รวมพลังขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 'ฟื้นฟูป่าเมืองน่าน' สนองพระราชดำริพระเทพฯ'
สนองพระราชดำริพระเทพฯ จัดทำโครงการอนุรักษ์ป่าจ.น่าน หวังเเก้ปัญหาความเสื่อมโทรมจากการบุกรุกปลูกพืชไร่ เน้นยุทธศาสตร์สร้างจิตสำนึกเด็กเเละเยาวชน สร้างสรรค์วิธีการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ
ปัจจุบันเห็นได้ชัด จ.น่านมีพื้นที่ป่าไม้เกิดความเสื่อมโทรมมาก เนื่องจากการถูกบุกรุกเพื่อปลูกพืชไร่ ดังนั้น เพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของพื้นที่ป่าอย่างยั่งยืน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงมีพระราชดำริให้หน่วยงานต่าง ๆ ร่วมกันจัดทำ ‘โครงการอนุรักษ์ป่าไม้ในพื้นที่จ.น่าน’ โดยมุ่งเน้นการปลูกฝังจิตสำนึกและความรับผิดชอบแก่เด็กและเยาวชนแบบบูรณาการด้วยความร่วมมือของชุมชนและภาคส่วนต่าง ๆ
เมื่อเร็ว ๆ นี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินศูนย์การเรียนรู้และบริการวิชาการ เครือข่ายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อทรงเป็นประธานเปิดงานสัมมนาวิชาการ ‘รักษ์ป่าน่าน’ โดยมีนายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน), ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี, ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ, ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย รองผอ.สกว., นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม 1,400 คน
ในการนี้สมเด็จพระเทพฯ ทรงบรรยายพิเศษ เรื่อง ‘การสร้างสำนึกในเด็กและเยาวชนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ’ ใจความตอนหนึ่งว่า จ.น่านเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีจำนวนป่าไม้ที่สวยงามลดลง ซึ่งจริง ๆ แล้วได้คิดถึงประเด็นนี้มาเป็นเวลานานกว่า 20 ปี แต่ก่อนหน้านี้มีโครงการน่านเขียวขจี หากตอนนี้ไม่มีใครพูดถึงแล้ว จึงไม่ทราบว่าจะเดินไปได้ไกลแค่ไหน อย่างไรก็ตาม ได้มีโครงการเด่น ๆ ที่ต้องการให้ภูเขามีความเขียวขจี โดยสมัยก่อนนั้นเขียวขจีจริง ๆ เคยมา จ.น่านเมื่อประมาณปี 2510 ก็ยังเขียวขจี ต่อมาเริ่มเขียวขจีน้อยลงทุกที
เดือนพฤศจิกายน ปี 2538 ได้พานักเรียนโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ามาทัศนศึกษาดูงานที่ จ.น่าน และได้ทำคู่มือทัศนศึกษาไว้ ซึ่งมีข้อมูลต่าง ๆ โดยส่วนหนึ่งมีเรื่องป่าไม้ ได้เขียนไว้ว่า พื้นที่ป่าไม้จ.น่านปัจจุบันลดลงเรื่อย ๆ เพราะถูกบุกรุกทุกปีโดยเฉพาะพื้นที่สูง ประกอบกับประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการเกษตร เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา มีการทำลายบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำการเกษตรในเรื่องการทำไร่เลื่อนลอย
ซึ่งปี 2507 จ.น่านมีพื้นที่ป่าไม้ 6,251,480 ไร่ คิดเป็น 87.19% ของพื้นที่ แต่จากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมปี 2538 กลับเหลือพื้นที่ป่า 3,273,759 ไร่ คิดเป็น 45.66 ของพื้นที่ มีพื้นที่ป่าถูกบุกรุก 2,977,700 ไร่ หรือถูกบุกรุกเฉลี่ยปีละ 146,000 ไร่
