ฟังทหารประเมินสถานการณ์หลังเลือกตั้งใต้ กับทางสองแพร่งของนโยบาย "นครปัตตานี"
กลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันกว้างขวางพอสมควรเกี่ยวกับนโยบายดับไฟใต้ของรัฐบาลชุดใหม่ ภายหลังพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง กวาดที่นั่ง ส.ส.เกินครึ่งสภา แต่กลับไม่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เลยแม้แต่เก้าอี้เดียว
จุดนี้กลายเป็นประเด็นท้าทายทางนโยบายของ “ว่าที่รัฐบาลชุดใหม่” ที่นำโดยพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะการบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งแม้แต่สื่อต่างประเทศเองก็หยิบไปวิเคราะห์วิจารณ์เช่นกัน
โดยเฉพาะนโยบาย “นครปัตตานี” หรือการผลักดันให้เกิดเขตปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ โดยรวมพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้คือ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นเขตปกครอง เรียกว่า “นครปัตตานี” แล้วเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น เรียกว่า “ผู้ว่าการนครปัตตานี” กับสมาชิกสภาท้องถิ่นโดยตรงจากประชาชนในเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เดิม
ประเด็นถกเถียงของกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ เท่าที่ซาวเสียงดูแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่สนับสนุนให้พรรคเพื่อไทยเดินหน้านโยบาย “นครปัตตานี” ต่อไป กับกลุ่มที่กระตุกให้ทบทวน เพราะเป็นประเด็นอ่อนไหวซึ่งเสียงของประชาชนไม่มีความชัดเจนว่าสนับสนุนนโยบายนี้จริงหรือไม่
ไม่มี ส.ส.ไม่ใช่ปัญหา-ต้องเดินหน้า “นครปัตตานี”
กลุ่มแรก ได้แก่ กลุ่มที่สนับสนุนให้เดินหน้า “นครปัตตานี” ประกอบด้วยผู้นำศาสนาบางราย เครือข่ายประชาชนพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการปกครองจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งจัดเวทีรณรงค์เรื่อง "การปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษภายใต้รัฐธรรมนูญ" มานานข้ามปี และกลุ่มนักวิชาการที่สนับสนุนเครือข่ายดังกล่าว
นายนิมุ มะกาเจ ผู้ทรงคุณวุฒิจังหวัดยะลา และประธานสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดยะลา กล่าวกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ถือเป็นวาระแห่งชาติ และพรรคเพื่อไทยได้ชูนโยบายเรื่องการจัดตั้งเขตการปกครองพิเศษ หรือ “นครปัตตานี” เอาไว้ เมื่อพรรคเพื่อไทยมีโอกาสเป็นรัฐบาล ส่วนตัวจึงสนับสนุนให้เดินหน้าจัดทำนโยบายต่อไป หากคิดว่าเป็นสิ่งที่สามารถทำให้พื้นที่นี้เกิดความสงบสุขขึ้นอีกครั้ง
“ถึงแม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่ชนะเลือกตั้งในพื้นที่สามจังหวัด แต่ประชาชนส่วนใหญ่ก็ตั้งความหวังให้พรรคเพื่อไทยเข้ามาแก้ไขปัญหา ฉะนั้นจึงคิดว่าพรรคเพื่อไทยน่าจะผลักดันนโยบายที่ได้ประกาศเอาไว้ต่อไป โดยใช้หน่วยงานของรัฐที่มีอยู่ ทั้งตำรวจ ทหาร และ ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) เป็นตัวขับเคลื่อนร่วมกับพี่น้องประชาชน เพราะสิ่งที่ประชาชนในพื้นที่ต้องการเห็นคือเป้าหมาย วิธีการ และการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่เอง” นายนิมุ กล่าว
