จ่อเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.มั่นคงสวมแทน-พื้นที่เดิม
เลขาฯสมช. แย้มชงครม."เลิก-ไม่ต่ออายุ"พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แจง 3 เหตุผล"ม็อบลดระดับ-ติดคำสั่งศาลแพ่ง-ภาคธุรกิจร้อง" หันใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงแทน
พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เปิดเผยกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งหน้า จะเสนอ ครม.ให้พิจารณายกเลิกหรือไม่ขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร และบางส่วนของจังหวัดปริมณฑล ซึ่งจะสิ้นสุดระยะเวลาตามประกาศในวันที่ 22 มี.ค.นี้ โดยการประชุม ครม.ครั้งต่อไปคาดว่าจะมีขึ้นในวันอังคารที่ 18 มี.ค.
รัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ตัดสินใจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดนนทบุรี ทั้งจังหวัด รวมทั้ง อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ และ อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2557 ระยะเวลา 60 วัน
วัตถุประสงค์สำคัญของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็เพื่อใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษควบคุมการชุมนุมของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ซึ่งเปิดปฏิบัติการ "ชัตดาวน์ แบงค็อก" ด้วยการตั้งเวทีปิดสี่แยกสำคัญหลายแห่งในกรุงเทพฯ และเดินขบวนไปปิดสถานที่ราชการต่างๆ อย่างไรก็ดี เมื่อ กปปส.ได้ลดระดับการชุมนุมลง ด้วยการยุบเวทีเหลือเพียงแห่งเดียวภายในสวนลุมพินี ทำให้หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าน่าจะยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของประเทศต่อสายตานานาชาติ อันจะเป็นผลบวกต่อการท่องเที่ยวและการลงทุน
พล.ท.ภราดร กล่าวว่า เหตุผลสำคัญของการเสนอยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่จะเสนอประกอบการพิจารณาของ ครม.มี 3 ข้อ คือ 1.ผู้ชุมนุมได้ยุบเวทีให้เหลือน้อยลง ทำให้สถานการณ์ด้านความมั่นคงในภาพรวมดีขึ้น 2.คำสั่งศาลแพ่งที่ห้ามศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) ออกประกาศหรือคำสั่งอันเป็นการจำกัดสิทธิผู้ชุมนุมถึง 9 ข้อ 9 ประการ ทำให้ไม่สามารถใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้อย่างเต็มศักยภาพ และ 3.เป็นไปตามข้อเรียกร้องของ 7 องค์กรภาคธุรกิจเอกชน
"เมื่อเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้ว เราก็จะเสนอให้ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง (พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551) ทดแทนทันทีในพื้นที่เดิม เพื่อดูแลสถานการณ์ต่อไป และคิดว่าถ้าเงื่อนไขการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังติดคำสั่งศาลแพ่งอยู่แบบนี้ การใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง น่าจะดีกว่า เพราะยังออกมาตรการห้ามเข้าหรือออกจากอาคารสถานที่ ห้ามใช้เส้นทางการจราจร และห้ามเคลื่อนย้ายอาวุธได้ เพียงแต่จุดอ่อนคือกฎหมายไม่คุ้มครองพนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติเท่านั้นเอง" เลขาธิการ สมช.ระบุ
ขอบคุณข่าวจาก