สมเด็จพระเทพฯ ทรงบรรยายต่อ โดยเปรียบป่าไม้เหมือนซุปเปอร์มาเก็ตของชาวบ้าน ต้องการอะไรก็ไปเอาในป่านั้น มีปัจจัย 4 คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ล้วนหาได้จากป่าทั้งสิ้น แต่การรักษาป่าและทรัพยากรต่าง ๆ มีความหลากหลาย ฉะนั้นวิธีการที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนได้ คือ การให้โอกาสเด็กและเยาวชนได้เรียนรู้จากธรรมชาติรอบตัว มีความรู้ความเข้าใจ เกิดความรักความผูกพันและหวงแหนในทรัพยากรของตนเอง
โดยการจัดกิจกรรมให้เด็กและเยาวชนได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง เรียนรู้จากวิถีชีวิตของชุมชนที่พยายามปรับตนให้อยู่ร่วมกับป่าด้วยการผสมผสานความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชน ชุมชนสามารถผลิตอาหารได้เพียงพอและมีรายได้เสริมจากผลผลิตที่เกิดขึ้นในชุมชน ในขณะเดียวกันต้องไม่บุกรุกทำลายป่าเพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้ป่าฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน
หวั่นเมืองน่านเหมือนปาย คนท้องถิ่นหายเข้าป่าหมด
จากนั้นในเวทีได้เปิดอภิปรายจากผู้แทน 4 องค์กรสำคัญ ในหัวข้อ ‘รักษ์ป่าน่าน’ โดยพระครูพิทักษ์นันทคุณ ที่ปรึกษามูลนิธิฮักเมืองน่าน ระบุถึงป่าไม้เสื่อมโทรมเกิดจากสาเหตุปัจจัยใน 3 ยุคสำคัญ ได้แก่...
ยุคแรก ขณะนั้นอาตมาเป็นเด็ก รัฐบาลเริ่มมีนโยบายพัฒนาประเทศ ซึ่งต้องการงบประมาณ จึงเปิดให้กลุ่มทุนสัมปทานป่าไม้ แต่มี ‘กลุ่มบ้านหลวงหวงป่า’ อ.บ้านหลวง จ.น่าน กลุ่มเดียวที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ห้ามนำท่อนไม้เคลื่อนออกจากป่า
นอกจากนี้เกิดจากยุทธศาสตร์ปราบปรามคอมมิวนิสต์ ทำให้มีผู้อพยพจากต่างถิ่นเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เมื่อมีคนรวมอยู่ในศูนย์อพยพมากขึ้น จึงต้องเข้าป่าเพื่อตัดไม้มาทำฟืน และสุดท้ายต้องอพยพไปอยู่ตะเข็บชายแดนหวังให้เป็นหมู่บ้านกันชน จนมีการขยายครัวเรือนออกไป ดังนั้นจึงทำให้ตัดไม้ทำลายป่าเพื่อเพาะปลูกหาเลี้ยงชีพ
ยุคกลาง ภาครัฐได้ส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด ข้าวฟ่าง มันสำปะหลัง และออกสินเชื่อเอื้ออาทรเพื่อนำไปซื้อเครื่องมือทางการเกษตร นำเข้าปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ซึ่งอาตมามองว่าควรรื้อฟื้นโครงการน่านเขียวขจีขึ้น เพราะเป็นแนวทางการแก้ปัญหาที่ดี พร้อมให้ยกเลิกนโยบายประชานิยมที่เน้นการประกันราคาหรือรับจำนำพืชผล ด้วยจะทำให้ชาวบ้านพากันขึ้นภูเขาเพื่อล้มป่าปลูกพืช
ยุคหลัง อาตมาไม่ได้โจมตีนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือนายกเทศมนตรี ท่านหาเสียงมาตลอดว่าจะสร้างถนนเข้าสู่พื้นที่เกษตร ปรากฏว่าไม่ได้เข้าสู่พื้นทีเกษตรทั้งหมด แต่ตรงไหนมีป่าจะสร้างถนนเข้าตรงนั้น