ขณะที่ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว “เครือเนชั่น” เอาไว้ว่า นโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทยเกี่ยวกับปัญหาภาคใต้ถือว่ามีความโดดเด่น แต่อาจจะยังไม่ดีพอที่จะได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนจากประชาชนในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม เมื่อเสนอนโยบายสู่สาธารณชนแล้ว ก็ต้องดำเนินการให้เกิดผล มิฉะนั้นจะก่อปัญหาในแง่ความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลได้อีก
“เมื่อประกาศนโยบายแล้วก็ต้องทำ ไม่ว่าจะมี ส.ส.ที่ได้รับเลือกจากพี่น้องประชาชนหรือไม่ก็ตาม ก็ต้องผลักดันให้สำเร็จ เพราะนี่คือการแสดงออกถึงความจริงจังและจริงใจในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบ” ผศ.ดร.ศรีสมภพ ระบุ
ปชป.-นักวิชาการเตือนอย่าด่วนตัดสินใจ
สำหรับกลุ่มที่เห็นตรงกันข้ามกับกลุ่มแรก แน่นอนว่าต้องนำโดยว่าที่ ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งชูนโยบายหาเสียง “ไม่เอานครปัตตานี” แต่จะใช้กลไกในพื้นที่ที่มีอยู่ คือ ศอ.บต.และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) จัดการปัญหาด้านการพัฒนาและความมั่นคงควบคู่กัน ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้งถึง 9 เขตจาก 11 เขตในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
นายพีรยศ ราฮิมมูลา ว่าที่ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว “เครือเนชั่น” ว่า ขณะนี้ในระดับพื้นที่ทั้งประชาชนและข้าราชการต่างรู้สึกสับสนและกำลังเฝ้ารอดูท่าทีของรัฐบาลใหม่ว่าจะกำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาภาคใต้อยางไร เนื่องจากผลการเลือกตั้งของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ซึ่งมี ส.ส.ในระบบเขต 11 ที่นั่งนั้น พรรคประชาธิปัตย์ได้มาถึง 9 ที่นั่ง ส่วนที่เหลืออีก 2 ที่นั่งก็เป็นของพรรคการเมืองอื่น โดยไม่มีผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยได้รับเลือกตั้งเลย ซึ่งน่าจะเป็นข้อพิสูจน์ว่าชาวบ้านไม่ต้องการรูปแบบการบริหารภายใต้นโยบายของพรรคเพื่อไทย ทั้งการยุบ ศอ.บต.และตั้งเขตปกครองพิเศษ
"ดังนั้นก่อนที่พรรคเพื่อไทยจะตัดสินใจกำหนดนโยบายการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงอยากให้ทบทวนให้ดี อย่าทำเพียงเพื่อแสดงถึงชัยชนะที่ได้รับโดยไม่คำนึงถึงความต้องการที่แท้จริงของประชาชนในพื้นที่" นายพีรยศ ระบุ
ขณะที่ ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า การที่ผลการเลือกตั้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ตอบรับผู้สมัครของพรรคเพื่อไทย ถือเป็นประเด็นหนึ่งที่ต้องหยิบมาพิจารณา ซึ่งจริงๆ แล้วส่วนตัวคิดว่าการกระจายอำนาจนั้น ไม่ได้มีแต่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เรียกร้อง แต่ประชาชนทั่วประเทศก็เรียกร้อง ทว่าสิ่งสำคัญที่สุดอยู่ที่ความพร้อมของประชาชน
