุกภาคส่วนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมรวมทั้งสื่อมวลชนและภาคประชาสังคม โลกาภิวัตน์จะไม่ยอมให้อยู่รอบกรุงเทพฯ เท่านั้น เพราะค่าครองชีพแพง เราต้องปรับคุณภาพแรงงานให้สูงขึ้น เราต้องสร้างความเชื่อมั่น รักษาจุดแข็งและโอกาสไว้ให้ได้
“ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียน ได้เจรจากับญี่ปุ่นของบประมาณสนับสนุนปีละ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อโปรโมทอาเซียน รวมถึงประเทศต่าง ๆ นอกภูมิภาค โดยพยายามระดมความเชื่อมั่นให้ประเทศต่าง ๆ เข้ามาลงทุนในอาเซียนด้วยงบประมาณ 2.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เพราะยังมีช่องว่างอีกมากที่อาเซียนต้องดำเนินการ ดังนั้นทางเดียวที่จะอยู่รอด คือ มีการลงทุนและเทคโนโลยีจากข้างนอก รวมถึงการผลิตและส่งออกสินค้า
ความท้าทายของอาเซียน คือ เราต้องไม่ติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ขณะนี้มาเลเซียเป็นประเทศที่มีรายได้เกิน 1 หมื่นเหรียญสหรัฐต่อหัวต่อปีแล้ว แต่ไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม ยังคงติดกับดักประเทศรายได้ปานกลางอยู่ จึงเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องร่วมกันออกไปเป็นผู้พิทักษ์อนาคตของชาติ” ดร.สุรินทร์กล่าวทิ้งท้าย