ข่าวโบอิ้งล่องหนโยงก่อการร้าย? บทเรียนจาก "ซินเจียง" ถึง "ยะไข่-ไทย"
มีการตั้งข้อสังเกตแต่ยังไม่เป็นข้อสรุปว่า เครื่องบินสายการบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ ที่หายลึกลับหลังเทคออฟจากท่าอากาศยานกัวลาลัมเปอร์ราวๆ 1 ชั่วโมงเศษ เมื่อเช้ามืดวันเสาร์ที่ 8 มี.ค.ขณะกำลังบินตรงไปยังมหานครปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีนนั้น อาจเป็นเรื่องก่อการร้ายหรือวินาศกรรม
จากข้อสังเกตดังกล่าว ก็มีการมองโยงไปถึงเหตุการณ์คนร้ายนับสิบคนใช้มีดไล่แทงประชาชนและเด็กอย่างไม่เลือกหน้าบริเวณสถานีรถไฟในเมืองคุนหมิง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 30 ราย บาดเจ็บนับร้อย ซึ่งทางการจีนสรุปเบื้องต้นว่าเป็นฝีมือของ "กลุ่มแบ่งแยกดินแดนในมณฑลซินเจียง"
และมีการตั้งข้อสงสัยว่า หากกรณีของเครื่องบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ เป็นการก่อการร้ายจริง ก็อาจจะเป็นการกระทำจากกลุ่มเดียวกันนี้ เพราะในจำนวนผู้โดยสาร 227 คน เป็นชาวจีนถึง 152 คน
มณฑลซินเจียงเป็น "เขตปกครองตนเอง" ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของจีน มีขนาดใหญ่กว่าประเทศไทยหลายเท่า และอุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซ ชนพื้นเมืองเป็นชาวมุสลิม "อุยกูร์" ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ในมณฑลซินเจียง แต่เป็นชนส่วนน้อยของจีน
ซินเจียงเคยเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ แต่ภายหลังถูกผนวกรวมกับจีน อย่างไรก็ดีด้วยความแตกต่างทางภาษา ศาสนา และวัฒนธรรม ทำให้มีความขัดแย้งและการต่อสู้เพื่อแยกตัวเองเป็นเอกราชเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทั่งจีนใช้นโยบายใหม่ ให้สิทธิในการปกครองตนเอง ให้ชนพื้นเมืองเลือกตั้งผู้นำของตนได้ มีการเพิ่มภาษาอุยกูร์เข้าไปในป้ายบอกทางและป้ายชื่อสถานที่ รวมทั้งเร่งพัฒนาเศรษฐกิจในมณฑลอย่างขนานใหญ่ ทุกอย่างกลายเป็นภาพที่สวยงามและเชื่อกันว่าได้สถาปนาสันติภาพให้กับดินแดนแห่งนี้อย่างยั่งยืน
"ซินเจียงโมเดล" กลายเป็นต้นแบบของการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในประเทศที่มีมุสลิมเป็นชนกลุ่มน้อย หน่วยงานต่างๆ ของไทย รวมทั้ง ส.ส. และ ส.ว.ยังเคยไปดูงานกันคึกคัก
ทว่าความรุนแรงที่เกิดหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ ในห้วง 5 ปีหลัง เช่น การปะทะกันระหว่างชาวฮั่นกับชาวอุยกูร์ ในเมืองอูรุมซี หรือ "อูหลู่มู่ฉี" เมืองหลวงของมณฑลซินเจียง ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 200 รายเมื่อปี 52 หรือเหตุนองเลือดในเมืองคาชการ์ เมืองใหญ่อีกเมืองหนึ่งเมื่อปี 54 เริ่มสะท้อนให้เห็นว่าภาพสวยๆ ที่จีนพยายามสร้างนั้น ข้างหลังภาพอาจตรงกันข้าม
และความจริงก็เปิดเผยว่า แท้ที่จริงแล้วอำนาจการปกครองในมณฑลยังอยู่ในมือของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ส่งคนของตนเองซึ่งเป็นชาวฮั่นเข้าไปเป็นเลขาธิการองค์กรปกครองท้องถิ่น ส่วนผู้ปกครองสูงสุดที่เป็นชาวอุยกูร์เป็นแค่สัญลักษณ์ มีการอพยพชาวฮั่นจากพื้นที่ต่างๆ เข้าไปตั้งรกราก แย่งงาน และแย่งชิงทรัพยากรของชาวอุยกูร์ ขณะที่เสรีภาพในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและการใช้ภาษาก็ถูกจำกัด
ถึงขณะนี้แม้ยังไม่ชัดเจนว่ากรณีเครื่องบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายและกลุ่มแยกดินแดนมณฑลซินเจียงหรือไม่ แต่จากสถานการณ์รุนแรงที่ปะทุขึ้นในประเทศจีนจากปัญหาชนกลุ่มน้อยอุยกูร์ กำลังกลายเป็นจุดอ่อนไหวหนึ่งในสามจุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกที่กำลังเป็นดาวรุ่งทางเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก
อีก 2 จุดคือ ปัญหามุสลิมโรฮิงญาในรัฐยะไข่ของเมียนมาร์ และปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย!
ที่ประเทศไทย สิ่งที่รัฐบาลทุกชุดและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทุกแห่งสมควรตระหนักอย่างมากก็คือ การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่ชายแดนใต้โดยไม่ใช้ความจริงใจ ประเภทผักชีโรยหน้า หรือมีผลประโยชน์แอบแฝงไม่ว่าจากหน่วยงานใด อาจทำให้ปัญหายิ่งบานปลายคล้าย "ซินเจียงโมเดล"
ส่วนที่ยะไข่ หรือรัฐอาระกัน ในเมียนมาร์ มีการปะทะกันระหว่างชาวพุทธพม่ากับมุสลิมโรฮิงญาอย่างต่อเนื่อง ถึงขนาดเผากันเป็นหมู่บ้าน โดยที่เมียนมาร์ไม่ยอมรับว่าโรฮิงญาเป็นพลเมือง ทำให้พวกเขาต้องล่องเรือหนีตายผ่านไทยไปยังมาเลเซีย แต่โรฮิงญาก็ยังตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ และตกค้างอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ จำนวนมาก จนทำให้ฝ่ายความมั่นคงไทยและสากลหวั่นว่าพื้นที่ทางตอนใต้ของไทยกับตอนเหนือของมาเลเซียอาจกลายเป็น "แหล่งบ่มเพาะ" แหล่งใหม่ของกลุ่มก่อการร้าย เช่น ติดอาวุธให้โรฮิงญากลับไปรบในยะไข่ หรือก่อเหตุสร้างความปั่นป่วนในประเทศแถบนี้
นี่คืออีกหนึ่งประเด็นอันตรายที่รัฐบาลไทยดูจะให้ความสนใจน้อยเหลือเกิน!
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : แผนที่มณฑลซินเจียง เขตปกครองตนเองของจีน และดินแดนใกล้เคียง
ขอบคุณ : ภาพจากเว็บไซต์วอลล์สตรีท เจอร์นัล wsj.com