“ถ้าหากรัฐบาลชุดใหม่รีบหรือด่วนตัดสินใจ ผมคิดว่าอาจจะมีปัญหาตามมาได้ในระยะยาว เพราะฉะนั้นควรทบทวนนโยบายให้ละเอียดรอบคอบ เพราะในท้ายที่สุดประเทศไทยย่อมหนีไม่พ้นแนวทางการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น อย่างเช่นเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด อีกไม่เกิน 20 ปีต้องมีเลือกแน่นอน เพียงแต่ต้องพิจารณาเรื่องความพร้อมทั้งในแง่ความรู้ความเข้าใจของประชาชน ตัวบทกฎหมาย และอื่นๆ ที่สำคัญตราบใดที่ยังแก้ปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงไม่ได้ กระบวนการเลือกตั้งผู้นำท้องถิ่นที่จะเข้ามาแทนการปกครองส่วนภูมิภาคก็จะมีปัญหา จุดนี้จึงต้องรณรงค์ทำให้การเมืองสะอาดเสียก่อน ไม่อย่างนั้นเลือกตั้งไปก็อาจไม่ได้ผู้นำที่ดี” ผศ.ดร.สมบัติ กล่าว และว่าส่วนตัวเห็นด้วยกับแนวทางการกระจายอำนาจที่หลายฝ่ายนำเสนอ แต่คิดว่ายังไม่ถึงเวลา
เพื่อไทย-ว่าที่นายกฯหญิงยังนิ่ง
มีประเด็นที่น่าจับตาคือ จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้ยินสุ้มเสียงจากพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิงคนใหม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พูดถึงแนวทางแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เลย ทั้งๆ ที่ทราบผลเลือกตั้งมานานกว่า 1 สัปดาห์แล้ว และมีข่าวจัดโผคณะรัฐมนตรีชุดใหม่กันอย่างคึกคัก
ยิ่งไปกว่านั้น ในการแถลงข่าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในหลายๆ วาระตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการพูดถึงนโยบายเร่งด่วนที่จะผลักดันทันทีหลังจัดตั้งรัฐบาล คือ เดินหน้าสร้างความปรองดอง, ฟื้นฟูเศรษฐกิจ แก้ปัญหาราคาสินค้าแพง และรื้อระบบโยกย้ายข้าราชการที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งนโยบายเร่งด่วนที่ประกาศทั้งหมด ไม่มีปัญหาภาคใต้รวมอยู่ด้วย
ทหารชี้ต้องรอดูใครนั่ง รมต.กลาโหม
ด้านท่าทีของฝ่ายทหาร แหล่งข่าวระดับสูงจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ประเมินว่า พรรคเพื่อไทยคงจะไม่บุ่มบ่ามประกาศนโยบายแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเป็นประเด็นอ่อนไหวที่จะถูกโจมตีได้ง่าย โดยเฉพาะในพื้นที่นี้พรรคเพื่อไทยไม่มี ส.ส.เลยแม้แต่คนเดียว
“ปัญหาภาคใต้เปรียบเสมือนของร้อน และพรรคเพื่อไทยเคยมีบทเรียนมาแล้วในสมัยพรรคไทยรักไทย ในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หลังเหตุการณ์กรือเซะกับตากใบ พรรคไทยรักไทยแพ้หมดทุกเขตในสามจังหวัด (การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2548) แม้จะฟื้นขึ้นมาบ้างในการเลือกตั้งเมื่อปี 2550 แต่ก็ไม่ได้ครองเสียงข้างมากในพื้นที่แม้ช่วงนั้นจะยังมีอดีตสมาชิกกลุ่มวาดะห์ร่วมงานอยู่ด้วย ครั้งนี้พรรคเพื่อไทยไม่มีสมาชิกวาดะห์อยู่เลย ยกเว้นกลุ่มคุณวันนอร์ (นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และอดีตแกนนำพรรคไทยรักไทย) ขณะที่สมาชิกวาดะห์คนอื่นๆ ไปสังกัดพรรคมาตุภูมิ ซึ่งแสดงท่าทีสนับสนุนรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ด้วย และแนวโน้มขณะนี้ก็ไม่ได้ร่วมรัฐบาล ฉะนั้นพรรคเพื่อไทยจึงต้องระมัดระวังท่าทีเกี่ยวกับปัญหาชายแดนภาคใต้อย่างมาก”