นอกจากนี้ยังมีบริษัทยักษ์ใหญ่ เงินทุนเยอะ เข้ามากว้านซื้อภูเขาเมืองน่าน เพื่อปลูกพืชป้อนโรงงานให้กับตนเองมากขึ้น อีกทั้งนายทุนนักเก็งกำไรที่ดินเริ่มทยอยเข้ามาซื้อที่ดิน ซื้อเขา ซื้อป่า เพื่อจัดสรรขาย และยังมีเกษตรกรต่างถิ่นเข้ามาซื้อที่ดินปลูกยางงพาราและปาล์มน้ำมันด้วย
“นักการเมืองระดับชาติที่ผันตนเองมาเป็นนักสะสมที่ดินมากขึ้น บางคนมีที่ดินเป็นพันไร่ ใครฟังอยู่อาตมาก็ขอบิณฑบาตให้ลดน้อยลง อย่างไรท่านคงไม่มีอายุถึง 100 ปี เช่นนั้นแล้วหากปล่อยเช่นนี้ อนาคตที่ดินเมืองน่านคงอยู่ในมือไม่กี่คน” ที่ปรึกษามูลนิธิฮักเมืองน่าน กล่าว และว่าอนาคตจะมีรีสอร์ท สนามกอล์ฟ และสิ่งอื่นเข้ามาอีกมากมาย เหมือนกับเมืองปาย คนท้องถิ่นหายเข้าป่าหมด ซึ่งต่อไปคนน่านก็จะหนีเข้าป่าหมด เพราะขายที่ดินให้คนที่อื่น
พระครูพิทักษ์นันทคุณ กล่าวถึงทางออกว่าที่ผ่านมาเครือข่ายป่าชุมชนยังล้มลุกคลุกคลาน เพราะขาดงบประมาณในการจัดการและไม่เอื้อต่อกันและกัน ดังนั้นจะต้องสร้างเครือข่ายป่าชุมชนให้เข้มแข็ง และให้มีการจัดตั้งสถานีวิทยุชุมชนคนฮักป่าเมืองน่าน เพื่อให้เครือข่ายแต่ละแห่งได้มีพื้นที่ถ่ายทอดแนวคิด ปลูกจิตสำนึกต่อเด็กและเยาวชน ตลอดจนสถาบันการศึกษาต้องช่วยกันดูแลป่าชุมชนด้วย
สำหรับโรงเรียนพระปริยัติธรรม จ.น่าน ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพฯ อาตมาจะเสนอโครงการธรรมยาตราป่าชุมชน โดยให้ภิกษุและสามเณรธุดงค์เข้าไปในป่าชุมชน หากไม่มีก็ต้องปลูกจิตสำนึกให้ชาวบ้านฟื้นฟูผืนป่า
“อยากให้ทุกท่านช่วยกันทำจริงจัง มิใช่สมเด็จพระเทพฯ จะเสด็จก็รีบนำภาพที่ไหนมาจัดแสดง แต่เมื่อพระองค์เสด็จกลับแล้วก็หลับต่อเลย ซึ่งถือว่าหลอกกันชัด ๆ จึงไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น” ที่ปรึกษามูลนิธิฮักเมืองน่าน ระบุ
ผู้ว่าฯ น่านเปิดโมเดลที่ดินทำกิน แก้ป่าเสื่อมโทรม
นายอุกฤช พึ่งโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน กล่าวว่า จังหวัดได้มีการบูรณาการโมเดล ‘การสร้างเมืองน่านน่าอยู่ คู่ป่าต้นน้ำ’ โดยใช้รูปแบบโมเดลการจัดการที่ดินทำกิน ซึ่งมีหัวใจสำคัญอยู่ที่การบูรณาการ มีอยู่ 4 ห้อง ได้แก่
ห้องที่ 1 การกำหนดขอบเขตพื้นที่ โดยร่วมกับกรมป่าไม้ใช้แผนที่มาตราส่วน 1:4000 เพื่อกำหนดขอบเขตที่ชัดเจน เพื่อกำหนดแนวเขตพื้นที่ให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 ที่กำหนดให้มีการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทกับราษฎร เนื่องจากไม่มีแนวเขตชัดเจน เช่น แนวเขตอุทยานแห่งชาติ เขตต้นน้ำ และให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบกำหนดแนวเขตจากระดับอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ที่มีมาจากส่วนราชการและชุมชน
ห้องที่ 2 สร้างคน เรามีมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ก่อเกิดขึ้นมาโดยเจตนารมณ์ของสมเด็จย่าที่ปรารถนาจะให้ผู้นำชาวเขาชนเผ่าต่าง ๆ ได้เรียนรู้ในระบบโรงเรียน เพื่อให้รับการพัฒนา และบุคคลเหล่านี้จะเป็นทรัพยากรแกนนำ สามารถสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ให้ชาวเขาในพื้นที่
