ชำแหละ 3 ยุค "อุ้มฆ่า-อุ้มหาย" มูลเหตุ "การเมือง-ไฟใต้-เห็นต่าง"
มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ไอซีเจ) และกองทุนรางวัลสมชาย นีละไพจิตร ร่วมกันจัดงาน "10 ปีทนายสมชาย นีละไพจิตร สูญหายโดยถูกบังคับ" มีการนำเสนองานวิจัยเรื่อง "คำสาปของความคลุมเครือ: การบังคับให้สูญหายในฐานะนวัตกรรมความรุนแรงทางการเมือง" ซึ่งอธิบายปรากฏการณ์ "อุ้มฆ่า-อุ้มหาย" ในประเทศไทยอย่างน่าสนใจ
บทที่เป็นไฮไลท์ของงานวิจัยฉบับนี้คือ คำสาปของความคลุมเครือ: กระบวนการทำให้หายโดยรัฐไทยในรอบ 64 ปี (พ.ศ.2490 - 2554) สามารถแบ่งเป็นยุคสมัยได้ดังนี้
O การบังคับให้สูญหายโดยรัฐที่ปรากฏขึ้นในช่วงทศวรรษ 2490
มีปรากฏอยู่ 3 กรณีหลัก ได้แก่ 1.การหายตัวไปของ นายเตียง ศิริขันธ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2.การหายตัวไปของ นายพร มะลิทอง ซึ่งเคยถูกจับกุมในคดีกบฏเมื่อ พ.ศ.2492 (กบฏวังหลวง) โดยทั้ง 2 กรณี มีการสอบสวนเพิ่มเติมในภายหลัง และมีความชัดเจนว่าถูก "ตำรวจ" จับกุมตัวไว้ก่อนที่จะสูญหายในเวลาต่อมา
3.การหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยของ หะยีสุหรง อับดุลกาเดร์ (บิดาของ นายเด่น โต๊ะมีนา อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย อดีต ส.ส.และ ส.ว.ปัตตานี) มีการระบุว่า พ.ต.ท.เล็ก กำเนิดงาม ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี ได้สั่งให้ พลตำรวจสมาน ไปเชิญ หะยีสุหลง แล้วแจ้งให้ทราบว่าทาง พ.ต.ท.บุญเลิศ เลิศปรีชา ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา เชิญตัวไปพบระหว่างวันที่ 6-10 ส.ค.2497 แต่ หะยีสุหลง ป่วยกะทันหัน ทำให้เลื่อนการไปพบเป็นวันที่ 13 ส.ค.2497 และหลังจากนั้น หะยีสุหรง ก็หายตัวไป คดีของ หะยีสุหรง ไม่มีการสอบสวนต่อ จึงไม่ปรากฏข้อเท็จจริง
O การบังคับให้สูญหายโดยรัฐที่ปรากฏขึ้นในช่วงหลังปี 2500-2540
หลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเดือน ต.ค.2516 จนถึงก่อนการรัฐประหาร 6 ต.ค.2519 ในช่วง 3 ปีของการปกครองโดยรัฐบาลพลเรือน แม้จะปรากฏความรุนแรงทางการเมืองหลายครั้ง แต่แทบไม่พบกรณีของการบังคับให้สูญหาย
กระทั่งการก้าวขึ้นมามีอำนาจของรัฐบาลทหารในเดือน ต.ค.2519 จึงมีการดำเนินนโยบายกวาดล้างอย่างหนักต่อฝ่ายต่อต้านรัฐ กลุ่มเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ และกลุ่มที่ถูกมองว่าฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ กรณีของการบังคับให้สูญหายก็ได้ปรากฏอีกครั้ง โดยกระทำกับแกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมในชนบทหลายกรณี
ต่อมาในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ.2535 มีการใช้ความรุนแรงปราบปรามการชุมนุมทางการเมืองอีกกรณีหนึ่งที่ไม่เพียงจะพบผู้เสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ หากแต่ยังปรากฏการสูญหายด้วย และนับเป็นกรณีการบังคับให้สูญหายโดยรัฐที่อยู่ในความรับรู้ของสาธารณชนไทยอยู่บ้าง
ตามรายงานของศูนย์ฮอตไลน์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวนี้จำนวน 44 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่ตรงกับการรายงานของสื่อและภาครัฐในช่วงเวลานั้น อย่างไรก็ดี ภายหลังเหตุการณ์มีการแจ้งความคนหายจำนวนกว่า 2,000 ราย อย่างไรก็ดี หลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ การบังคับให้สูญหายโดยภาครัฐเริ่มเบาบางลง
O การบังคับให้สูญหายโดยรัฐในรอบทศวรรษ (2540-2550)
การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2544 นำมาสู่รัฐบาลเสียงข้างมากในสภา รัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประกาศนโยบายสงครามปราบปรามยาเสพติด ภายใต้นโยบายดังกล่าวแต่ละจังหวัดได้รับโควตาที่ต้องจับกุมบุคคลและปราบปรามยาเสพติด มีการให้สินบนนำจับในอัตรา 3 บาทต่อยาบ้า 1 เม็ดที่จับกุมได้ ตำรวจและเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น รวมทั้งผู้ใหญ่บ้านซึ่งไม่สามารถทำยอดได้ตามเป้าการจับกุมจะถูกลงโทษ ทำให้ปรากฏจำนวนผู้เสียชีวิตในหนังสือพิมพ์แบบรายวัน
การปฏิบัติงานตามนโยบายในระยะแรก (1 ก.พ.- 30 เม.ย.2546) เน้นการ "ยึดพื้นที่" และ "ตัดห่วงโซ่" ของผู้ค้ายาเสพติด ในช่วงเวลาดังกล่าวเชื่อกันว่ามีผู้ถูกสังหาร 2,873 คน และพบว่ามีเพียง 1,187 กรณีที่การเสียชีวิตมีหลักฐานว่าบุคคลดังกล่าวเกี่ยวข้องกับยาเสพติด
สำหรับกรณีการบังคับให้สูญหายในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น แม้ว่าจะมีข่าวลือเรื่องการ "อุ้มหาย" ประชาชนชาวมลายูมุสลิมปรากฏอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจเผยแพร่สู่การรับรู้ของสาธารณชนมากนัก
เรื่องราวการบังคับให้บุคคลสูญหายโดยรัฐในพื้นที่ชายแดนใต้ เริ่มเป็นที่รับรู้กว้างขวางในสังคมไทยก็เมื่อภายหลังการหายตัวไปอย่างลึกลับของ ทนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความนักต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชนและทนายคดีความมั่นคง เมื่อเดือน มี.ค.2547
โดยในวันที่ 11 มี.ค.2547 หนึ่งวันก่อนการหายตัวไปของทนายสมชาย เขาได้ยื่นเรื่องร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อกระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และในวันที่ 12 มี.ค.2547 ทนายสมชายหายสาบสูญไปอย่างมีเงื่อนงำ
พยานผู้พบเห็นทนายสมชายเป็นคนสุดท้ายให้การต่อศาลว่า เมื่อเวลาประมาณ 20.30 น. เห็นรถอีกคันหนึ่งขับปาดหน้า ทำให้รถของนายสมชายต้องหยุด จากนั้นมีชาย 4 หรือ 5 คนออกจากรถ บังคับให้นายสมชายเข้าไปในรถและขับออกไป จากนั้นไม่มีใครพบเห็นเขาอีกเลย
การอธิบายการสูญหายของทนายความสมชายที่ดูจะมีการตอบคำถามในเรื่องดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น คือการอธิบายถึงสาเหตุของการหายตัวของของทนายความสมชาย จากคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ตามคำสั่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งสรุปว่าการหายตัวไปของทนายสมชาย น่าเชื่อได้ว่าถูกลักพาตัวไป แต่ไม่มีสิ่งใดบ่งบอกให้เชื่อได้ว่าปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ส่วนมูลเหตุการลักพาตัว เนื่องจากทนายสมชายมีกิจกรรมที่มีลักษณะเป็นพิเศษแตกต่างกับทนายความโดยทั่วไปต่อเนื่องตลอดมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 20 ปี จึงไม่อาจระบุชัดเจนได้
ส่วนกรณีเกี่ยวกับสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทนายสมชายได้มีบทบาทหลายอย่าง ทำให้ดูเหมือนว่าทนายสมชายเป็นปรปักษ์กับเจ้าหน้าที่บ้านเมืองและรัฐบาล โดยได้ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างการหายตัวไปของทนายสมชายกับ "มือที่สาม" มีนัยยะในการปฏิเสธว่าเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้กระทำการให้สูญหาย ลักษณะเช่นนี้จึงเห็นได้ชัดเจนถึงลักษณะการสร้างความกำกวมต่อการสูญหายของบุคคล โดยการปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นการกระทำของภาครัฐ
จำนวนผู้สูญหายที่เพิ่มขึ้นและลดลงอย่างไม่แน่นอน อาทิเช่น ในปี 2547 ภายหลังเหตุการณ์ปล้นปืนจากค่ายกองพันพัฒนาที่ 4 อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส มีรายงานผู้ถูกบังคับให้หายโดยรัฐ จำนวน 10 ราย ต่อมาปี 2549 มีรายงานบุคคลสูญหายเพียงรายเดียว ปี 2550 กลับมีรายงานผู้ถูกบังคับให้สูญหายสูงถึง 8 ราย และไม่มีรายงานผู้ถูกบังคับให้สูญหายในปี 2551 แต่เมื่อปี 2552 ก็ปรากฏรายงานผู้ถูกบังคับให้สูญหาย 2 ราย