แหล่งข่าวระดับสูงจาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวอีกว่า ทางกองทัพวิเคราะห์กันว่าแนวทางแก้ไขปัญหาภาคใต้จะชัดเจนขึ้นหลังจากพรรคเพื่อไทยได้ตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพราะรัฐมนตรีมีอำนาจคุมนโยบายของกองทัพ หากภาพตรงนี้ชัด ก็จะพอมองเห็นแนวทาง
“ตอนนี้เราคิดว่าพรรคเพื่อไทยไม่กล้าพูดอะไร เพราะตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมยังไม่ลงตัว ถ้าได้ตัวรัฐมนตรีกลาโหม คงพอมองภาพออก โดยเฉพาะหากรัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่เป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับจากผู้นำเหล่าทัพ การขับเคลื่อนนโยบายก็จะง่ายขึ้น แต่เราเชื่อว่ารัฐบาลชุดใหม่จะใช้แนวทางประนีประนอมกับฝ่ายทหาร คงไม่ผลักดันนโยบายที่สวนทางกันอย่างสิ้นเชิง ส่วนตำแหน่งรัฐมนตรีที่กำกับดูแลปัญหาภาคใต้โดยตรงเหมือนสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ ก็ยังไม่ชัดว่าจะมีหรือไม่ เพราะทางพรรคเพื่อไทยยังไม่ได้แสดงท่าทีอะไรออกมาเลย”
ผลักแนวร่วมออกจากป่า-เดินหน้ากดดันมอบตัว
แหล่งข่าวผู้นี้ซึ่งเป็นนายทหารที่ใกล้ชิดกับแม่ทัพภาคที่ 4 ยังกล่าวถึงข่าวพรรคประชาธิปัตย์ใช้กลไกอำนาจรัฐในพื้นที่ โดยเฉพาะทหาร เข้าไปกดดันหัวคะแนนฝ่ายตรงข้าม เพื่อให้ตัวเองชนะเลือกตั้ง ว่า ไม่เป็นความจริง แม่ทัพภาคที่ 4 ไม่มีนโยบายให้ทหารเข้าไปยุ่งเกี่ยวเรื่องการเมือง และกำชับให้ทหารทุกนายเป็นกลางในการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่แทรกแซงการใช้สิทธิใช้เสียงของกำลังพล
ส่วนสถานการณ์ในพื้นที่ในช่วงที่ผ่านมาและหลังจากนี้ไป แหล่งข่าวระดับสูงจาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ระบุว่า สถิติการก่อเหตุรุนแรงลดลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะทหารเปิดปฏิบัติการเชิงรุกในพื้นที่ป่าเขา โดยเฉพาะบนเทือกเขาบูโด และเขาตะเว ทำให้สามารถทลายฐานฝึกและแหล่งพักพิงของกลุ่มก่อความไม่สงบได้เป็นจำนวนมาก
“ตอนนี้เราใช้ยุทธวิธีทางทหารกดดันกลุ่มขบวนการให้ออกจากป่า และใช้กระบวนการทางกฎหมายและการเมืองเข้าไปดำเนินการ โดยเฉพาะการขอความร่วมมือครอบครัวของบรรดาแนวร่วมก่อความไม่สงบให้พาบุตรหลานหรือคนในครอบครัวเข้ามอบตัว ตามนโยบายร่วมสร้างสันติสุขของแม่ทัพ ซึ่งนับว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ”
ต่อข้อถามถึงการก่อวินาศกรรมในลักษณะก่อการร้ายในเขตเมืองซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยเฉพาะ อ.เมืองยะลานั้น แหล่งข่าวคนเดียวกัน บอกว่า เหตุรุนแรงในเขตเมืองระยะหลัง มีความเกี่ยวข้องเกี่ยวพันกับกลุ่มอิทธิพลและผู้ประกอบธุรกิจผิดกฎหมาย ซึ่ง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้ามีนโยบายกวาดล้างอยู่อย่างต่อเนื่อง
“จากแนวร่วมระดับปฏิบัติที่เราจับกุมได้จำนวนมาก ทำให้ทราบว่ากลุ่มที่ก่อเหตุในเขตเมืองหรือในท้องที่ห่างไกลหลายๆ ครั้ง ไม่ใช่กลุ่มขบวนการ แต่เป็นปัญหาอิทธิพลเถื่อน ความขัดแย้งเรื่องการเมืองท้องถิ่น ซึ่งเรากำลังใช้กฎหมายจัดการกับกลุ่มเหล่านี้อย่างเด็ดขาด รวมทั้งขอความร่วมมือผู้นำศาสนาให้ทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนด้วย”
อดีตบิ๊กหน่วยข่าวเชื่อเพื่อไทยเล็งเปลี่ยนตัว ผอ.ศอ.บต.
พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ (ภาคใต้) ศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) กล่าวถึงทิศทางการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลชุดใหม่ที่จะมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำว่า คิดว่าพรรคเพื่อไทยไม่น่าจะกล้าผลักดันนโยบายนครปัตตานี เพราะสาเหตุที่พรรคพ่ายแพ้การเลือกตั้งในสามจังหวัด ส่วนหนึ่งก็เพราะประชาชนยังจำได้ว่าพรรคเพื่อไทยในสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ทำอะไรไว้กับพื้นที่นี้บ้าง
"ปัญหาภาคใต้กับพรรคเพื่อไทย หรือพรรคไทยรักไทยเดิมนั้น ไม่ใช่แค่บาดแผลธรรมดา แต่เป็นแผลกดทับที่ไม่มีวันหาย การชูนโยบาย ‘ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ’ ที่ใช้ได้กับพื้นที่อื่นทั่วประเทศ จึงใช้ไม่ได้กับสามจังหวัดชายแดน”
พล.ท.นันทเดช ซึ่งยังคงเกาะติดสถานการณ์ที่ชายแดนใต้ แม้ไม่ได้อยู่ในราชการแล้ว บอกด้วยว่า ในระยะแรกของรัฐบาลชุดใหม่ อาจจะ 6 เดือนถึง 1 ปี พรรคเพื่อไทยจะไม่มีนโยบายอะไรชัดเจนเกี่ยวกับปัญหาภาคใต้ เพื่อประเมินสถานการณ์และผลสำเร็จจากนโยบายประชานิยมที่เตรียมเทงบจำนวนมหาศาลให้กับประชาชน หากนโยบายได้ผลดีมีกระแสตอบรับสูง จึงค่อยคิดว่าจะรื้อแนวทางการจัดการปัญหาภาคใต้หรือไม่
“แต่ถึงที่สุดแล้วผมก็ยังมั่นใจว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่ดันนโยบายนครปัตตานี เพราะเป็นประเด็นร้อน และอาจถูกตั้งคำถามมาก ที่สำคัญการผลักดันนโยบายนี้ต้องใช้การยกร่างกฎหมายใหม่ และแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกหลายฉบับ การไม่มี ส.ส.จากพื้นที่เลยน่าจะเป็นจุดอ่อนพอสมควร ขณะที่ ส.ส.ทั้งหมดในพื้นที่นี้ก็มีแนวโน้มไปอยู่ซีกฝ่ายค้าน ทั้งประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และมาตุภูมิ ฉะนั้นผมคิดว่าสิ่งที่พรรคเพื่อไทยจะดำเนินการคือใช้กลไกแก้ไขปัญหาแบบเดิม คือ ศอ.บต. แต่จะเปลี่ยนตัวผู้อำนวยการ ศอ.บต. เอาคนของตัวเองเข้าไปดำรงตำแหน่ง เพื่อขับเคลื่อนการทำงานมากกว่า” พล.ท.นันทเดช ระบุ
ทั้งหมดนี้คือความเคลื่อนไหวในแง่นโยบายดับไฟใต้ในห้วงที่พรรคเพื่อไทยกำลังแต่งตัวรอเป็นรัฐบาลชุดใหม่!