ห้องที่ 3 กระบวนการพัฒนา ต้องให้เกิดการมีส่วนร่วม เราต้องไม่กำหนดขอบเขตว่าต้องเป็นความรับผิดชอบของคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องเป็นความรับผิดชอบของชุมชน ซึ่งกระบวนการมีส่วนร่วมนั้นได้น้อมนำศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาปฏิบัติ คือ “การเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”
ห้องที่ 4 ลงมือปฏิบัติ ต้องทำให้เห็นผล
เมื่อถามว่าโมเดลดังกล่าวจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ตอบว่า วาระการสร้างเมืองน่านน่าอยู่ คู่ป่าต้นน้ำ มีแผนดำเนินการ 4 ปี ตั้งแต่ปี 2556-2560 ซึ่งคาดว่า จ.น่านจะมีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นราว 200,000 ไร่ แต่จะต้องอาศัยระยะเวลา โดยความความอดทนอดกลั้น
กองทัพบกยินดีร่วมฟื้นป่า เน้นเดินรอยตามในหลวง-ราชินี
พล.ท.ภานุวัชร นาควงษม์ ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายกิจการพลเรือน กล่าวถึงสาเหตุการแก้ไขปัญหาป่าไม้เสื่อมโทรมไม่ประสบความสำเร็จ หากตอบในเชิงบวก เพราะป่าไม้มีมาก ถูกทำลายมาก แต่การปลูกทดแทนกลับมีน้อย และที่ปลูกไปแล้วยังไม่เจริญเติบโต
สำหรับเชิงลบเกิดจากการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ต่างฝ่ายต่างทำ ขาดการบูรณาการ และไม่มีแผนที่ชัดเจนรองรับ
แต่ไม่ว่าจะตอบในเชิงบวกหรือลบคงไม่สำคัญ เพราะที่ผ่านมาล้วนทำไม่ได้ ดังนั้นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการต่อไป คือ จะทำอย่างไรกับการสร้างปลูกจิตสำนึกที่มากกว่าการร่วมมือปลูกป่า แต่ควรเปลี่ยนเป็นการให้ทุกคนเห็นโทษของการไม่มีป่า ดังสุภาษิตจีนที่ว่า “ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา”
ผู้ช่วยเสนาธิการฯ ยกตัวอย่างใกล้ตัวที่สุดว่า เมื่อก่อนเรามักพูดว่าป่าหมดให้คนในภาคเหนือรับผิดชอบ คนภาคกลางไม่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรุงเทพฯ แต่ปัจจุบันเมื่อน้ำประปาเริ่มเค็ม คนที่รับทุกข์มากที่สุด คือ คนกรุงเทพฯ ซึ่งล้วนมีสาเหตุมาจากป่าไม้ทั้งสิ้น
“ผมได้เคยคุยกับคนแก่ว่าทำไมประเทศชาติจึงเป็นแบบนี้ ท่านบอกว่าให้รู้ไว้เถอะ คนทั้งประเทศกำลังรับชะตากรรม ซึ่งเจ้ากรรมนายเวรกำลังตามมาล้างแค้น ป่ามีนางไม้ มีเทวดาอยู่ ดังนั้นเมื่อคนไปตัดป่าทำให้รุกขเทวดาไม่มีที่อยู่ แต่กรรมยังไม่หมด นอกจากไม่มีน้ำกินแล้ว คนแก่บอกว่าน้ำที่มีอยู่ก็จะกินไม่ได้ เพราะคนปลูกพืชผักใส่ยาฆ่าแมลง”
พล.ท.ภานุวัชร กล่าวต่อว่า กองทัพบกมีภารกิจหลักในการป้องกันประเทศและรักษาความสงบเรียบร้อยภายใจ ส่วนการปลูกป่านั้นถือเป็นภารกิจทางอ้อม โดยพื้นที่รับผิดชอบมักอยู่ตามแนวชายแดนหรือพื้นที่ความมั่นคง ซึ่งการทำงานยึดตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1. การปลูกป่าในใจคน 2.การปลูกป่าโดยไม่ปลูก 3. ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง
เช่นเดียวกันเรามักนำพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ใจความตอนหนึ่งว่า “พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า” และมีโครงการพระราชทานตามมา เช่น โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ ที่เปิดโอกาสให้คนดูแลป่าให้ได้ หรือโครงการธนาคารอาหารชุมชน โดยทำอย่างไรให้คนเข้าป่าแล้วมีซุปเปอร์มาร์เก็ตได้
สำหรับองค์ประกอบทำให้มีการปลูกป่านั้น ผู้ช่วยเสนาธิการฯ ระบุว่า 1.ด้านพื้นที่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้าใจบทบาทต่อกัน
2.ด้านวิชาการ ดิน น้ำ พืชพรรณ ซึ่งหลายมหาวิทยาลัยของไทย โดยเฉพาะจุฬาฯ ได้นำผลงานไปวิจัยเรื่องการปลูกป่าแล้ว
3.ด้านงบประมาณ จากภาครัฐและเอกชน
4.ด้านจิตสำนึก สอนให้ทุกคนเกิดจิตสำนึกจะเกิดขึ้นทั้งประเทศ
5.ด้านคน ภาครัฐปลูกป่าฝ่ายเดียวไม่ประสบความสำเร็จ แต่จะต้องให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม โดยการปลูกฝังเยาวชน ตลอดจนถึงคนโตด้วย
“กองทัพบกยินดีจะร่วมมือฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม รับปากได้เลย เพราะมีทรัพยากร แต่ทุกฝ่ายจะต้องมาช่วยกันทำ ซึ่งจะให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องสามัคคีกันให้ได้ จึงจะประสบความสำเร็จแน่นอน” ผู้ช่วยเสนาธิการฯ กล่าว
อธิการบดีจุฬาฯ แนะฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม ต้องสร้างจิตสำนึกเด็ก
ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การแก้ปัญหาป่าเสื่อมโทรม จ.น่านจะต้องทำ 2 เรื่องใหญ่ ๆ คือ 1.การรักษาป่า แบ่งเป็น...
-การจัดพื้นที่โซนนิ่ง ถือเป็นหัวใจสำคัญในการจัดทำพื้นที่ เพื่อให้ทราบว่าป่าใดทรุดโทรมหรือสมบูรณ์อยู่ ซึ่งไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับป่าสมบูรณ์ แต่ควรให้เกิดการฟื้นฟูตัวเอง
-การจัดการน้ำผิวดิน เพื่อให้เกิดความชุ่มชื้นจนทำให้มีความอุดมสมบูรณ์กลับคืนมาอีกครั้ง โดยใช้หลักการดำเนินงานของศูนย์การศึกษาพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ จ.เชียงใหม่ เพียงแต่ต้องปรับเปลี่ยนบ้างผ่านการวิจัย เพราะบางอย่างอาจไม่เหมาะกับพื้นที่ ซึ่งขณะนี้ได้จัดสร้างฝาย บ่อน้ำ เพื่อให้ป่าเกิดเองและฟื้นตัวภายใน 5 ปี
-การฟื้นฟูป่าเต็งรัง จากการวิจัยในอ.เวียงสา จ.น่าน พบเป็นพื้นที่มีเห็นมาก ฉะนั้นจึงส่งนักวิจัยจากจุฬาฯ เข้าไปศึกษาเห็ดพันธุ์ต่าง ๆ โดยพบว่ามีอยู่สายพันธุ์หนึ่งที่สามารถช่วยฟื้นฟูการเจริญเติบโตของต้นกล้าไม้ได้ ซึ่งถือเป็นต้นกล้าที่สำคัญในป่าเต็งรัง เมื่อนำไปปลูกแซมก็จะมีความแข็งแรง และเมื่อเจริญเติบโตแล้วจะเกิดเห็ดเผาะขึ้น ทำให้ชาวบ้านสามารถเก็บไปกินหรือขายได้
2.การสร้างจิตสำนึกให้เด็กและเยาวชน โดยจุฬาฯ ได้นำผลการวิจัยมาย่อยข้อมูลกระจายไปยังโรงเรียนต่าง ๆ เพื่อนำจัดไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอน ภายใต้โครงการต่าง ๆ เป็นระยะด้วย .
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ยุทธศาสตร์รักษ์ป่า จ.น่าน 'บัณฑูร' เเนะกระจายอำนาจให้ชุมชนจัดการตนเอง